"ยาวมาก แต่ก็สำคัญมากที่สุดครับ"
เหตุเบื้องต้นก็คือพระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้เห็นธรรม บรรลุอริยธรรมขั้นต้น คือพระโสดาบัน แล้วเปล่งอุทานออกมาต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ด้วยความถึงใจว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วต้องดับทั้งนั้น ด้วยความรู้ซึ้งถึงใจจริงๆ วาระสุดท้ายพระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานอนุโมทนาธรรมของพระอัญญาโกณฑัญญะว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ, อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญติ. พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ อิติหิทํ อายสฺมโต โกณฺฑญฺญสฺส, อญฺญาโกณฺฑญฺโญเตฺวว นามํ อโหสีติ. อันนี้จึงได้เป็นมิตตกนามของพระอัญญาโกณฑัญญะตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
นี่คือพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นผู้ที่รู้เห็นธรรมคนแรก ที่เป็นสักขีพยานของพระพุทธเจ้า ไม่เสียพระทัย ไม่เสียพระกำลัง ไม่เสียเวลาที่ทรงสั่งสอนเป็นปฐมเทศนาแก่พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าครั้งแรกแห่งความเริ่มเป็นศาสดาของโลก และทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรให้แก่พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าฟัง รูปํ อนิจฺจํ,เวทนา อนิจฺจา,สญฺญา อนิจฺจา,สงฺขารา อนิจฺจา, วิญฺญาณํ อนิจฺจํ, รูปํ อนตฺตา, เวทนา อนตฺตา, สญฺญา อนตฺตา, สงฺขารา อนตฺตา,วิญฺญาณํ อนตฺตา. ฟังซิ เอาฟังให้ซึ้งซิ มันอยู่ในตัวของเรานี้น่ะ รูปํ อนิจฺจํ มันแปรอยู่ตลอดเวลา อย่าชินชากับคำว่ามันแปรอยู่ตลอดเวลา ให้ซึ้งด้วยปัญญา จะทราบว่าสิ่งที่เราอาศัยอยู่นี้แปรอยู่ตลอดเวลา เราอยู่ด้วยความแปร ความแปรปรวน อยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน อยู่กับของหาหลักเกณฑ์อันแน่นอนไม่ได้ อยู่กับความว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา
รูปํ อนตฺตา ถือเป็นตัวเป็นตนที่ไหน คือ ธาตุสี่ดินน้ำลมไฟ เราไปถือมาเป็นตัวเป็นตนได้อย่างไร ดินก็เป็นดิน น้ำก็เป็นน้ำ ก็ชัดๆ อยู่แล้ว ลมก็เป็นลม ไฟก็เป็นไฟ ชัดๆ อยู่แล้ว ไปถือว่าเป็นคนได้อย่างไร ไปถือว่าเป็นเราได้อย่างไร ดินน้ำลมไฟน่ะ ไม่ละอายเขาบ้างเหรอ ปัญญาให้ซึ้งลงไปตามนั้นซิ
สัญญา ความจำได้หมายรู้ จำอะไรก็ลืมๆ ไปหมด เมื่อต้องการจำอีกก็ปรุงขึ้นมาอยู่อย่างนั้น
สังขาร ความปรุง ความคิด ไม่ว่าคิดดีคิดชั่ว คิดเรื่องอดีตอนาคต คิดอะไรดับทั้งนั้น เอาสาระแก่นสารอะไรกับมัน อาการเหล่านี้มันก็เหมือนพยับแดดนั่นเอง มองดูไกลๆ ก็เหมือนเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตนเป็นตัว เวลาเข้าไปใกล้ๆ แล้วก็ไม่เห็นมีอะไร นี่พิจารณาค้นเข้าไปจริงๆ แล้ว
ในที่ว่าอัตภาพร่างกายนี้มันไม่มีอะไร เต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทั้งนั้น มันมีเราอยู่ที่ตรงไหนพอจะถือว่าเป็นเราเป็นของเรา เราไม่อายความจริงบ้างเหรอ เราไม่อายกิเลสบ้างเหรอ หรือเราก็เป็นกิเลส เป็นตัวเดียวกับกิเลส เป็นตัวหลงถึงไม่อายกัน นั่นก็ยิ่งเพิ่มความโง่เข้าไปอีกซิ เวลานี้เราไม่ต้องการความโง่ ต้องการพิจารณาเพื่อความฉลาด
เมื่อท่านแสดงถึงอนัตตลักขณสูตรแก่พระเบญจวัคคีย์ วาระสุดท้ายก็ถึง รูปสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนายปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในเวทนา สญฺญายปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในสัญญา สงฺขาเรสุปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลาย คือ ความคิดปรุงต่างๆ และทั้งสังขารอันหยาบคือร่างกายนี้ก็เป็นกองรูปอยู่แล้ว สงฺขาเรสุปิ นี้หมายถึง ความคิดปรุงล้วนๆ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลาย วิญฺญาณสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณ หมด ขันธ์ห้าก็มีเท่านั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ญาณความรู้แจ้งว่าจิตหลุดพ้นแล้วย่อมมี นี่อนัตตลักขณสูตรท่านแสดงไว้อย่างนี้
แต่สำหรับเราผู้ปฏิบัติ คิดว่าสูตรนี้ท่านผู้จดจารึกจะตัดทอนออก ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าเต็มเม็ดเต็มหน่วยจะต้องหยั่งเข้าถึงจิต เพียงรู้เท่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เท่านั้น จิตหลุดพ้นไปได้อย่างไร เราปฏิบัติมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นนี่ มันค้านกันได้อย่างจังๆ คือ ค้านกันด้วยภาคปฏิบัติ ไม่ได้ค้านกันด้วยความด้นเดาแต่อย่างใด
ทำไมถึงค้านกันได้ ก็ยกอาทิตตปริยายสูตรมาซิ อันนั้นเรายอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์หาที่ค้านไม่ได้ หมอบราบเลย อันนั้นท่านแสดงถึง มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในจิต ธมฺเมสุปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในธรรมารมณ์ทั้งหลายพูดย่นย่อเอาใจความสำคัญมาเทียบกัน เมื่อเบื่อหน่ายในอารมณ์แล้ว สิ่งที่สัมผัสก็เบื่อหน่าย เวทนาที่เกิดขึ้นจากความสัมผัสก็เบื่อหน่าย เบื่อหน่ายไปหมด ไม่มีอะไรเหลือภายในนั้น
เข้าถึงจิต….อาทิตตปริยายสูตร จกฺขุ โสต ฆาน ชิวฺหา กาย มโน เอ้า เราพูดย่อๆ เบื่อหน่ายในตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้แล้ว เบื่อหน่ายในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ และเบื่อหน่ายในจิตอีก นี่ซิมันเข้าถึงจิต เมื่อเบื่อหน่ายในจิตแล้วมันก็หมด คำว่าเบื่อหน่ายในจิต คือ รู้เห็นเหตุผลภายในจิต รู้ว่าสิ่งที่แทรกอยู่ในจิตนั้นมันเป็นตัวภัย นั่น ถึงขั้นอวิชชาเต็มตัวทีเดียว ถ้ายังไม่เข้าถึงจิตก็ยังไม่เข้าถึงอวิชชา
เมื่อพิจารณารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส แล้วยังพิจารณาตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วยังพิจารณาใจด้วย อารมณ์ที่เกิดจากใจ อะไรพาให้อารมณ์เกิดขึ้นมาในใจนั้นถ้าไม่ใช่อวิชชา อะไรเป็นผู้พาปรุง เป็นผู้ผลักดันออกมา เชื้อแห่งความคิดปรุงทั้งหลายมันคืออะไร พิจารณาเข้าไปตรงนั้น ทีนี้มันก็รู้ชัดเหมือนสภาวธรรมทั่วๆ ไป เหมือนรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส แล้วก็เหมือนตา หู จมูก ลิ้น กาย เวลาพิจารณาใจพิจารณาเหมือนกันนั้น รู้ก็รู้เหมือนกันนั้น ปล่อยก็ปล่อยเสมอกันไปหมด
เมื่อถึงจิตแล้วไม่มีทางไป มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ,ธมฺเมสุปิ นิพฺพินฺทติ ต่อจากนั้นก็ไป นิพฺพินฺทํ อันเดียวกัน อันนี้เรายอมรับในภาคปฏิบัติ เราปฏิบัติจริงนี่ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในภาคปฏิบัติ ส่วนอนัตตลักขณสูตรนี้ พอไปถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เบื่อหน่ายสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังไม่ถึงตัวจิตอวิชชาก็ผ่านไป นี่เราเข้าใจว่าท่านตัดออก นี่เราได้พิจารณาแล้ว พิจารณารูป รู้เท่ารูปปล่อยรูป ภายในใจก็รู้ชัด ๆ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันรู้เท่าหมด ปล่อยหมด แต่มันยังไปติดอยู่ในใจ มันไม่พ้นนี่นะเวลาปฏิบัติ มันก็ไปถือใจอยู่นั้นเสีย ถือใจก็คือ มานะ อวิชชา ซึ่งเป็นสังโยชน์เบื้องบนนั่นแลจะเป็นอะไรไป ถ้าไม่เป็นตัวใจล้วนๆ กับอวิชชากลมกลืนกันอย่างสนิทติดจมน่ะ เราพิจารณาอย่างนั้น
มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มันก็อยู่ที่ใจทั้งหมดนี่ เมื่อเข้าถึงใจแล้วมันถึงได้รู้ตัวมานะคือ ความถือใจมันเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง ท่านเรียกสังโยชน์เบื้องบน คือ กิเลสประเภทละเอียดที่จิตยังติดข้องอยู่ ยังไม่รอบตัว พูดง่ายๆ อวิชชาฟังดูซิ จะอยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่ที่จิต ไม่ได้อยู่ที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นะ ไล่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอาการทั้งห้านี้ ด้วยสติปัญญารอบไปหมด ปล่อยไปหมดแล้วมันยังไม่เห็นพ้นจากทุกข์นี่ ไม่เห็นพ้นจากกิเลสนี่นะ
พอไล่เข้าไปถึงจิต มันก็ไปโดนเอาตัว มานะ อุทธัจจะ อวิชชา จนได้ พอหมดอันนั้นแล้ว ไม่ต้องบอก บอกทำไม นิพพานอยู่ที่ไหนไม่ต้องบอก ไม่ต้องถามใครด้วยพ้นหรือยังจิตที่นี่ ไม่ถามใคร ถามทำไม สนฺทิฏฺฐิโก พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงผูกขาด เมื่อปฏิบัติให้รู้เห็นตามหลักนี้แล้วมันก็รู้ชัดเจนขึ้นมาเอง แม้พระองค์ประทับอยู่ข้างหน้าก็ไม่ถาม ไม่ว่าสาวกองค์ใดจะไม่ถามเลย เพราะความจริงเท่ากัน
นี่การปฏิบัติ อันไหนที่มันแย้งกันเราก็บอกว่าแย้ง ทางภาคปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เช่น อาทิตตปริยายสูตรนี้ไม่มีทางแย้งได้เลย เอานั้นมาเทียบกับอันนี้ถึงแย้งกัน ระหว่างอาทิตตปริยายสูตรกับอนัตตลักขณสูตร แต่เรายังถือว่าท่านแสดงเพียงสรุปเอา ถ้าแสดงเต็มภูมิแล้วจะต้องถึงจิตอันเป็นตัวการ ไม่ถึงจิตจะหลุดพ้นไปไม่ได้ ขัดต่อหลักความจริงของการปฏิบัติ ของปัญญาที่จะเข้าถึงกัน
นี่เข้าถึงเพียงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปล่อยนี้ไปแล้ว ก็ไปแบกทุกข์ไว้ที่ใจ แบกอวิชชาไว้ที่ใจ ก็เหมือนตัดต้นไม้ ตัดกิ่งตัดก้านตัดอะไรมันออก รากแก้วไม่ถอนขึ้นมามันก็งอกขึ้นมาอีกละซิ ถอนรากแก้วพรวดขึ้นมาหมดแล้ว กิ่งก้านไม่ต้องไปตัด มันก็แหลกหมด มันตายด้วยกันหมดนั่นแหละ อวิชชาเป็นตัวสำคัญมาก
เราเห็นอย่างนั้นการปฏิบัติ จริงจังอยู่ภายในจิต รู้ชัด การปฏิบัติธรรมจึงไม่จำเป็นต้องให้ถูกตามปริยัติเปรี๊ยะๆ ไปทีเดียว ตรงไหนแยกก็ให้ทราบว่าแยกด้วยภาคปฏิบัติของตน ตรงไหนเข้าร่วมกันก็ให้รู้โดยภาคปฏิบัติของตัว ไม่ให้คาดไม่ให้เดา
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น