16 ตุลาคม 2561

การธุดงวัตรรุกขมูล

# รุกขมูลธุตังคัง...

" ธุดงวัตรรุกขมูล " คือร่มไม้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน  ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ขณะที่จิตของท่านจะผ่าน " โลกามิส " ไปได้โดยสิ้นเชิง  คืนวันนั้นท่านก็อาศัยอยู่ " รุกขมูล " คือร่มไม้ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวต้นเดียว  ตอนสำคัญนี้จะรอลงข้างหน้าตามลำดับของการ " เที่ยวจาริกและการบำเพ็ญ " ของท่าน  จึงขออภัยท่านผผู้อ่านทั้งหลายโปรดรออ่านข้างหน้า วาระนี้จำจะเขียนไปตามลำดับความจำเป็นก่อนเพื่อเนื้อเรื่องจะไม่ขาดตามลำดับ
       การอยู่ใต้ร่มไม้ซึ่งปราศจากที่มุงบังและเครื่องป้องกันตัวย่อมทำให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ  จิตที่ตั้งความรู้สึกไว้กับตัวย่อมเป็นทาง " ถอดถอนกิเลส " ไปทุกโอกาส  เพราะ " กาย เวทนา จิต ธรรม " หรือ " ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค " ที่เรียกว่า " สติปัฏฐานและสัจธรรม " อันเป็นจุดที่ระลึกรู้ของจิตแต่ละจุดนั้น ย่อมเป็นเกราะเครื่องป้องกันตัวเพื่อทำลาย " กิเลส " แต่ละประเภทได้อย่างมั่นเหมาะซึ่งไม่มีที่อื่นใดจะยิ่งไปกว่า

       ฉะนั้น จิตที่ระลึกรู้อยู่กับ " สติปัฏฐานหรืออริยสัจ " เพราะความเปลี่ยวและความกลัวเป็นเหตุ  จึงเป็นจิตที่มีหลักยึดเพื่อการรบชิงชัยเอาตัวรอดโดยสุคโต ตามทางอริยธรรมไม่มีผิดพลาด ผู้ประสงค์อยากทราบเรื่องของตัวอย่างละเอียดทั่วถึงโดยทางที่ถูกและปลอดภัย  จึงควรแสวงหาธรรมและสถานที่ที่เหมาะสมเป็นเครื่องพยุงทางความเพียร จะช่วยให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าธรรมดาที่ควรจะเป็นอยู่มาก   ดังนั้น  ธุดงควัตรข้อ " อยู่รุกขมูล " จึงเป็นธรรมเครื่องทำลาย " กิเลส " ได้เป็นอย่างดีเสมอมา ที่ควรสนใจเป็นพิเศษอีกข้อหนึ่ง

        " ธุดงควัตร " ที่เกี่ยวกับ " การเยี่ยมป่าช้าเป็นธุดงค์เครื่องปลุกเตือนพระและหมู่ชนมิให้ประมาทในเวลามีชีวิตอยู่ โดยเข้าใจว่าตัวจะไม่ตาย ความจริงก็คือคนที่เริ่มตายเล็กตายน้อยตายไปอยู่ทุกเวลานั่นเอง เพราะคนที่ตายจนถึงกับย้ายบ้านใหม่ไปปลูกสร้างกันอยู่ที่ป่าช้าจนดาษดื่นแทบจะหาที่เผาและที่ฝังกันไม่ได้  ก็ล้วนแต่คนที่เคยตายเล็กตายน้อยมาแล้วเช่นพวกเราผู้ยังมีชีวิตอยู่นี่เอง  จะเป็นคนแปลกหน้ามาจากที่ไหน พอจะเห็นว่าเราเป็นคนที่แปลกกว่าเขา แล้วประมาทว่าตนจะไม่ตาย ที่ท่านสอนให้เยี่ยมญาติพี่น้อง ผู้เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ก็เพื่อเตือนไม่ให้หลงลืมญาติพี่น้องอันดั้งเดิมในป่าช้านั่นเอง เพื่อจะได้ท่องบ่นไว้ในใจว่า เรามีความแก่ เจ็บ ตาย ได้

        เมื่อสายทางแห่ง " วัฏฏะ " ที่ตนยังท่องเที่ยวเรียนสูตรอยู่ยังไม่จบ  พระซึ่งเป็นเพศที่เตรียมพร้อมแล้วเพื่อความหลุดพ้น จึงควรศึกษา " มูลเหตุแห่งวัฏฏทุกข์ " ที่มีอยู่กับตน  คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งภายนอก คือการเยี่ยมป่าช้าอันเป็นที่เผาศพ  ทั้งภายในคือตัวเองอันเป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพที่นำมาฝังหรือบรรจุอยู่ในตัวตลอดเวลา ทั้งเก่าและใหม่จนนับไม่ครบและแทบเรียนไม่จบ *** ให้จบสิ้นลงด้วย การพิจารณาธรรมสังเวช โดยทาง " ปัจจเวกขณะ คือ "  องค์สติปัญญา " เครื่องทดสอบ แยกแยะหามูลความจริง ไม่นิ่งนอนใจ
    
    ทั้งนักบวชและฆราวาสที่ชอบเข้าเยี่ยมทั้งป่าช้านอกและป่าช้าในตัวเอง โดยการ " พิจารณาความตาย " เป็นต้นเป็นอารมณ์ ย่อมมีทางถอดถอนความเผลอเย่อหยิ่งในวัยในชีวิตและในวิทยฐานะต่าง ๆ ออกได้อย่างน่าชม ไม่ชอบผยองพองตัวในแง่ต่าง ๆ ตามนิสัยมนุษย์ซึ่งมักมีความพิศดารประจำใจอยู่เป็นนิตย์  ทั้งจะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัวและพยายามแก้ไขไปเป็นลำดับมากกว่าจะไปเห็นโทษคนอื่นแล้วนำมา " นินทา " เขา ซึ่งเป็นการสั่งสมความไม่ดีใส่ตนประจำนิสัยมนุษย์ที่ชอบเป็นกันอยู่ทั่วไป  เหมือนโรคระบาดเรื้อรังชนิดแก้ไม่หายหรือไม่สนใจจะแก้  นอกจากเพิ่มเชื้อให้มากขึ้นเท่านั้น

       ป่าช้าเป็นสถานที่อำนวยความรู้ความฉลาดให้แก่ผู้สนใจพิจารณาอย่างกว้างขวาง เพราะคำว่าป่าช้าเป็นจุดใหญ่ที่สุดของโลก ทุกคนทุกเพศทุกวัยและทุกชาติชั้นวรรณะจำต้องประสบด้วยกันจะกระโดดข้ามไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่คลองเล็ก ๆ พอจะก้าวข้ามไปอย่างง่ายดายโดยมิได้พิจารณาจนรู้รอบขอบชิดกัน  ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ท่านข้ามไป แม้เช่นนั้นก็ปรากฏว่า ท่านต้องเรียนวิชาจากสถาบันใหญ่ คือ " ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย " จนเชี่ยวชาญทุก ๆ แขนงก่อน แล้วจึงโดดข้ามไปอย่างสบายหายห่วง ไม่ต้องติดบ่วงแห่งมารอยู่เหมือนพวกลืมตนลืมตาย ไม่สนใจพิจารณาเรื่องของตัว คือ " มรณธรรม " อันขวางหน้าอยู่ ซึ่งจะต้องโดนในไม่ช้านี่ 
        การเยี่ยมป่าช้าเพื่อ " พิจารณาความตาย " จึงเป็นทางผ่อนคลายหายกลัวทั้งเรื่องของตัวเองและเรื่องของคนอื่นได้อย่างไม่มีประมาณ  จนเกิดความอาจหาญต่อความตาย ทั้ง ๆ ที่โลกกลัวกันทั่วดินแดน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ได้เป็นไปในวงของนักปฏิบัติธรรมมาแล้ว  มีพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยม เสร็จแล้วจึงประทานพระโอวาทเกี่ยวกับ " การพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย " ไว้ทุกแง่ทุกมุม เพื่อหมู่ชนผู้มีความรับผิดชอบในตนและผู้เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาหาทางแก้ไข บรรเทาความมัวเมาเขลาปัญญาของตนขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  ซึ่งเป็นเวลาที่พอดิบพอดี ยังไม่สายเกินไป เมื่อสิ้นลมหายใจจนไปถึงสถาบันใหญ่แล้ว ต้องนับว่าหมดหนทางแก้ไข มีอยู่เพียงอย่างเดียวคือถ้าไม่เผาก็ต้องฝังเท่านั้น  จะพาไปรักษาศีลภาวนาทำบุญสุนทานอย่างแต่ก่อนนั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว
       ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเห็นคุณค่าของการเยี่ยมป่าช้า ว่าเป็นสถานที่ที่ให้ " สติปัญญา " รอบรู้กับเรื่องของตนตลอดมา ท่านจึงสนใจเยี่ยมป่าช้านอกและป่าช้าในอยู่เสมอ  แม้พระบางองค์ที่เป็นลูกศิษย์ท่านก็ยังพยายามตะเกียกตะกายปฏิบัติตามท่าน ทั้ง ๆ ที่ตนเป็นพระที่กลัวผีมาก ซึ่งเราไม่ค่อยได้ยินกัน ในคำว่า " พระกลัวผี " และ " ธรรมกลัวโลก " แต่พระองค์นั้นได้เป็นพระที่กลัวผีเสียแล้ว
    
    "  การถือไตรจีวร 3 ผืนเป็นวัตร " ท่านพระอาจารย์มั่นถือปฏิบัติมาแต่เริ่มอุปสมบทไม่ลดละ จนถึงวัยชราจึงลดหย่อนผ่อนตามธาตุขันธ์ที่ต้องการความบำรุงมากขึ้นทุกระยะ ที่ท่านปฏิบัติเช่นนั้น โดยเห็นว่า " พระธุดงคกรรมฐาน " ครั้งนั้นไม่อยู่ประจำที่นัก นอกจากในพรรษาเท่านั้น ต้องเที่ยวไปในป่านั้นในภูเขาลูกนี้อยู่เสมอ การไปก็ต้องเดินด้วยเท้าเปล่า ไม่มีรถราเหมือนสมัยนี้  มีบริขารมากน้อยต้องสะพายไปเอง ช่วยตัวเองทั้งนั้น ของใครของเรา ช่วยกันไม่ได้ เพราะต่างคนต่างมีพอกับกำลังของตัว จะมีมากกว่านั้นก็เอาไปไม่ไหว ทั้งเป็นความไม่สะดวก พะรุงพะรังอีกด้วย จึงมีเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ นานไปก็กลายเป็นความเคยชินต่อนิสัย
      แม้มีผู้มาถวายก็ให้ทานผู้อื่นไป ไม่สั่งสมให้เป็นการกังวล เพราะสมณะเรามีความสวยงามอยู่กับการปฏิบัติดีและไม่สั่งสม  เวลาตายไป ให้มีแต่บริขารแปดซึ่งเป็นของจำเป็นสำหรับพระเท่านั้น เป็นความงามอย่างยิ่ง เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็สง่าผ่าเผยด้วย " ความจนแบบพระ เวลาตายก็เป็นสุคโต " ไม่มีอารมณ์กับสิ่งใด อันเป็นเกียรติอย่างยิ่งของพระผู้ตายด้วยความจน  มนุษย์และเทวดาสรรเสริญ ธุดงควัตรข้อนี้จึงเป็นเครื่องประดับสมณะให้งามตลอดอวสานข้อหนึ่ง
....

ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...