31 ตุลาคม 2561

พุทธ ทางแห่งปัญญา

เมื่อโยมเห็นภัยในวัฏฏะแม้เสี้ยวขณะจิตเดียว หมายถึงว่าในขณะที่จิตโยมมีปัญญาขณะจิตเดียวจิตมันเกิดสว่าง เกิดปัญญา เกิดตัวรู้ว่าร่างกายสังขารมีแต่ทุกข์ ทุกข์มันอยู่ที่นี่เอง เราก็ไปหา..ไปหาบอกว่าทุกข์มันอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าท่านออกตามหาทุกข์นะจ๊ะ พระพุทธเจ้าออกจากพระราชวังท่านไปตามหาทุกข์นะ ไม่ได้ตามหาสุขนะ โยมเข้าใจให้ถูกก่อน แต่มนุษย์ตอนนี้ตามหาสุข สวนทางกันมั้ยจ๊ะ แล้วก็บอกว่าเดินตามมรรค

พระพุทธเจ้าท่านออกจากพระราชวังไป..เพื่อไปตามหาทุกข์ ขนาดพญามารทัดทานแล้ว ท่านก็ยังไม่ฟัง พญามารก็ตามไปทุกที่ นั้นโยมต้องถามตัวเองว่าโยมตามหาอะไร ทุกวันนี้มนุษย์ตามหาสิ่งที่ไม่มี แล้วถามว่าจุดจบมันจะได้มั้ยจ๊ะ พระพุทธเจ้าท่านตามหาทุกข์ แล้วทุกข์มันอยู่ที่ไหน ท่านตามหาแล้วเจอแล้ว แล้วก็ออกมาเป็นลายแทงเป็นคำสอนเอามาบอกโยม ให้มาหาที่ไหน..มาหาที่กายตน ดูตน สอนตน พิจารณาตน พิจารณาได้ก็ละตน พอละตนก็ทิ้งตน..มีเท่านี้เอง

แล้วเรื่องธรรมะนี้อธิบายมากก็ไม่จบสิ้น ถ้าโยมต้องการอยากจะรู้ว่า"ธรรม"คืออะไร หยุดอธิบายปรุงแต่งทุกอย่าง ไม่ว่าโยมจะเรียนรู้จากอาจารย์ที่ไหนมา โยมกำหนดเริ่มต้นจากกายและลมหายใจอย่างเดียว ว่าที่ฉันกล่าวไปทุกอย่างเมื่อธรรมกล่าวไปแล้ว เมื่อถึงโยมจะต้องไปปฏิบัติเอง..โยมก็ต้อง"ทิ้งธรรม"ทุกอย่างก่อนในขณะนั้น วางทุกตำรา เข้าใจมั้ยจ๊ะ ถ้าโยมไม่วางตำราแล้วโยมจะอ่านตำราได้ยังไง พอวางแล้วโยมถึงจะเปิด

นั้นก่อนที่โยมจะเปิดตำราหรือพระคัมภีร์ หรือพระธรรมก็ดี พระไตรปิฎกก็ดี โยมต้องนอบน้อมกราบนมัสการก่อน น้อมจิต กาย วาจา ใจเพื่อให้เกิดศีลก่อน ถึงโยมจะได้รับพระธรรมคำสอนได้ โยมจะเรียนพระกรรมฐานโยมก็ต้องมีศีลก่อน เข้าใจมั้ยจ๊ะ จะไปธุดงค์กรรมฐานก็ต้องมีอาจารย์มีครูก่อนอีกเหมือนกัน นั้นโยมต้องรู้เสียก่อนว่าโยมไปตามหาอะไร ถ้าโยมตามหาทุกข์..อย่าไปคิดว่าจะได้สุข เข้าใจมั้ยจ๊ะ

ถ้าสุขเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่าสุข สุขนั้นจะเป็นกำลัง..เป็นกำลังใจ ว่านั่งแล้วมันสงบ เห็นแล้วว่านี่คือสมาธิก็จะนั่งต่อไป นี่เรียกว่าเมื่อสุขนั้นเป็นอารมณ์ทำให้เกิดกำลังใจ แต่อย่าไปยึดติดในสุขนั้น ถ้าไปยึดติดอารมณ์เค้าเรียกว่าติดในสมาธิก็ดี ติดองค์ภาวนาก็ดี ติดฌานก็ดี ติดนิมิตก็ดี พวกติดเหล่านี้เค้าเรียกว่าไปต่อไม่ได้ อ้าว..ติดก็ต้องมาแก้ ถ้าติดหลายตัวไม่ต้องแก้แล้ว..เริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นใหม่ก็ไปเรียนใหม่ เรียนที่ไหน..เรียนที่"ลม"ใหม่

บางคนมีลมหายใจเข้าออก..ไม่เห็นจะยากตรงไหนก็เข้าออกทุกวัน แต่ตอนที่เข้าและออกโยม..โยมรู้รึเปล่ามันเข้ายังไง มันออกยังไง พอมันเข้าโยมรู้มั้ย พอมันออกโยมรู้มั้ย ทุกวันนี้ลืมลมหายใจกันหมดแล้ว ทั้งๆที่ลมหายใจมันเข้าออก..แต่ไม่เคยไปรู้มันว่ามันเข้าออก

เค้าให้ไปรู้ลมหายใจ แต่ไม่ได้บอกว่ามันจะเข้าออกยังไง เข้าใจมั้ยจ๊ะ คือเอา"สติ"ไประลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจ เพราะว่าลมหายใจมันสามารถสัมผัสกายได้ สัมผัสจิตใจเราได้ว่า..สงบหรือไม่สงบอย่างไร เหมือนลมมันขัดลมมันเดินไม่ดี มันก็ทำให้ขัดใจขัดอารมณ์ไป นี่เราต้องไปแก้ไปเริ่มต้นใหม่ถ้ามันติด เริ่มต้นที่ดูอานาปานสติขึ้นมาใหม่

ไม่ว่าโยมจะเรียนกสิณหรือกรรมฐานกองไหนก็ตาม โยมต้องมี"อานาปานสติ"เป็นแม่บทใหญ่ ถ้าโยมไม่มีเมื่อไหร่..สมาธิโยมจะหลงเมื่อนั้น เข้าใจมั้ยจ๊ะ แม้องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเข้าถึงวิมุติแล้วก็ตามที เกิดวิชาแล้วก็ดี ท่านจะต้องเจริญอานาปานสติอยู่เหมือนกัน เค้าเรียกว่าเจริญฌาน หรือเรียกว่าเจริญองค์ภาวนาเหมือนที่เราเอามาเจริญนี้แหล่ะจ้ะ เข้าใจมั้ยจ๊ะ เพราะอะไรจ๊ะ..มันหลงลืมตลอดเวลาได้ถ้ายังมีกายสังขาร เพราะกายนี้มันเป็นขันธมารอยู่ ยังมีมารแฝงอยู่ เข้าใจมั้ยจ๊ะ ดังนั้นเราต้องฝึกอยู่ตลอดเวลา นี่ขนาดท่านฝึกขนาดนั้น..แล้วเราไม่ฝึกจะเป็นยังไง มันก็ต้องฝึกเอาตามกำลังของโยม

ลูกศิษย์ :  หลวงปู่เจ้าคะ การกำหนดอานาปานสติก็คือการรู้ลมหายใจเข้าออกนี่ แล้วมันผนวกกับคำว่าพุทโธไปเนี่ยะ มันจะเป็นสากลว่าจะต้องเป็นอย่างนี้มั้ยคะ หรือว่าถ้าเราภาวนาพุทโธเนี่ยะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แบบอย่างเดียว เหมือนกันมั้ยเจ้าคะ

หลวงปู่ : อ้าว..งั้นเรามาดูว่าพุทโธ หรืออานาปานสติเป็นอย่างไร อานาปานสติเค้าเรียกว่ากำหนดลมหายใจเข้าออกไม่เกี่ยวกับพุทโธ แล้วพุทโธเกิดมาตอนไหนศตวรรษใด คือเรียกว่าองค์พุทโธนั้นเป็น"อุบาย"แห่งกรรมฐานอย่างหนึ่ง ครูบาอาจารย์เค้าเรียกว่าจรดไว้ หมายถึงว่าจริงๆอานาปานสตินี้คือลมหายใจเข้าออก..คือกำหนดรู้ลม เพราะลมหายใจนี่เป็นอะไรที่ดูง่ายและกำหนดง่าย เพราะมันมีอยู่แล้วในกายเรา ดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุทั้ง ๔ มันต้องประชุมกันด้วยลมหายใจทั้งนั้น ใช่มั้ยจ๊ะ

ดิน น้ำ ไฟ ลมทั้งหลายมันต้องประชุมด้วยธาตุลมทั้งนั้น คราวนี้เมื่อลมหายใจเราเนี่ยะเข้าออกแล้ว คราวนี้ลมหายใจมันเข้าออก..มันเข้าออก บางทีสติเราเนี่ยไม่เท่าทัน เพราะเราเนี่ยะหลงกายอยู่ พอตัวหลงกาย หลงว่านี่ตัวกูของกู สติตัวระลึกมันจึงไม่เท่าทันในลมที่เข้าออก เห็นมั้ยจ๊ะว่าลมหายใจไม่ใช่ของง่ายที่โยมจะไปรู้ ใช่มั้ยจ๊ะ เค้าจึงเอาองค์พุทโธขึ้นมา หรือกำหนด ๑..๒..๓..๔..๕..๖..๗..๘..๙..๑๐ นับไป..นับไป เห็นมั้ยจ๊ะ หรือสัมมาอะระหังยกขึ้นมา เค้าจึงบอกอุบายว่า คำว่า"พุทโธ"เป็นของมงคลภาวนาแล้วมันดี ว่าพุทโธเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรียกว่าผู้สัพพัญญู เข้าใจมั้ยจ๊ะ นี่คือที่มา..

เพราะว่าลมหายใจ การจะจับลมหายใจน่ะ เพราะว่าลมหายใจมันไปยึดกายอยู่ กายตัวนี้มันทำให้มนุษย์มันหลง หลงได้ง่าย ขาดเผลอสติได้ง่าย มันจึงไม่มีสติที่จะไปยึดได้จับต้องได้ ถ้าองค์พุทโธระลึกได้เนี่ยะ..มันจะจับต้องได้ทันที นั้นก็บอกว่าเมื่อจิตมันฟุ้งมีอารมณ์เข้ามาปะทะ หรือเกิดการปรุงแต่งอุปาทานของจิต ต้องมีองค์ภาวนาเข้ามากำกับแล้ว หรือต้องมีผู้กำกับการแสดง เล่นเดี่ยวๆเกิดขึ้นมาไม่ได้ หรือเรียกว่าต้องมีเหตุมีผลมารับรองกัน เข้าใจมั้ยจ๊ะ เพราะกายตัวนี้มันหลงได้ง่าย นี่คือที่มาของพุทโธ..

อ้าว..แล้วทำไมพุทโธจึงไม่มีในพระไตรปิฎก อะไรก็ตามที่เราระลึกแล้ว คิดแล้ว พิจารณาแล้วไปในทางการละอารมณ์ ให้เข้าถึงความสงบ นั่นเรียกว่าอุบายแห่งธรรมอยู่ใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ทั้งนั้น ชื่อว่าเรียกว่าพระกรรมฐาน พระกรรมฐานก็ไม่มีในพระไตรปิฎก..จริงๆไม่ใช่ พระกรรมฐานมีอยู่ในพระไตรปิฎกแล้ว พระกรรมฐานฌานวิถี..วิถีทางแห่งการทำงานของจิต คือการมาฝึกฝนจิต

เค้าบอกเอาจิตมาฝึกได้ยังไง จิตฝึกได้เหมือนลิง ลิงเอามาฝึกได้มั้ย แต่โยมต้องไวกว่าลิงนะ แล้วลิงมันชอบกินอะไร (กินกล้วย) เออ..เอากล้วยให้มันกิน จิตก็ต้องมีตัวล่อคืออุบายแห่งธรรม ล่อหลอกตะล่อมให้จิตมันอยู่กับเรา ใช่มั้ยจ๊ะ ก็เช่นองค์ภาวนาก็ดี กำหนดยุบหนอพองหนอ กำหนดก้าว ยก ย่าง เหยียบหนอ เหล่านี้ชื่อว่าเป็นอุบายแห่งการเจริญสติให้สติมันครองอยู่กับอารมณ์นั้นกับการงานนั้น ในขณะนั้น เข้าใจมั้ยจ๊ะ สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของการเจริญสมาธิทั้งนั้น

เพราะสมาธิชื่อว่าเรียกว่าใจที่ตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียว คือเราจดจ่อในสิ่งทีเราทำอยู่ ไม่ต้องสนใจใคร ใครจะมอง ใครจะว่า ใครจะนินทาสรรเสริญ..นั้นโลกธรรม ๘ นี้โลกธรรมจริงๆมันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่เราวางเฉยไม่สนใจ ไม่เอาจิตไปภายนอก เห็นมั้ยจ๊ะ ถ้าจิตยังไปภายนอกอยู่เรียกว่าสมุทัย ถ้าจิตจดจ่ออยู่ในการงานที่ทำอยู่เรียกว่านิโรธ คือทางดับทุกข์ เข้าใจมั้ยจ๊ะ

ถ้าโยมเห็นทุกข์เมื่อไหร่นั่นคือเหตุ คือเหตุอริยสัจ ๔ แต่ก่อนที่โยมจะไปเห็นอริยสัจ ๔ โยมต้องเห็นไตรลักษณ์ก่อน พิจารณาความเกิด ความเสื่อม ความชรา ความเป็นทุกข์ เห็นทุกอย่างเป็นทุกข์ เห็นทุกอย่างไม่เที่ยง เห็นความว่างเป็นอนัตตา สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้จิตเรานั้นเกิดสลดสละ เริ่มเกิดอาการปลงขึ้นมา เพื่อเข้าถึงความเบื่อหน่าย โยมปลงมากเท่าไหร่โยมก็เบื่อมากเท่านั้น เข้าใจมั้ยจ๊ะ แต่ถ้าโยมไปอยากมากเท่าไหร่ โยมก็มีความกำหนัดมากเท่านั้น ทางเดียวที่โยมจะออกจากทุกข์ โยมต้องปลง ต้องละ ต้องสละ เข้าใจมั้ยจ๊ะ

ธรรมะมหัศจรรย์ วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๑
ณ สถานปฏิบัติธรรมพรหมรังสี บ้านโปร่งวิเชียร จ.เพชรบุรี
โทร ๐๙๕ ๕๖๙๕๑๙๙ (เพชรบุรี)
      ๐๘๔ ๘๙๓๖๙๖๑ , ๐๘๑ ๙๒๙๓๒๒๒ (กรุงเทพ)

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...