ประวัติท่านเล่า๒
วันต่อมา พอนั่งสมาธิจิตสงบ เห็นถนนนั้นก็เดินไปอีก พอสุดถนนอยู่หน้าเหวลึก มีสะพานทอดข้ามไปฝั่งโน่น ท่านฯ ก็เดินข้ามเหวไปจนสุดสะพาน เป็นภูเขาอีกฝั่งหนึ่งแต่มองไปข้างหน้า เห็นหลังคาคล้ายหลังคาโบสถ์ วิหารหรือพระราชวังอย่างนั้น มีกำแพง ประตูค่ายคู หอรบ เดินต่อไปถึงประตูเอามือผลักดู ปรากฏว่าประตูติดลูกดาลแน่นหนา ผลักไม่ออกจึงเดินกลับ
วันต่อมา พอนั่งสมาธิจิตสงบก็เดินไปอีก พอถึงกำแพง ประตูเปิดคอยอยู่แล้วเลยเดินเข้าไป จะว่าวัดก็ไม่ใช่ จะว่าวังก็ไม่ใช่ แต่มีโบสถ์ มีวิหาร มีวัง สะอาดสะอ้าน แต่ไม่มีคนหรือพระอยู่ ท่านก็เดินไปตามสถานที่ต่างๆ นั้น
พอไปถึงโบสถ์ซึ่งเปิดประตูอยู่ ก็เดินเข้าไป เป็นโบสถ์สว่างไม่มีคนอยู่ แต่เห็นธรรมาสน์ตั้งอยู่ มีหมอน มีที่รองนั่ง เหมือนธรรมาสน์เทศน์ทั่วไป แต่สวยงามวิจิตรลวดลายลงรักปิดทอง ท่านพระอาจารย์มั่นก็ขึ้นไปนั่ง บนธรรมาสน์นั้น พอนั่งเสร็จก็เห็นภาชนะอาหารมาวางข้างหน้า มีก่องข้าว ในภาชนะมีกับ คือแตงกวาที่ซอยเป็นคำ และมีน้ำพริกปลาป่น ท่านฯ ได้ฉันอาหารนั้นซึ่งมีรสอร่อยเหมือนอาหารธรรมดา
พอฉันเสร็จภาชนะนั้นก็หายไป มีความรู้สึกขึ้นมาว่า สถานที่นี้คือ พระนิพพาน พักอยู่พอประมาณแล้วก็เดินออกมา จิตก็ถอนจากสมาธิเป็นจิตธรรมดา มีความรู้สึกว่าท่านถึงพระนิพพานแล้ว
มาภายหลังท่านพระอาจารย์ว่า มีถ้ำสองข้างทาง ซึ่งมีพระภิกษุนั่งสมาธิอยู่ใต้ประทุนเกวียนนั้น คือ รูปพรหมโลก
ส่วนที่ว่าวัดหรือวังนั้นคือ อรูปพรหมโลก
พระอาจารย์ท่านว่า พอนั่งสมาธิก็ส่งออกไปอยู่สถานที่นั้น นึกว่าถึงนิพพานแล้ว แต่พอออกมาเป็นจิตธรรมดา มากระทบกระทั่งกับอารมณ์ภายนอก เห็นรูปที่น่ารัก โดยเฉพาะเพศตรงข้ามก็ยังเกิดรัก เห็นหรือได้ยินเสียงที่น่าชัง ก็ยังชังอยู่ เลยมาเฉลียวใจว่า เอ๊ะ นี่เรามาถึงพระนิพพานแล้ว ทำไมจึงมาหลงรักหลงชังอยู่ได้เล่า เห็นจะไม่ใช่พระนิพพานกระมัง นั่งสมาธิทีไรก็ไปที่นั่นทุกที
พอนึกได้ดังนี้แล้วจึงตั้งใจใหม่ แต่ไม่ให้จิตมันรวมเดินจงกรมก็เอาจิตไว้ที่กาย จะบริกรรมพุทโธ หรือมูลกัมมัฏฐานก็แล้วแต่ ไม่ให้จิตรวม ไม่นั่งสมาธิ เวลาจะนอนก็นอนเลย ทำอย่างนั้นอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดสติ
พอวันที่สามเอาไม่อยู่ เพราะความพร้อมทั้งสติ และสัมปชัญญะ พอนั่งสมาธิ จิตก็รวมใหญ่ รวมคราวนี้ไม่ออกไปข้างนอก อยู่กับที่ ปรากฏว่า ร่างกายนี้พังทลายลงไปเลย
ปรากฏเป็นไฟเผาเหลือแต่กองเถ้าถ่าน แล้วจมหายลงไปในแผ่นดิน ขณะนั้นจิตอยู่กับที่รู้ขึ้นมาว่า #เออ...ถูกละที่นี้ เพราะจิตไม่ไปไหน อยู่กับที่แล้ว ไม่หยุดอยู่แค่นั้น แล้วเกิดความรู้ขึ้นมาว่า
#ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก เราควรกำหนดรู้ เราได้รู้แล้ว
#สมุทัย คือ แดนเกิดทุกข์ เป็นสภาพที่ควรละ เราได้ละแล้ว
#นิโรธ การกระทำให้แจ้งซึ่งอริยสัจ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว
#มรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นปฏิปทา ควรเจริญ เราได้เจริญแล้ว
พระอาจารย์ท่านว่า “ขณะนั้นจิตของท่านหมุนเป็นปรากฏการณ์แปลกประหลาด ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และท่านว่า กิริยาของจิตที่เป็นอย่างนั้น เป็นไปโดยไม่ได้ไปแต่ง เป็นผลจากการภาวนา เจริญมรรคมีองค์แปดให้ต่อเนื่อง ตรงกับคำว่า ภาวิโต พหุลีกโต อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สงฺวตฺตติ เป็นไปพร้อมเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อความดับสนิท” และท่านฯ ยังย้ำอีกว่า “สงฺวตฺตติ ๆ ย่อมเป็นไปพร้อม ๆ หรือเป็นไปพร้อมอยู่ แล้วแต่จะว่ากัน”
ท่านพระอาจารย์ว่า อาการของจิตที่เราพูดกัน ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า มีอาการยืดยาวไปเหมือนเชือกล่ามวัวล่ามควาย หรือขว้างไปเหมือนหมาคาบบั้งข้าวหลามก็หาไม่
ลักษณะอาการของจิตคือ เกิดดับ เกิดดับ อย่างต่อเนื่อง ยกอยู่ในณาน หรือเสวยผลแห่งมรรคที่เจริญแล้วเท่านั้น ลักษณะของจิตที่เป็นอย่างนี้เรียกว่า โคตรภูญาณ คือญาณความรู้ที่ก้าวข้ามจากปุถุนโคตร ก้าวสู่อริยโคตรเป็นปฐมมรรค โสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน แต่ท่านพระอาจารย์มิได้พูดว่าท่านเป็น
ท่านพระอาจารย์อธิบายว่า เป็นกิริยาของจิต ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิบัติธรรมภาวนา อบรมมรรค ๘
หรือมรรคมีองค์ ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ผู้เล่าสงสัยว่า อริยบุคคลต้องเป็นอย่างนี้ทั้งหมดหรือ จึงคอยหาโอกาสกราบเรียนถาม พอได้โอกาส เวลาฉันนำร้อนน้ำชาสองต่อสอง จึงได้จังหวะกราบเรียนถาม
ท่านพระอาจารย์ตอบว่า ไม่เป็นอย่างนั้น จะรู้แจ้งสัจธรรมไม่ได้ จะรู้ได้อย่างไร ความตรัสรู้ จะเป็นสัมพุทธะ และสาวกอนุพุทธะก็เป็นแนวเดียวกัน จึงเป็นอริยบุคคลได้
พอเรียนถามว่า ครั้งพุทธกาล นางวิสาขาพร้อมบริวาร ๕๐๐ ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ว่ากันว่า พากันยืนฟังกลางถนน พอเทศน์เสร็จก็สำเร็จกันแล้ว ดูรวดเร็วนัก ท่านเหล่านั้นจะรู้ตัวหรือเปล่า ท่านพระอาจารย์ก็ตอบว่า พระพุทธเจ้าชั้นบรมครูพระองค์ทำได้ ไม่เหมือนพวกเรา สอนจนปากเปียกปากแฉะก็ยังไม่รู้
พอเรียนถามว่า แล้วท่านเหล่านั้นจะรู้ตัวหรือเปล่า
ท่านพระอาจารย์ตอบว่า “ในเบื้องต้นอาจไม่รู้ตัว เพราะเขาเหล่านั้นฌานยังอ่อน ภายหลังจึงรู้ตัวได้ เพราะเหตุนี้ พระโสดาบันจึงปิดประตูอบายภูมิ ๔ ได้”
ท่านเหล่านั้นดำรงตนอยู่ในสรณะและศีล ๕ อย่างมั่นคง กิริยา วาจาและใจที่เคยเป็นอกุศล กายฆ่าสัตว์ วาจากล่าวมุสา และใจเป็นอกุศลวิตก ที่เคยชินมานานหลายภพหลายชาติ พอจิตก้าวสู่อริยวังสปฏิปทาแล้ว อกุศลเหล่านั้นจะเกิดขึ้น ก็จะมีญาณ เกิดขึ้นห้าม เป็นหิริโอตตัปปะมากางกั้นไว้
ฉะนั้นพระโสดาบันจึงปิดประตูอบายภูมิได้ แม้แต่ท่านภัททวัคคีย์พร้อมสหายทั้ง ๓๐ เดินทางไปเที่ยวป่าไร่ฝ้าย พบพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรม สำเร็จแค่พระโสดาบัน บวชเป็นเอหิภิกขุ พระพุทธองค์ยังส่งไปประกาศพระศาสนาได้ ต่อมาเมื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันเพ็ญ เดือน ๓ ทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ท่านพระอาจารย์ว่าอย่างนี้
นี่คือเหตุการณ์ในพรรษาที่ ๓ ที่วัดเลียบเมืองอุบลฯ ของท่านพระอาจารย์
พอปวารณาออกพรรษารับกฐินสิ้นภาระแล้ว จึงปรึกษากับท่านพระอาจารย์เสาร์ ชวนกันมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ
#ที่มา รำลึกวันวาน
เกร็ดประวัติ ปกิณกธรรมและพระธรรมเทศนา
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น