ความเสื่อมของมนตราอยู่ที่การไม่ทบทวน
ความเสื่อมของเรือนอยู่ที่ไม่ซ่อมแซม
ความเสื่อมของความงามอยู่ที่เกียจคร้านตบแต่ง
ความเสื่อมของนายยามอยู่ที่ความเผลอเลอ
ความเสื่อมของภพภูมิอยู่ที่การไม่รักษาจิต
เพราะจิตที่ตั้งไว้ผิดย่อมนำทุกข์มาให้
มีเรื่องเล่าว่า
ในครั้งพุทธกาลมีพระราชาองค์หนึ่ง
มีใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก
ทุกเช้าจะเสด็จลงมาใส่บาตรแก่พระอรหันต์ที่เข้ามาบิณฑบาตในพระราชวัง
ในขณะเดี่ยวกันก็มีชายยากจนคนหนึ่ง
เห็นพระอรหันต์ที่เข้ามาบิณฑบาตในพระราชวังแล้วได้อาหารอย่างมากมาย
จึงได้ปลอมเป็นพระเที่ยวเดินบิณฑบาตเข้าไปในพระราชวังด้วยอาการที่สงบ สำรวม น่าเลื่อมใสศรัทธาเช่นเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลาย
เมื่อพระราชาเห็นพระปลอมรูปนั้นเข้าก็เกิดศรัทธา
เมื่อใส่บาตเสร็จแล้ว ได้ถามอำมาตย์ว่า ท่านรู้จักพระรูปนั้นหรือไม่ว่าอยู่สำนักใด
เพื่อจะได้ติดตามไปอุปัฏฐาก
อำมาตย์บอกว่าไม่ทราบ
พระราชาจึงสั่งให้อำมาตย์ติดตามไปดู
ครั้นพระปลอมนั้นพอเดินออกจากประตูพระราชวังเรียบร้อยแล้วจึงได้เปลี่ยนจีวรและซุกบาตรไว้ในป่า
แล้วนำอาหารกลับบ้านไป
ฝ่ายอำมาตย์พอเห็นเช่นนั้นก็ตกใจ
พอกลับถึงพระราชวัง
ครั้นจะบอกความจริงแก่พระราชาก็กลัวว่าจะเสียพระทัย
จึงกราบทูลว่าได้ติดตามพระรูปดังกล่าวไปถึงชายป่า
หลังจากนั้นพระรูปนั้นก็ได้หายไป
เมื่อพระราชาได้ฟังเช่นนั้น ก็คิดว่าคงจะเป็นพระอรหันต์อย่างแน่แท้
ทำให้เกิดปิติโสมนัส จิตใจแช่มชื่นและอิ่มเอิบอยู่ตลอดเวลา
ครั้นต่อมาเมื่อพระราชาได้สวรรคต
ด้วยจิตใจที่เป็นกุศลคิดแต่พระรูปนั้นอยู่เสมอว่าเป็นพระอรหันต์
ก็ได้ส่งผลให้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์
ส่วนอำมาตย์นั้นอยู่ต่อมาเกิดเจ็ปป่วย
เมื่อใกล้ตายพวกลูกหลานจึงได้ไปนิมนต์พระอรหันต์มาที่บ้าน เพื่อให้อำมาตย์ได้ถวายทาน
เพื่อสร้างกุศลจิต เมื่อทำบุญเสร็จแล้ว
แทนที่จิตของอำมาตย์จะผ่องใสเป็นกุศล
แต่ด้วยอำนาจของจิดที่ฝังใจที่เคยเห็นพระปลอมมา
ก็คิดว่าพระอรหันต์ ที่มาที่บ้านนั้นคงจะเป็นพระปลอมเช่นเดียวกันเป็นแน่แท้
ทำให้จิดเศร้าหมอง
ครั้นเมื่อตายลงก็ได้ไปบังเกิดอยู่ในนรก
เพราะจิตเป็นอกุศลนั่นเอง
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าจิตดวงสุดท้าย(จุติจิต)นั้นเป็นจิตที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
เพราะจะเป็นเหตุให้ชักนำไปเกิด(ปฏิสนธิจิต)
อยู่ในภพภูมิใด ก็ขึ้นอยู่ที่จิดดวงสุดท้ายนั่นเอง
ถ้าจิตดวงสุดท้ายเป็นกุศล
ก็จะนำไปเกิดในสุคติภูมิ อย่างเช่นพระราชา
แต่ถ้าจิตดวงสุดท้ายเป็นอกุศล
ก็จะชักนำไปเกิดในทุคติภูมิ อย่างเช่นอำมาตย์นั่นแล
อย่าพึ่งเชื่อในสิ่งที่เห็น อย่าเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ เพราะสิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ของจริงเสมอไป สิ่งที่ไม่ใช่ ก็ไม่สบายใจ เท่ากับเป็นตัวของเราเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น