พระอรหันต์
ฉวิโสธนสูตร
ว่าด้วยหลักการตรวจสอบ ๖ ประการ
[๙๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ‘ข้าพเจ้ารู้ชัด
ว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป‘๑- เธอทั้งหลายไม่ควรยินดี ไม่ควรคัดค้านคำกล่าว
ของภิกษุรูปนั้น ไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาว่า ‘ท่านผู้มีอายุ โวหาร ๔
ประการนี้ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว’
โวหาร ๔ ประการ๒- อะไรบ้าง คือ
๑. การกล่าวสิ่งที่ได้เห็นว่าได้เห็น
๒. การกล่าวสิ่งที่ได้ฟังว่าได้ฟัง
๓. การกล่าวสิ่งที่ได้ทราบว่าได้ทราบ
๔. การกล่าวสิ่งที่ได้รู้ว่าได้รู้
ท่านผู้มีอายุ โวหาร ๔ ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ
ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔
ประการนี้ได้’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว๓- บรรลุประโยชน์ตน๔- โดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว๕-
หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ จึงนับว่ามีธรรมสมควรพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ‘ท่าน
ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสอาศัยไม่ได้ อันกิเลสพัวพันไม่ได้
หลุดพ้นแล้ว พรากได้แล้วในสิ่งที่ตนเห็นแล้ว มีจิตที่ฝึกให้ปราศจากเขตแดนคือ
กิเลสได้แล้วอยู่
@เชิงอรรถ :
@๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒, ๓ และ ๔ ข้อ ๑๙ (เทวทหสูตร) หน้า ๒๖ ในเล่มนี้
@๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๕๓/๓๗๐
@๓ ปลงภาระได้แล้ว ในที่นี้หมายถึงปลงขันธภาระได้ ปลงกิเลสภาระได้ และปลงอภิสังขารภาระได้
@(องฺ.ติก.อ. ๒/๓๘/๑๓๙)
@๔ บรรลุประโยชน์ตน ในที่นี้หมายถึงบรรลุอรหัตตผล (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๘/๑๓๙)
@๕ สิ้นภวสังโยชน์แล้ว ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๗๗ (คณกโมคคัลลานสูตร) หน้า ๘๑ ในเล่มนี้
ข้าพเจ้าไม่ยินดี ... ในสิ่งที่ตนได้ฟังแล้ว ...
ข้าพเจ้าไม่ยินดี ... ในสิ่งที่ตนได้ทราบแล้ว ...
ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสอาศัยไม่ได้ อันกิเลสพัวพันไม่ได้
หลุดพ้นแล้ว พรากได้แล้วในสิ่งที่ตนได้รู้ มีจิตที่ฝึกให้ปราศจากเขตแดนคือกิเลส
ได้แล้วอยู่ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะ
ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ ประการนี้
ภิกษุทั้งหลาย คำที่ภิกษุรูปนั้นกล่าว เธอทั้งหลายควรชื่นชมยินดีว่า ‘สาธุ’
แล้วพึงถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า
หลักการตรวจสอบอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ
[๙๙] ‘ท่านผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้
ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์
๒. เวทนูปาทานขันธ์
๓. สัญญูปาทานขันธ์
๔. สังขารูปาทานขันธ์
๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ท่านผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ ทรงเห็น
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ
ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้ได้’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า
‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปว่า ‘ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก ไม่เป็นที่ตั้ง
แห่งความชื่นใจ’ จึงรู้ชัดว่า ‘จิตของเราหลุดพ้นแล้ว’ เพราะความสิ้นไป เพราะ
ความคลายไป เพราะความดับไป เพราะความสละไป และเพราะความสละคืนซึ่ง
อุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในรูป และอนุสัยคือความตั้งใจมั่นและความปักใจมั่นได้
ข้าพเจ้ารู้แจ้งเวทนา ฯลฯ
ข้าพเจ้ารู้แจ้งสัญญา ฯลฯ
ข้าพเจ้ารู้แจ้งสังขาร ฯลฯ
ข้าพเจ้ารู้แจ้งวิญญาณว่า ‘ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก ไม่เป็นที่ตั้งแห่ง
ความชื่นใจ’ จึงรู้ชัดว่า ‘จิตของเราหลุดพ้นแล้ว’ เพราะความสิ้นไป เพราะ
ความคลายไป เพราะความดับไป เพราะความสละไป และเพราะความสละคืนซึ่ง
อุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในวิญญาณ และอนุสัยคือความตั้งใจมั่นและความปักใจมั่นได้
ท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ จึงหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะ
ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ได้’
ภิกษุทั้งหลาย คำที่ภิกษุรูปนั้นกล่าว เธอทั้งหลายควรชื่นชมยินดีว่า ‘สาธุ’
แล้วพึงถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า
หลักการตรวจสอบธาตุ ๖ ประการ
[๑๐๐] ‘ท่านผู้มีอายุ ธาตุ ๖ ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว
ธาตุ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน) ๒. อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ)
๓. เตโชธาตุ(ธาตุไฟ) ๔. วาโยธาตุ(ธาตุลม)
๕. อากาสธาตุ(ธาตุคืออากาศ) ๖. วิญญาณธาตุ(ธาตุคือวิญญาณ)
ท่านผู้มีอายุ ธาตุ ๖ ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้
อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ ประการนี้ได้’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ว่า ‘ท่าน
ผู้มีอายุ ข้าพเจ้ามิได้ยึดมั่นปฐวีธาตุโดยความเป็นอัตตา และมิได้ยึดมั่นอัตตาที่
อาศัยปฐวีธาตุ’ จึงรู้ชัดว่า ‘จิตของเราหลุดพ้นแล้ว’ เพราะความสิ้นไป เพราะ
ความคลายไป เพราะความดับไป เพราะความสละไป และเพราะความสละคืนซึ่ง
อุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยปฐวีธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจมั่นและความปักใจมั่น
ได้
ข้าพเจ้ามิได้ยึดมั่นอาโปธาตุ ฯลฯ
ข้าพเจ้ามิได้ยึดมั่นเตโชธาตุ ฯลฯ
ข้าพเจ้ามิได้ยึดมั่นวาโยธาตุ ฯลฯ
ข้าพเจ้ามิได้ยึดมั่นอากาสธาตุ ฯลฯ
ข้าพเข้ามิได้ยึดมั่นวิญญาณธาตุโดยความเป็นอัตตา และมิได้ยึดมั่นอัตตาอัน
อาศัยวิญญาณธาตุ จึงรู้ชัดว่า ‘จิตของเราหลุดพ้นแล้ว’ เพราะความสิ้นไป
เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับไป เพราะความสละไป และเพราะ
ความสละคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยวิญญาณธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจ
มั่นและความปักใจมั่นได้ ท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ จึง
หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ ประการนี้ได้’
ภิกษุทั้งหลาย คำที่ภิกษุรูปนั้นกล่าว เธอทั้งหลายควรชื่นชมยินดีว่า ‘สาธุ’
แล้วพึงถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า
หลักการตรวจสอบอายตนะ ๑๒ ประการ
[๑๐๑] ‘ท่านผู้มีอายุ ก็อายตนะภายในและอายตนะภายนอกอย่างละ ๖
ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว
อายตนะภายในและอายตนะภายนอกอย่างละ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. จักขุ(ตา)คู่กับรูป ๒. โสตะ(หู)คู่กับสัททะ(เสียง)
๓. ฆานะ(จมูก)คู่กับคันธะ(กลิ่น) ๔. ชิวหา(ลิ้น)คู่กับรส
๕. กายคู่กับโผฏฐัพพะ ๖. มโน(ใจ)คู่กับธรรมารมณ์
ท่านผู้มีอายุ อายตนะภายในและอายตนะภายนอกอย่างละ ๖ ประการนี้
ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงหลุดพ้นจากอาสวะ
เพราะไม่ยึดมั่นในอายตนะภายในและอายตนะภายนอกอย่างละ ๖ ประการนี้ได้’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ว่า ‘ท่านผู้มี
อายุ ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ‘จิตของข้าพเจ้าหลุดพ้นแล้ว’ เพราะความสิ้นไป เพราะ
ความคลายไป เพราะความดับไป เพราะความสละไป และเพราะความสละคืนซึ่ง
ความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ความอยาก ความยึดมั่น อุปาทาน และ
อนุสัยคือความตั้งใจมั่นและความปักใจมั่นในจักขุ ในรูป ในจักขุวิญญาณ และใน
ธรรมที่พึงรู้แจ้งทางจักขุวิญญาณ
ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ฯลฯ ในโสตะ ในเสียง ในโสตวิญญาณ ฯลฯ
ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ฯลฯ ในฆานะ ในกลิ่น ในฆานวิญญาณ ฯลฯ
ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ฯลฯ ในชิวหา ในรส ในชิวหาวิญญาณ ฯลฯ
ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ฯลฯ ในกาย ในโผฏฐัพพะ ในกายวิญญาณ ฯลฯ
ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ‘จิตของข้าพเจ้าหลุดพ้นแล้ว’ เพราะความสิ้นไป เพราะ
ความคลายไป เพราะความดับไป เพราะความสละไป และเพราะความสละคืนซึ่ง
ความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ความอยาก ความยึดมั่น อุปาทาน และ
อนุสัยคือความตั้งใจมั่นและความปักใจมั่นในมโน ในธรรมารมณ์ ในมโนวิญญาณ
และในธรรมที่พึงรู้แจ้งทางมโนวิญญาณ ท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็น
อยู่อย่างนี้จึงหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่นในอายตนะภายในและอายตนะ
ภายนอกอย่างละ ๖ ประการนี้ได้’
ภิกษุทั้งหลาย คำที่ภิกษุรูปนั้นกล่าว เธอทั้งหลายควรชื่นชมยินดีว่า ‘สาธุ’
แล้วพึงถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า
หลักการตรวจสอบเรื่องการถอนอนุสัย
[๑๐๒] ‘ท่านผู้มีอายุรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงถอนอหังการ มมังการ และ
มานานุสัย ในกายอันมีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอกได้ด้วยดี’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ว่า ‘ท่านผู้มี
อายุ เมื่อก่อนที่ข้าพเจ้ายังครองเรือนอยู่ ยังเป็นผู้ไม่รู้ พระตถาคต หรือสาวก
ของพระตถาคต ได้แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าได้สดับธรรมนั้นแล้ว จึงเกิด
ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อมีศรัทธา ย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่อง
อึดอัด เป็นทางแห่งธุลี การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้ครองเรือนจะ
ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ทาง
ที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตเถิด’
สิกขาและสาชีพของภิกษุ
ต่อมา ข้าพเจ้าละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ โกน
ผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ข้าพเจ้า
บวชแล้วอย่างนี้ ถึงความเป็นผู้มีสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย คือ
๑. ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มี
ความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. ละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ คือรับเอา
แต่สิ่งของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่สิ่งของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคน
สะอาดอยู่
๓. ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ คือ ประพฤติพรหมจรรย์
เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน
๔. ละ เว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์
มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
๕. ละ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่
ไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้ว
ไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่ง
เสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชม ยินดี เพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน
พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
๖. ละ เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ
๗. ละ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่
อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่กาลเวลา
๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม๑- และภูตคาม๒-
๙. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล๓-
๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่น
ที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้
ของหอมและเครื่องประทินผิว อันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ๔-
๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
@เชิงอรรถ :
@๑-๒-๓-๔ ดูเชิงอรรถที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ ข้อ ๑๔ (เทวทหสูตร) หน้า ๒๑ ในเล่มนี้
๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวนไร่นาและที่ดิน
๒๒. เว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
๒๓. เว้นขาดจากการซื้อขาย
๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่อง
ตวงวัด
๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
๒๖. เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว
การปล้น และการขู่กรรโชก
ข้าพเจ้านั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง
จะไป ณ ที่ใดๆ ก็ไปได้ทันที เหมือนนกบินไป ณ ที่ใดๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ
ข้าพเจ้านั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์เช่นนี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน
[๑๐๓] ข้าพเจ้านั้นเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหูแล้ว ...
ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ...
ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวม
มนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ข้าพเจ้านั้น
ประกอบด้วยอริยอินทรียสังวรเช่นนี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน
ข้าพเจ้านั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม
การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน
การตื่น การพูด การนิ่ง
ข้าพเจ้านั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร และอริยสติสัมปชัญญะ
แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า
ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ข้าพเจ้ากลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
ข้าพเจ้านั้นละอภิชฌาในโลก มีใจปราศจากอภิชฌา ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
อภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ มีจิต
ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
ถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายใน ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา ข้ามพ้นวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีความสงสัย
ในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
[๑๐๔] ข้าพเจ้านั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ ที่ทำให้จิตเศร้าหมอง บั่นทอน
กำลังปัญญา สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตก
วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน
มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่
ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน
ฯลฯ อยู่
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๒๔}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๓. สัปปุริสสูตร
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ข้าพเจ้านั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’
เมื่อข้าพเจ้ารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และ
อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
อีกต่อไป’ ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้ารู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ จึงถอนอหังการ มมังการ
และมานานุสัย๑- ในกายที่มีวิญญาณนี้และในสรรพนิมิตภายนอกได้
ภิกษุทั้งหลาย คำที่ภิกษุรูปนั้นกล่าว เธอทั้งหลายควรชื่นชมยินดีว่า ‘สาธุ’
แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของเราทั้งหลาย เราทั้งหลายได้ดีแล้ว
ที่พิจารณาเห็นท่านผู้มีอายุเช่นท่านเป็นเพื่อนพรหมจารี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
ฉวิโสธนสูตรที่ ๒ จบ
๓. สัปปุริสสูตร
ว่าด้วยธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ
[๑๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
@เชิงอรรถ :
@๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๘๙ (มหาปุณณมสูตร) หน้า ๑๐๑ ในเล่มนี้
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๒๕}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๑๑๕-๑๒๕.
http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=12
อรรถกถาฉัพพิโสธนสูตร
ฉัพพิโสธนสูตร๑- มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.
____________________________
๑- บาลีเป็นฉวิโสธนสูตร
พยากรณ์อรหัตผล ในฉัพพิโสธนสูตรนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
พระอรหัตย่อมเป็นอันพยากรณ์แล้วทีเดียวด้วยบทเดียวบ้าง สองบทบ้าง ในบททั้งหลาย มีอาทิว่า ขีณา ชาติ (ชาติสิ้นแล้ว) ดังนี้.
แต่ในสูตรนี้ท่านนำเอาการพยากรณ์พระอรหัตผลมา (กล่าวครบ) ทั้ง ๔ บท.
ในบทที่ว่า ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐวาทิตา ความเป็นผู้มีวาทะว่าเห็นในอารมณ์ ชื่อว่าความเป็นผู้มีวาทะว่าเห็นในอารมณ์ที่เห็นแล้ว ด้วยเจตนาใด เจตนานั้นเป็นเหตุกล่าวว่า เราเห็นในอารมณ์ที่เห็นแล้วนั้น.
แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้นี่แหละ.
บทว่า อยมนุธมฺโม แปลว่า สภาพนี้.
บทว่า อภินนฺทิตพฺพํ คือ อย่าพึงยินดีอย่างเดียว. ก็เมื่อภิกษุนี้ปรินิพพานแล้ว ควรทำสักการะ (ในฐาน) พระขีณาสพ แม้ทุกประการ.
บทว่า อุตฺตรึ ปญฺโห ท่านแสดงว่า ถ้าท่านทั้งหลายยังไม่พอใจการพยากรณ์ (พระอรหัต) ของภิกษุนี้ ควรถามปัญหานี้ แม้ให้สูงขึ้น.
ในวาระทั้ง ๓ แม้ข้างหน้าแต่วาระนี้ไป ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า อพลํ แปลว่า ทุรพล.
บทว่า วิราคุนํ คือ มีการปราศจากไปเป็นสภาพ.
บทว่า อนสฺสาสิกํ ได้แก่ เว้นจากความโปร่งใจ.
บทว่า อุปายูปาทานา นี้เป็นชื่อของตัณหาและทิฏฐิ.
จริงอยู่ ตัณหาและทิฏฐิทั้งหลาย ชื่อว่าอุบาย เพราะเข้าถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิทั้ง ๓. ชื่อว่าอุปาทาน เพราะยึดถือ. ชื่อว่าอภินิเวสา (การยึดมั่น) เพราะยึดมั่นรูปนั้นด้วยตัณหาและทิฏฐิเหล่านั้น. เรียกว่าอนุสัย เพราะนอนแนบสนิทอยู่กับรูปนั้น ด้วยตัณหาและทิฏฐิเหล่านั้นนั่นแล.
ในบทว่า ขยา วิราคา เป็นต้น ความว่า เพราะความสิ้นไป เพราะความคลายกำหนัด. บทแม้ทั้งหมดเหล่านี้ เป็นไวพจน์ของกันและกันทั้งนั้น.
ความหมายของธาตุ
ธาตุที่ทำให้ตั้งอยู่ ชื่อว่าปฐวีธาตุ. ธาตุที่ประสานให้ติดอยู่ ชื่อว่าอาโปธาตุ. ธาตุที่ทำให้อบอุ่น ชื่อว่าเตโชธาตุ. ธาตุที่ทำให้เคลื่อนไหว ชื่อว่าวาโยธาตุ. ธาตุที่ถูกต้องไม่ได้ ชื่อว่าอากาศธาตุ. ธาตุที่รู้แจ้ง ชื่อว่าวิญญาณธาตุ.
บทว่า อนตฺตโต อุปคจฺฉึ ความว่า เราย่อมไม่เข้าถึง (คือยึดครอง) โดยส่วนแห่งอัตตาว่า นี้เป็นอัตตา.
อนึ่ง ย่อมไม่เข้าถึงธาตุทั้งหลายที่เหลือซึ่งอาศัยปฐวีธาตุ และอุปาทายรูป. แม้อรูปขันธ์ทั้งหลายก็อาศัยปฐวีธาตุโดยปริยายหนึ่งเหมือนกัน เพราะวัตถุรูปทั้งหลายที่อรูปขันธ์ทั้งหลายนั้นอาศัย ก็อาศัยอยู่กับปฐวีธาตุ เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวว่าย่อมไม่ยึดครองธาตุที่เหลืออันอาศัยปฐวีธาตุ ย่อมกล่าวว่า เราย่อมไม่ยึดครองแม้รูปธรรมและอรูปธรรมที่เหลือทั้งหลาย ว่าเป็นอัตตา.
ก็ในบทที่ว่า อาศัยอากาศธาตุ ภูตรูปและอุปาทายรูปแม้ทั้งหมด ชื่อว่าอาศัยอากาศธาตุ โดยเป็นอวินิโภครูป. อรูปขันธ์ทั้งหลายที่มีรูปวัตถุเป็นที่อาศัย ก็ชื่อว่าอาศัยอากาศธาตุเหมือนกัน. เมื่อเป็นอย่างนั้น แม้ในที่นี้ รูปและอรูปย่อมเป็นอันถือเอาแล้วทีเดียว.
ส่วนในบทที่ว่า อาศัยวิญญาณธาตุ ขันธ์ ๓ ที่เกิดร่วมกัน และรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นรูปอาศัยวิญญาณธาตุดังกล่าวมานั้น รูปและอรูปย่อมเป็นอันถือเอาแล้วทีเดียว.
รูป
ในบทว่า รูเป จกฺขุวิญฺญาเณ จกฺขุวิญฺญาเณน วิญฺญาตพฺเพสุ ธมฺเมสุ นี้มีอธิบายว่า เมื่อกล่าวว่า รูปใดมาสู่คลองจักขุทวารแล้วดับไปในอดีต รูปใดที่มาสู่คลองจักขุทวาร แล้วจักดับไปในอนาคต และรูปใดมาแล้ว ดับไปในปัจจุบัน รูปทั้งหมดนั้น ชื่อว่ารูป.
ส่วนรูปใดไม่มาสู่คลองจักขุทวาร ดับแล้วแม้ในอดีต ที่ยังไม่มาจักดับแม้ในอนาคต และที่ยังไม่มาก็ดับแล้วแม้ในปัจจุบัน รูปนั้นสงเคราะห์เข้าในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักขุวิญญาณดังนี้.
พระจุลลาภยเถระผู้ชำนาญพระไตรปิฏกได้กล่าวว่า ในฐานะนี้ เธอแยกรูปเป็น ๒ แล้วเธอจะทำอย่างไร ในวาระว่าด้วยฉันทะที่จะมาถึงข้างหน้า ข้อนี้ไม่ถูกนะ. เพราะเหตุนั้น รูปที่มาสู่คลองจักขุทวารแล้วก็ดี ที่ยังไม่มาถึงก็ดี ในกาลทั้ง ๓ ทั้งหมดจัดเป็นรูปทั้งนั้น. ส่วนขันธ์ ๓ ที่สัมปยุตด้วยจักขุวิญญาณ พึงทราบว่า เป็นธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักขุวิญญาณ.
ก็ในที่นี้มีความหมายดังนี้ว่า “ในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งพร้อมกับจักขุวิญญาณ”
บทว่า ฉนฺโท ได้แก่ ความพอใจด้วยตัณหา.
บทว่า ราโค ได้แก่ ฉันทะนั่นแหละจัดเป็นราคะด้วยอำนาจความกำหนัด.
บทว่า นนฺทิ ได้แก่ ฉันทะนั่นแหละจัดเป็นนันทิด้วยอำนาจความเพลิดเพลินยินดี.
บทว่า ตณฺหา ความว่า ฉันทะนั่นแหละจัดเป็นตัณหาด้วยอำนาจความทะยานอยาก.
แม้ในทวารทั้งหลายที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
ในบทว่า อหงฺการมมงฺการมานานุสยา นี้ อหังการเป็นตัวมานะ มมังการเป็นตัณหา. ทั้งอหังการ ทั้งมมังการนั้นแหละเป็นมานานุสัย.
เหตุผลที่ตรัสอาสวักขยญาณ
ถามว่า เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสปุพเพนิวาสญาณและทิพพจักขุญาณไว้ แต่กลับมาตรัสคำนี้ว่า อาสวานํ ขยญาณาย.
แก้ว่า เพราะภิกษุทั้งหลายไม่ทูลถามธรรมะที่เป็นโลกิยะ ถามแต่โลกุตรเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อจะตรัสบอกปัญหาที่ทูลถามเท่านั้น จึงตรัสอย่างนั้น. นี้ชื่อเอกวิสัชชิตสูตรนั้น มีชื่อ (อีกอย่างหนึ่ง) ว่า ฉัพพิโสธนสูตรบ้าง.
ฉัพพิโสธนิยธรรม
ในพระสูตรนี้ (ธรรม) ๖ หมวดนี้ คือ โวหาร ๔ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ อายตนะภายในและอายตนะภายนอก ๖ กายที่มีวิญญาณของตน ๑ กายที่มีวิญญาณของคนอื่น ๑ เป็นธรรมบริสุทธิ์หมดจดแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ฉัพพิโสธนิยะ.
ส่วนพระปรสมุททวาสีเถระกล่าวหมวด (ธรรม) ๖ หมวด โดยรวมกายที่มีวิญญาณของตนกับของคนอื่นเข้าเป็นหมวดเดียวกันกับอาหาร ๔.
ก็หมวด (ธรรม) ๖ หมวดนี้ พึงชำระให้ถูกต้อง โดยปริยายที่ขยายความไว้ในพระวินัยอย่างนี้ว่า ท่านบรรลุอะไร? บรรลุอย่างไร? บรรลุเมื่อไร? บรรลุที่ไหน? ละกิเลสพวกไหน? ได้ธรรมพวกไหน?
ก็ในที่นี้ คำที่ว่า ท่านบรรลุอะไร? เป็นคำถามถึงการบรรลุคือ (ถามว่า) ท่านบรรลุอะไร ในบรรดาฌานและวิโมกข์เป็นต้น หรือในบรรดามรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น.
คำว่า ท่านบรรลุอย่างไร? เป็นคำถามถึงอุบาย (วิธีทำให้บรรลุ).
เพราะว่า ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ว่า
ท่านทำอนิจจลักษณะให้เป็นธุระ จึงบรรลุ หรือทำทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นธุระ จึงบรรลุ.
อีกอย่างหนึ่ง ท่านยึดมั่นด้วยอำนาจสมาธิ หรือยึดมั่นด้วยอำนาจวิปัสสนา อนึ่ง ยึดมั่นในรูปหรือยึดมั่นในอรูป. อีกอย่างหนึ่ง ยึดมั่นในภายในหรือยึดมั่นในภายนอก จึงบรรลุ.
คำว่า ท่านบรรลุเมื่อไร? เป็นการถามถึงเวลา (ที่ได้บรรลุ). มีคำอธิบายว่า ท่านบรรลุในเวลาไหน ในบรรดาเวลาเช้าและเวลาเที่ยงเป็นต้น.
คำว่า ท่านบรรลุที่ไหน? เป็นการถามถึงโอกาส (ที่บรรลุ). มีคำอธิบายว่า ในโอกาสไหน คือในที่พักกลางคืน ในที่พักกลางวัน ที่โคนไม้ ที่มณฑปหรือที่วิหารไหน.
คำว่า ท่านละกิเลสพวกไหน? เป็นการถามถึงกิเลสที่ละได้. มีคำอธิบายว่า ท่านละกิเลสที่มรรคไหนจะพึงฆ่า.
คำว่า ท่านได้ธรรมพวกไหน? เป็นการถามถึงธรรมที่ได้บรรลุ. มีคำอธิบายว่า บรรดาธรรมมีปฐมมรรคเป็นต้น ท่านได้ธรรมเหล่าไหน.
เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ แม้หากจะมีภิกษุบางรูปพยากรณ์การบรรลุธรรมอันยิ่งยวดของมนุษย์ ก็ยังไม่ควรทำความเคารพเธอด้วยเหตุเพียงเท่านี้.
ก็ในฐานะ ๖ ประการนี้ ควรจะพูดเพื่อความบริสุทธิ์ ท่านบรรลุอะไร คือฌานหรือ หรือว่าวิโมกข์เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง.
จริงอยู่ ธรรมใดอันผู้ใดบรรลุแล้ว ธรรมนั้นย่อมปรากฏแก่ผู้นั้น. ถ้าพูดว่าข้าพเจ้าบรรลุธรรมชื่อนี้ แต่นั้นก็จะต้องถูกถามว่า ท่านบรรลุอย่างไร? อธิบายว่า ท่านทำอะไรในบรรดาอนิจจลักษณะเป็นต้น ให้เป็นธุระ แล้วยึดถือโดยมุขอะไร ในบรรดาอารมณ์ ๓๘ หรือในบรรดาธรรมทั้งหลาย ชนิดรูปธรรมอรูปธรรม อัชฌัตตธรรมและพหิทธาธรรมเป็นต้น แล้วจึงบรรลุ. เพราะอภินิเวส (การยึดถือ การอยู่สำราญ) อันใดของคนใด อภินิเวสอันนั้นย่อมปรากฏแก่คนนั้น.
ถ้ากล่าวว่า อภินิเวส ชื่อนี้ ข้าพเจ้าบรรลุอย่างนี้ ต่อแต่นั้นก็จะต้องถูกถามว่า ท่านบรรลุเมื่อไร คือบรรลุในเวลาเช้าหรือเวลาเที่ยงเป็นต้นเวลาใดเวลาหนึ่ง. เพราะเวลาบรรลุของตนย่อมปรากฏแก่ทุกๆ คน. ถ้ากล่าวว่าบรรลุในเวลาชื่อโน้น ต่อแต่นั้นก็ถูกถามว่า ท่านบรรลุที่ไหน คือบรรลุในที่พักกลางวัน หรือในที่พักกลางคืนเป็นต้น โอกาสใดโอกาสหนึ่ง เพราะเวลาที่ตนบรรลุย่อมปรากฏแก่ทุกๆ คน. ถ้าพูดว่าข้าพเจ้าบรรลุในโอกาสชื่อโน้น ต่อแต่นั้นก็จะต้องถูกถามว่า ท่านละกิเลสพวกไหน คือท่านละกิเลสที่ปฐมมรรคจะพึงฆ่า หรือที่ทุติยมรรคเป็นต้นจะพึงฆ่า. เพราะกิเลสที่ละด้วยมรรคอันตนบรรลุ ย่อมปรากฏแก่ทุกๆ คน.
ถ้าพูดว่า ข้าพเจ้าละกิเลสชื่อนี้ แต่นั้นก็จะต้องถูกถามว่า ท่านได้ธรรมเหล่าไหน คือได้โสดาปัตติมรรคหรือสกทาคามิมรรคเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง. เพราะธรรมที่ตนบรรลุย่อมปรากฏแก่ทุกคน. ถ้าพูดว่าข้าพเจ้าได้ธรรมชื่อนี้. แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็ไม่ควรเชื่อคำของเธอ.
ก็ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต ฉลาดในการเล่าเรียนและการสอบถาม ย่อมสามารถชำระฐานะ ๖ ประการเหล่านี้ให้หมดจด. แต่สำหรับภิกษุนี้ควรชำระปฏิปทาอันเป็นเครื่องบรรลุขั้นต้น. หากปฏิปทาเป็นเครื่องบรรลุขั้นต้นยังไม่บริสุทธิ์ ควรปลีกออก (จากปฏิญญาของตน) ชื่อว่าโลกุตรธรรมทั้งหลาย เราจะไม่ได้ด้วยปฏิปทานี้.
แต่ถ้า ปฏิปทาเครื่องบรรลุขั้นต้นของท่านหมดจด ปรากฏว่าภิกษุนี้ไม่ประมาทในสิกขา ๓ ประกอบความเพียร ไม่ติดในปัจจัย มีจิตเสมอเหมือนนกในห้วงอากาศอยู่ตลอดกาลนาน.
การพยากรณ์ของภิกษุนั้นเทียบกันได้สมกันกับข้อปฏิบัติ คือเป็นเช่นดังที่ตรัสไว้ว่า น้ำในแม่น้ำคงคากับน้ำในแม่น้ำยมุนาย่อมเข้ากันได้ เสมอเหมือนกันชื่อฉันใด ข้อปฏิบัติอันเป็นเครื่องดำเนินไปสู่พระนิพพานของพระสาวกทั้งหลาย คือนิพพานและปฏิปทาอันพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นบัญญัติไว้ดีแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเทียบกันได้ ย่อมลงกันได้.
ก็อีกอย่างหนึ่งแล ไม่ควรทำสักการะแม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ อธิบายว่า เพราะเหตุที่ภิกษุบางรูปแม้ยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ย่อมมีปฏิปทาเหมือนข้อปฏิบัติอย่างพระขีณาสพ ฉะนั้น ภิกษุนั้นควรใช้อุบายวิธีนั้นๆ ทำให้สะดุ้งหวาดเสียว. ธรรมดาพระขีณาสพ เมื่ออสนีบาตตกลงเหนือกระหม่อมตัวย่อมไม่มีความกลัว ความสะดุ้ง หรือทำให้ขนลุก ส่วนสำหรับปุถุชนย่อมมี (ความกลัวเป็นต้น) ด้วยเหตุการณ์แม้เล็กน้อย.
ในข้อนั้น มีเรื่องเหล่านี้เป็นตัวอย่าง :-
เรื่องพระทีฆภาณกอภยเถระ
ได้ยินว่า พระทีฆภาณกอภยเถระไม่สามารถจะพิสูจน์ภิกษุรูปหนึ่งที่ถือบิณฑบาตเป็นวัตรได้ จึงได้ให้สัญญาแก่ภิกษุหนุ่มไว้. ภิกษุหนุ่มรูปนั้นจึงดำน้ำอยู่ที่ปากน้ำกัลยาณี จับเท้าพระที่ถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปนั้นที่กำลังอาบน้ำอยู่. พระที่ถือบิณฑบาตเป็นวัตรนั้นเข้าใจว่าเป็นจระเข้ ก็ส่งเสียงร้องขึ้น. ตั้งแต่นั้นใครๆ เขาก็รู้ว่าท่านยังเป็นปุถุชน.
แต่ในรัชสมัยของพระเจ้าจัณฑิมุขติสสะ พระสังฆเถระในมหาวิหารเป็นพระขีณาสพ แต่เสียจักษุอยู่ในวิหารนั้นแหละ. พระราชาคิดว่าจะพิสูจน์พระเถระ เมื่อภิกษุทั้งหลายออกไปภิกขาจาร จึงย่องเข้าไปจับเท้าพระเถระทำเป็นเหมือนงูรัด. พระเถระนิ่งเหมือนเสาหิน ถามว่า ใคร ในที่นี้. พระราชาตรัสว่า กระผม ติสสะขอรับ. ขอถวายพระพรมหาบพิตรติสสะ พระองค์ทรงได้กลิ่นหอมมิใช่หรือ. ชื่อว่าความกลัวย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพ ด้วยประการอย่างนี้
ก็บุคคลบางคน แม้จะเป็นปุถุชนก็เป็นคนกล้าหาญไม่ขี้ขลาด. คนผู้นั้นต้องพิสูจน์ด้วยอารมณ์ที่น่ารัก.
จริงอยู่ แม้พระเจ้าวสภะเมื่อจะพิสูจน์พระเถระรูปหนึ่ง จึงนิมนต์ให้นั่งในพระราชมณเฑียร แล้วรับสั่งให้คนขยำผลพุทราในสำนักของท่าน. พระมหาเถระน้ำลายสอ แต่นั้น ความที่พระเถระเป็นปุถุชนก็ชัดแจ้ง เพราะว่าธรรมดาความอยากในรสพระขีณาสพละได้หมด ชื่อว่าความใคร่ในรสทั้งหลายแม้เป็นทิพย์ก็ไม่มี.
ฉะนั้น จึงพิสูจน์ด้วยอุบายเหล่านี้ ถ้าความกลัว ความหวาดเสียว หรือความอยากในรสยังเกิดแก่ท่าน ก็พึงคัดออกได้ว่า ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์. แต่ถ้าไม่กลัว ไม่สะดุ้ง ไม่หวาดเสียว คงนั่ง (สงบ) เหมือนราชสีห์ แม้ในอารมณ์อันเป็นทิพย์ ก็ไม่ทำความใคร่ให้เกิดขึ้น ภิกษุนี้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยการพยากรณ์ ย่อมควรแก่เครื่องสักการะที่พระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาเป็นต้น ส่งมาโดยรอบแล.
จบอรรถกถาฉวิโสธนสูตรที่ ๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น