27 พฤษภาคม 2563

อย่าคาดหวังอะไรในสมาธิ

ฉันถึงบอกว่าเวลาใดๆที่เราทำสมาธิ อย่าได้ไปคาดหวังว่าสมาธิมันจะทรงตัวอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราคาดหวังอย่างนั้น..ความผิดหวังย่อมมี มันจะทำให้จิตเรานั้นมีกังวล นั้นก็ขอให้มีสติในเฉพาะหน้า คือกำหนดรู้ว่าอะไรที่เกิดขึ้น ต้องรู้ในสภาวะจิตของตน ว่าจิตของตนตอนนี้ในขณะนี้เป็นอย่างไร นั่นเรียกว่าอาการของจิต

เมื่อเรารู้อาการของมันแล้ว ก็ให้ทรงรู้อยู่ในอารมณ์นั้น จนเห็นอารมณ์นั้นเกิดขึ้นอยู่ ตั้งอยู่ และดับไปของอารมณ์นั้น เมื่อเห็นอย่างนี้ก็ทรงอารมณ์แห่งความสงบเข้าไปอีก ภาวนาเข้าไปอีก เมื่อมีอารมณ์เข้ามาอีกก็ให้กำหนดรู้ลมนั้น ดูลมอาการนั้นที่เกิดขึ้น..ตั้งอยู่..ดับไป ทำให้มันเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ นั่นเรียกว่านิโรธมันก็บังเกิด คือดับอารมณ์ได้ 

ตัวดับอารมณ์นี้แล เมื่อไม่มีอารมณ์ให้เกิดขึ้น จิตจะเข้าถึงความว่างคือความสงบ ความนิ่ง นั่นก็เรียกว่าจิตมันจะรวมตัวเป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตา เมื่ออย่างนั้นแล้วเมื่อกำหนดรู้อย่างนี้ เมื่อรู้มากๆเข้ากำลังแห่งตัวรู้นี้ จิตมันจะค่อยๆตื่นของมันเอง เมื่อจิตมันตื่นแล้ว ก็จะเห็นอาการเกิดดับของจิตของอารมณ์ จึงเท่าทันในอารมณ์ที่เกิดขึ้น นั่นเรียกว่าจิตมันเบิกบาน 

ก็เอาจิตที่ตื่นและเบิกบานนั้นเสวยอารมณ์แห่งปิติสุขเสีย พอมีกำลังแล้วเราก็ละสุขและปิตินั้น เมื่อมันละสุขและปิติก็มีอารมณ์แห่งฌานเป็นเบื้องบาท คือจิตเข้าอุเบกขาฌาน จิตมันก็ตั้งมั่นมีกำลัง ก็ลองกำหนด..เค้าเรียกปรารภธรรมเกิดขึ้น การปรารภธรรมก็เหมือนการสนทนาพิจารณาแห่งจิตแห่งธรรมเกิดขึ้นภายใน

พิจารณาธรรมที่เป็นอกุศลที่เรานั้นยังไม่ได้ตัด ยังละวางไม่ได้ พิจารณาธรรมสังเวชก็เพื่อให้มันน้อมจิตให้คลายความกำหนัด ความอยากได้ใคร่ดีที่เราไปหลงพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนั่นแล นี่เรียกว่าเราจะได้เจริญญาณให้บังเกิด คือวิปัสสนาญาณ คือการพิจารณาธรรม คือละอารมณ์ ดับอารมณ์ในขันธ์ ๕ 

เพราะว่ากายเมื่อมันดับสงบดีแล้ว จึงเรียกว่ามารมันได้พักผ่อน แต่เราจะเอาจิตที่เป็นกุศล จึงเรียกว่าจิตพุทธะนั้น เรียกว่าจิตที่ตื่นรู้จึงเรียกว่าจิตพุทธะ ก็เอาจิตพุทธะนี่แลเพ่งดูจิตนั้น จนทำให้จิตนั้นสว่างตื่นรู้ เมื่อจิตมันสว่างตื่นรู้ จิตนั้นแลมันก็จะสอนในตัวของมันเอง 

สอนอะไรได้บ้าง สอนให้รู้เหตุแห่งทุกข์ สอนให้เท่าทันทุกข์ สอนให้รู้เท่าทันทุกข์แล้ว มันก็ต้องทำให้จิตนั้นมันคลายจากความเบื่อหน่ายในทุกข์ แล้วอะไรเล่าที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ก็คือการเกิดแห่งภพชาติ ก็คือการที่เกิดมาแล้วมีกายสังขารนี้ จึงว่ามีทุกข์อย่างยิ่ง เราก็น้อมจิตเข้าไปละอารมณ์ในรูป ในความพอใจความไม่พอใจ ความถือดีถือตน ความยึดมั่นถือมั่นในจิต ในอัตภาพ ในขันธ์ ๕ นี้ ว่าเป็นตัวเราของเราอย่างนี้

แท้ที่จริงแล้วลองพิจารณาดูซิว่า อันว่ากายสังขารทั้งหลายที่มันดำรงอยู่นี้ เราจะรู้ได้อย่างไรที่แท้ว่ามันประกอบด้วยอะไร เรารู้ที่มาที่ไปของมันหรือยัง แท้ที่จริงแล้วมันก็สักแต่ว่าเป็นกายขึ้นมา ด้วยอำนาจแห่งธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมประชุมธาตุ มีอากาศธาตุจิตวิญญาณธาตุประชุมจุติเข้าไป จึงทำให้เกิดกายสังขาร 

เมื่อปราศจากธาตุทั้ง ๔ หรือว่าธาตุใดธาตุหนึ่งก็ตาม ร่างกายสังขารเรานั้นก็เปรียบเสมือนท่อนไม้ท่อนฟืน หาประโยชน์มิได้อีกต่อไป ก็ต่อเมื่อเรายังมีลมหายใจเข้าและออกอยู่ จึงว่ายังหาประโยชน์ในกายนี้ได้อยู่ ก็ให้กำหนดรู้ที่กาย ที่ลมหายใจ คือการเจริญสติปัฏฐานให้มันเกิดขึ้น คือดูกายในกาย ดูเวทนาในเวทนา ดูจิตในจิต ดูธรรมในธรรม ย้อนอยู่อย่างนี้ 

ดูกายคือดูอะไร คือดูลมหายใจ ดูซิว่ามันสงบมากน้อยเพียงใด ดูซิว่ากายมันระงับเป็นอย่างไร แล้วดูซิว่าอารมณ์ใดเกิดมาเราก็รู้..เอาอารมณ์นั้นมาเพ่งดู เฉกเช่นเดียวกับเวทนาคือความรู้สึก หากยังมีความรู้สึกอยู่ จึงเรียกว่าจิตนั้นอุปาทานแห่งขันธ์มันยังไม่ได้ดับ ยังไม่ได้ละ ยังไม่ได้วางในอารมณ์ ก็ให้เราภาวนาเข้าไปกำกับให้กระชับจิตให้มันแนบกับลมหายใจ

เมื่อมันแนบกับลมหายใจมันก็ดับไปอย่างนี้ นิโรธมันก็เกิดขึ้นอีกอยู่อย่างนี้ เราจึงบอกว่าถ้ากำลังจิตเรานี้สติเรานี้ยังไม่ตั้งมั่นมากพอที่จะดูที่จะพิจารณาธรรม ก็ให้เราดูกายดูลมหายใจสงบอารมณ์นี้ให้มันสงบ คือเจริญสมถะให้มันมาก การภาวนาจิตก็เป็นการเจริญสมถะอย่างหนึ่ง ให้รู้อยู่อย่างนี้ สลับสับเปลี่ยนกับการพิจารณาธรรม อยู่ในกาย ในเวทนา จิต ธรรม อยู่ในอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เรารู้อยู่ในกายอย่างนี้ แม้จิตจะมีความเคลิบเคลิ้มไปบ้าง ก็ให้กำหนดเข้ามาใหม่ที่ลม แล้วก็ภาวนาลงไป..

ที่มา
มูลนิธิเมืองธรรมพรหมรังสี สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
โทร ๐๙๕ ๕๖๙๕๑๙๙ , ๐๘๑ ๙๒๙๓๒๒๒

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...