จากการเทศนาของพระราชพรหมยาน
(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
คนที่เป็นพระโสดาบันแล้วมีอารมณ์เป็นยังไง ส่วนใหญ่คนทั้งหลายมักจะมีความรู้สึกว่า คนที่เข้ามาเจริญพระกรรมฐาน หรือสมถภาวนา หรือ วิปัสสนาญาณ และเริ่มเข้ามาเจริญแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องตัดหมดนั้นเป็นความรู้สึกผิดของท่านผู้มีความคิดอย่างนั้น
ความจริงการเจริญพระสมณธรรมมีอารมณ์เป็นขั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านที่ทรงจิตเป็น ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิหรือ อัปปนาสมาธิ สำหรับอัปปนาสมาธินี้หมายถึงอารมณ์ฌาน ตั้งแต่ฌานที่ 1 ถึงฌานที่ 8 อารมณ์ประเภทนี้จะระงับได้เพียงนิวรณ์ 5 ประการ แต่ก็เป็นเพียงระงับเท่านั้นไม่ใช่ตัด ถ้ายังมีความประมาทจิตคิดชั่ว ฌานก็สลายตัว เป็นอันว่าผู้ทรงฌานโดยเฉพาะอย่างยิ่งฌานโลกีย์ ยังไม่มีความหมาย ท่านที่จะตัดอบายภูมิได้จริง ๆ ก็คือ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป
คำว่า พระโสดาบัน แปลว่า ผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพาน
ฉะนั้นพระโสดาบันก็ยังตัดอะไรไม่ได้หมด เป็นแต่เพียงว่ามีอารมณ์ชนะสังโยชน์ 3 ประการเบื้องต้น แต่เพียงอย่างอยาบเท่านั้น คือ
1. มีความรู้สึกว่าสภาพร่างกายหรือว่าขันธ์ 5 เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ
ยังไม่สามารถตัดขันธ์ 5 ได้เด็ดขาด ยังมีความรู้สึกว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา แต่ทว่าความรู้สึกของท่านมีความดีอยู่หน่อยหนึ่งว่าเราจะต้องตาย ยังไง ๆ ก็ต้องตายแน่ มีอารมณ์คิดถึงคำสั่งสอนของสมเด็จพระธรรมสามิสร ที่ทรงตรัสว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง ท่านทั้งหลายจงอย่ามีความประมาทในการสร้างความดี
นี่ว่ากันถึงอารมณ์ของพระโสดาบัน เมื่อจิตเข้าถึงพระโสดาบันแล้ว มีความไม่ประมาทในชีวิต มีความรู้สึกเสมอว่าเราจะต้องแก่ เราจะต้องตาย จะตายตั้งแต่ความเป็นเด็ก หรือ ความเป็นหนุ่มเป็นสาว ความเป็นคนแก่ อาการที่จะตาย อาจจะด้วยโรคภัยไข้เจ็บ อาจจะตายด้วยอุบัติเหตุ หรือตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายกลางคืน ตายดึก ตายหัวค่ำก็เอาแน่นอนไม่ได้ อาจตายได้ทุกเวลา
ฉะนั้น พระโสดาบันจึงไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าถ้าเราจะตายก็เชิญ แต่เราจะตายอยู่กับความดี
2.ไม่มีความสงสัย ในคำสอนของพระพุทธเจ้า พิจารณาหาความจริงว่า พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข
3. พระโสดาบันย่อมทรงศีลบริสุทธิ์ ถ้าเป็นฆราวาสก็มีศีล 5 เป็นปกติ มีศีล 5 บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ไม่มีเจตนาในการทำลายศีล รักษาศีลบริสุทธิ์ ไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง ไม่ยุให้บุคคลอื่นทำลายศีล แล้วก็ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว เป็นอันว่าพระโสดาบันเป็นผู้มีความทรงอารมณ์อยู่ในศีลเป็นสำคัญ หนักหน่วงในเรื่องของศีล ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด
จะมีความรักพระนิพพานอย่างยิ่ง คือมีความรู้สึกอยู่เสมอว่ามนุษย์โลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี ไม่เป็นแดนแห่งความสุข ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์ มันก็ทุกข์ตลอดเวลา ถ้าเกิดเป็นเทวดาก็พักทุกข์ชั่วคราว หรือ พรหมก็เช่นเดียวกัน ถ้าหมดบุญวาสนาบารมีแล้วก็จะต้องจากเทวดา จากพรหมมาเกิดเป็นคนบ้าง บางรายก็เกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอันว่าเขตทั้ง 3 จุด ไม่มีความหมายสำหรับใจ
พระโสดาบันมีความรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มันเป็นของธรรมดา เห็นการนินทาว่าร้ายที่เขาว่าเราเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เกิดมาในโลกมันเป็นอย่างนี้ ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเกิดขึ้น มีความรู้สึกหนักไปในด้านของธรรมดา
พระโสดาบันยังมีความรักในระหว่างเพศ ยังมีการแต่งงาน แต่...อยู่ในขอบเขตของศีล รักในรูปโฉมโนมพรรณ มีการแต่งงานกันได้ระหว่างสามีภรรยาของตนเอง ยอมเคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่นอกใจสามีและภรรยา ขึ้นชื่อว่า กาเมสุมิจฉาจาร จะไม่มีสำหรับพระโสดาบัน จะทำให้ครอบครัวนั้นมีอารมณ์เป็นสุข
พระโสดาบันยังมีความโกรธ แต่ทว่าพระโสดาบันมีแต่อารมณ์โกรธ ไม่ประทุษร้ายให้เขามีการบาดเจ็บ และไม่ฆ่าคนหรือสัตว์ที่ทำให้ตนโกรธ ให้ถึงแก่ความตาย เป็นอันว่าความโกรธหรือความพยาบาทของท่าน อยู่ในขอบเขตของศีล จิตโกรธแต่ว่าไม่ทำร้าย ไม่อาฆาตพยาบาทคือ แตกต่างกับคนธรรมดาตรงนี้
พระโสดาบันยังมีความอยากรวย การอยากรวยของพระโสดาบัน คือ ต้องการความรวยในด้านสุจริตธรรมเท่านั้น เรียกว่า การทุจริตคิดร้ายคดโกงบุคคลอื่นใด ไม่มีในอารมณ์จิตของพระโสดาบัน ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต
พระโสดาบันยังมีความหลงใน รูปสวย รสอร่อย กลิ่นหอม เสียงเพราะ สัมผัสระหว่าเพศยังมีอยู่ แต่ความหลงของพระโสดาบันนั้น อยู่ในกรอบของศีล
องค์ของพระโสดาบัน
คำว่า องค์ ก็ได้แก่ อารมณ์จิตที่ทรงไว้อย่างนั้นอย่างแนบแน่นสนิท นั่นก็คือ
1.พระโสดาบันมีความเคารพในพระพุทธเจ้าอย่างจริงใจ ไม่คลายในความเคารพในพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะมีเหตุผลใด ๆ เกิดขึ้น ใครจะมาจ้างให้รางวัลมาก ๆ ให้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ แม้แต่พูดเล่นพระโสดาบันก็ไม่พูด ทั้งนี้เพราะว่าอะไร เพราะว่าท่านมีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระอริยสงฆ์อย่างจริงใจ แต่ทว่าระวังให้ดี ถ้าพระสงฆ์เลว พระโสดาบันไม่ใส่ข้าวให้กิน
ตัวอย่าง ภิกษุโกสัมพี มีความประพฤติชั่ว ตอนนั้นฆราวาสที่เป็นพระอริยเจ้านับหมื่น ไม่ยอมใส่ข้าวให้กิน เพราะถือว่าเป็นโจรปล้นพระพุทธศาสนา เป็นผู้ทำลายความดี ไม่ใช่ว่าเป็นพระอริยเจ้าแล้วละก็ จะเมตตาไปเสียทุกอย่าง ท่านเมตตาแต่คนดีหรือว่าบุคคลผู้ใดมีความประพฤติชั่วท่าน แนะนำแล้วสามารถจะกลับตัวได้ พระโสดาบันก็เมตตา ถ้าเขาชั่วแนะนำแล้วไม่สามารถจะกลับตัวได้ พระโสดาบันก็ทรงอุเบกขา คือ เฉยไม่สงเคราะห์
2. พระโสดาบันมีศีลบริสุทธิ์ ขอพูดย่อให้สั้น เพราะองค์ของพระโสดาบันก็คือ
(1) มีความเคารพในพระพุทธเจ้า
(2) มีความเคารพในพระธรรม
(3) มีความเคารพในพระอริยสงฆ์
นี่จัดเป็นองค์ที่มี 3 ประการ
(4) และสิ่งที่จะแถมขึ้นมาก็คือรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ทำทุกสิ่งทุกอย่างไม่หวังผลตอบแทน ไม่หวังความดีมีชื่อเสียงในชาติปัจจุบัน มีความรู้สึกต้องการอยู่อย่างเดียวว่าเราทำความดีทุกอย่างเพื่อพระนิพพานเท่านั้น
จงอย่าไปคิดว่าพระโสดาบันเลอเลิศไปถึงอารมณ์อรหันต์โดยมากมักจะคิดว่าอารมณ์ของพระอรหันต์เป็นอารมณ์ของพระโสดาบัน ก็เลยทำกันไม่ถึง นี่เป็นการคิดผิด ความจริงการเป็นพระโสดาบันเป็นง่าย มีอารมณ์ไม่หนักที่หนักจริง ๆ ก็ คือ ศีลอย่างเดียว
พระโสดาบันจัดเป็น 3 ขั้น คือ
1.สัตตักขัตตุง สำหรับที่ท่านเป็นพระโสดาบันมีอารมณ์ยังอ่อน จะต้องเกิดและตายในระหว่างเทวดาหรือพรหมกับมนุษย์อีกอย่างละ 7 ชาติ เป็นมนุษย์ชาติที่ 7 และเข้าถึงความเป็นอรหัตผล
2. ถ้ามีอารมณ์เข้มแข็งปานกลาง ที่เรียกกันว่า โกลังโกละ อย่างนี้จะทรงความเป็นเทวดาหรือมนุษย์อีกอย่างละ 3 ชาติครบเป็นมนุษย์ชาติที่ 3 เป็นพระอรหันต์
3.สำหรับพระโสดาบันที่มีอารมณ์เข้มแข็งเรียกว่า เอกพิชี นั่นก็จะเกิดเป็นเทวดาอีกครั้งเดียว มาเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็เป็นพระอรหันต์
4.ที่พูดตามนี้ หมายความว่า ท่านผู้นั้นเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วเกิดใหม่ไม่ได้พบพระพุทธศาสนา จะต้องฝึกฝนตนเองอยู่เสมอทุกชาติ แต่ว่าความเป็นมิจฉาทิฏฐิในชาติต่อ ๆไป จะไม่มีแก่พระโสดาบัน เพราะว่า พระโสดาบันไม่มีสิทธิที่จะไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน จะเกิดได้แค่ช่วงแห่งความเป็นมนุษย์กับเทวดาหรือพรหมสลับกันเท่านั้น
เป็นอันว่าพระโสดาบันนี่ ถ้าท่านทั้งหลายพิจารณาให้ดีแล้ว ก็มีความรู้สึกว่าเป็นของไม่ยาก
ที่มา
จากการเทศนาของพระราชพรหมยาน
(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น