การบรรลุธรรมในพุทธปรัชญานิกายเซ็น (禅 Zen) เรียกว่า “ซาโตริ” (悟りsatori) หมายถึงการรู้แจ้งแห่งสภาวะความจริงสูงสุด กล่าวคือ ซาโตริ เป็นประสบการณ์การรับรู้ความจริงว่าสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือกล่าวได้ว่าประสบการณ์ซาโตรินี้เป็นการทำลายความยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้เกิดความแบ่งแยก เป็นการได้มาซึ่งความเข้าใจว่าที่แท้แล้วทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียว กล่าวคือ เป็นเพียงความว่าง หรือความเป็นเช่นนั้นเอง (Suchness) มีวิธีการหลักเพื่อการบรรลุธรรม 3 วิธีด้วยกัน คือ ซาเซ็น( 座禅 zazen) หรือการนั่งสมาธิ ซันเซ็น (参禅 sanzen) หรือการขบคิดปริศนาธรรม (公案 kōan) และ มนโด (問答 mondō) หรือ การถามตอบอย่างฉับพลัน
ท่านเซ็นไค ชิบายามะ (Zenkai Shibayama) ได้อธิบายปรัชญาเซ็นไว้ดังนี้
เซ็นมิใช่ข้อสรุปทางความนึกคิด ที่เข้าถึงได้ด้วยเหตุผลและการคิดใคร่ครวญ วิถีแห่งเซ็นนั้นมิอาจพบได้โดยความรู้แบบแบ่งแยกของเรา และมิใช่เพียงเท่านี้ แม้ความรู้และความคิดของเราทั้งหมด ซึ่งเป็นผลผลิตของจิตสำนึกก็จำเป็นจะต้องขจัดออกอย่างสิ้นเชิงด้วย หากทำได้สำเร็จแล้วจะเข้าถึงสัจจะแห่งประสบการณ์บริสุทธิ์ ซึ่งจะช่วยให้เราตื่นขึ้นสู่ความว่างหรือสุญญตาและในประสบการณ์ภายในอันลึกล้ำนี้แหละที่เซ็นดำรงอยู่ ถ้าพูดในแง่จุดหมายแล้ว ประสบการณ์แห่งเซ็นก็คือ การตระหนักรู้ถึงรากฐานแห่งการดำรงอยู่ ถ้าพูดในแง่มุมส่วนตัวแล้วก็อาจอธิบายได้ว่า เซ็น คือ การตื่นขึ้นสู่จิตอันล้ำลึกของมนุษย์ ซึ่งโดยภาษาแห่งเซ็น เราเรียกการตื่นขึ้นนั้นว่า ‘ซาโตริ’ ซึ่งแปลว่า การตรัสรู้ เพื่อหมายถึงสัจจะแห่งประสบการณ์ทางศาสนา (เซ็นไค ชิบายามะ, 2526: 59)
นิกายเซ็นมองว่าสรรพสิ่งคือความว่าง เซ็นมองว่ามนุษย์มิใช่ศูนย์กลางแห่งจักรวาล สรรพสิ่งล้วนต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และเชื่อว่าสรรพสัตว์มีพุทธภาวะอยู่ในตัวอยู่แล้ว การบรรลุซาโตริก็คือการเห็นตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตโดยที่โลกและชีวิตนั้น คือ ความว่าง ในเมื่อว่างจากตัวตนแล้ว ก็จะว่างจากการยึดติด เมื่อว่างจากการยึดติดก็จะประจักษ์ถึงศูนยตาธรรมในที่สุด
จะเห็นได้ว่าสภาวะของซาโตริดังที่กล่าวมานั้นเป็นสภาวะที่ยากแก่การเข้าใจด้วยเหตุผลธรรมดาทั่วไป ทั้งนี้เพราะซาโตริไม่อาจแสดงออกมาในรูปของตรรกะหรือภาษาใดๆ หากไม่มีประสบการณ์ตรง ถึงแม้เมื่อมีประสบการณ์ตรงก็ยังเป็นเรื่องยากในการสื่อสาร เพราะซาโตริเป็นสภาวะแห่งการรู้แจ้งอย่างฉับพลันที่ก้าวพ้นสามัญสำนึกแห่งทวินิยม เช่น การแยกแยะเชิงมโนทัศน์ กายกับจิต ดีกับชั่ว ผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรับรู้ โลกภายนอกกับโลกภายใน เป็นต้น สำหรับผู้ที่บรรลุซาโตริแล้ว จะไม่ยึดติดกับสมมติบัญญัติต่างๆ เพราะสมมติบัญญัติเหล่านี้มีลักษณะสัมพัทธ์ กล่าวคือ ในบริบทหนึ่ง สมมติบัญญัติชุดหนึ่งอาจเข้ากับบริบทหนึ่งนั้นได้ เมื่อบริบทเปลี่ยน ชุดของสมมติบัญญัติที่เคยใช้อาจต้องเปลี่ยนตามไปด้วย แต่ผู้ปฏิบัติเซ็นจะดำรงชีวิตตามความเป็นจริง คือ มองโลกตามที่เป็นและไม่ไปยึดมั่นกับโลก กล่าวคือ บุคคลสามารถมองตนเองว่าเป็นตนเองอยู่ได้ แต่ทั้งนี้จะอยู่ภายใต้กรอบความจริงที่ว่าความเป็นตนเองไม่มี มีแต่ความว่างอันเป็นหนึ่งเดียว
แนวคิดและหลักปฏิบัติของเซ็นวางอยู่บนหลักแห่งความว่างอันเป็นหนึ่งเดียวแห่งสรรพสิ่ง ซึ่งท้าทายความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไปที่คุ้นเคยกับกรอบแห่งความยึดมั่นถือมั่น กรอบแห่งความยึดมั่นสำหรับเซ็นล้วนแต่เป็นเรื่องที่มนุษย์สมมติขึ้น อันเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม คือ การเห็นตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่ว่างจากกรอบมโนทัศน์ใด ๆ เราอาจทำความเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้นจากการพิจารณาปริศนาธรรมดังต่อไปนี้
ก่อนฝึกเซ็น แม่น้ำก็เป็นแม่น้ำ ขุนเขาก็เป็นขุนเขา [การรับรู้ตามปกติของคนทั่วไป] แต่เมื่อปฏิบัติเซ็นแล้ว ฉันเห็นว่าแม่น้ำก็ไม่ใช่แม่น้ำ ขุนเขาก็มิใช่ขุนเขาอีกต่อไป [การรับรู้ของผู้บรรลุธรรม] มาบัดนี้ ฉันกลับเห็นแม่น้ำก็ยังคงเป็นแม่น้ำและขุนเขาก็ยังเป็นขุนเขาอยู่ดังเดิม [การรับรู้ของผู้บรรลุธรรมแล้วแต่ก็ยังสามารถสื่อสารกับคนปกติได้] (ติช นัท ฮันท์, 2532: 74, ข้อความในวงเล็บเป็นของผู้เรียบเรียง)
จะเห็นได้ว่าในการรับรู้ตามปกติของคนทั่วไปจะมีลักษณะที่ยึดถือตามความหมายที่กำหนดไว้ จึงทำให้มองว่า แม่น้ำก็คือแม่น้ำ ขุนเขาก็คือขุนเขา ตามความหมายและความเข้าใจในระดับปกติ แต่เมื่อเกิดการรู้แจ้งแล้วการยึดมั่นถือมั่นต่าง ๆ ก็ได้ถูกทำลายสิ้น ภาพการมองภูเขาและแม่น้ำจะเปลี่ยนไป แม่น้ำจึงไม่ใช่แม่น้ำและขุนเขาจึงไม่ใช่ขุนเขาอีกต่อไป หลังจากที่รู้แจ้งแล้วก็กลับมามีสภาวะปกติดังเดิม แม่น้ำจึงเป็นแม่น้ำ ภูเขาก็คือภูเขา แต่ภาพของภูเขาและแม่น้ำสำหรับผู้บรรลุธรรมแล้วจะเป็นคนละอย่างกับผู้ยังไม่บรรลุธรรม คือไม่ยึดติดกับความหมายเดิมของคนทั่วไป ผู้บรรลุธรรมยังดำรงอยู่ในโลกตามความเป็นจริง กล่าวคือผู้ที่บรรลุซาโตริจะสามารถมีชีวิตอยู่อย่างธรรมดาโดยไม่ถูกสิ่งอื่นครอบงำ อยู่กับปัจจุบันขณะ คือ ไม่ไปหวนรำลึกถึงอดีต และไม่วิตกกังวลกับอนาคต แต่จะมองทุกอย่างตามที่เป็นในปัจจุบันขณะ
แม้การบรรลุธรรมจะทำให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริงอันเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่งที่ปราศจากความคิดแบ่งแยก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่บรรลุซาโตริแล้วจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่กับคนทั่วไปในชีวิตประจำวัน ผู้ที่บรรลุซาโตริจะเข้าใจและรู้เท่าทันกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อหน้าของเขาในขณะที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ ในทางตรงข้าม จิตของมนุษย์มักถูกครอบงำด้วยกิเลสต่าง ๆ ทำให้เห็นภาพบิดเบือนไปจากความเป็นจริงแล้วไปยึดติดกับภาพสมมติที่มนุษย์บัญญัติขึ้น ทำให้ไม่เข้าใจการกระทำหรือการพูดของอาจารย์เซ็นซึ่งพ้นไปจากสมมติบัญญัติ เช่น กรณีพระเซ็นอุ้มผู้หญิงข้ามแม่น้ำ เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งอาจารย์ตันซานกับอาจารย์เอโดกิเดินทางไปตามถนนเฉอะแฉะเพราะฝนกำลังตกหนัก และได้พบหญิงสาวสวยกำลังรีรอจะข้ามแม่น้ำ อาจารย์ตันซานจึงเข้าไปอุ้มเธอข้ามฝั่ง อาจารย์เอโดกิตกใจมาก แต่ไม่กล้าปริปากพูด จนกระทั่งตอนกลางคืน อาจารย์เอโดกิจึงถามอาจารย์ตันซานว่า “พระเราแตะต้องผู้หญิงไม่ได้ โดยเฉพาะสาวสวยเช่นนั้นยิ่งอันตราย ทำไมท่านกล้าทำถึงขนาดนั้น” อาจารย์ตันซานตอบว่า “ผมวางเธอไว้ที่นั่นตั้งนานแล้ว คุณยังอุ้มเธออยู่หรือนี่” (เสฐียรพงษ์ วรรณปก, 2540: 28) เรื่องพระอุ้มผู้หญิงข้ามแม่น้ำนี้แสดงให้เห็นว่า วิธีคิดของอาจารย์ตันซานได้ก้าวข้ามพ้นจากการแยกแยะของสมมติบัญญัติ ซึ่งในที่นี้คือพระวินัยไปสู่แก่นแท้ของหลักธรรมคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในขณะที่อาจารย์เอโดกิยังคงยึดติดกับสมมติบัญญัติอยู่ หรือกล่าวได้ว่าอาจารย์ตันซานได้ปลดปล่อยตัวเองจากบัญญัติทางโลกในขณะที่อาจารย์เอโดกินั้นยังติดอยู่ในบัญญัติ🍀
.
https://sites.google.com/site/mrwaiwit/zen-2/sa-to-ri-kar-brrlu-thrrm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น