23 ตุลาคม 2563

การระลึกถึงความตาย

พระพุทธองค์ทรงตรัสถาม 
✨“ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง ?”✨
พระอานนท์กราบทูลตอบว่า  
“นึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า”  

พระองค์ตรัสว่า  
✨“ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก” ✨

 ความตายจำแนกเป็น ๔ ประเภทคืออะไรบ้าง? 

 ๑. สิ้นอายุขัย (อายุกขยมรณะ) 

คือ ตายเพราะสิ้นอายุ ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เกิดมา กล่าวคือ ทุกสิ่งตกอยู่ในกฎแห่งการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป ชีวิตของมนุษย์ที่เกิดมานั้น แม้จะไม่มีโรคภัยหรือเหตุอื่นให้เสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร ก็ดำรงอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะเปรียบก็คงจะเหมือนชิ้นส่วนอีเลคโทรนิคชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีอายุการใช้งานจำกัดอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อพ้นจากนั้นไป ชิ้นส่วนนั้นก็หมดสภาพ คือไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ต่อไป ชีวิตของคนเราก็คล้ายกัน นั่นคือมีอายุขัยที่จำกัด นอกจากนี้ อายุขัยของคนเรายังไม่เท่ากัน และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

การตายแบบนี้อาจเปรียบได้กับตะเกียงที่ไส้หมด แม้น้ำมันจะยังเหลืออยู่ แต่ก็ไม่สามารถจะให้เปลวไฟที่มีแสงสว่างต่อไปได้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่สนับสนุนและเอื้ออำนวยหลายด้าน เช่นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ สภาพแวดล้อมในการทำงาน และรูปแบบตลอดจนพฤติกรรมการดำรงชีวิตเป็นต้น

๒. สิ้นกรรม (กัมมักขยมรณะ) 

คือ ตายเพราะสิ้นกรรม กรรมนั้นคือการกระทำซึ่งมีผลสืบเนื่องตามมา (consequences) อาจเป็นกรรมที่ทำในอดีต ซึ่งอาจไกลออกไปจนถึงในอดีตชาติ หรืออาจเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบัน เช่น การดูแลอนามัยเป็นต้น และอาจเป็น กุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าการกระทำที่ได้ทำลงไปนั้นเป็นฝ่ายดีหรือไม่ดี กรรมที่ทำไว้นั้นมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนรูปและนาม (ชีวิต) ในภพที่เราเกิดมา เมื่อผลกรรมสิ้นไป ชีวิตก็สิ้นไป เปรียบเหมือนตะเกียงที่น้ำมันหมด แม้ไส้ตะเกียงจะยังเหลืออยู่ เปลวไฟและแสงสว่างก็หมดไป

๓. สิ้นทั้งอายุและกรรม (อุภยักขยมรณะ) 

คือ ทั้งอายุขัยและกรรม สิ้นไปในเวลาเดียวกัน การตายในกรณีเช่นนี้ จะเห็นได้เช่น การตายของผู้สูงอายุที่แก่หง่อม รูปและนาม (ร่างกายและจิตใจ) หมดสภาพ อีกทั้งกรรม คือ การกระทำที่จะเป็นแรงสนับสนุนให้รูปและนามทำหน้าที่ของมัน ก็หมดไป เปรียบเหมือนตะเกียงที่ทั้งน้ำมันและไส้หมดไปด้วยกัน

๔. มีเหตุหรือกรรมอย่างอื่นมาตัดรอน (อุปัจเฉทมรณะ)

คือ ทำให้ชีวิตสิ้นไปกะทันหัน ทั้งที่น่าจะอยู่ต่อไปได้ ในกรณีนี้ ทั้งอายุและกรรมยังไม่หมด แต่เกิดเหตุทำให้เสียชีวิตกะทันหัน เช่นการตายด้วยอุบัติเหตุ หรือโรคระบาดเฉียบพลันร้ายแรง ท่านเปรียบการตายในกรณีเช่นนี้เหมือนกับตะเกียงที่ทั้งน้ำมันและไส้ยังคงมีอยู่ แต่ไฟดับไปเพราะเหตุอื่น เช่น มีลมพัดมาแรง (เหตุภายนอก) จนทำให้เปลวไฟดับไป เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...