25 ตุลาคม 2563

ใจเจ้าปัญหา

ไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าบุคคล ไม่ว่าต้นไม้ภูเขา ถ้าเรามีสติปัญญาพิจารณาไปไหนเป็นสัจธรรมทั้งนั้น ถ้าใจเป็นธรรมดูอะไรเป็นธรรมไปหมด ถ้าใจเป็นโลกดูอะไรก็เป็นโลกไปหมด เพราะมันเป็นอยู่กับใจ ใจเป็นสิ่งสำคัญ จึงเรียกว่าเป็นเจ้าปัญหา เจ้าปัญหาอยู่ที่นี่ ถ้าแก้ปัญหาถูกที่นี่แล้วอะไร ๆ ก็ถูกไปหมด ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ภายในนี้แล้ว ไปไหนก็เป็นฟืนเป็นไฟไปหมด เพราะผู้นี้พาให้เป็นไฟ ใจพาให้เป็นไฟ ใจจึงเป็นเรื่องใหญ่โตมากสำหรับสัตว์และบุคคลรายหนึ่ง ๆ การปฏิบัติศาสนาจึงต้องมุ่งลงที่ใจ
.
ให้ดูอาการของจิตในวันหนึ่ง ๆ มันมีความพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปในทางใดบ้าง ดูอยู่ตรงนี้ มันจะระบายออกไปทางกายทางวาจา นั่นมันนอกไปแล้ว มันเคลื่อนไหวไปจากใจนี้เป็นผู้สั่งงาน คอยดูความเคลื่อนไหว วันนี้มีความเศร้าหมองไม่ค่อยสบาย เป็นเพราะอะไรจึงไม่สบาย ค้นหาต้นเหตุ เราไม่ต้องดีใจเสียใจกับมัน อาการของมันมียังไงมันต้องแสดงขึ้นมา เราจะบังคับไม่ให้มันแสดงไม่ได้ มันแสดงขึ้นมาอย่างไร เรามีสติปัญญาเราดูตามความแสดงของมัน วันนี้มีการเศร้าหมอง ปัญญาของเรามี มีธรรมชาติอันหนึ่งที่รู้ว่าอันนั้นเศร้าหมอง ความเศร้าหมองนั้นเป็นอันหนึ่ง เราผู้มีสติปัญญาหรือมีความรู้เป็นอันหนึ่ง จึงสามารถทราบความเศร้าหมองนั้นได้ ให้ดู ความเศร้าหมองเกิดขึ้นมาเพราะสาเหตุอะไร ให้แก้สาเหตุที่มันเกิดความเศร้าหมอง ความเศร้าหมองนี้มันก็ระงับไป เมื่อไม่มีสาเหตุเป็นเครื่องอุดหนุนให้มันมีความเศร้าหมองมากขึ้น
.
ถ้ามันเศร้าหมอง ก็เอาความเศร้าหมองนั้นแหละเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา เอา มันจะเศร้าหมองไปไหน เราจะดูความเศร้าหมองนี้ด้วยความมีสติ ถือเอาความเศร้าหมองนั้นละเป็นสถานที่ทำงาน กำหนดดู ไม่ต้องดีใจเสียใจ ไม่ต้องตั้งความอยากให้มันดับ มันดับของมันไปเองด้วยเหตุด้วยผลของมัน มันไม่ได้ดับด้วยความอยากให้ดับ หลักธรรมเป็นอย่างนั้น ให้ดู เวลามันผ่องใสขึ้นมาก็ให้ทราบว่านี่คือความผ่องใส เป็นอาการอันหนึ่งของจิตที่แสดงขึ้นมาจากการชำระ ผลที่เกิดขึ้นมาจากการชำระการระมัดระวังจิตใจของตน ผลจึงปรากฏขึ้นมาเป็นความผ่องใส
.
ความผ่องใสกับความผาสุกสบายมันแยกกันไม่ออก เมื่อปรากฏเป็นความผ่องใสขึ้นมาใจก็มีความสบาย เมื่อปรากฏเป็นความเศร้าหมองขึ้นมาใจก็รู้สึกจะเป็นทุกข์ ให้เราทราบสาเหตุมันไว้ทั้งสองเงื่อน สัจธรรมเป็นด้วยกันทั้งนั้น ดีก็เป็นสัจธรรม ชั่วก็เป็นสัจธรรม ถ้าพิจารณาให้เป็นสัจธรรม หากเราไม่พิจารณาให้เป็นสัจธรรม ละชั่วก็มาติดดีอีก แต่ในการดำเนินเราต้องถือความดีถือความสุขเป็นที่ยึดเช่นเดียวกับบันไดไปเรื่อย ๆ เราไม่ต้องตำหนิทางดี ยึดไป เหมือนเราขึ้นบันไดขึ้นไปอย่าปล่อยบันได ไม่ถึงสถานที่ควรปล่อยอย่าปล่อย พยายามจับให้มั่น ความดีจะมีมากน้อยเพียงไร ความผ่องใสความสงบจะมีมากน้อยเพียงไร เอา สั่งสมให้มี นี่ละคือหลักของใจเป็นเครื่องยึด
.
เมื่อถึงขั้นสุดท้ายแล้วเรื่องความจริงเราจะได้ทราบ ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่วมันเป็นความจริงด้วยกัน นั่นเป็นธรรมชาติของจิตที่จะรู้กันเอง ปล่อยวางกันเอง โดยเราไม่ต้องบังคับให้ปล่อย เมื่อถึงกาลปล่อยแล้วเป็นอย่างนั้น ไม่ถึงเวลาที่จะปล่อยเราจะไปปล่อยไม่ได้ ต้องอาศัยความดีเป็นหลักยึด จิตมีความผ่องใส มีความสงบเย็น นั้นแลเป็นหลักยึดของใจ เป็นทางที่ถูก เป็นผลอันดี ให้ยึดนี้เป็นหลักไว้ หากเป็นหากตายเรามีอันนี้อยู่แล้วเราไม่ต้องตกใจ คืออันนั้นแหละเป็นเครื่องสนับสนุนจิตให้ไปด้วยความผาสุกเย็นใจ

...............................................................................

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
"ใจเจ้าปัญหา"

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...