คืนหนึ่ง หลังจากเทศน์อบรมพระเณรจบลง ท่านพระอาจารย์เข้าพักผ่อน ผู้เล่าถวายการนวด เรื่องพันเอกนิ่ม ชโยดม คล้ายกับค้างอยู่ยังไม่จบ ความเป็นคนไทย นับถือพระพุทธศาสนา เข้าสู่พุทธวงศ์ (หรือเข้าสู่วงจรชาวพุทธ) มิใช่เป็นของได้ง่ายๆ ท่านเลยยกพุทธภาษิตที่มาจากคัมภีร์พระธรรมบท ขุททกนิกายว่า
.
กิจฺโฉ มนุสฺส ปฏิลาโภ กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ
.
ภาษิตที่ยกมานั้น ท่านเอามงคลสูตรมากล่าว ตั้งแต่อเสวนาเป็นต้นไป จนถึง ผุฎฐสฺส โลกธมฺเมหิ ฯ ลฯ เป็นอวสาน มงคลที่ท่านย้ำเป็นพิเศษ คือ บท 2 ปฏิรูปเทสวาโส ฯ ลฯ บท 3 และ 4 ทานญฺจ ฯ ลฯ อนวชฺชานิ กมฺมานิ เพราะ 4 บทนี้ เป็นพื้นฐานของมงคลทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องปฏิรูปเทสนี้ สำคัญมาก ท่านดูจะหมายเอาประเทศไทยโดยเฉพาะ พอท่านอธิบายจบแต่ละมงคล ก็จะย้ำเป็นบาลีว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ถึง 3 ครั้ง และเป็นภาษาไทยว่า เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ ถึง 3 ครั้ง
.
ครั้งสุดท้าย พอขึ้น ผุฏฺฐสฺ โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ นั่นละ ถึงเป็นมงคลถึงที่สุด คือ พระนิพพานเลย
ท่านพูดต่อว่า "ความเป็นคนไทย...พร้อม"
.
พร้อมอย่างไร
.
ท่านจะอ้างอิงตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงสมัยปัจจุบัน ทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พระไตรปิฎกพร้อมมูล ประเทศไทยไม่เคยอดอยากหิวโหย ตั้งแต่ยุคสุโขทัยถึงปัจจุบัน ประเทศไทยไม่เคยว่างเว้นจากพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทุกยุคทุกสมัย ชาวไทยศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ถวายจตุปัจจัยพระสงฆ์ทุกวัน นับมูลค่าไม่ได้
.
ทำไมคนไทยจึงมีกินมีใช้ มิใช่บุญหรือ บุญมีจริงไหม มีข้าวกล้าในนางาม ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ในป่ามีไม้ มีปลาในน้ำ มีสัตว์บนบก มีนกในอากาศ มิใช่บุญเกิดจากการถวายทานพระสงฆ์ในแต่ละวันหรือ ธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์มั่น มักจะยกการทำนามาเป็นเครื่องอุปมาอุปไมย เปรียบเทียบเกือบจะไม่ว่างเว้นเลย และอธิบายเรื่องการทำนาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนมาก คงจะได้พบในมุตโตทัย
.
ผู้เล่าจะนำมาเล่าเท่าที่จำได้ เช่น การปฏิบัติธรรมถูก ก็ถูกมาแต่ต้น ท่านหมายถึง ผู้ปฏิบัติ คือ ไม่ลืมคำสอนที่พระอุปัชฌาย์สอนไว้แต่วันบวช การทำนาก็เหมือนกัน
.
"ถูกมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าจึงมี ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่มี"
"คำเหลืองสร้อยซิเป็นฮอยหิห่ำ ข้าวก่ำเป็นข้าวพั้ว งัวสิให้ต่อควาย"
.
คำนี้ท่านเปรียบผู้เรียนรู้มากแล้วลาสิกขาออกไป เปรียบด้วยข้าวในนาจวนจะสุกอยู่แล้ว เลยถูกหนอนคอรวงกัดกินเสียหายหมด เลยไม่ได้กินสูญเปล่า
.
เกร็ดประวัติ และ ปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
จากหนังสือ รำลึกวันวาน โดยหลวงตาทองคำ จารุวัณโณ
เครดิต เว็บธรรมะเกตเวย์
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น