เมื่อสงบแล้วเรากำหนดภาวนาไปในกาย ในจิต ในลมหายใจเราก็ดี เมื่อมันสงบแล้วมันระงับแล้ว แม้ลมมันก็ต้องระงับ..คือลมอะไร อารมณ์มันก็ระงับ ลมหายใจมันก็ระงับเหมือนเราไม่ได้หายใจ แต่ถามว่าเราหายใจมั้ยจ๊ะ..มันยังหายใจอยู่ ลมนี้เมื่อมันสงบแล้วทีนี้ลมหายใจมันก็เข้าออกได้อยู่ตลอดที่มันมีทวาร หายใจทางผิวหนังก็ดี นี่เค้าเรียกความสงบแล้ว ระงับแล้ว จิตมันไม่กระเพื่อมแล้ว จิตที่มันเป็นฌานทรงฌาน จิตที่มีกำลังแล้ว จิตแบบนี้มันจะตั้งมั่นมากมีกำลังมาก
เมื่อจิตแบบนี้มีกำลังมากมันเหมาะแก่การพิจารณาธรรม แต่อย่าลืมว่าถ้าจิตเรานั้น จิตเป็นพวกที่ว่าง ตัวว่างนี้ไม่สามารถพิจารณาอะไรได้ ทำไมถึงบอกว่าจิตว่างยังพิจารณาอะไรไม่ได้ เพราะในความว่างมันคือความสงบ แต่ในความสงบถ้าเราระลึกรู้ในความว่างว่าจิตเรานี้เมื่อมันสงบแล้วมันว่างแล้วต้องกำหนดรู้..คือการเจริญสติ
การเจริญสติคืออะไร คือกำหนดรู้ กำหนดสติรู้..รู้อยู่ที่ใด อะไรที่เป็นเหตุแห่งทุกข์เราต้องกำหนดรู้ที่นั่น เหมือนที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่าสติปัฏฐาน ถ้าจิตนี้พลัดพรากจากฐานทั้ง ๔ จิตนี้จะไม่มีที่อยู่ได้ ย่อมหลุดลอย ไม่สามารถจะจับต้องและพิจารณาธรรมอะไรได้เลย
ดังนั้นเมื่อเราไม่รู้อยู่ในกาย ไม่รู้อยู่ในเวทนา ไม่รู้อยู่ในจิตของอารมณ์ ไม่รู้อยู่ในสภาวธรรมที่เกิดขึ้น อย่างนี้แลเรียกว่าจิตเรานั้นไม่รู้ว่าจิตเรานี้คืออะไร เมื่อไม่มีที่ตั้งของจิตแล้วเราจะอาศัยจิตก็ดีไปสร้างประโยชน์ก็สร้างได้ยาก เราต้องรู้ที่ตั้งของจิตเหมือนที่เรารู้ว่าทุกข์อยู่ที่ใดนั้นเอง ถ้าเราไม่รู้ว่าทุกข์อยู่ที่ใดเราจะไปดับมันได้มั้ยจ๊ะ (ลูกศิษย์ :ไม่ได้)
ดังนั้นเราต้องรู้จิตของตัวเอง ถ้าเราไม่รู้จิต..เราหลงซะแล้วอย่างนี้ กิเลสมารของจิตที่เป็นอกุศลมันก็จะผุดขึ้นมา ดังนั้นเมื่อเรารู้สภาวะจิต รู้สภาวธรรม รู้สภาวะอารมณ์นั้น..เราต้องมีที่ตั้ง เพราะว่าอารมณ์ใดที่มันเกิดขึ้นก็เอาอารมณ์นั้นแลเป็นอารมณ์เป็นตัวสติตัวระลึกได้..คือการพิจารณาเข้าไปในอารมณ์นั้น
ดังนั้นในกายที่เห็นรูปนี้ในกายหยาบนี้ มันเป็นตัวเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดภพเกิดชาติคือความหลง เราก็ต้องไปพิจารณามันให้มาก คือการเพ่งโทษ เพ่งมันอยู่บ่อยๆ ดูมันอยู่บ่อยๆ ดูที่ไหน ไปดูอะไร..ก็คือลมหายใจนี่แหล่ะจ้ะ ลมเกิด ลมเข้า ลมเกิด ลมตาย เพราะถ้าไม่มีลมเข้า..ตายมั้ยจ๊ะ พอเข้าแล้วไม่ออก..ตายมั้ยจ๊ะ นี่ให้ระลึกถึงความตายก็คือระลึกรู้ลมหายใจ นี่แหล่ะเค้าเรียกลมของอรหันต์ ลมพระนิพพาน
ถ้าใครไม่รู้ลมไปนิพพานไม่ได้ เข้าใจมั้ยจ๊ะ งั้นถ้าโยมนั่งไปแล้วไม่รู้ลมแสดงว่าโยมหลับแล้ว เข้าใจมั้ยจ๊ะ นี่ขาดจากสติแล้ว ถ้ายังรู้ลมอยู่ รู้อารมณ์อยู่ของจิตที่เกิดขึ้น เมื่อลมมันดับไปแต่จิตเรายังรู้อยู่..อยู่ในกาย นั่นคือตัวสติ ให้เราพิจารณาในกายนี้ พิจาณาอย่างไรในกายนี้ พิจารณาละเพ่งโทษในกายนี้ให้มากๆ โยมดูสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นทุกข์ ที่เป็นของไม่เที่ยง เมื่อมันเกิดแล้ว..ตั้งอยู่แล้ว..ดับไปสลายไป
ธรรมข้อหนึ่งข้อใดก็ดีเมื่อโยมพิจารณาได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมข้ออื่นๆก็พิจารณาแบบนี้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสัณฐาน เป็นธาตุก็ดี เป็นอาการ ๓๒ อาการใดอาการหนึ่งก็ดี ล้วนแล้วเมื่อมันมีเกิดขึ้นตั้งอยู่ย่อมดับไป คือความไม่เที่ยงสลายไปเป็นธรรมดาของวัฏฏะของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้แล
เมื่อเห็นอย่างนี้เพื่อจะให้เห็นให้เข้าถึงอะไร เพื่อให้ถึงความเบื่อหน่าย เพื่อให้มันมีความสละ เพื่อให้มันเกิดความปลง คือความเบื่อหน่ายในสรรพสิ่ง คือเบื่อหน่ายในการเกิด เบื่อหน่ายในกายในขันธ์ ๕ นี้ว่าเป็นทุกข์ นี่เค้าเรียกว่าเพ่งโทษอยู่ในกาย เห็นความไม่สวยไม่งาม ถ้าเรายังเห็นว่าความสวยความงามในกายอยู่อย่างนี้ เค้าเรียกว่าเรายังตัดความหลงไม่ได้ ยังตัดอาลัยไม่ได้อย่างนี้ เมื่อเรายังหลงกายตัวเองอยู่ เราก็ต้องไปหลงกายผู้อื่นอยู่อีกเช่นกัน มันก็เป็นวัฏฏะอยู่อย่างนี้ วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่จบสิ้น
ถ้าเราตัดสักกายทิฏฐิในกายเราได้ รู้เหตุแห่งความหลงเสียได้อย่างนี้ ด้วยปัญญาไปพิจารณาก็ดี หนังก็ดี เมื่อไม่มีหนังแล้วเป็นอย่างไร อะไรที่มันห่อหุ้มอยู่ ฉาบชโลมอยู่ในความสวยความงาม เมื่อไม่มีหนังแล้วเป็นอย่างไร มันก็มีเลือดมีน้ำหนอง ฉาบทาในความไม่สวยไม่งาม เมื่อหนังมันไม่มีแล้วมันก็จะมีโครงกระดูก มีเลือดเนื้อ นี่ให้พิจารณาอย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง เค้าเรียกว่าพิจารณาเบื้องล่างเบื้องบนอยู่อย่างนี้ ภายในและภายนอก
แล้วไอ้ภายในนี้เรามองเห็นมั้ยจ๊ะ เราไม่สามารถมองเห็นมันได้ แต่รู้ได้มั้ยจ๊ะ มันรู้ได้ด้วยปัญญา เค้าถึงบอกว่าปัญญาอย่างแท้จริงคืออะไร คือรู้รอบในกายสังขารของตน กายสังขารของตนมันมีอะไรบ้าง อาการ ๓๒ ก็ดี อาการใดอาการหนึ่งก็ดี ถ้าเราหยิบยกมาพิจารณาเพ่งโทษในธรรมแล้ว เมื่อสละละได้เห็นความดับไป เสื่อมไป สลายไปเป็นธรรมดาได้แล้ว..แม้ธรรมข้อใดข้อหนึ่ง ใบไม้อีกในป่าอีกเท่าไหร่ก็ตามก็เป็นเช่นเดียวกัน เข้าใจมั้ยจ๊ะ โยมจะหยิบยกอะไรมาก็ได้..นี่เรียกการพิจารณาธรรม
เมื่อเราพิจารณาธรรมได้ โยมเห็นอะไรก็จะเป็นธรรมไปหมด คนเมื่อเห็นอะไรเป็นธรรมไปหมดเสียแล้วด้วยตาเนื้อก็ดี ด้วยปัญญาแล้วก็ดี แบบนี้เค้าจะวางสภาวะนั้นได้ คือเห็นสิ่งทั้งหลายทุกอย่างเป็นของธรรมดา และพร้อมที่จะตายด้วยมีสติ คือความไม่กลัวตายอีกต่อไป..
ที่มา
มูลนิธิเมืองธรรมพรหมรังสี สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
โทร ๐๙๕ ๕๖๙๕๑๙๙ , ๐๘๑ ๙๒๙๓๒๒๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น