ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ
จึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง
รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ
อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก
เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่
ถ้าหากว่า...ย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้
แก่ผู้เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นอยู่ นั่นแหละ
นันทิ (ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น
เมื่อ นันทิ มีอยู่ สาราคะ (ความพอใจอย่างยิ่ง) ย่อมมี
เมื่อ สาราคะ มีอยู่ สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมมี ผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน
นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง”
(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินดีด้วยหู กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูก
รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้น
โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกาย
และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ก็ทรงตรัสอย่างเดียวกัน)
ผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้
แม้จะส้องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าและป่าชัฏ ซึ่งเงียบสงัด มีเสียงรบกวนน้อย
มีเสียงกึกก้องครึกโครมน้อย ปราศจากลมจากผิวกายคน เป็นที่ทำการลับของมนุษย์
เป็นที่สมควรแก่การหลีกเร้น เช่นนี้แล้ว ก็ตาม
ถึงกระนั้น นั้นเราก็ยังคงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสองอยู่นั่นเอง
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ข้อนั้นเพราะเหตุว่า
ตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของ...ท่านเหล่านั้น ตัณหานั้น อันนั้น ยังละไม่ได้แล้ว
เพราะเหตุนั้น นั้นเราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง” ดังนี้
ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล
จึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว
รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ
อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก
เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่
ถ้าหากว่าย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้
แก่ภิกษุผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้น นั่นแหละ
นันทิ ย่อมดับ
เมื่อ นันทิ ไม่มีอยู่ สาราคะ ย่อมไม่มี
เมื่อ สาราคะ ไม่มีอยู่ สัญโญคะ ย่อมไม่มี
ภิกษุผู้ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน
นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว”
(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินดีด้วยหู
กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูก
รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้น
โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกาย
และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ก็ทรงตรัสอย่างเดียวกัน)
ผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้
แม้อยู่ในหมู่บ้าน อันเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย
ด้วยพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชาทั้งหลาย
ด้วยเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็ตาม
ถึงกระนั้น นั้นเราก็เรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียวโดยแท้
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ข้อนั้นเพราะเหตุว่า
ตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของท่านเหล่านั้น
ตัณหานั้น อันนั้น ละเสียได้แล้ว
เพราะเหตุนั้น ท่านเหล่านั้นเราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว” ดังนี้ แล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น