"...การเจริญพระกรรมฐาน อย่าทำเพื่ออวด ถ้าไม่มีความจำเป็นอย่าแสดงตนให้เขารู้ว่าเราเป็นนักเจริญพระกรรมฐาน เวลาที่ทำจิตสงบสงัด หาที่ลับเป็นเครื่องกำบังบุคคลไม่ให้เห็น ถ้าหากว่าเราเห็นว่ามันมิดชิดแล้ว นั่นเขาจะมาเป็นเรื่องของเขา ถ้าทำให้ชาวบ้านเขาเห็นบางวาระจิตมันคิดจะอวดเป็นมานะ เป็นกิเลสหนัก ไม่สมควร....
...นักเจริญพระกรรมฐานจงอย่าเป็นผู้มีกังวล คือในขณะที่ทรงจิตเพื่อสมาธิ อย่ามีความห่วงใยใด ๆ ทั้งหมด
...กิจการงานที่จะพึงทำ ประตูหน้าต่างที่จะพึงปิด ก็ปิดเสียให้เรียบร้อย อย่าเปิดไว้ จะได้ไม่มีการระแวงสงสัย ฟืนไฟที่มันจะไหม้ได้ ก็พยายามดับเสียให้หมดจะได้ไม่สงสัยในกิจการงาน จิตไม่ห่วงงาน จิตจะได้มีความสุข..."
"...ถ้าเรานั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธรูป เวลาบูชาพระควรจะมีแสงไฟปรากฏหรือมีแสงสว่าง ถ้าเวลาที่ก่อนจะเจริญพระกรรมฐาน ให้ลืมตาดูภาพพระหรือแสงสว่างก่อน แล้วก็หลับตาภาวนา ไม่ใช่เพ่งจนแสบตา
...ถ้าความสว่างมันเลือนหายไป เราก็ลืมตามาดูใหม่ จิตจะชิน ถ้าทำอยู่อย่างนี้เป็นปกติเราจะนั่งอยู่หน้าพระก็ดี ที่ไหนก็ตามที หรือเดินไปกลางทุ่ง กลางท่า ในป่าในดงก็ตามที จิตเรานึกถึงภาพพระ หรือแสงสว่างหรือแก้ว นึกถึงเมื่อไรเห็นได้ทันทีตามใจนึก ตามใจปรารถนา มันเห็นทางจิต อย่างนี้ถือว่าเป็นนิมิตแห่ง อาโลกกสิณ หรือ อากาสกสิณ ที่ปรากฏ หรือ พุทธานุสสติ จะปรากฏประจำใจ จิตเป็นฌาน
...รวมความว่า ภาพแก้วก็ดี ภาพพระพุทธรูปก็ดี ที่เราต้องการ เราเห็นอยู่เป็นปกติ เราเห็นชัดเจนแจ่มใส เมื่อต้องการจะรู้อะไร ก็จะเห็นชัดเจนแจ่มใส นี่เป็นเครื่องวัด.."
จาก...หนังสือ โอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่มที่ ๒ โดย หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น