31 ตุลาคม 2563

#พระศรีอริยเมตไตรย์

พระศรีอริยเมตไตรย์ ( พุทธMi Le, เกาหลี: Mi Ruk, ญี่ปุ่น: Miroku, เวียดนาม: Di Lạc) - พระโพธิสัตว์ผู้ที่จะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าลำดับที่ 5 ในภัทรกัปป์ต่อจากพระโคตมพุทธเจ้า มีประวัติของท่านเคยลงมาเกิดเพื่อสั่งสมบ่มบารมีในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระโคตมพุทธเจ้า หรือ พระสมณะโคดม โดยได้บวชเป็นพระภิกษุบวชใหม่ มีพระนามว่า " พระอัสสชิ" เป็นที่รู้จักจากความมีมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ เป็นที่นับถือทั่วไปทั้งในฝ่ายเถรวาทและมหายาน 

คุณลักษณะของพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ผู้อยู่ในข่ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นมีองค์ประกอบสำคัญอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะตน๔ ประการ คือ

๑.อุสสาหะคือ ประกอบไปด้วยความเพียรอันมั่นคง

๒.อุมมังคะคือ ประกอบไปด้วยปัญญาอันเชี่ยวชาญหาญกล้า

๓.อวัตถานะคือ ประกอบไปด้วยพระอธิษฐานอันมั่งคงมิได้หวั่นไหว

๔.หิตจริยาคือ ประกอบไปด้วยเมตตาแก่สัตว์เป็นเบื้องหน้า

(พระนันทาจารย์, ม.ป.ป.:๑๑)

คุณลักษณะหรือเรียกว่าคุณธรรมทั้ง๔ ประการนี้เป็นอุปกรณ์หรือวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งที่พระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติตามอย่างมั่นคงจนกว่าจะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายขั้นสูงสุดคือพระโพธิญาณ

ข้อที่๑ อุสสาหะพระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยความเพียรอันมั่นคงไม่ย่อท้อต่อความลำบากที่เกิดขึ้นในวัตรปฎิบัติของตนเป็นผู้ซื่อตรงมั่นคงต่อเป้าหมายสูงสุดด้วยความรักความปรารถนาต่อจุดมุ่งหมายสูงสุดคือพระโพธิญาณจึงทำให้พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีความอุสสาหะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ด้วยคุณธรรมเฉพาะตน ไม่มีจิตคิดสยบต่อมารคือกิเลสเป็นต้นอันเป็นความชั่วที่คอยยั่วยุหรือขัดขวางไม่ให้บำเพ็ญความดีอย่างเต็มที่เป็นผู้ข้ามพ้นปัญหาต่างๆ ด้วยความอุสสาหะยิ่ง

 และเพราะการจะบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ได้โดยยากแต่หากพระโพธิสัตว์สามารถข้ามพ้นความยากลำบากนั้นไปได้ด้วยความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้พระโพธิสัตว์ก็สามารถบรรลุถึงความสำเร็จคือความเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างแน่นอนดังคำอุปมาซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการที่จะได้บรรลุถึงพุทธภาวะที่ปรากฎในอรรถกถาตอนหนึ่งที่ว่า

“ผู้ใดสามารถที่จะใช้กำลังแขนของตนว่ายข้ามห้วงแห่งจักรวาลทั้งสิ้นอันเป็นน้ำผืนเดียวกันหมดแล้วถึงฝั่งได้ผู้นั้นย่อมบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้” (ขุ.ชา.อ.๓/๒๕)

ข้อที่๒ อุมมังคะพระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยปัญญาอันเชี่ยวชาญหาญกล้ารู้จักไตร่ตรองคิดหาเหตุผล อย่างรวดเร็วมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลที่ดีตลอดทั้งรู้จักแยกแยะความดี ความชั่ว ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำถ้าไม่ทำจะมีผลดี ชั่ว มากน้อยแค่ไหน ทำแล้วจะเกิดผลดี เลวทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้มีความกล้าหาญ ตัดสินปัญหาที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมากที่สุด

 ข้อที่๓ อวัตถานะพระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยพระอธิษฐานอันมั่งคงไม่หวั่นไหวคือเป็นผู้มีจิตอันแน่วแน่มั่นคงในสิ่งที่กำลังกระทำไม่คิดละเลิกในสิ่งที่ทำเสียกลางคัน ตราบใดที่ภารกิจอันนั้นยังไม่ถึงที่สุด คือความสำเร็จก็ไม่ละทิ้งให้เสียการ อธิษฐานธรรมนี้ย่อมมาพร้อมกับธรรมอีก ๓ ประการคือ วิริยะ ขันติ และสัจจะ ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นธรรมะที่มีประกอบกันอยู่เมื่อยกขึ้นข้อหนึ่งก็ย่อมมีอีก ๓ ข้อประกอบอยู่ด้วยเสมอ (วัดบวรนิเวศวิหาร, ๒๕๓๒:๑๙๙) เมื่อมีความตั้งมั่นในกิจอันใดอันหนึ่งอย่างมั่นคงแล้วจำต้องกระทำด้วยความมีวิริยะและอดทนทั้งอดทนต่อการกระทำกิจอันนั้นและอดทนต่อสิ่งยั่วยุต่างๆที่อาจเป็นตัวขัดขวางไม่ให้กิจที่กระทำดำเนินไปได้อย่างสะดวก สุดท้ายคือมีความจริงใจที่จะกระทำกิจให้ลุล่วงจนถึงที่สุด กิจนั้นจึงจะสัมฤทธิ์ผลได้

ข้อที่๔ หิตจริยาพระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบด้วยเมตตาสัตว์เป็นเบื้องหน้าเป็นผู้ประพฤติประโยชน์ด้วยคำนึงถึงผู้อื่นเสมอโดยไม่เลือกชนิดผู้รับประโยชน์พระโพธิสัตว์ถือว่าการบำเพ็ญการช่วยเหลือแก่ผู้อื่นนั้นคือภารกิจที่ต้องกระทำตามหน้าที่คือเป็นการบำเพ็ญบารมีธรรม

 คุณลักษณะทั้ง๔ประการนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการ การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เป็นการสละตนเองเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นทุกชีวิตอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกันเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายคือ ความบริบูรณ์ด้วยปัญญาอันเป็นโลกุตตรสมบัติ คือ พระสัพพัญญุตญาณ

คุณลักษณะที่สำคัญของพระโพธิสัตว์อาจสรุปได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ

๑.การบำเพ็ญตนช่วยเหลือสรรพสัตว์ อย่างไร้ขอบเขตหรือประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ)

๒.การบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อการบรรลุพระโพธิญาณในอนาคตหรือประโยชน์ตนเอง (อัตตัตถะ)

 การดำเนินชีวิตของพระโพธิสัตว์มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อยู่กับภาระที่จะพึงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์๒ ประการข้างต้นซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พระโพธิสัตว์ทุกองค์ต้องมีและประโยชน์ทั้งสองนั้นก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกล่าวคือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างไร้ขอบเขตก็คือการได้ชื่อว่าเป็นการบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตนเองตรงกันข้ามการบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตนเองก็คือการได้มีโอกาสอุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่มวลสัตว์ทั้งปวงเช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...