“๓ สามเณรแห่งกรุงศรีอยุธยา” ผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของชาติไทย!! เป็นต้นตระกูลหลายสกุล!
ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ กษัตริย์พระองค์ที่ ๓๑ ของกรุงศรีอยุธยา หรือที่เรียกกันเมื่อสวรรคตแล้วว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ณ วัดสามวิหาร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยาหรือนานกว่านั้น มีสามเณร ๓ รูปมาบวชพร้อมกันและเกาะกลุ่มรักใคร่ ทั้งยังดูสูงศักดิ์กว่าพระเณรทั้งหลายในวัด เพราะต่างก็เป็นลูกของขุนนางผู้ใหญ่แห่งราชสำนัก
สามเณรที่มีอายุแก่กว่าเพื่อนชื่อ สิน เกิดปีขาล เป็นบุตรบุญธรรมของ เจ้าพระยาจักรี สมุหนายก ส่วนบิดาจริงเป็นพ่อค้าจีน ชื่อไหฮอง รับราชการเป็นนายอากร มีตำแหน่งเป็น ขุนพัฒน์ มารดาเป็นไทยชื่อ นกเอี้ยง เล่ากันว่าเมื่อเวลาคลอดมีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น คือมีงูใหญ่เลื้อยขึ้นมาขดอยู่รอบขอบกระด้งที่ใส่ทารก ทั้งยังมีฟ้าผ่าลงมาที่เรือน บิดามารดาเห็นว่าทารกน่าจะเป็นผู้มีบุญวาสนา ถ้าเลี้ยงไว้เองเกรงว่าจะไม่รอด จึงจะยกให้ผู้มีวาสนาบรรดาศักดิ์ ซึ่งสมุหนายกที่อยู่บ้านใกล้กันก็ยินดีรับไว้เป็นบุตรบุญธรรม
สามเณรที่อายุรองลงมา ชื่อ ทองด้วง เกิดปีมะโรง เป็นบุตร หลวงพิพิธอักษร (ทองดี) เสมียนตรากรมมหาดไทย สามเณรองค์นี้ท่าทางสง่าผ่าเผย มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
ส่วนสามเณรคนที่อายุอ่อนกว่าเพื่อน ชื่อ บุนนาค เกิดปีมะเมีย เป็นบุตร พระยาจ่าแสนยากร (เสน) ข้าราชการวังหน้า สามเณรองค์นี้เป็นคนอ่อนโยน ปัญญาไว ไหวพริบดี อีกทั้งยังเทศน์กัณฑ์มัทรีได้ไพเราะนัก บ้านอยู่ใกล้ๆวัดนั่นเอง
สามเณรทั้ง ๓ แม้จะรักใคร่สนิทสนมกันดี แต่ก็ต่างเชื้อสายชาติพันธุ์กัน
สามเณรสินถึงจะเป็นลูกเลี้ยงสมุหนายก แต่แท้ที่จริงเป็นลูกจีนที่อพยพเข้ามา ส่วนสามเณรทองด้วง มีเชื้อสายไทยแท้ สืบมาแต่เจ้าพระยาโกษาปาน ราชทูตของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ไปโด่งดังในฝรั่งเศส โดยเจ้าพระยาโกษาปานมีบุตรคนโตชื่อ “ขุนทอง"”รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาวรวงศาธิราช เสนาบดีคลัง
เจ้าพระยาวรวงศาธิราชมีบุตรคนโตชื่อ “ทองคำ” รับราชการเป็น พระยาราชนิกูล ปลัดทูลฉลองมหาดไทย
พระยาราชนิกูล มีบุตรคนโตชื่อ “ทองดี” ได้เป็น หลวงพิพิธอักษร ซึ่งก็คือบิดาของสามเณรทองด้วงนั่นเอง
ส่วนสามเณรบุนนาคนั้น มีเชื้อแขกเปอร์เซีย สืบสายมาจาก เฉกอะหมัด พ่อค้าชาวเปอร์เซียที่แล่นสำเภาเข้ามาค้าขายยังกรุงศรีอยุธยา จนได้เป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี อัครมหาเสนาบดี สมุหนายกฝ่ายเหนือ เพราะได้ร่วมกับพระเจ้าปราสาททองเมื่อครั้งยังเป็น พระยามหาอำมาตย์ เข้าปราบปรามกบฏญี่ปุ่นยึดวังในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม และบุตรของเฉกอะหมัดชื่อ “ชื่น” ได้เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา สมุหนายก ต่อจากบิดา ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง
เจ้าพระยาอภัยราชา มีบุตรชื่อ “สมบุญ” ได้เป็น เจ้าพระยาชำนาญภักดี สมุหนายกในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เจ้าพระยาชำนาญภักดีมีบุตรชื่อ “ใจ” ได้เป็น เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย สมุหนายกในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย มีบุตรชื่อ “เสน” ซึ่งก็คือ พระยาจ่าแสนยากร บิดาของสามเณรบุนนาค ซึ่งต่อมาพระยาจ่าแสนได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยามหาเสนา สมุหนายกในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช ๔ หรือขุนหลวงหาวัด
สามเณรบุนนาค ก็คือลูกหลานลำดับชั้นที่ ๕ ของเฉกอะหมัดนั่นเอง แต่ได้ละจากศาสนาอิสลามมาถือพุทธในช่วงของเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ)
หลังจากสึกออกมาแล้ว สามเณรทั้ง ๓ ยังคบหาเที่ยวเล่นอยู่ด้วยกันตลอดมา วันหนึ่งนั่งเล่นอยู่ที่แคร่หน้าบ้านเจ้าพระยาจักรี นายสินซึ่งตอนนั้นไว้ผมเปียได้นอนหลับไป และด้วยความคึกคะนองเป็นคนขี้เล่นของนายบุนนาค จึงเอาผมเปียของนายสินผูกไว้กับแคร่แล้วแกล้งทำเสียงเอะอะโวยวาย นายสินตกใจตื่นผงะขึ้นนั่งก็ต้องหงายหลังลงเพราะถูกผมเปียดึง ทำให้เพื่อนๆหัวเราะชอบใจ แต่นายสินทั้งเจ็บทั้งอาย จึงผูกใจเจ็บนายบุนนาค ทำให้ความสัมพันธ์ของคนคู่นี้ขาดสะบั้นลง แต่นายทองด้วงก็ยังคบหาทั้งนายสินและนายบุนนาคด้วยความรักใคร่เช่นเดิม
เมื่อโตพอเข้ารับราชการ เจ้าพระยาจักรีก็นำนายสินถวายตัวเข้าเป็นมหาดเล็กพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลวงพิพิธอักษรก็ถวายตัวนายทองด้วงเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพรราชกุมาร กรมขุนพรพินิต กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกัน พระยาจ่าแสนยากร ก็ถวายตัวนายบุนนาคกับกรมพระราชวังบวรฯ จึงทำให้นายทองด้วงกับนายบุนนาคเข้ารับราชการในวังหน้าด้วยกัน แต่นายสินไปอยู่วังหลวง
ในหน้าที่ราชการ นายสินก้าวไปเร็วกว่าเพื่อน อายุเพียง ๓๐ ก็ได้เป็นพระยาตาก เจ้าเมืองตาก นายทองด้วงได้เป็น หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ส่วนนายบุนนาค เป็น นายฉลองไนยนารถ มหาดเล็กหุ้มแพรในกรมพระราชวังบวร และยังคงอยู่ที่บ้านบิดาในกรุงศรีอยุธยาต่อไป
ก่อนกรุงแตกในปี พ.ศ.๒๓๑๐ นายสินซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ไม่มีโอกาสไปรับตำแหน่ง เพราะต้องนำกำลังมาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา คนจึงเรียกกันว่า“พระยาตาก” ตลอดมา เมื่อคราวที่ฝ่ายกรุงส่งกองทัพเรือเข้าสู้กับพม่า พระยาตากก็คุมกองทัพเรือไปด้วย แต่เมื่อเห็นว่าไม่มีทางจะสู้ข้าศึกได้ ทั้งในกรุงก็ยุ่งเหยิง จะยิงปืนใหญ่แต่ละทีต้องแจ้งเข้าไปในวังก่อน เพราะกลัวสาวสนมกำนัลในจะตกใจ พระยาตากเองก็ถูกคาดโทษไว้ทีหนึ่งแล้วฐานที่ยิงปืนใหญ่โดยไม่ขออนุญาต สกัดพม่าที่บุกเข้ามาถึงกำแพงเมือง จึงตัดสินใจนำทหาร ๕๐๐ คนแหวกวงล้อมของพม่าไปส้องสุมกำลังที่เมืองจันทบุรี
ส่วนนายบุนนาคซึ่งแต่งงานกับท่านลิ้ม มีบุตรสาว ๑ คนแล้วชื่อ ตานี ก็พาลูกเมียเล็ดลอดหนีออกจากกรุงไปอัมพวา สมุทรสงคราม เพื่ออาศัยหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ซึ่งมีบ้านภรรยาอยู่ที่นั่น
มีข้าราชการหลายคนที่หนีออกจากกรุงศรีอยุธยาตามไปสมทบกับพระยาตากที่จันทบุรี ในจำนวนนี้มี นายบุญมา น้องชายของนายทองด้วงซึ่งรับราชการเป็นมหาดเล็กของเจ้าฟ้าอุทุมพร และได้เลื่อนขึ้นเป็น นายสุดจินดา มหาดเล็กหุ้มแพรของพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศน์ ได้หลบหนีพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาตามหาพี่ชาย ซึ่งพาครอบครัวหลบไปอยู่ในป่าแถวอัมพวาจนพบ
นายบุญมาได้ชวนพี่ชายไปร่วมกับพระยาตาก แต่ตอนนั้นคุณหญิงนากภรรยากำลังตั้งครรภ์แก่ (อุ้มครรภ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ไม่อาจทิ้งภรรยาไปได้ จึงให้น้องชายไปก่อน พร้อมทั้งให้ตามหานางนกเอี้ยง มารดาพระยาตาก ที่ได้ข่าวว่าซ่อนตัวอยู่แถวบ้านแหลม แขวงเมืองเพชรบุรี พาไปให้พระยาตากด้วย นอกจากนี้ยังฝากแหวนพลอยไพฑูรย์ ๑ วง แหวนพลอยบุศราคัมเนื้อทอง ๑ วง กับดาบคร่ำทองโบราณอีก ๑ เล่ม ไปให้พระยาตากในฐานะเพื่อนสนิทด้วย
นายบุญมาไปตามหานางนกเอี้ยงจนพบ พาไปให้พระยาตากที่จันทบุรี ซึ่งทำให้พระยาตากดีใจมาก นายบุญมาได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของพระยาตากจนกอบกู้อิสรภาพได้สำเร็จ สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี และเถลิงถวัลย์ราชสมบัติขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี ส่วนนายบุญมาได้รับโปรดเกล้าฯเป็น พระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจขวาในปี พ.ศ.๒๓๑๐ นั่นเอง
ต่อมาพระมหามนตรีได้กราบบังคมทูลขอไปรับหลวงยกกระบัตรพี่ชายที่เมืองราชบุรีเข้ามารับราชการด้วย ซึ่งพระเจ้าตากสินก็โปรดให้ไปรับมา และเนื่องจากพระมหามนตรีอัญเชิญพระบรมราชโองการไป หลวงยกกระบัตรต้องรีบมาเข้าเฝ้าด่วน ทำให้ครอบครัวเตรียมตัวไม่ทัน จึงได้ให้นายบุนนาคช่วยดูแลครอบครัวแทน แล้วค่อยอพยพตามมาในภายหลัง
หลวงยกกระบัตรได้รับโปรดเกล้าฯเป็นพระราชวรินทร์ ซึ่งต่อมานายบุนนาคก็พาครอบครัวตามมาส่งให้ และอาศัยปลูกบ้านอยู่ในเขตบ้านของพระราชวรินทร์ที่ได้รับพระราชทานด้วย โดยทำหน้าที่เป็นทนายหน้าหอ มีหน้าที่ออกรับหน้าแทนพระราชวริทร์ที่บ้าน
เพื่อนฝูงหลายคนได้เข้ารับราชการกับพระเจ้ากรุงธนบุรีกันเป็นแถว แต่นายบุนนาคไม่กล้า ทั้งยังขอร้องมิให้เพื่อนเก่าๆกล่าวชื่อตนเข้าพระกรรณสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย เพราะเกรงความพยาบาทเรื่องเอาผมเปียไปผูกแคร่ซึ่งทำให้โกรธมาก
พระราชวรินทร์และพระมหามนตรีต่างก็เป็นขุนศึกคู่พระทัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ออกกรำศึกด้วยทุกครั้ง และได้เลื่อนยศเลื่อนบรรดาศักดิ์มาตลอด จากพระราชวรินทร์ เลื่อนขึ้นเป็น พระยายมราช เจ้าพระยาจักรี จนถึง สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
พระมหามนตรีก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระอนุชิตราชา พระยายมราช จนถึง เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช
ส่วนนายบุนนาคยังรับหน้าที่ทนายหน้าหอด้วยความซื่อสัตย์มาตลอด ไม่ยอมเข้ารับราชการ แต่ไม่ว่านายทองด้วงจะไปศึกสงครามครั้งใด ตั้งแต่เป็นพระราชวรินทร์จนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นายบุนนาคจะต้องติดตามไปด้วยทุกครั้ง เหมือนรับราชการ แต่ไม่ยอมให้พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพบหน้า
ครั้งหนึ่งในงานที่วัดแจ้ง นายบุนนาคถือพานทองล่วมหมากตามเจ้าพระยาจักรีไปในงาน พอพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จมา นายบุนนาคกลัวว่าจะเห็นตนจึงรีบไปซ่อนอยู่ในเรือ จนเมื่อพระเจ้าตากสินเสด็จพระราชดำเนินไปแล้ว จึงได้ออกจากที่ซ่อนแล้วรีบกลับบ้าน จากนั้นก็ไม่กล้าติดตามเจ้าพระยาจักรีเข้าไปในวังหรือในงานพระราชพิธีอีกเลย
ต่อมานายบุนนาคนึกถึงทรัพย์สมบัติของครอบครัวซึ่งฝังไว้ที่กรุงศรีอยุธยาก่อนหนีพม่า จึงพาท่านลิ้มภรรยาไปขุด ฝากลูกสาวไว้กับท่านผู้หญิงนาก ขากลับขนสมบัติมาทางเรือใหญ่ แจวล่องมาทางแม่น้ำอ้อม เมืองนนทบุรี แต่พอถึงปากคลองบางใหญ่ในเวลา ๕ ทุ่ม ซึ่งเป็นที่เปลี่ยว ก็ปรากฏว่ามีโจรกลุ่มใหญ่จ้ำเรือตามมาทันและเข้าปล้น นายบุนนาคนำข้าทาสเข้าต่อสู้ แต่โจรมีมากกว่าได้ฆ่าท่านลิ้มกับทาสอีก ๒ คนตาย นายบุนนาคต้องโดดน้ำว่ายขึ้นฝังเอาชีวิตรอด
การตกพุ่มม่ายของนายบุนนาค คนใกล้ชิดของท่านเจ้าคุณสามี ทำให้ท่านผู้หญิงนากเกิดความสงสาร ต่อมาจึงยก คุณนวล น้องสาวให้
การยกน้องสาวให้ทนายหน้าหอผู้ซื่อสัตย์ของเจ้าคุณสามีครั้งนี้ กล่าวกันว่า นอกจากท่านผู้หญิงจะเห็นอกเห็นใจนายบุนนาคคนใกล้ชิดรักใคร่กับท่านเจ้าคุณสามีมาตั้งแต่เด็ก ช่วยดูแลครอบครัวในยามที่เจ้าคุณไม่อยู่แล้ว ยังเป็นการป้องกันไม่ให้พี่น้องต้องผิดใจกัน เพราะเกรงว่าท่านเจ้าคุณจะเอ็นดูน้องภรรยาด้วยอีกคน
ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้เกิดการจลาจลวุ่นวายขึ้นในกรุงธนบุรี ขณะที่เจ้าพระยาจักรีซึ่งได้เลื่อนขั้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปทำศึกที่เขมร เมื่อกลับมา ข้าราชการและอาณาประชาราษฎร์จึงอัญเชิญขึ้นครองราชย์ปราบดาภิเษกเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
เมื่อสิ้นแผ่นดินของพระเจ้าตากสินแล้ว นายบุนนาคก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้ารับราชการ
ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ กล่าวตอนนี้ไว้ว่า
“ตรัสเอาหม่อมบุนนาค บุตรพระยาจ่าแสนครั้งกรุงเก่า มิได้คิดเข้ามาทำราชการหายศบรรดาศักดิ์ พึ่งแต่พระเดชพระคุณให้ใช้สอย ได้ตามเสด็จไปพระราชสงครามทุกครั้ง มีความชอบตั้งให้เป็น พระยาอุทัยธรรม”
ทั้งยังพระราชทานบ้านพักให้อยู่ท้ายวังในหมู่บ้านเสนาบดี ซึ่งก็คือบริเวณที่เป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในปัจจุบัน และบ้านของพระยาอุทัยธรรม อันเป็นบ้านของสกุลบุนนาคก็อยู่ตรงที่เป็นโบสถ์พระนอนขณะนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) ก็อยู่บ้านนี้ต่อจากบิดา และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ผู้สำเร็จราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็เกิดที่บ้านหลังนี้
พระยาอุทัยธรรมได้ถวายธิดาคนแรก คือ ท่านตานี ที่เกิดจากท่านลิ้มให้รับราชการฝ่ายใน ซึ่งได้เป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าหญิงจงกลนี และพระองค์เจ้าชายเสวตฉัตร กรมหมื่นสุรินทรารักษ์ ต้นสกุล “ฉัตรกุล”
ในสงคราม ๙ ทัพ เจ้าพระยายมราช (สน) ซึ่งไปตั้งทัพรับพม่าอยู่ที่ราชบุรี แต่พม่าเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่เขางูก็ยังไม่รู้ เมื่อเสร็จสงครามจึงต้องโทษตามกฎอาญาทัพ ถูกถอดบรรดาศักดิ์ โปรดให้พระยาอุทัยธรรมขึ้นเป็นเจ้าพระยายมราชแทน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงเป็นจอมทัพยกไปตีเมืองทวาย แต่ไม่สำเร็จ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) แม่ทัพผู้หนึ่งหายไป ไม่มีใครทราบว่าตายหรือถูกจับ เสด็จกลับจากศึกครั้งนี้จึงโปรดเกล้าฯ เลื่อนเจ้าพระยายมราชขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนาแทน
เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) รับราชการในตำแหน่ง สมุหกลาโหมจนอายุได้ ๖๘ ปีจึงถึงแก่อสัญกรรม มีบุตรธิดากับ “เจ้าคุณนวล” ๑๐ คน และยังมีบุตรธิดากับ ๗ หม่อมอีก ๒๒ คน รวมมีบุตรธิดา ๓๒ คน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ที่เกิดกับเจ้าคุณนวล ขอพระราชทานนามสกุล จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานนามสกุลของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ตามชื่อของเจ้าพระยามหาเสนาว่า “บุนนาค” เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๖
เชื้อสายของเฉกอะหมัดที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในปลายสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงได้นามสกุลอย่างเป็นทางการในรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตามชื่อของเจ้าพระยามหาเสนาในรัชกาลที่ ๑ และถือว่าเป็น “ราชินีกูล” คือสกุลฝ่ายพระราชินี เพราะสืบเชื้อสายมาจาก “เจ้าคุณนวล” พระขนิษฐภคินีของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ส่วนบุตรที่เกิดจากภรรยาคนอื่นๆไม่ได้ใช้บุนนาคด้วย
เชื้อสายราชวงศ์ของพระเจ้าตากสินนั้นปรากฏว่ามีพระราชโอรสและพระราชธิดากับสมเด็จพระอัครมเหสีและพระสนมต่างๆ รวมทั้งสิ้น ๓๐ พระองค์ ดำรงพระยศโดยสืบจากฐานันดรศักดิ์ของพระราชมารดา เป็นชั้นเจ้าฟ้า ๑๒ พระองค์และชั้นพระองค์เจ้า ๑๘ พระองค์ แต่ได้ถูกลดพระยศทั้งหมดเมื่อสิ้นรัชกาล แม้แต่สมเด็จพระอัครมเหสี กรมหลวงบาทบริจา ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระราชินี ยังถูกลดพระยศลงเป็น “หม่อมสอน” และพระราชโอรสหลายพระองค์ก็ถูกสำเร็จโทษพร้อมพระราชบิดา
ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จเจ้าฟ้าชายสุพันธุวงศ์ พระราชโอรสของพระเจ้าตากสินในเจ้าจอมมารดาเจ้าฟ้าฉิมใหญ่ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นหัวหน้ากบฏจึงถูกสำเร็จโทษพร้อมกับโอรสเล็กๆอีก ๖ พระองค์ รวมกับเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมพระราชบิดาที่คิดก่อการร้ายอีกหลายพระองค์ จนเกือบจะไม่เหลือราชวงศ์กรุงธนบุรี
แต่อย่างไรก็ดี ยังมีพระราชโอรสและพระราชธิดา ได้รอดชีวิตสืบสกุลเชื้อสายพระเจ้าตากสินต่อมา ทั้งโดยทางตรงและทางพระราชธิดาซึ่งร่วมสัมพันธ์กับราชวงศ์จักรี
ที่ถือว่าเป็นสายตรงสืบมาจากพระราชโอรสของพระเจ้าตากสิน ก็คือ
ราชสกุล “พงษ์สิน” สืบมาจาก คุณชายราช โอรสของ เจ้าฟ้าชายทัศพงศ์
ราชสกุล “สินสุข” สืบมาจาก คุณชายทองดี โอรสของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ ซึ่งถูกสำเร็จโทษพร้อมพระราชบิดา
ราชสกุล “อินทรโยธิน” สืบมาจากคุณชายทองอิน โอรสของกรมขุนอินทรพิทักษ์เช่นกัน
ราชสกุล “ศิลานนท์” สืบมาจาก คุณชายอิ่ม โอรสของเจ้าฟ้าชายศิลา
ราชสกุล “รุ่งไพโรจน์” สืบมาจากคุณชายรุ่ง โอรสของเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมาร
ราชสกุล “ณ นคร” สืบมาจากเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ซึ่งเป็นพระราชโอรสลับของพระเจ้าตากสิน จากเจ้าจอมมารดาปราง ซึ่งสกุลนี้รวมกับเชื้อสายที่สืบมาจากเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ด้วย
นอกจากนี้บุตรชายของ เจ้าพระยานครน้อย ยังแยกนามสกุลออกเป็น “โกมารกุล ณ นคร” และ “จาตุรงคกุล” อีกด้วย
ราชสกุล “ณ ราชสีมา” สืบมาจากเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) หรือเจ้าพระยากำแหงสงคราม ซึ่งเป็นพระราชโอรสลับของพระเจ้าตากสินกับเจ้าจอมมารดา ยวนหรือจวน เช่นเดียวกับเจ้าพระยานครน้อย
นอกจากนี้ยังมีสายที่เกิดจากพระราชธิดาร่วมกับราชวงศ์จักรีอีกหลายสกุลเช่น อิศรเสนา อิศรางกูร ปาลกะวงศ์ เสนีย์วงศ์ กุญชร ชุมสาย ลดาวัลย์ สุริยกุล นพวงศ์ ภาณุมาศ กาญจนวิชัย จรูญโรจน์ เป็นต้น
นี่คือเสี้ยวหนึ่งของพระราชประวัติ ๒ มหาราชแห่งชาติไทย ที่ทรงกอบกู้เอกราชและสถาปนากรุงเทพมหานครจนรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน กับต้นตระกูลของสกุลที่มีลูกหลานเข้ารับราชการและมีบทบาทสำคัญในราชสำนักแห่งกรุงรัตนโกสินทร์มาหลายรัชกาล