ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่ออายุ ๑๕ ปี ท่านบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านคำบง
เมื่ออายุ ๒๒ ปี ได้เข้าศึกษาในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี และได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ วัดสีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ นามมคธที่อุปัชฌาย์ตั้งให้ชื่อ ภูริทัตโต
.
เมื่อท่านอุปสมบทแล้วก็ได้บำเพ็ญสมณธรรมกับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ เป็นเวลาหลายปี พระอาจารย์เสาร์ฯ ได้พาท่านไปเที่ยวศึกษาธรรมปฏิบัติในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งทางฝั่งซ้ายเมืองหลวงพระบางและที่อื่น ๆ ซึ่งท่านเล่าว่าเคยพากันป่วยแทบกลับมาไม่รอด เพราะป่วยทั้งตัวท่านเอง และพระอาจารย์เสาร์ฯ ด้วย ท่านเลยมาระลึกถึงธรรมปฏิบัติโดยไปในที่สงัดแห่งหนึ่งพิจารณาความตายจิตเลยลงสู่ภวังค์ขจัดโรคอาพาธไปได้ในขณะนั้น
.
ภายหลังท่านได้ออกไปโดยเฉพาะแสวงหาความวิเวกตามสถานที่ต่าง ๆ อาศัยพุทธพจน์เป็นหลักเร่งกระทำความเพียรบำเพ็ญสมณธรรมโดยมิได้คิดเห็นแก่อันตรายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิต
.
การบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฎ ที่แจ้ง หุบเขาซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนากับเจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม แล ถ้ำสิงโตห์ ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา
.
ท่านได้อยู่บำเพ็ญสมณธรรมไปจนได้ความรู้ความฉลาดในทางดำเนิน แล้วท่านก็มาระลึกถึงหมู่คณะที่เป็นสหธรรมิกทางภาคอีสาน ที่พอจะช่วยแนะการปฏิบัติให้ได้ ท่านจึงได้เดินจากภาคกลางไปทางอุบลราชธานี เที่ยวจารีกไปในสถานที่ต่าง ๆ อันเป็นสถานที่พอจะพาคณะเจริญสมณธรรมได้ ภายหลังครั้งเมื่อพระภิกษุสามเณรได้ยินว่าท่านมาทางนี้ก็ได้เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติ แต่ครั้งแรกมีน้อย ที่เป็นพระภิกษุสามเณรถือนิกายอื่นแต่ได้เข้ามาปฏิบัติก็มีอยู่บ้าง โดยที่ท่านมิได้เรียกร้องหรือชักชวนแต่ประการใด ต่างก็น้อมตัวเข้ามาศึกษาปฏิบัติ เมื่อได้รับโอวาทและอบรมก็เกิดความรู้ความฉลาดเลื่อมใสเกิดขึ้นในจิตในใจ บางท่านก็ยอมเปลี่ยนนิกายเดิมกลับเข้ามาเป็นนิกายเดียวกับท่าน บางท่านก็มิได้เปลี่ยนนิกายท่านเองมิได้บังคับแต่ประการใด และเป็นจำนวนมากที่ยอมเปลี่ยนจากนิกายเดิม แม้ว่าท่านพระเถระทั้งหลายนี้แหละ เมื่ออบรมได้รับความเลื่อมใสในธรรมแล้ว ก็นำไปเล่าสู่กันฟังโดยลำดับ อาศัยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ต้องการพ้นจากกองทุกข์ ซึ่งอุปนิสัยวาสนาได้อบรมเป็นทุนดังที่ว่ามาแล้วแต่หนหลังก็ได้พยายามออกติดตามขอปฏิบัติด้วยเป็นจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ
ด้วยความที่ท่านหวังเพื่อเป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เหตุนั้นท่านจึงไม่อยู่เป็นที่เป็นทางหลักแหล่งเฉพาะแห่งเดียว เที่ยวไปเพื่อประโยชน์แก่ชนในสถานที่นั้น ๆ ดังนี้
.
ณ กาลสมัยนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นฯ อยู่วัดเลียบนั้นมานาน จึงได้เข้าไปจำพรรษาที่กรุงเทพฯ และทางเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี จนถึงพ.ศ.๒๔๕๗
ท่านมาหาสหธรรมทางอุบลราชธานี จำพรรษาที่วัดบูรพาในจังหวัดนั้น เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๘ ท่านมีพรรษาได้ ๒๕ พรรษา
.
พ.ศ.๒๔๕๙ จำพรรษาที่ภูผากูด บ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
พ.ศ. ๒๔๖๐ จำพรรษาที่ บ้านคงปอ ห้วยหลวง อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี
พ.ศ. ๒๔๖๑ จำพรรษาที่ ถ้ำผาบึ้ง จังหวัดเลย
พ.ศ. ๒๔๖๒ จำพรรษาที่ บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
พ.ศ. ๒๔๖๓ จำพรรษาที่ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
พ.ศ. ๒๔๖๔ จำพรรษาที่ บ้านห้วยทราย อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม
พ.ศ. ๒๔๖๕ จำพรรษาที่ ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. ๒๔๖๖ จำพรรษาที่ วัดมหาชัย อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู
พ.ศ. ๒๔๖๗ จำพรรษาที่ บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
พ.ศ. ๒๔๖๘ จำพรรษาที่ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
พ.ศ. ๒๔๖๙ จำพรรษาที่ บ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
พ.ศ. ๒๔๗๐ จำพรรษาที่ บ้านหนองขอน อำเภอบุง (ปัจจุบันอำเภอหัวตะพาน) จังหวัดอำนาจเจริญ
พ.ศ. ๒๔๗๑ จำพรรษาที่ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ
พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๘๒ จำพรรษาที่ จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔ จำพรรษาที่ วัดโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี
พ.ศ. ๒๔๘๕ จำพรรษาที่ เสนาสนะป่าบ้านโคก จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. ๒๔๘๖ จำพรรษาที่ เสนาสนะป่าบ้านนามน จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. ๒๔๘๗ จำพรรษาที่ เสนาสนะป่าบ้านโคก จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๙๒ จำพรรษาที่ บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
.
ท่านปฎิบัติจนถึงที่สุดแห่งธรรมในพระพุทธศาสนา ที่จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนั่งสมาธิภาวนาบนพลาญหินกว้างใต้ร่มไม้ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวมีใบดกหนาร่มเย็นบริเวณชายภูเขาแห่งหนึ่ง ขณะที่จิตพลิกคว่ำวัฏจักรออกจากใจโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังมีบทบาลีขึ้นมา ๓ รอบ คือ “โลโป” , “วิมุตติ” และ “อนาลโย”
ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ
.
๑. ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบจนกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนให้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
.
๒. บิณฑบาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารยวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัย จึงงดบิณฑบาต
.
๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาต ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธในปัจฉิมสมัย จึงงด
.
๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ตลอดเวลา แม้อาพาธหนักในปัจฉิมสมัย ก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย เมื่อถึงวัยชรา จึงอยู่ในเสนาสนะ ป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลัง ที่จะภิกขาจารบิณฑบาต เป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรง ไม่รบกวน นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยว แสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่น ในคราวไปอยู่ภาเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอร์ ยังชาวมูเซอร์ที่พูดไม่รู้เรื่องกัน ให้บังเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้
.
ธรรมโอวาท - คำที่เป็นคติอันท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อยๆ ที่เป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำด้วยกาย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ดังนี้
.
ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเลิศ
ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง
.
เมื่อท่านอธิบายตจปัญจกกรรมฐานจบลง มักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า “แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตก คาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้ แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้น คาก้นย่างยาย คาย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภาพทั้งสามเป็นเฮือน เจ้าอยู่” ดังนี้
.
ปัจฉิมบท - ในวัยชรา นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านหลวงปู่มั่นมาอยู่ที่จังหวัดสกลนครเปลี่ยนอิริยาบถไปตามสถานที่วิเวก ผาสุกวิหารหลายแห่ง คือ ณ เสนาสนะป่า บ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง (ปัจจุบัน เป็นอำเภอโคกศรีสุพรรณ) บ้าง ที่ใกล้ๆ แถวนั้นบ้าง ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายของชีวิต
.
หลังวันมาฆบูชาปี ๒๔๙๒ ท่านเริ่มป่วย ครั้นเมื่อออกพรรษาท่านป่วยหนัก จึงปรารภให้พาท่านไปสกลนคร ลูกศิษย์จึงนำท่านออกมาจากหนองผือและได้พักระหว่างทางที่วัดกลางโนนภู่ ๑๑ คืน จนวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ตอนเช้าราว ๗ น.กว่า ๆ รถแขวงการทางสกลนครรับท่านจากวัดบ้านภู่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ถึงวัดป่าสุทธาวาส เวลา ๑๒.๐๐ น. ลมหายใจท่านปรากฏว่าค่อยอ่อนลงทุกทีและละเอียดไปตาม ๆ กัน ลมค่อยอ่อนและช้าลงทุกทีจนแทบไม่ปรากฏ วินาทีต่อไปลมก็ค่อย ๆ หายเงียบไปอย่างละเอียดสุขุม ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน จึงได้ถือเวลานั้นเป็นเวลามรณภาพของท่าน
.
สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน รวม ๕๖ พรรษา
.
ที่มา
คัดจากหนังสือ "ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น