17 พฤศจิกายน 2563

"บุญ - บารมี" ต่างกันอย่างไร?

"บุญ" นั้นมีพลานุภาพมาก... สามารถอยู่กับเราได้ข้ามภพข้ามชาติแต่หากส่งผลของกรรมดีจนบุญหมดแล้ว เมื่อหมดก็คือ "หมด" จริงๆ

เราควรสะสม "กรรมดี" อันเป็น "บุญ" ไปเรื่อยๆ พยายามอย่าสร้าง "กรรมไม่ดี" ให้มันบันทึกไว้ใน "จิต" เพราะเวลา "บาป" มันส่งผล มันก็จะมีอานุภาพหนักหนาพอๆกัน

พิจารณาดูสิ! พระพุทธองค์เมื่อบรรลุธรรมก็ยังต้องรับ "วิบากกรรม" ที่ได้กระทำไว้ในอดีตแต่ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์แล้วท่านจะรับกรรมแบบ "ไม่มีทุกข์" ในขันธ์ 5 ในสังขารของท่าน

"บุญ" นั้นมาจาก "กรรมดี" ซึ่งมีที่มาได้ 2 ทาง คือ

   1. บุญจาก "การกระทำเอง"
   2. บุญจาก "การรับรู้ที่ผู้อื่นได้ทำดี" อันเรียกว่า "อนุโมทนาบุญ"

ส่วน "บารมี" มาได้ทางเดียวเท่านั้น คือ "ท่านจะต้องทำเอง" และเป็นการทำบุญ​อย่างยิ่งยวดเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์​  เมื่อสร้างแล้วมันจะถูกบันทึกไว้ใน "จิต" ไม่มีลดมีแต่ทรงกับเพิ่ม ซึ่งต่างจาก "บุญ" 

และวิธีการสร้าง "บารมี" มี 10 วิธี! ดังนี้

1. ทานบารมี = การที่จิตของเราพร้อมที่จะให้ทาน ให้เพื่อสงเคราะห์ไม่ใช่ให้เพื่อผลตอบแทน ให้แบบไม่เลือกเพศ ไม่เลือกฐานะ ไม่เลือกบุคคล และเต็มใจในการให้ทานนั้นๆ

2. ศีลบารมี = การที่จิตของเราพร้อมในการรักษาศีล พยายามไม่ให้ศีลบกพร่อง และไม่ยุคนอื่นให้ละเมิดศีล ไม่ดีใจเมื่อคนอื่นละเมิดศีล

3. เนกขัมมบารมี = การที่จิตพร้อมในการถือบวช ในการมุ่งไปสู่การปฏิบัติธรรม การบำเพ็ญภาวนา

4. ปัญญาบารมี = การที่จิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประหัตประหารกิเลสและมีความรู้เท่าทันสภาวะของกฎสามัญลักษณะ ได้แก่ การเห็นอนิจจัง - ทุกขัง - อนัตตา ทุกอย่างไม่แน่!

5. วิริยบารมี = การที่มีความเพียรทุกขณะในการที่จะทำความดี ทำอย่างไม่ย่อท้อ

6. ขันติบารมี = การที่มีความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ในการทำความดี

7. สัจจะบารมี = การที่ตั้งมั้นในคำพูดที่ได้รับปากไว้แล้วหรือการตั้งมั่นกับตนเอง พูดจริง! ทำจริง! 

8. อธิษฐานบารมี = การตั้งเป้าหมายให้จิตแบบเจาะจง การที่ตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น...สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ทรงนั่งประทับที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์พระองค์อธิษฐานว่าถ้าเราไม่ได้สำเร็จพระโพธิญาณเราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้ พระองค์ทรงอธิษฐานแบบเอาชีวิตเข้าแลกแล้วพระองค์ก็ทรงบรรลุในคืนนั้น

9. เมตตาบารมี = การที่มีความเมตตาไม่เป็นศัตรูกับใคร ไม่เกลียดใคร ไม่อาฆาตใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น

10. อุเบกขาบารมี = การที่มีความวางเฉยมีความเป็นกลางต่ออารมณ์ที่ถูกใจและอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ

ขอให้ชาวพุทธทุกท่าน 
ได้เสริมสร้าง "บุญ - บารมี" กันด้วยความเข้าใจเถิด

และให้เข้าใจอีกนิดว่า

บำเพ็ญธรรม
คือเรื่องของการฝึกฝนจิต
ที่ซุกซนแส่ส่าย
คล้ายลิงคล้ายม้า
ให้กลับมาอยู่ในปัจจุบันขณะ
ให้กลับมาอยู่ในที่อันควรเป็น

การฝึกฝนจิต
จึงเป็นการปฏิบัติ
ที่ควรอยู่ในทุกขณะ ของชีวิตประจำวัน
กระทำด้วยความเพียร
ไม่ย่อท้อ ไม่เกียจคร้าน
และไม่ใจเร็วด่วนได้ไปหวังผล

ยิ่งฝึกฝนจิต ก็ยิ่งมีสติ 
ยิ่งมีสติ ก็ยิ่งมีกำลัง
ยิ่งเป็นคุณ ยิ่งเป็นประโยชน์
เป็นทางอันประเสริฐ
ที่มนุษย์ทุกคนควรเดินไป

ธรรมทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...