20 พฤศจิกายน 2563

พิจารณาในกายสังขาร

ความไม่เที่ยงสภาวะมันเป็นอย่างไร สิ่งไหนที่ว่าไม่เที่ยงนั่นแล สิ่งนั้นเรียกว่าเป็นทุกข์ ให้โยมเจริญกรรมฐาน ๕ ว่าด้วยเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ สิ่งไหนที่ไม่เที่ยงเรียกว่าทุกข์ สิ่งไหนที่ไม่คงทนไม่คงที่นั่นเรียกว่าความไม่เที่ยง สิ่งใดที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วแปรปรวนไปไม่คงที่ ก็เรียกว่าทุกข์ 

ให้พิจารณาในกายสังขาร สิ่งไหนก็ตามที่เราพิจารณาแล้วว่ามันไม่เที่ยง เช่นเดียวกับกายสังขารหรืออายุในขณะนี้ ในขณะนี้เราดำเนินชีวิตของเรามานี้อายุไปเท่าไหร่แล้ว ร่างกายสังขารเสื่อมไปเท่าไหร่แล้ว ลองพิจารณาย้อนไปเมื่อก่อนนี้ ตอนเรายังเป็นเด็กก็ดี เรายังมีกำลังมันยังหนุ่มสาวก็ดี ดูซิว่าตอนนี้ในขณะนี้กับเมื่อก่อนมันเป็นเช่นไร 

ดูว่าร่างกายสังขารมีความเจ็บป่วยเพียงไร ดูซิว่าเราห้ามไม่ให้มันเจ็บป่วยได้หรือไม่ เราอยากให้มันคงที่ในสภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวได้หรือไม่ ให้พิจารณาลงไป.. 

หากจิตโยมนั้นไม่เข้าถึงกรรมฐานเมื่อไหร่ จิตไม่ตั้งมั่นอยู่ในการงาน เมื่อจิตมันสงบลงไปแล้ว เมื่อจิตมันสงบตัวที่จิตมันว่าง จิตนั้นไม่มีอะไรที่ยึดเกาะเมื่อไหร่ จิตมันย่อมตกอยู่ในภวังค์ คำว่าตกอยู่ในภวังค์จิตนั้นจะเข้าไปอยู่ในนิมิต คือความฝันก็ดี ความเคลิบเคลิ้มใจก็ดี ความหลงก็ดี เมื่อนั้นแลย่อมกลับไปสู่ในกระบวนการของอวิชชาเหมือนเดิม 

นั้นการที่ใครจะหลุดจากอวิชชาเสียได้ ต้องกำหนดรู้ในอวิชชาในอกุศลกรรมที่เรายังมีอยู่ ที่เรายังไปข้องแวะอยู่นั้นแล เมื่อเรากำหนดรู้และเพ่งโทษในอกุศลมากๆแล้ว แล้วละอกุศลเมื่อไหร่ โยมจะเกิดวิชชาขึ้นมา เมื่อโยมได้วิชชาจิตนั้นแลมันจะพิจารณาอ่าน ถาม ตอบ เขียน แล้วจะเกิดเป็นปัญญาให้รู้เห็นในกายสังขาร 

ดังนั้นถ้ามีความง่วงเข้ามาต้องทำยังไง ให้เรากำหนดลมเข้าไปใหม่ เค้าเรียกว่าตั้งใจใหม่ ก็หาใช่ว่าโยมจะละออกจากความเพียรไม่ ก็แค่ว่ากำหนดรู้ใหม่ เริ่มต้นใหม่ ก็ยังถือว่าได้เดินอยู่ในรอยมรรคอยู่ ยังไม่ได้ละออกจากความเพียร แต่เรามีความวิริยะอยู่ในอิทธิบาท ๔ อยู่ เรียกว่าเรามีความเจริญมีความพอใจที่จะปรารภความเพียร 

อันว่าปรารภความเพียรเป็นอย่างไร ปรารภความเพียรว่า..เมื่อครั้งนั้นเมื่อก่อนนั้นเราเคยนั่งได้สงบมันเป็นอย่างไร เราเคยข้ามนิวรณ์ได้มันเป็นอย่างไร เอาความสงบนั้นแลในสิ่งที่ระลึกได้ นั่นเรียกว่าการปรารภความเพียร 

ปรารภธรรมคือการหยิบยกธรรมในข้อใดข้อหนึ่ง ที่เมื่อเราหยิบยกมาแล้วทำให้จิตเรามีความพอใจ อิ่มเอิบ มีปิติ มีสุข เรียกว่าตื่นรู้ มีความเข้าถึง มีความเชื่อความศรัทธา เข้าถึงพละทั้ง ๕ เข้าถึงกำลังของสมาธิของจิตวิญญาณของเรา

ดังนั้นเราต้องปลุกจิตวิญญาณให้มันเกิดขึ้นมา ปลุกด้วยอะไรได้บ้าง ปลุกด้วยองค์ภาวนา การเจริญวิปัสสนาญาณคือการกำหนดจิตรู้ในการพิจารณาในธรรม แล้วอะไรบ้างที่เป็นธรรม ในกายสังขารเรานี้แลเรียกว่าธรรม เมื่อเราพิจารณาอย่างแยบคายแล้วเห็นตามความเป็นจริงนั้นแล โยมก็จะเห็นธรรม
 
คำว่าเห็นธรรมเป็นอย่างไร..คือเห็นด้วยปัญญา เห็นด้วยปัญญาแล้วมันเป็นอย่างไร ก็จะรู้ว่าสิ่งที่มันไม่ดีมันเป็นอย่างไร รู้ว่าอกุศลมันเป็นอย่างไร ก็คือการไปละอารมณ์ในขันธ์ ๕ คนที่จะเกิดปัญญาเข้าสู่วิปัสสนาญาณได้ มันต้องข้ามความง่วงให้ได้เสียก่อน ถ้าเรายังข้ามความง่วงไม่ได้ ข้ามความเคลิบเคลิ้มจิตเคลิบเคลิ้มใจไม่ได้ มันก็ยังเป็นวิปัสสนาไม่ได้ 

ถ้าอยู่ๆโยมไปพิจารณาด้วยความคิด ก็ยังไม่เรียกว่าด้วยวิปัสสนาอีกเช่นกัน อะไรที่เรายังคิดอยู่ยังเรียกว่าเป็นวิปัสสนึก แล้วยังไงเรียกว่าวิปัสสนา อันว่าวิปัสสนาให้เรานั้นหยิบยกในธรรมขึ้นมา..มาพิจารณา นั่นคืออกุศลมูลที่มันเป็นความเป็นจริงในกิเลสตัณหาอุปาทานของจิต ที่เรายังเข้าไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ ที่มันยังละความพอใจไม่ได้นั้นแล

เมื่อเราหยิบยกขึ้นมามาพิจารณานั้น เมื่อเข้าถึงเหตุเห็นภัยในโทษมันได้นั่นแล นั่นเรียกว่าตัวปัญญามันก็จะบังเกิดขึ้น เช่นเราเห็นสภาวะในกายนี้เป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์นั้นแล มีสุขน้อยมีทุกข์มาก เค้าเรียกว่าเห็นด้วยปัญญา เห็นว่าร่างกายนี้มีแต่ความเสื่อมไปเสื่อมไปก็ดี นี่เค้าเรียกว่าเห็นด้วยปัญญา
 
เมื่อเราเห็นด้วยปัญญาแล้ว เห็นมีความเสื่อมในกาย เห็นว่ากายนี้เป็นแต่ของทุกข์ เมื่อนั้นแลเราจะเห็นความเบื่อหน่ายได้ ไอ้ความเบื่อหน่ายนี้แลมันจะน้อมจิตให้โยมเข้าถึงในสภาวะจิต เข้าถึงนิพพานคือความว่างเป็นสุญญตา 
สุญญตานี้ไม่ได้บอกว่าจิตนั้นว่างแล้ว ขาดจากตัวรู้ แต่มันต้องว่างจริง คือทำจิตให้ว่างจากกิเลส จากเครื่องเศร้าหมอง ถ้าจิตเรายังเศร้าหมองอยู่ ก็เรียกว่ายังไม่เข้าถึงในสภาวะนิพพานทื่แท้จริง 

นั้นการที่จะเข้าสภาวะนิพพานต้องทำจิตนั้นให้เข้าถึงความเบื่อหน่าย คือการเห็นโทษภัยในวัฏฏะ อันว่าโทษภัยในวัฏฏะมันคืออะไร วัฏฏะจึงเรียกว่าการเกิด เกิดขึ้น..ตั้งอยู่..ดับไปนี้แลเรียกว่าวัฏฏะ หรือเรียกว่าวัฏจักร การหมุนเวียนที่ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีใครจะออกจากวงเวียนวัฏฏะของสัตว์โลกนี้ได้..นอกจากผู้ที่เห็นภัย 

ผู้ได้เห็นภัยในวัฏฏะ เห็นโทษในการเกิด แล้วเกิดความเบื่อหน่ายในตัวเกิดเมื่อไหร่ ในการเกิดในครรภ์ก็ดี เหล่านี้เรียกว่าสภาวะความเบื่อหน่าย ใครมีสภาวะจิตที่มีความเบื่อหน่ายในกายมากเท่าไหร่ จิตผู้นั้นจะเข้าถึงสภาวะนิพพานได้มากเท่านั้น 

นั้นที่เรานั่งอยู่เจริญวิปัสสนาญาณกันอย่างนี้ เพื่อให้เกิดญาณที่มันหยั่งรู้ในกายว่าทุกข์มันอยู่ที่ไหน ทุกข์มันอยู่ที่ใด ถ้าเราไม่รู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้งแล้ว เราก็จะไม่เห็นโทษภัยมัน ดังนั้นเราต้องเห็นทุกข์ให้แท้จริง เมื่อทุกข์เกิดขึ้นในกายเมื่อไหร่ก็อย่าได้ไปกลัวมัน ขอให้รู้ว่าอ้อ..ทุกข์ได้เกิดขึ้นแล้ว ทุกข์มันมีอยู่จริง มันไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย มันก็อยู่ในกายสังขารเรานี่แล คือความอึดอัด คือความไม่พอใจ คือความขัดข้องใจ เหล่านี้เรียกว่าทุกข์เรียกว่าเวทนา หรือเรียกว่าสิ่งที่ทนได้ยาก 

แต่เค้าไม่ได้บอกให้โยมมาทรมาน แต่เค้าให้เห็น..เห็นแล้วรู้ทุกข์แล้วก็ต้องทนทุกข์ ทนทำไม..ทนให้รู้ว่ามันเป็นทุกข์เพียงใด เป็นทุกข์เพียงใดก็ต้องรู้ว่าขันติธรรมของโยมมันมีมากเพียงใด เมื่อโยมมีขันติธรรมมาก มีสติตั้งมั่นมาก โยมจะเข้าใจในทุกข์มาก คือเห็นว่ากายนี้มันมีทุกข์จริงๆ ไม่ได้ด้วยการอุปโลกคาดเดาว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องเห็นชัดว่าทุกข์มันเกิดขึ้นในกาย 

เมื่อเห็นทุกข์แล้วต้องทำยังไง ก็ให้ไปรู้ทุกข์ เมื่อรู้ทุกข์เห็นทุกข์ ให้ทนทุกข์ เมื่อต่อว่าทุกข์มันมีเวทนาอย่างสาหัสเมื่อไหร่ ก็ต้องไปละทุกข์ 

การละทุกข์คือการเพ่งโทษในกาย เห็นว่ากายนี้มีแต่ความเสื่อม เป็นที่รังของโรค เป็นที่อยู่ที่เกิดที่ตายของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ใช่ที่ที่จิตเราต้องควรไปยึดมั่นถือมั่นมัน เป็นสภาวะจิตที่เราแค่ได้อาศัยประกอบประโยชน์ให้เกิดขึ้นเท่านั้น เป็นสังขารชั่วคราวที่เราได้มาอาศัย สังขารไม่ใช่กายถาวรที่เราต้องยึด

สภาวะใดของจิตที่เราไปยึดอยู่ในกายนี้แม้เพียงชั่วขณะจิตเดียว..ก็ทำให้เกิดทุกข์ นั้นบุคคลที่อยากจะหลุดพ้นจากทุกข์ อยากเป็นอิสระอย่างถาวร โยมต้องไปละเพ่งโทษในกายให้มากๆ ให้รู้ว่านี่คือกายสังขาร ทุกคราที่จิตกำหนดรู้ ก็ให้รู้ว่าเป็นเพียงสมมุติบัญญัติที่เรานั้นได้อาศัยประกอบคุณงามความดี 

เมื่อเราได้มีโอกาสมาเจริญความเพียร ได้มาเจริญขันติธรรม ขอให้ตั้งใจทำให้มาก โอกาสที่เราจะได้ทำก็ดี ได้ประพฤติปฏิบัติก็ดี ได้น้อมจิตเข้ามาในกายนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เมื่อเกิดขึ้นได้แล้วขอให้มีความตั้งใจ มีความเพียร มีศรัทธามุ่งตรงเข้าไปในกายในจิตเรา ให้มีสติตั้งมั่น วางความสับสนสิ่งที่อยากรู้อยากเห็น ในการคาดหวังทุกสิ่งทุกอย่างทิ้งออกไปเสียให้หมด ให้มีแต่สติตัวรู้อยู่ในขณะจิตอยู่ในกายนี้อย่างเดียว เมื่อเห็นกายนี้อย่างชัดเมื่อไหร่ เห็นทุกข์ชัดเมื่อไหร่ นั่นแลเรียกว่าเห็นอริยสัจธรรม ๔ ประการ..

มูลนิธิเมืองธรรมพรหมรังสี สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
โทร ๐๙๕ ๕๖๙๕๑๙๙ , ๐๘๑ ๙๒๙๓๒๒๒

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...