13 พฤศจิกายน 2563

ขั้นการปฏิบัติธรรมให้ถึงนิพพาน

สำหรับชาวพุทธที่มุ่งจะสะสมเสบียงเพื่อไปยังภพภูมิข้างหน้า?:-
"แผนผังการทำสมาธิ"

1. เริ่มที่นี่ "คำบริกรรม" (เป็นคำอะไรก็ได้ เช่น พุทโธ, ยุบหนอพองหนอ, สัมมาอรหัง) เพื่อเป็นการกรองอารมณ์ให้เหลือเพียงหนึ่งเดียว
อารมณ์- ที่เป็นหนึ่งเดียวจะลดการทำงานของคลื่นสมอง เข้าสู่หัวใจ

2. เกิดสมาธิ - เมื่อจิตรวม จิตสงบ และจิตเป็นสมาธิ - ทำให้จิตเป็นหนึ่ง โดยสมาธิจะมี 3 ขั้น ได้แก่
     2.1 ขณิกะสมาธิ - คือสมาธิขั้นต้นชั่วขณะ
     2.2 อุปจาระสมาธิ - คือ สมาธิขั้นกลาง หมายถึงมีความชำนาญในการทำสมาธิ สามารถคงอยู่ในสมาธิได้รวดเร็วและอยู่ในสมาธินั้นได้นาน 
     2.3 อัปปนาสมาธิ - คือ สมาธิขั้นสูง สามารถกำหนดจิตให้อยู่นิ่งได้ตามความต้องการ

3. ผลิตพลังจิต- ระหว่างที่เราบริกรรมทำสมาธิจะมีการผลิตพลังจิตเก็บสะสมไว้ที่ฐานจิตที่เรากำหนดฐานจิตไว้ โดยสามารถเลือกใช้เพียง 1 ฐาน ได้แก่ หน้าผาก, ปลายจมูก, บริเวณใบหน้า, หัวใจ, สะดือ พลังจิตที่เกิดและสะสมไว้นี้ไม่เสื่อมสลายจะเป็นบุญกุศลติดตัวของเราไปทุกภพทุกชาติ
    เมื่อมีพลังจิตสะสมมากเพียงพอ จะมีผลทำให้ผู้ปฏิบัติ
     3.1 มีความฉลาด เชาวน์ปัญญาดี
     3.2 เกิดความมีศีลธรรม มีเมตตาปราณี
     3.3 มีความเสียสละ มีความรับผิดชอบสูงขึ้น
     3.4 มีความเห็นแก่ตัวลดลง
     3.5 เกิดความเกรงกลัวต่อความชั่วโดยอัตโนมัติ
     3.6 ทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ มีความยั้งคิดต่อการกระทำ
     3.7 เป็นคนมีเหตุผลในการดำเนินชีวิตในสังคม
     3.8 มีความสบายใจคลายกังวล นอนหลับง่ายขึ้น ลดอาการปวดศีรษะ

4. เกิดกระแสจิต - เมื่อดำเนินสมาธิ แล้วมีพลังจิตมากเพียงพอจะเกิดเป็นกระแสจิต ลักษณะเป็นแสงสีในสมาธิ

5. ผ่านภวังค์ - เป็นสภาวะที่ต่อจากเมื่อจิตเป็นหนึ่ง 
     โดยภวังค์นี้มี. 2 แบบคือ ภวังค์ที่เกิดตามธรรมชาติ คือ การที่เรานอนหลับในทุกๆวัน กับภวังค์ที่สร้างขึ้น คือ อาการคล้ายกับเราหลับในสมาธิ บางคนอาจจะเกิดเห็นภาพที่เรียกว่า นิมิต คล้ายกับที่เรานอนหลับที่เรียกว่า ฝัน
เมื่อเราเข้าภวังค์มากๆเข้าจนเกิดความชำนาญ ประกอบกับเรามีพลังจิตมากเพียงพอ เราสามารถเข้าภวังค์แบบรู้ตัวมีสติควบคุม สามารถทำงานในภวังค์นั้นได้

6. เกิดฌาน - ฌานคือ ความสุขที่เกิดในขณะทำสมาธิ มีอยู่ 8 ขั้น
    6.1 ฌาน 1 (ปฐมฌาน) ประกอบด้วยองค์ 5 คือ วิตก, วิจารณ์, ปีติ, สุข, เอกัคคตา
          (วิตก-คือคำบริกรรม , วิจารณ์ - คือจิตยังอยู่กับคำบริกรรม, ปีติ - คือ เกิดความยินดี เกิดแสง เกิดเหมือนตัวเบาตัวลอย, สุข- คือ ความเอิบอิ่ม ปลอดโปร่งเบากายเบาใจ , เอกัคคตา คือ จิตมีความเป็นหนึ่งเดียว ไม่คิดฟุ้งซ่าน)
    6.2 ฌาน 2 (ทุติยฌาน) ประกอบด้วยองค์ 3 คือ ปีติ, สุข, เอกัคคตา 
           (ฌานนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อสามารถละคำบริกรรมได้โดยที่จิตยังเป็นหนึ่ง โดยการตัด วิตก, วิจารณ์ ออกไป)
    6.3 ฌาน 3 (ตติยฌาน) ประกอบด้วยองค์ 2 คือ สุข, เอกัคคตา 
          (เมื่อจิตเลื่อนชั้นถึงฌานนี้คือ สามารถตัด ปีติ ออกไปได้ หมายถึง การไม่รู้สึกเอิบอิ่มอีกต่อไป)
    6.4 ฌาน 4 (จตุตถฌาน) ประกอบด้วยองค์ 2 คือ อุเบกขา, เอกัคคตา
          (เมื่อจิตเลื่อนชั้นถึงฌานนี้คือ ตัดความสุขออกไปแล้ว กลายเป็นความวางเฉย กับจิตเป็นหนึ่งเดียว)

*****ให้ผู้ทำสมาธิดำเนินจิตในฌานเพียง 4 ชั้นนี้เท่านั้น ซึ่งเป็น "รูปฌาน" ที่สามารถผลิตพลังจิตได้ ต่อไปเป็นฌานชั้นที่ 5-8 เป็น "อรูปฌาน" ที่มีแต่ความสุขเท่านั้น แต่เป็นการสูบกินพลังจิตที่เรากระทำสะสมไว้ให้หมดไปได้ จึงไม่ควรดำรงอยู่ในฌานเหล่านี้นานเกินไปจนที่เรียกว่า "หลงในฌาน" ****

   6.5 ฌาน 5 (อากาสานัญจายตนะฌาน) คือ มีแต่ความว่างเปล่า เพราะไม่มีอารมณ์อื่นใดมาเจือปน ความว่างเปล่าคือ เป็นอากาศ เป็นสิ่งโล่ง เยือกเย็นที่ละมุนละมัยดุจปุยนุ่น
   6.6 ฌาน 6 (วิญญาณัญจายตนะฌาน) คือ การกำหนดเฉพาะความรู้ ความรู้คือ วิญญาณ หมายถึง อยู่กับความรู้ในกายทิพย์นั่นเอง
   6.7 ฌาน 7 (อากิญจัญญายตนะฌาน) คือ จิตจะละอารมณ์ทุกๆ อารมณ์ จนไม่มีอะไรเลย
   6.8 ฌาน 8 (เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน) คือ (สัญญา แปลว่า ความหมาย) จะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ จิตเข้าสู่กายทิพย์ด้วยพลังอำนาจ จนไม่ต้องคำนึงถึงกายทิพย์ เพราะพลังอำนาจได้ผลักดันทุกสิ่งให้หมดความรู้สึก

7. อาทิสมานกาย หรือ กายละเอียด หรือ กายทิพย์ - เมื่อสะสมพลังจิตจนเพียงพอกับความต้องการ จิตก็จะสามารถสัมผัสกับกายทิพย์ได้ ซึ่งกายทิพย์จะมีอยู่ในตัวสิ่งมีชีวิตทุกคน แต่เราไม่สามารถสัมผัสได้ในขณะที่เรายังไม่หมดความรู้สึกจากกายหยาบ เมื่อเราหมดความรู้สึกจากกายหยาบ เช่น เรานอนหลับสนิท จิตจะเข้าไปสัมผัสกับกายทิพย์ และได้พลังจิตจากกายทิพย์กลับมา เมื่อเราตื่นนอนเราจะรู้สึกสดชื่นแจ่มใส ปลอดโปร่ง มีพละกำลังที่จะดำเนินกิจประจำวันต่อไปได้ อันนี้คือ เราได้พลังจิตจากธรรมชาติ แต่หากเราสามารถเข้าสัมผัสกับกายทิพย์ด้วยการทำสมาธิจนมีพลังจิตเพียงพอ เราสามารถควบคุมกายทิพย์ให้ทำงานได้

8. เกิดญาณ - คือ ความรู้สู่ความสำเร็จ เมื่อมีพลังจิตมากเพียงพอเกิด ทิพยจักษุญาณ หรือเกิดมีตาทิพย์ ผู้ปฏิบัติสามารถระลึกชาติหนหลังได้ รู้ในการจุติของสัตว์โลก รู้เหตุการณ์ในอดีตและอนาคต รู้ในการกำจัดกิเลส

9. ดำเนินวิปัสสนา - เมื่อปฏิบัติจนเกิดทิพยจักษุญาณหรือตาทิพย์ได้แล้ว ท่านถึงสามารถปฏิบัติวิปัสนาได้ หากท่านยังไม่เกิดตาทิพย์ ท่านไม่มีทางทำวิปัสสนาได้ เพราะท่านไม่มีทางรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวท่านเอง ท่านจะรู้เพียงแต่ว่า ได้ยินคนอื่นเขาบอกมาเท่านั้น 
   การดำเนินวิปัสสนา แบ่งเป็น 2 อย่างคือ. วิปัสสนา หมายถึง รู้แจ้ง , วิปัสสนาญาณ หมายถึง รู้แจ้ง และเห็นจริงด้วยตนเอง
   การดำเนินวิปัสสนาได้ คือการตัดกิเลส โดยดำเนินสู่การพิจารณา "อริยสัจธรรม" อันประกอบด้วย
    9.1 ทุกขสัจจะ - ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
    9.2 สมุทัยสัจจะ - กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
    9.3 นิโรธสัจจะ - การดับ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
    9.4 มัคคสัจจะ - หนทางที่จะดับอวิชชา ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ

10. สติปัฏฐาน - มี 4 ประการ ได้แก่
       10.1 กาย - ใช้สติพิจารณากายเป็นที่ตั้ง โดยใช้กายทิพย์เป็นตาทิพย์(ธรรมจักษุ) เพ่งมองกายตามความเป็นจริง ซึ่งมีอยู่ 3 ระยะ คือ 
            - การพิจารณากายในอดีต เช่น สมมติปัจจุบันมีอายุ 40 ปี ให้พิจารณาย้อนอายุลดลง 39, 38, 37 - 2, 1 ถึงก้อนเนื้อก้อนเลือด เป็นการพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงตามสภาพของร่างกายตามความเป็นจริง
            - การพิจารณากายในปัจจุบัน เช่น ร่างกายที่ประกอบไปด้วย ผม ขน หนัง เนื้อ กระดูก ขยายแยกออกเป็นส่วนๆ พิจารณาให้เห็นร่างกายตามความจริงที่ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม , ร่างกายที่ไม่ได้สวยงามมีแต่สิ่งสกปรกเต็มไปหมด
            - การพิจารณากายในอนาคต เช่น พิจารณากายตั้งแต่ 40 ปีตามที่สมมติขึ้นไป 41, 42 - 90 ที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุขัย มีความชำรุดทรุดโทรมของร่างกาย พร้อมโรคภัยไข้เจ็บ จนถึงร่างกายหมดสภาพแล้ว ตายไป ไม่กี่ชั่วโมงก็จะเน่าเหม็น ถูกเผากลายเป็นเถ้ากระดูก
       10.2 เวทนา - ความเสวยสุข ความเสวยทุกข์ในกายและใจ
       10.3 จิต - ต้นเหตุแห่งความนึกคิด คือ กิริยาอาการของจิตที่ย่อมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
       10.4 ธรรม - ให้พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า อารมณ์ทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นและดับไป

11. พละ 5 อันประกอบด้วย
      11.1 ศรัทธาพละ - พลังแห่งความเชื่อ หมายถึง ความเชื่อในพลังจิตที่เกิดขึ้นทั้งรู้ทั้งเห็น
      11.2 วิริยะพละ - พลังแห่งความเพียร
      11.3 สติพละ - พลังแห่งสติ
      11.4 สมาธิพละ - พลังแห่งสมาธิ
      11.5 ปัญญาพละ - พลังแห่งปัญญา หมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเจริญวิปัสสนา

12. อินทรีย์ 5 ประกอบด้วย
      12.1 ศรัทธาอินทรีย์ - ความยิ่งใหญ่แห่งความเชื่อ
      12.2 วิริยะอินทรีย์ - ความยิ่งใหญ่แห่งความเพียร
      12.3 สติอินทรีย์ - ความยิ่งใหญ่แห่งสติ
      12.4 สมาธิอินทรีย์ - ความยิ่งใหญ่แห่งสมาธิ คือ การทำให้มากเจริญให้มาก แต่ระวังอย่าให้เกินอย่าให้ขาด
      12.5 ปัญญาอินทรีย์ - ความยิ่งใหญ่แห่งปัญญา
    
13. สัมโพชฌงค์ 7 - โพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งการตรัสรู้  
      13.1 สติสัมโพชฌงค์ - ความระลึกได้ หมายถึง สติที่ได้รับการพัฒนามาจากพลังจิตเกิดความเข้มข้นขึ้น เมื่อจิตมีสติพอเพียงขั้นต้นแล้วก็จะสามารถทราบถึงที่ตั้งของจิตได้และเข้าออกในตำแหน่งนี้ได้อย่างคล่องตัว สามารถผลิตพลังจิตเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา เพื่อเป็นการเลื่อนขั้นยกระดับของจิต
      13.2 ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ - ความชัดเจนในธรรม หมายถึง การวิจัยในสติปัฏฐานได้มีการเกี่ยวข้องกับโพชฌงค์องค์แห่งความรู้ได้อย่างไร
      13.3 วิริยะสัมโพชฌงค์ - ความเพียร หมายถึง ความเพียรพยายามที่จะดำเนินวิปัสสนาอย่างต่อเนื่อง ในขอบเขตของหนทางกลาง
      13.4 ปิติสัมโพชฌงค์ - ความอิ่มใจ หมายความว่า เป็นความอิ่มใจที่บังเกิดผลที่เหมาะสมและถูกต้องในการดำเนินวิปัสสนานั้น
      13.5 ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ - ความสงบผ่องใส หมายถึง กระแสจิตที่เกิดขึ้นจากพลังจิตทำให้เคลียร์สิ่งไม่สะอาดออกไปจากจิต
      13.6 สมาธิสัมโพชฌงค์ - ความตั้งใจมั่น หมายถึง การทำสมาธิเป็นการทำจิตให้เกิดความสงบและมั่นคงเป็นการผลิตพลังจิต
      13.7 อุเบกขาสัมโพชฌงค์ - ความวางเฉย หมายถึง การละวาง ละวางเกิดขึ้นจากความพอเพียงแห่งความต้องการ คือ ไม่วิตกกังวล

14. สติมรรค 8 - เมื่อดำเนินจิต เพื่อก้าวต่อไปไม่หยุดยั้งของการวิปัสสนา จาก สติปัฏฐาน จะกลายเป็น มหาสติปัฏฐาน เป็นผู้มีความพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติมรรค 8 เพราะมี ธรรมจักษุ เป็นตัวนำไปสู่สัจธรรม
  มรรค 8 ประการ คือ
   14.1 สัมมาทิฐิ - ความเห็นชอบ ได้แก่ เห็นอริยะสัจ 4 ประการ ได้แก่
                 - ทุกข์ คือ ตัวทุกข์
                 - สมุทัย คือ เหตุให้เกิดทุกข์
                 - นิโรธ คือ การดับทุกข์
                 - มรรค คือ หนทางไปสู่ความดับทุกข์
             "ตัวทุกข์" คือ ขันธ์ 5 ได้แก่
                  - กาย คือ รูปร่างกาย
                  - เวทนา คือ ความเสวยสุข หรือ ทุกข์
                  - สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้
                  - สังขาร คือ ความปรุงแต่ง
                  - วิญญาณ คือ ความรับรู้ 
   14.2 สัมมาสังกัปโป - ความดำริชอบ ได้แก่ การดำริสู่คุณธรรม
   14.3 สัมมาวาจา - เจรจาชอบ ได้แก่ วาจาสุจริต 3 ประการ
                   - ไม่โกหกหลอกลวง
                   - ไม่ด่าและส่อเสียด ยุยงให้เกิดความแตกร้าว
                   - ไม่พูดเพ้อเจ้อเพื่อยกตนข่มท่าน
   14.4 สัมมากัมมันโต - การงานชอบ ละเว้นจากการที่ผิดศีลธรรม
   14.5 สัมมาอาชีโว - เลี้ยงชีพชอบ การมีชีวิตอยู่ด้วยศีลธรรม
   14.6 สัมมาวายาโม - ความเพียรชอบ มีความเพียรทำสมาธิ เพื่อผลิตพลังจิตแบบสม่ำเสมอ
   14.7 สัมมาสติ - ความระลึกชอบ ได้แก่ การครอบครองสติให้อยู่ในกรอบที่ถูกต้อง
   14.8 สัมมาสมาธิ - การมีสมาธิชอบ ได้แก่ ทำสมาธิให้พอดีไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป โดยระดับที่สามารถผลิตพลังจิตได้ดี อยู่ระหว่าง ฌาน 1 - ฌาน 4 เท่านั้น

เมื่อปฏิบัติมรรค 8 ได้แบบสมบูรณ์ตามหลักแล้ว จะบรรลุ 4 ระดับ คือ
    ระดับที่ 1 พระโสดาบัน (เวียนว่ายตายเกิด อีกไม่เกิน 7 ชาติ แล้วถึงนิพพาน) 
    ระดับที่ 2 พระสกิทาคา (จะกลับมาเกิดอีกชาติเดียวจะถึงนิพพาน)
    ระดับที่ 3 พระอนาคา (จะไปเกิดในพรหมโลกชาติเดียว แล้วนิพพานในพรหมโลกนั้น)
    ระดับที่ 4 พระอรหันต์ (ถึงนิพพานไม่กลับมาเกิดอีก)

15. นิพพาน - จบสิ้นการเวียนว่ายตายเกิด

Cr :
#สรุปเนื้อหาจาก
หนังสือครูสมาธิของ
พระอาจารย์
หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...