23 พฤศจิกายน 2563

พระพุทธบาท ๔ รอย

"...หลวงปู่สิม พุทธาจาโร เคยเทศน์ว่า รอยนี้เป็นของจริง แต่จะถูกรอยที่ ๕ คือรอยพระพุทธบาทของพระศรีอริยเมตไตรยะ ทับ ๔ รอยนี้ ในอนาคต
ตำนานพระพุทธบาท ๔ รอย คำบูชาพระพุทธบาท ๔ รอย 
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ จบ) สาธุ สาธุ โกสัมพิยัง อะวิทูเร เวภาระ ปัพพะเต กกุสันโธ โกนาคะมะโน กัสสะโป โคตะโม ปาทะ เจติยัง ชินะธาตุ จะฐะ เปตวา อะหัง วันทามิ ทูระโต

คำแปลสาธุ สาธุ ข้าพเจ้าขอวันทา นมัสการเจดีย์ คือรอยพระพุทธบาท และพระชินธาตุเจ้าทั้งหลายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า พระกกุสันโธ โกนาคะมะโน กัสสะโป และพระสิทธัตถะ โคตะโม ที่ประดิษฐานตั้งไว้ ณ ภูเขาเวภารบรรพตนี้ ตลอดกาลนานเทอญ

วัดพระพุทธบาทสี่รอย ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ตำนานพระพุทธบาท ๔ รอย เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในศาสนาปัจจุบันนี้ได้เสด็จจารึกประกาศธรรม และโปรดเวไนยสัตว์มายังปัจจัยตะประเทศ (ประเทศไทยในปัจจุบัน)จนกระทั่งมาถึงเทือกเขาทางตอนเหนือของประเทศ ชื่อเขา เวภารบรรพต ซึ่งขณะนั้นได้เสด็จพร้อมกับพุทธสาวก ๕๐๐ องค์ และได้แวะฉันจังหันอยู่บนเขา เวภารบรรพตแห่งนี้

เมื่อพระพุทธองค์ฉันจังหันเสร็จ ขณะประทับอยู่ที่นั้น ก็ได้ทราบด้วยญาณสมาบัติว่าบนเทือกเขาแห่งนี้ ได้มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่บนก้อนหินก้อนใหญ่คือ พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ภัทรกัลป์นี้

แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเล็งดูรอยพระพุทธบาทแห่งพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ, พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ, พระพุทธเจ้ากัสสปะ

อันมีในที่นี้พุทธสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตรเป็นประธานเมื่อเห็นเช่นนี้จึงทูลถามว่า พระพุทธองค์ทรงเล็งดูด้วยเหตุใด

พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า ดูก่อนท่านทั้งหลายสถานที่แห่งนี้แม้นว่าพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ ที่ล่วงมาแล้วในอดีตกาล ก็มาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี่ทุกๆ พระองค์ และแม้นว่าพระศรีอริยเมตไตร ก็จักเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี่ และจักประทับรอยพระบาท ๔ รอย ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว (คือประทับลบรอยทั้ง ๔ ให้เหลือรอยเดียว)

เมื่อพุทธองค์ตรัสแก่สาวกทั้งหลาย เสร็จแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ จึงมีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ 
จึงเกิดเป็นพระพุทธบาท ๔ รอย

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นั้นแล้วก็ทรงอธิษฐานว่า ในเมื่อ (เรา) ตถาคตนิพพานไปแล้ว เทวดาทั้งหลายก็จักนำเอาพระธาตุของตถาคต มาบรรจุไว้ที่รอยพระพุทธบาทที่นี่ ในเมื่อตถาคตนิพพานไปแล้ว ๒,๐๐๐ ปี พระพุทธบาท ๔ รอยนี้ก็จักปรากฏแก่ปวงชนและเทวดาทั้งหลาย ก็จักได้มาไหว้และบูชา

เมื่อทรงอธิษฐานและทำนายไว้ดังนี้แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จไปเชตุวันอารามอัน มีในเมืองสาวัตถีนั้นแล

เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วเทวดาทั้งหลายก็นำเอาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์มา บรรจุไว้ที่พระพุทธบาท ๔ รอย

เมื่อพระพุทธองค์นิพพานล่วงมาแล้วประมาณ ๒,๐๐๐ วัสสา เทวดาทั้งหลายต้องการอยากให้พระพุทธบาท ๔ รอย ปรากฏแก่คนทั้งหลายตามที่พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานไว้ ก็จึงเนรมิตเป็นรุ้งตัวใหญ่ (เหยี่ยว) ก็บินลงจากภูเขาเวภารบรรพต อันเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธบาทสี่รอยในปัจจุบันนี้เพื่อบินลงไปเอาลูกไก่ของ ชาวบ้าน (คนป่า) ที่อยู่ตีนเขาเวภารบรรพต แล้วก็บินกลับขึ้นไปสู่ยอดเขา

คนป่าก็โกรธมากจึงตามขึ้นไปคิดว่าจะยิงเสียให้ตาย ก็คิดตามไปค้นหาดู แต่ก็ไม่เห็นรุ้งตัวนั้น แต่เห็นรอยพระพุทธบาท ๔ รอย อันอยู่พื้นต้นไม้และเถาวัลย์ พรานป่าผู้นั้นก็ทำการสักการะบูชาเสร็จแล้วก็ลงจากภูเขา

พอมาถึงหมู่บ้านก้เล่าบอกแก่ชาวบ้านทั้งหลายฟัง ข้อความอันนั้นก็ปรากฏสืบๆ กันไปแรกแต่นั้น คนทั้งหลายที่ทราบก็พากันไปสักการะบูชามาก แต่นั้นมาจึงได้ชื่อว่าพระบาทรังรุ้ง (รังเหยี่ยว)

ในสมัยนั้นมีพระยาคนหนึ่งชื่อว่า พระยาเม็งราย เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจึงมีพระราชศรัทธาอยากเสด็จขึ้นไปกราบบูชาพระพุทธบาท ๔ รอย ก็นำเอาราชเทวีและเสนาพร้อมกับบริวารทั้งหลาย เมื่อพระยาเม็งรายกราบนมัสการเสร็จแล้ว ก็นำเอาบริวารของตนกลับสู่งเมืองเชียงใหม่ ก็ตั้งอยู่เสวยราชสมบัติตราบเมี้ยนอายุขัย แล้วลูกหลายที่สืบราชสมบัติก็เจริญรอยตามและได้ขึ้นมากราบพระพุทธบาท ๔ รอย ทุกๆ พระองค์

หลังจากนั้นมาพระบาทรังรุ้งหรือรังเหยี่ยวนี้ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น พระพุทธบาท ๔ รอย เพราะมีรอยพระพุทธบาทประทับซ้อนกันถึง ๔ รอย

มาในสมัยยุคหลังคนทั้งหลายจึงเรียกขานกันว่าพระพุทธบาท ๔ รอย คือมี รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ที่ล่วงมาแล้วในภัทรกัลป์นี้ คือ ๑. รอยพระบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ รอยแรก เป็นรอยใหญ่ยาว ๑๒ ศอก

๒. รอยพระบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เป็นรอยที่ ๒ ยาว ๙ ศอก

๓. รอยพระบาทของพระพุทธเจ้ากัสสปะ เป็นรอยที่ ๓ ยาว ๙ ศอก

๔. รอยพระบาทของพระพุทธเจ้าโคตะมะ (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้) เป็นรอยที่ ๔ รอยเล็กสุดยาว ๔ ศอก

เมื่อมาถึงสมัยพระยาธรรมช้างเผือก ผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ คน ก็ขึ้นไปกราบสักการะบูชาพระพุทธบาท ๔ รอย และได้สร้างพระวิหารครอบพระพุทธบาทสี่รอยไว้ชั่วคราว

โดยแต่เดิมถ้าใครจะดู รอยพระพุทธบาทบนยอดหินก้อนใหญ่ ต้องใช้บันไดพาดขึ้นไป หรือปืนขึ้นไปดูซึ่งก็คงจะขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น

ดังนั้นพระยาธรรมช้างเผือก จึงตรัสสร้างแท่นยืนคล้ายๆ นั่งร้านรอบ ๆ ก้อนหินที่มีพระพุทธบาท ๔ รอย เพื่อที่ผู้หญิงจะได้เห็นรอยพระพุทธบาทด้วย และได้สร้างหลังคาชั่วคราวมุงไว้

ต่อมาในสมัยพระชายาเจ้าดารารัศมีก็ได้ขึ้นไปกราบนมันสการพระพุทธบาท ๔ รอย และได้มีพระราชศรัทธาก่อสร้างวิหาร เป็นการกราบบูชารอยพระพุทธบาทไว้ ๑ หลัง หลักเล็ก ปัจจุบันได้บูรณะปฏิสังขรณ์แล้วทั้งหลัง จะเหลือไว้แค่ผนังวิหาร พื้นวิหารและแท่นพระซื่งยังเป็นของเดิมอยู่

พอมาสมัยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทยก็ได้ขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย และได้รื้อพระวิหารที่เจ้าพระยาธรรมช้างเผือกสร้างไว้ชั่วคราว และได้สร้างพระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทไว้ใหม่ และได้ลาบปูนครอบรอยพระพุทธบาทไว้ เพื่อรักษาให้อยู่ค้ำชูพุทธศาสนาไปตลอดกาล..."

(ภาพพระพุทธบาท ๔ รอย วัดพระพุทธบาทสี่รอย ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่)

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของภาพถ่ายนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมนี้ ทุกๆท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...