11 พฤษภาคม 2563

อานาปานสติภาวนามัยโดย ท่านพ่อลี ธมฺมธโร

ต่อไปนี้จะอรรถาธิบายข้อปฏิบัติในทางสมาธิภาวนาว่าจะต้องทำกันอย่างไรก่อนที่จะทำกิจเบื้องต้นนั้นให้นั่งคุกเข่าประนมมือด้วยความตั้งใจนอบน้อมถึงพระรัตนตรัยแล้วเปล่งวาจาดังต่อไปนี้

อะระหังสัมมาสัมพุทโธภะคะวา,พุทธังภะคะวันตังอะภิวาเทมิ
(กราบลงหนหนึ่งนี้ไหว้พระพุทธ)

สวากขาโตภะคะวะตาธัมโม,ธัมมังนะมัสสามิ
(กราบลงหนหนึ่งนี้ไหว้พระธรรม)

สุปะฏิปันโนภะคะวะโตสาวะกะสังโฆ, สังฆังนะมามิ
(กราบลงหนหนึ่งนี้ไหว้พระสงฆ์)

ลำดับนี้ตั้งใจปฏิบัติบูชาด้วยกายวาจาใจกล่าวคำนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

นะโมตัสสะภะคะวะโตอะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ  ( ๓หน)  
แล้วปฏิญาณตนถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกของตนที่เรียกว่าพระไตรสรณคมน์ว่าตามบาลีดังนี้

 พุทธัง สะระณังคัจฉามิ
 ธัมมัง สะระณังคัจฉามิ
 สังฆัง สะระณังคัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณังคัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณังคัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณังคัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณังคัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณังคัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณังคัจฉามิ

ต่อนั้นให้อธิษฐานใจถึงพระไตรสรณคมน์ให้มั่นก่อนว่า

“ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าองค์อรหันต์ผู้ละกิเลสขาดจากสันดานกับพระธรรมเจ้ากล่าวคือคำสอนของพระองค์ที่เป็นปริยัติธรรมปฏิบัติธรรมปฏิเวธธรรมกับพระสังฆเจ้ากล่าวคือพระโสดาบันพระสกิทาคามีพระอนาคามีพระอรหันต์ว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกนับถือของข้าพเจ้าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปตราบเท่าชีวิตของข้าพเจ้านี้แล” 

พุทธัง  ชีวิตัง  ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ

สมาทานศีล
ต่อจากนั้นให้เจตนาวิรัติละเว้นในส่วนองค์ศีล๕ศีล๘ศีล๑๐
ศีีล๒๒๗ตามภูมิของตนที่ตนสามารถจะรักษาได้แล้วว่าคำสมาทานลง
ในที่แห่งเดียวกันอีกว่า

๑. อิมานิปัญจะสิกขาปะทานิสะมาทิยามิ( ให้ว่า๓หน) 
แปลว่าข้าพเจ้าสมาทานเอาซึ่งสิกขาบททั้งหลาย๕คือ
๑)  ปาณาฯไม่ฆ่าสัตว์
๒)  อทินนาฯ ไม่ลักทรัพย์
๓)  กาเมฯไม่ประพฤติผิดในกาม
๔)  มุสาฯไม่กล่าวคำเท็จ
๕)  สุราฯ ไม่ดื่มสุราเมรัย

๒. อิมานิอัฏฐะสิกขาปะทานิสะมาทิยามิ ( ให้ว่า๓หน)
แปลว่าข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งสิกขาบททั้งหลาย๘คือ
๑) ปาณาฯไม่ฆ่าสัตว์
๒)  อทินนาฯ ไม่ลักทรัพย์
๓) อพรหมจริยาฯไม่ประพฤติร่วมสังวาสกับหญิงชายทั้งปวง
๔) มุสาฯไม่พูดเท็จ
๕)  สุราฯไม่ดื่มสุราเมรัย
๖) วิกาลโภฯไม่กินอาหารในเวลาตะวันบ่ายไปแล้ว
๗) นัจจคีฯมาลาฯไม่ดูการละเล่นและตกแต่งประดับประดาอัตตภาพร่างกายเพื่อความสวยงามต่าง ๆ
๘) อุจจาฯ ไม่นั่งนอนบนเตียงตั่งที่สูงเกินประมาณ
 และฟูกเบาะที่ยัดด้วยนุ่นและสำลี

๓. อิมานิทะสะสิกขาปะทานิสะมาทิยามิ( ให้ว่า๓หน) 
แปลว่าข้าพเจ้าสมาทานเอาซึ่งสิกขาบททั้งหลาย๑๐คือ
 ปาณาฯอทินนาฯอพรหมจริยาฯมุสาฯสุราฯวิกาลโภฯนัจจคีฯมาลาฯอุจจาฯชาตรูฯไม่ให้รับเงินทองใช้สอยด้วยตนเอง
 (ศีล๑๐ข้อนี้สำหรับสามเณร)

๔. ศีล๒๒๗ให้ว่าดังนี้
ปะริสุทโธอะหังภันเต,ปะริสุทโธติมังพุทโธธาเรตุ
ปะริสุทโธอะหังภันเต,ปะริสุทโธติมังธัมโมธาเรตุ
ปะริสุทโธอะหังภันเต,ปะริสุทโธติมังสังโฆธาเรตุ

แผ่เมตตาพรหมวิหาร
เมื่อทำความบริสุทธิ์ของตนด้วยกายวาจาใจต่อคุณพระพุทธเจ้าพระธรรมเจ้าพระสงฆเจ้าแล้วกราบลง๓หนแล้วจึงค่อยนั่งราบลงประนมมือไหว้ทำใจให้เที่ยงแล้วเจริญพรหมวิหาร๔
ถ้าแผ่ไปไม่เจาะจงเรียกว่าอัปปมัญญาพรหมวิหารว่าโดยบาลีย่อๆให้สะดวกแก่ผู้จำยากก่อนดังนี้
เมตตา คือจิตคิดเมตตารักใคร่ปรารถนาให้ตน
 และสัตว์ทั้งหลายเป็นสุขทั่วหน้ากัน
กรุณา คือจิตคิดกรุณาเอ็นดูสงสารตนและคนอื่น
มุทิตา คือจิตอ่อนน้อมพลอยยินดีในกุศลของตนและคนอื่น
อุเบกขา คือจิตคิดวางเฉยในสิ่งที่ควรปล่อยวาง
พุท-โธ

ต่อแต่นี้ให้นั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้ายตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่นอย่าให้ฟั่นเฟือน

๑. ประนมมือไหว้แล้วระลึกถึงคุณพระพุทธพระธรรม
 พระสงฆ์แต่ในใจว่า
พุทโธเมนาโถพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า
ธัมโมเมนาโถพระธรรมเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า
สังโฆเมนาโถพระสงฆ์เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า

๒. แล้วว่าซ้ำอีกว่าพุทโธๆธัมโมๆสังโฆๆแล้วปล่อยมือ
 ลงข้างหน้า

๓. บริกรรมภาวนาแต่คำเดียวว่าพุทโธ ๆ ๆ๓หน

๔. ต่อจากนั้นให้นึกถึงลมหายใจเข้าออกคือให้นับลมเป็นคู่ ๆ ดังนี้

๔.๑ พุทลมเข้า ;โธลมออกอย่างนี้ไปจนถึง๑๐ครั้ง
(พุทเข้า, โธออกนับ๑ ; พุทเข้า, โธออกนับ๒ไปจนถึง๑๐)

๔.๒ แล้วให้ตั้งต้นใหม่อีกดังนี้คือลมเข้าพุทโธหนหนึ่ง
 ลมออกพุทโธหนหนึ่งภาวนาอย่างนี้ไปจนถึง๗หน
(พุทโธ-เข้า, พุทโธ-ออกนับ๑พุทโธ-เข้า, พุทโธ-ออกนับ๒ไปจนถึง ๗)

๔.๓ แล้วให้ตั้งต้นใหม่อีกดังนี้คือลมเข้า-ลมออกให้ภาวนา
 พุทโธหนหนึ่งทำอย่างนี้ไปจนถึง๕หน
 (ลมเข้า-ลมออกให้ภาวนา พุทโธ นับ๑
 ลมเข้า-ลมออกให้ภาวนา พุทโธ นับ๒ ...ไปจนถึง๕ )

๔.๔ แล้วให้ตั้งต้นใหม่อีกดังนี้คือลมเข้า-ออกหนหนึ่งให้ภาวนาพุทโธ๓คำทำอย่างนี้ไปจนครบ๓วาระของลมเข้าและลมออก

๔.๕ ต่อจากนั้นให้บริกรรมแต่พุทโธคำเดียว
 ไม่ต้องนับลมอีกต่อไปปล่อยลมตามสบาย
 ทำใจให้นิ่ง ๆไว้ที่ลมหายใจเข้าออกที่มีในช่องจมูก

เมื่อลมออกอย่าส่งจิตออกตามลมเมื่อลมเข้าอย่าส่งจิตเข้าตามลมทำความรู้สึกอย่างกว้างขวางเบิกบานแต่อย่าสะกดจิตให้มากเกินไปให้ทำใจสบายๆเหมือนเราหายใจออกไปในอากาศโปร่งฉะนั้น

ทำจิตให้นิ่งอยู่เหมือนเสาที่ปักไว้ในริมฝั่งทะเล
น้ำทะเลขึ้นเสาก็ไม่ขึ้นตาม
น้ำทะเลลงเสาก็ไม่ลงตาม

#ฐานที่ตั้งของจิต  
เมื่อทำจิตนิ่งสงบในขั้นนี้แล้วให้หยุดคำภาวนา พุทโธ นั้นเสีย 
กำหนดความรู้สึกไว้เฉพาะลมหายใจแล้วค่อยขยับจิตเลื่อนเข้าไปตามกองลมคือกองลมที่สำคัญๆอันจะทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆเช่น
ทิพยจักษุ  ตาทิพย์
ทิพยโสต   หูทิพย์
เจโตปริยญาณ  รู้ใจคนอื่น
บุพเพนิวาสานุสติญาณ  ระลึกชาติได้
จุตูปปาตญาณ  รู้จักความเกิดตายแห่งสัตว์ต่างๆ
นานาธาตุวิชชาวิชาความรู้เรื่องของธาตุต่างๆที่เกี่ยวเนื่องถึงอัตตภาพร่างกายอันเป็นประโยชน์แก่ร่างกายธาตุเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นจากฐานของลมหายใจ

ฐานที่ ๑ ให้ตั้งจิตใจไว้ที่ จมูก แล้วค่อยเลื่อนไปกลางหน้าผากอันเป็นฐานที่ ๒
ทำความรู้สึกอย่างกว้างขวางทำจิตให้นิ่งไว้ที่หน้าผากแล้วกลับมาที่จมูกให้เพ่งขึ้นเพ่งลงระหว่างจมูกกับหน้าผากราวกับคนขึ้นบนภูเขาฉะนั้นทำให้ได้สัก ๗ เที่ยวแล้วก็นิ่งไว้ที่หน้าผากอย่าให้จิตลงมาที่จมูกอีก

ต่อจากนั้นให้ตามเข้าไปในฐานที่ ๓ คือ กลางกระหม่อมข้างนอกแล้วหยุดอยู่ที่กลางกระหม่อมทำความรู้สึกอย่างกว้างขวาง
สูดลมในอากาศเข้าไปในศีรษะกระจายลมครู่หนึ่ง จึงกลับมาที่หน้าผากกลับไปกลับมาในระหว่างหน้าผากกับกลางกระหม่อมอยู่เช่นนี้
สัก ๑ เที่ยวแล้วก็นิ่งอยู่กลางกระหม่อม

ตามเข้าไปในฐานที่ ๔ อีกคือ ลงในสมองที่กลางกะโหลกศีรษะให้นิ่งอยู่สักครู่หนึ่งจึงเลื่อนจิตออกไปที่กลางกระหม่อมข้างนอกกลับไปกลับมาติดต่อกันในระหว่างสมองกับกลางกระหม่อมข้างนอกแล้วก็นิ่งอยู่ที่สมองทำความรู้สึกให้กว้างขวางกระจายลมอันละเอียดจากสมองให้ลงไปเบื้องต่ำ

เมื่อทำจิตมาถึงตอนนี้แล้วบางทีจะเกิดนิมิตของลมขึ้นเป็นต้นว่ารู้สึกขึ้นในศีรษะแลเห็นหรือรู้สึกให้เสียวๆให้เย็นๆร้อนๆ ให้เป็นไอเป็นหมอกสลัวๆขึ้น
บางทีก็มองเห็นกะโหลกศีรษะของตัวเองถึงอย่างนั้นก็อย่าให้มีความหวั่นไหวไปตามนิมิตที่ปรากฏ
ถ้าเราไม่ปรารถนาที่จะให้เป็นเช่นนั้นก็ให้สูดลมหายใจเข้าไปยาวๆถึงหัวอกนิมิตเหล่านั้นก็จะหายไปในทันที

เมื่อเห็นนิมิตอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นแล้วให้ตั้งสติรู้อยู่ที่นิมิตแต่ให้เอานิมิตเดียวสุดแท้แต่นิมิตอันใดเป็นที่สบาย
เมื่อจับนิมิตได้แล้วให้ขยายนิมิตนั้นออกไปให้โตเท่าศีรษะ
นิมิตที่ขาวสว่างนั้นมีประโยชน์แก่กายแก่ใจ
คือเป็นลมบริสุทธิ์สะอาด
ลมบริสุทธิ์สะอาดนี้ย่อมเป็นเครื่องฟอกโลหิตในร่างกายของเราได้อย่างดีสามารถจะบรรเทาหรือกำจัดทุกขเวทนาในร่างกายได้

เมื่อทำได้เท่าศีรษะของตนแล้วให้เลื่อนลงไปตั้งไว้ในฐานที่ ๕ คือ ทรวงอกแล้วให้นึกเอานิมิตแห่งลมไปตั้งไว้ขยายออกให้เต็มทรวงอกทำลมอันนั้นให้ขาวสว่างกระจายลมกระจายแสงสว่างไปทั่วทุกขุมขนจนกว่าจะมองเห็นส่วนต่าง ๆของร่างกายปรากฏเป็นภาพขึ้นมาเอง

ถ้าไม่ต้องการภาพอันนั้นก็ให้สูดลมหายใจยาวๆเสีย ๒-๓ ครั้งภาพนั้นก็จะหายไปทันทีแล้วกระทำจิตให้นิ่งอยู่โดยกว้างขวางแม้จะมีนิมิตอะไรผ่านมาในรัศมีแห่งลมอย่าเพิ่งไปจับเอา
อย่าทำจิตหวั่นไหวไปตามนิมิตประคองจิตไว้ให้ดีทำจิตให้เป็นหนึ่งพยายามตั้งจิตไว้ในอารมณ์อันเดียวคือลมหายใจอันละเอียดและขยายลมอันละเอียดนั้นให้กว้างขวางออกไปทั่วสรรพางค์กาย

#ฝึกสร้างวิชชา
เมื่อทำจิตถึงตอนนี้จะค่อยเกิดวิชชาความรู้ขึ้นตามลำดับ
กายของเราก็จะเบาเหมือนปุยนุ่นใจก็จะเอิบอิ่มนิ่มนวลวิเวกสงัดได้รับความสุขกายสบายจิตเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อต้องการวิชาความรู้แล้ว ให้ทำอย่างนี้จนกว่าจะชำนาญในการเข้าในการออกในการตั้งอยู่เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วนิมิตของลมคือแสงสว่างขาวๆเป็นก้อนเป็นกลุ่มนั้นจะทำเมื่อไรก็เกิดได้

เมื่อต้องการวิชาความรู้ต่างๆก็ให้ทำจิตนิ่งวางอารมณ์ทั้งหมดให้เหลืออยู่แต่ความสว่างความว่างอย่างเดียว
เมื่อประสงค์สิ่งใดในส่วนของวิชาความรู้ภายในและภายนอกตนเองและผู้อื่นก็ให้นึกขึ้นในใจครั้งหนึ่งหรือสองครั้งก็จะเกิดความรู้หรือนิมิตเป็นภาพปรากฏขึ้นทันทีเรียกว่ามโนภาพ
ถ้าจะให้ดีและชำนาญในสิ่งเหล่านี้ให้ศึกษากับท่านผู้เคยปฏิบัติในทางนี้จะดีมากเพราะวิชาตอนนี้เป็นวิชาที่เกิดจากสมาธิอย่างเดียวเท่านั้น

#จากโลกีย์สู่โลกุตระ
วิชาในเรื่องสมาธินั้นมีอยู่ ๒ แผนก คือ เป็นไปกับด้วยโลกีย์อย่างหนึ่งเป็นไปกับด้วยโลกุตระอย่างหนึ่ง
วิชาโลกีย์คือติดความรู้ความเห็นของตนเองนี้หนึ่งติดสิ่งทั้งหลายที่มาปรากฏให้เรารู้เราเห็นนี้อย่างหนึ่ง
วิชาก็ดีสิ่งที่ให้เรารู้เราเห็นด้วยอำนาจแห่งวิชาก็ดีเป็นของจริงและของไม่จริงเจือปนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น
แต่ของจริงในที่นี้เป็นส่วนสังขารธรรมทั้งสิ้น
ขึ้นชื่อว่าสังขารแล้วย่อมไม่เที่ยงไม่มั่นคงถาวร

ฉะนั้น เมื่อต้องการโลกุตระต่อไปให้รวมสิ่งที่เรารู้เห็นทั้งหมดเข้ามาเป็นจุดอันเดียวคือเอกัคตารมณ์ให้เห็นเป็นสภาพอันเดียวกันทั้งหมด
เอาวิชชาความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นเข้ามารวมอยู่ในจุดอันนั้นจนรู้แจ้งเห็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดาแล้วอย่ายึดถือในสิ่งที่เรารู้เห็นมาเป็นของตนอย่ายึดความรู้เห็น
ที่เกิดมาจากตนมาเป็นของของตนให้ปล่อยวางไปเสียตามสภาพ
ถ้าไปยึดอารมณ์ก็เท่ากับยึดทุกข์
ยึดความรู้ของตนก็จะเกิดเป็นเหตุแห่งทุกข์คือสมุหทัย
ฉะนั้นจิตที่นิ่งเป็นสมาธิแล้วเกิดวิชชานั้นเป็นมรรค
สิ่งที่เรารู้ต่างๆที่ผ่านไปผ่านมาเป็นทุกข์
จิตเราอย่าเข้าไปยึดเอาวิชชาอย่าเข้าไปยึดเอาอารมณ์ที่มาแสดงให้เรารู้ปล่อยวางไปตามสภาพทำจิตให้สบายๆไม่ยึดจิตไม่สมมุติจิตของตนเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ถ้ายังสมมุติตนเองอยู่ตราบใดก็เป็นอวิชชาอยู่ตราบนั้น
เมื่อรู้ได้โดยอาการอย่างนี้ก็จะกลายเป็นโลกุตระขึ้นในตนจะเป็นบุญกุศลอย่างประเสริฐสูงสุดในฐานะที่เป็นมนุษย์พุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า

#สรุปหลักปฏิบัติ
ถ้าจะสรุปให้สั้นเข้าแล้วหลักในการปฏิบัติก็มีดังนี้คือ
๑. กำจัดอารมณ์ที่ชั่วออกจากจิตให้หมด
๒. ทำจิตอยู่ในอารมณ์ที่ดี
๓. อารมณ์ที่ดีต่างๆให้ต้อนเข้าไปรวมอยู่ในจุดอันเดียวที่เรียกว่าเอกัคตารมณ์
๔. พิจารณาอารมณ์หนึ่งนั้นให้เป็นอนิจจังไม่เที่ยงทุกขังเป็นทุกข์อนัตตาไม่ใช่ตัวตนสัตว์บุคคลว่างเปล่า
๕. วางอารมณ์ที่ดีและวางอารมณ์ชั่วไปตามสภาพของอารมณ์
เพราะดีและชั่วย่อมอยู่ด้วยกันมีสภาพเสมอกัน
วางจิตไว้ตามสภาพของจิตรู้ไว้ตามสภาพแห่งรู้
รู้นั้นไม่รู้จักเกิดไม่รู้จักดับนั้นแลคือสันติธรรม
ดีก็รู้ดีไม่ใช่รู้รู้ไม่ใช่ดี
ชั่วก็รู้รู้ไม่ใช่ชั่วชั่วไม่ใช่รู้
คือรู้ไม่ติดความรู้รู้ไม่ติดสิ่งที่รู้นั่นแหละคือธรรมชาติธาตุแท้อันบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนน้ำที่อยู่บนใบบัวฉะนั้นจึงเรียกว่าอสังขตธาตุเป็นธาตุแท้

#ผลที่ได้รับ
เมื่อใครทำได้เช่นนี้ก็จะเห็นของดีวิเศษเกิดขึ้นในใจแห่งตนจะเป็นกุศลวาสนาบารมีของท่านผู้ปฏิบัติในทางสมถะกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานจะได้ผล ๒ ประการดังกล่าวคือ
โลกียผลที่จะให้สำเร็จประโยชน์อนามัยของร่างกายแห่งท่านและคนอื่นทั่วๆไปในสากลโลกนี้ประการหนึ่ง
ประการที่ ๒ จะได้โลกุตระผลอันเป็นประโยชน์อนามัยในด้านจิตใจของท่านมีความสุขความเยือกเย็นและความราบรื่นชื่นบานก็จะถึงพระนิพพานเป็นเบื้องหน้าไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตาย

ที่มา
อานาปานสติภาวนามัย
โดย ท่านพ่อลี ธมฺมธโร

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...