" อ่านแล้ว ปฏิบัติแล้ว ระลึกตามได้เลยจ้ะ ใช้เป็นแผนที่เดินทางที่เข้าใจได้ง่าย +ชัดเจนดีมากๆจ้ะ "
" การทำอานาปานสติภาวนาจึงกล่าวได้ว่าเป็นการบำเพ็ญทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมกัน .... เมื่อทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้ครบ ก็ชื่อว่าได้เดินทางตามมรรค มีองค์แปด "
"ยกขึ้นสู่วิปัสสนา"
..
- ธุระหน้าที่ของเราก็คือ ให้ดูลมหายใจเข้าออก อย่าไปบังคับให้มันสั้น หรือบังคับให้มันยาว ปล่อยตามสบาย ไม่ให้กดดันมัน ให้มีความปล่อยวางอยู่ในช่วงลมหายใจเข้าออกเสมออย่างนี้...
.
- ดูลมหายใจอย่าให้มีความกดดัน คือ อย่ายึดมั่น รู้แล้วให้ปล่อยตามสภาวะของมันอย่างนั้น ให้ถึงความสงบ ต่อไปจิตมันก็จะวาง ลมหายใจก็จะเบา เบาไป ผลที่สุดลมหายใจมันจะน้อยไป น้อยไป จนกระทั่งปรากฎว่า มันไม่มีลม... นี่พูดถึงการกระทำในเวลาเรานั่งสมาธิอย่างเดียว
.
- มี "สติ" ตามดูจิต จิตเป็นผู้รู้ อาการที่ตามดูจิตของเรานั้นอยู่ในลักษณะอันใด ก็ให้เรารู้อย่างนั้นอย่าเผลอไป เมื่อมันคิด มันรู้สึก ให้มันรู้สึกอยู่ด้วยความสงบไม่เป็นอะไร จะต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ สติ คือ ระลึกได้ สัมปชัญญะ คือ รู้ตัวอยู่ สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น ปัญญา คือ ความรอบรู้
.
(ในระหว่างนั่งสมาธิ)
- "ลมหายใจ" นี่หมดไปก็ได้ มีความรู้สึกอีกอันหนึ่งขึ้น ลมหายใจมันจะหายไป คือมันละเอียดจนเกินไป บางทีนั่งอยู่เฉยๆ ลมไม่มี ที่จริงมันมีอยู่ แต่เหมือนว่ามันไม่มี เพราะอะไร เพราะว่าจิตตัวนี้มันละเอียด
มากที่สุด มันมีความรู้เฉพาะของมัน มีเหลือความรู้อันเดียว ถึงลมมันหายไปแล้ว ความรู้ที่ว่าลมมันหายไปก็ตั้งอยู่ ทีนี้จะเอาอะไร เป็นอารมณ์ต่อไปอีก ก็เอาความรู้นี่แหละเป็นอารมณ์ต่อไปอีก อารมณ์ที่ว่า ลมไม่มี ลมไม่มี อยู่อย่างนี้เสมอ นี่เรียกว่ามีความรู้อีกอันหนึ่งตั้งขึ้นมาอีก
.
- ในจุดนี้บางคนอาจมีความสงสัยขึ้นมาได้ เพระตรงนี้มันจะเกิดนิมิตขึ้นมาก็ได้ เสียงก็มีได้ รูปก็มีได้ มันมีทุกอย่างได้ สิ่งที่ว่าเราคาดไม่ถึงมันเกิดขึ้นมาได้ตรงนี้ (นิมิตนี้บางคนมันก็มี บางคนก็ไม่มี) ก็ให้เรารู้ตามเป็นจริง อย่าสงสัย อย่าตกใจ
.
- ทีนี้ท่านจงตั้งใจให้ดี ตั้งสติให้มาก บางคนก็เห็นว่าลมหายใจไม่มีแล้วตกใจ ตกใจเพราะธรรมดาลมมันมีอยู่ เมื่อเรามาพบว่าลมไม่มี แล้วก็ตกใจว่าลมไม่มี กลัวว่าเราจะตายก็ได้ ตรงนี้ก็ให้ตั้งความรู้สึกขึ้นมา อันนี้มันเป็นอย่างนี้ของมัน เราจะดูอะไร ดูลมไม่มีนั่นอีกต่อไปเป็นความรู้ นี้ท่านจัดว่าเป็นสมาธิอันแน่วแน่ ที่สุดของสมาธิ มีอารมณ์เดียวแน่นอนไม่หวั่นไหว เมื่อสมาธิถึงจุดนี้ จะมีความแตกต่างสารพัดอย่างที่จะรู้ในจิตของเรา... เมื่อจิต ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง เพราะว่าไม่มีอารมณ์อะไรเข้ามาเสียดแทง อยู่นานเท่าไรก็ได้ ไม่รู้สึกเวทนาเจ็บปวดอะไร อยู่อย่างนั้น
.
- การทำสมาธิมาถึงที่นี่ เราจะออกจากสมาธิก็ได้ ไม่ออกก็ได้ ออกจากสมาธินี่ก็เรียกว่าออกสบาย ออกอย่างสบาย ไม่ออกเพราะว่าขี้เกียจ ไม่ออกเพราะว่าเหน็ดเหนื่อย ออกเพราะว่าสมควรแล้วก็ออกมา ถอยออกมา... อย่างนี้นี่ อยู่สบาย ออกมาสบาย ไม่มีอะไร นี้เรียกว่าสมาธิ จิตใจมันจะสบาย ถ้าเรามีสมาธิอย่างนี้ อย่างนั่งวันนี้ มาเข้าสมาธิกันอยู่สัก 30 นาที หรือชั่วโมงหนึ่ง จิตใจของเราจะเยือกเย็นไปตั้งหลายวัน เมื่อจิตเยือกเย็นหลายวันนั้น จิตเราจะสะอาด เห็นอะไรจะรับพิจารณาทั้งนั้น อันนี้มันเป็นเบื้องแรกของมัน นี้เรียกว่า .. "ผลที่เกิดจากสมาธิ"
....ปล่อยอารมณ์ข้างนอก เสียงรถยนต์ก็ไม่รำคาญ เสียงอะไรก็ไม่รำคาญ ไม่รำคาญซักอย่างหนึ่งข้างนอก จะเป็นรูป เป็นเสียง ไม่รำคาญทั้งนั้นแหละ เพราะว่ามันไม่รับ แล้วมันมารวมอยู่ที่ลมหายใจเรานี้...
.
- เมื่อออกจากสมาธิแล้วก็ต้อง "มีสติติดต่อกันเสมอ" ไม่ใช่ว่าเราจะทำความสงบเฉพาะเวลานั่งสมาธิเพราะว่า สมาธิคือความตั้งใจมั่น เราเดินอยู่เราก็ทำใจเราให้มั่น ให้มีอารมณ์มั่นเสมอ มีสติสัมปชัญญะอยู่ เสมอไป ออกจากที่นั่งนี้แล้ว หูเราได้ยินเสียง ตาเห็นรูปที่เราเดินไป นั่งรถไปก็ตามเถอะ ให้รู้สึก มีอะไรที่มันชอบใจหรือไม่ ชอบใจเกิดขึ้นมาเป็นอารมณ์ ก็มีความรู้สึกว่าอันนี้ไม่แน่ อันนี้ไม่เที่ยง ตลอดเวลาอย่างนั้น จิตใจจะสงบปกติ
.
- เมื่อจิตสงบเช่นนี้แล้ว เราจะต้องเอาจิตอันนี้พิจารณาอารมณ์เช่นว่า รูปร่างกายทั้งหมดนี้ก็ต้องพิจารณา พิจารณาเมื่อไรก็ได้ เรานั่งสมาธิก็ได้ เราอยู่บ้านก็ได้ เราทำงานอยู่ก็ได้ อะไรๆเราก็ทำได้ เรานั่งพิจารณาอยู่เสมอ เราเดินไปจะเห็นใบไม้มันร่วงลงมาอย่างนี้ อันนี้มันไม่แน่เหมือนกัน ใบไม้เหมือนกับเรานั่นแหละ เมื่อมันแก่แล้ว มันก็ร่วงไป เราก็เหมือนอย่างนั้น คนโน้นก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน นี่เรียกว่า "ยกขึ้นสู่วิปัสสนา" จะมีการพิจารณาอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ทั้งการยืน การเดิน การนั่ง การนอน มีสติติดต่อกันเรื่อย สม่ำเสมอ นี่เรียกว่า "การฝึกกรรมฐานที่ถูกต้อง" เราต้องสะกดรอยติดตามอยู่เสมอ...
.
- เราต้องอดทนต่อสู้ ให้เรามี "สติคุ้มครองจิตของเรา" สติ คือ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว อันนี้ช่วยประคับประคองดวงใจของเราให้อยู่กับธรรมะ สติระลึกได้ว่าบัดนี้เราจะจับไม้เท้า เมื่อเราจับไม้เท้าอยู่เราก็รู้ว่าเราจับไม้เท้า นี่เป็นสัมปชัญญะ
.
- อารมณ์ก็เหมือนกัน ... ถ้ามีสติรู้อยู่ มันจะทำอะไรเราไม่ได้ อารมณ์มันจะทำให้เราดีใจอยู่อย่างนี้ตลอดไปไม่ได้ มันไม่แน่นอนหรอก เดี๋ยวมันก็หายไป จะไปยึดมั่นถือมั่นทำไม เมื่อเรายังมีสติอยู่ เมื่อนั้นแหละเราได้ภาวนาอยู่ การภาวนาไม่ใช่ว่าเราจะนั่งสมาธิอย่างเดียว ......
.
- การทำภาวนา .... ต้องพยายามทำไปเรื่อยๆ พอสมควรที่จะเลิกก็เลิก ... เราเหมือนพ่อค้าเกวียน ต้องรู้จักกำลังโคของเรา ต้องรู้จักกำลังเกวียนของเรา การประพฤติปฏิบัติธรรมต้องไม่ย่อหย่อน จะต้องทำความพยายามอย่างนั้น ต้องปราศจากสุขหรือทุกข์ มันจึงเป็นเรื่องความสงบ เราต้องวางสุขหรือทุกข์ไว้สองข้าง ความรู้สึกต้องเป็นกลางๆ ธรรมะทั้งหมดนี้ท่านต้องการให้ปล่อยวาง ปล่อยวางจะเกิดขึ้นมานั้นต้องรู้ความเป็นจริง มันถึงจะปล่อยวางได้
.
- การฝึกจิตมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่เห็นว่ามีประโยชน์และเหมาะสมที่สุด ใช้ได้กับบุคคลทั่วไป วิธีนั้นเรียกว่า "อานาปานสติภาวนา" คือ มีสติจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าและหายใจออก ..... ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าพยายามกำหนดลมเข้าออกให้ทันเท่านั้น การเจริญภาวนาบทนี้จะต้องทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ จึงจะได้ผล ไม่ใช่ว่าทำครั้งหนึ่งแล้ว หยุดไปตั้งอาทิตย์สองอาทิตย์ หรือตั้งเดือนจึงทำอีก อย่างนี้ไม่ได้ผล... อบรมกระทำให้มาก คือ ทำบ่อยๆ ติดต่อกันไป ...
.
อาการบังคับตัวเองให้กำหนดลมหายใจข้อนี้เป็น "ศีล"
การกำหนดลมหายใจได้ และติดต่อกันไปจนจิตสงบข้อนี้เรียกว่า "สมาธิ"
การพิจารณากำหนดรู้ลมหายใจว่าไม่เที่ยง ทนได้ยาก มิใช่ตัวตน แล้วรู้การปล่อยวาง ข้อนี้เรียกว่า "ปัญญา"
การทำอานาปานสติภาวนาจึงกล่าวได้ว่าเป็นการบำเพ็ญทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมกัน .... เมื่อทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้ครบ ก็ชื่อว่าได้เดินทางตามมรรค มีองค์แปด
..
สรุปย่อจากหนังสือ "สมาธิภาวนา"
โดย พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น