03 ตุลาคม 2563

"เทโวโรหณสูตร" (ตอนที่ 1)


ในกาลนั้นองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงพระอภิธรรม 7 คัมภีร์  เป็นการสนองคุณของพระมารดาของพระองค์ที่ดาวดึงส์สิ้นวาระ 3 เดือน  เมื่อเทศน์จบพระมารดาก็บรรลุพระโสดาปัตติผล  บรรดาเทวดาส่วนมากก็บรรลุมรรคผลไปตาม ๆ กัน

ในขณะที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปสู่ดาวดึงส์คราวนั้น  มีบรรดาประชาชนหลายท่านด้วยกัน. หมายความว่าหลายโกฏิ  ต่างคนต่างปฏิญาณตนว่า  ถ้าองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาไม่เสด็จกลับมาเพียงใด  บรรดาพวกเขาทั้งหลายก็จะพากันไม่กลับบ้าน  จะคอยองค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาอยู่ในเมืองพาราณสี  ถึงแม้ว่าอาหารการบริโภคจะไม่มี  การพักจะลำบากเพียงใดก็ตามที  แม้ชีวิตินทรีย์จะตักษัยก็ไม่ยอมกลับ

เป็นอันว่าในกาลนั้นก็เป็นหน้าที่ของพระราชา 7 พระนคร  ที่มีความเคารพในองค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  มีพระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งเป็นพระราชาเมืองพาราณสี  พระราชากรุงกบิลพัสดุ์มหานคร  พระราชากรุงราชคฤห์มหานคร  แล้วก็รวมกันอีก 4 พระนคร  ร่วมกันจัดภัตตาหารมาเลี้ยงบรรดาบุคคลทั้งหลายที่มาคอยองค์สมเด็จพระพิชิตมาร

และก็ในครานั้นปรากฏว่าบรรดาเศรษฐีทั้งหลายทั้ง 7 พระนคร  ต่างคนต่างก็นำเอาอาหารการบริโภคมาเลี้ยงคนทั้งหลาย  อย่าลืมว่าเวลานั้นเป็นฤดูฝน  เพราะว่าองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปวันนั้นเป็นวันเข้าพรรษา  เป็นฤดูฝนพอดี  ปรากฏว่าการจัดที่เป็นที่อยู่ของบุคคลนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก  ทั้งกษัตริย์ก็ดี  มหาเศรษฐีก็ดี  คหบดีก็ดี  พากันทุ่มเททรัพย์ทั้งหลายเพื่อให้บุคคลทั้งหลายมีความสุข  เป็นการช่วยเหลือกัน

▪️ทรัพย์ไม่หมด▪️

แต่ว่าตามภาพของอตีตังสญาณปรากฏว่าเป็นเหตุอัศจรรย์อย่างยิ่ง  บรรดาพุทธบริษัททั้งชายและหญิงนับเป็นจำนวนโกฏิ ๆ ที่ประชุมกันเวลานั้นเป็นส่วนมาก  กษัตริย์ก็ดี  มหาเศรษฐีก็ดี  คหบดีก็ดี  ทุ่มเททรัพย์สมบัติเป็นจำนวนมากแต่ทรัพย์สินของท่านทั้งหลายนั้นไม่หมด  ไม่สลายตัวไป  เป็นเหตุให้บรรดามหาเศรษฐีก็ดี  กษัตริย์ก็ดี  คหบดีก็ดี  มีความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาหนักขึ้น  ตลอดจนกระทั่งประชาชนทั้งหลายเห็นว่าการอยู่ของบุคคลทั้งหลายเหล่านั้นของพวกเขา  ไม่มีความทุกข์มีความสุขตลอดกาล

เป็นอันว่านับแต่องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะเสด็จสู่เมืองสังกัตนคร 1 เดือนในตอนนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์ในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศ  จึงได้ประกาศให้ประชาชนทั้งหลายย้ายจากหน้าเมืองพาราณสีไปสู่เมืองสังกัตนครระยะห่างกัน 15 โยชน์  แต่ว่าก่อนที่จะไปกษัตริย์ก็ดี  มหาเศรษฐีก็ดี  ได้จัดแจงสถานที่พักให้แก่บุคคลทั้งหลายไว้อย่างดี

การคอยองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งนานวันเข้าเท่าไหร่ก็ตาม  บุคคลทั้งหลายจากจตุรทิศ  คือทิศทั้ง 4 ก็หลั่งไหลมามากขึ้น  พอมาถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดวันที่จะเสด็จลงมา  

ในวันนั้น "ท้าวโกสีย์สักกเทวราช”  คือพระอินทร์  ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพอยู่บนดาวดึงส์พิภพ  จึงเข้าไปปรารภทูลถามพระองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ภันเต  ภควา  ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระพุทธเจ้าข้า  สมเด็จพระบรมศาสดาจะเสด็จ ณ ที่ใด ?"  องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า  "ตถาคตจะลงหน้าประตูเมืองสังกัตนคร"

เหตุฉะนั้นจอมบพิตรอดิศร  ท้าวสักกเทวราชจึงได้ทรงเนรมิตบันไดขึ้น 3 แบบ  คือด้านซ้ายเป็นบันไดทอง  ด้านขวาเป็นบันไดเงิน  แล้วตรงกลางเป็นบันไดแก้วเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ทูลอาราธนาองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงทางบันไดแก้ว  บรรดาพรหมทั้งหลายลงทางบันไดทอง  และก็เทวดาทั้งหลายลงทางบันไดเงิน  

เป็นอันว่าตอนนั้นเทวดาก็ดีพรหมก็ดีทั่วเทวโลก  ไม่มีใครอยู่ในสถานที่ของตน  ต่างคนต่างมาเฝ้าองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดา  ลงมาพร้อมกันท้าวโกสีย์สักกเทวราชนั้นมีหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์นำเสด็จองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำหรับท้าวสหัมบดีพรหมกางฉัตรแก้วให้องค์สมเด็จพระประทีปแก้วเสด็จ  เวลานั้นปรากฏว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์อีกวาระหนึ่ง

▪️ยมกปาฏิหาริย์▪️

ตอนก่อนเสด็จขึ้นก็แสดงครั้งหนึ่งแล้ว  การแสดงในคราวนี้องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงใช้อำนาจพระพุทธญาณบันดาลให้โลกทั้งหมดมีสภาวะเห็นกันได้หมด  เหมือนกับคนเห็นคน  มนุษย์ทั้งหลายเห็นเทวดาและก็เห็นพรหม  ซึ่งพรหมกับเทวดาเห็นมนุษย์เป็นของไม่แปลกอยู่แล้ว  หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระประทีปแก้วใช้อำนาจพระพุทธญาณของพระองค์  บันดาลให้บรรดาอบายภูมิทั้งหมดพ้นจากเครื่องพันธนาการ  การลงโทษทั้งหมดไม่มี  

ในวันนั้นปรากฏว่าสัตว์ในนรกก็ดี  เปรตก็ดี  อสุรกายก็ดี  ทั้งหมดนี้มีแต่ความสุขไม่มีความทุกข์เพราะเครื่องทรมานไม่ปรากฏ  ต่างคนต่างก็เห็นองค์สมเด็จพระบรมสุคต  ชาวมนุษย์ก็เห็นสัตว์นรก  เห็นเปรต  อสุรกาย  แล้วก็เห็นเทวดาได้  ฝ่ายนรกก็เช่นเดียว  กันต่างคนต่างเห็นกัน  นับว่าเป็นความอัศจรรย์พิเศษที่องค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแสดง

การที่องค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงบันดาลให้สัตว์นรกก็ดี  เปรตก็ดีพ้นจากเครื่องพันธนาการ  การทรมานไม่มี  สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นมีความสุขเป็นพิเศษ  และต่างคนต่างก็เห็นซึ่งกันและกัน  ตอนนั้นในพระบาลีกล่าวว่า คนทั้งหลายอยู่ในสถานที่นั้นที่ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า ต่างคนต่างมีความประสงค์คิดว่า ถ้าเราได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะเป็นการดี  ในตอนนี้ท่านกล่าวว่า  มีคนปรารถนาพุทธภูมิทั้งหมด  ตามพระบาลีกล่าวว่า  แม้แต่มดดำมดแดงคือสัตว์เดรัจฉานก็ดี  คนก็ดี  รู้ภาษากันหมดด้วยอำนาจพุทธานุภาพ

ต่างคนต่างปรารถนาใคร่จะเป็นพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน  เป็นอันว่าเป็นความอัศจรรย์เป็นพิเศษ  สำหรับพระพุทธเจ้าเองก็ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีรัศมี ๖ ประการสวยงามยิ่งกว่าวันใด ๆ ทั้งหมด  ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระบรมสุคตเสด็จลงสู่ประตูเมืองสังกัตนคร  เวลานั้นพระสงฆ์ประชุมกันอยู่ 2 แสนเศษ  พระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์พร้อมไปด้วยกษัตริย์ทั้งหลายและมหาเศรษฐีทั้งหลาย  ก็พากันถวายทานแก่องค์สมเด็จพระบรมศาสดา  ซึ่งเป็นประมุขของบรรดาพระสงฆ์ทั้งหมด

เมื่อองค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงฉันภัตตาหารแล้ว  องค์สมเด็จพระประทีปแก้วแทนที่จะแสดงพระธรรมเทศนาเป็นปกติ  กลับทรงถามปัญหา  จึงได้ทรงตรัสเรียกพระสาวกเข้ามาตามลำดับชั้น  คือพระสาวกที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดายังไม่ได้สำเร็จมรรคผล  หรือยังไม่ได้ฌานสมาบัติ  จนกระทั่งพระอัครสาวกเบื้องขวาคือพระสารีบุตร  แล้วจึงได้ตรัสถามปัญหา

ความจริงคนนับจำนวนเป็นหลายสิบโกฏิ  ถ้าจะว่ากันไปแล้วเสียงขององค์สมเด็จพระจอมไตรก็ดี  ของท่านผู้สดับก็ดี ไม่สามารถจะทำให้คนทั้งหมดนี้ได้ยินเสียงได้ถนัด  แต่ด้วยอานุภาพองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์  ก็สามารถจะบันดาลให้บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นต่างคนต่างได้ยินเสียงได้ถนัดเหมือนกัน

และอีกประการหนึ่ง  การแสดงพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาเป็นสภาวะปกติในกาลก่อนก็ดี  ในวันนี้ก็ดี  เวลาที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาในกาลนั้น  คนทั้งหมดจะเห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ใกล้ตนเหมือนกันหมด  แล้วทุกคนก็จะเห็นว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาหันหน้าไปหาตน  

ยิ่งกว่านั้นคนทุกคนแม้จะต่างชาติต่างภาษา  ต่างคนก็จะรู้สึกว่าสมเด็จพระบรมศาสดาเทศน์ภาษาของตน  ทุกคนจึงรู้เรื่องทั้งหมด  สำหรับวันนี้ก็เช่นเดียวกัน  องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ก็แสดงพระธรรมเทศนาแบบนั้น  แต่ทว่าองค์สมเด็จพระภควันต์ก็ทรงบันดาลเป็นกรณีพิเศษ  นอกจากเสียงขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ที่ทุกคนฟังได้ยินชัดเจนแจ่มใส  และเห็นว่าภาวะขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาหันหน้าไปหาตน  และทุกคนก็มีความรู้สึกว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั่งใกล้ตน

องค์สมเด็จพระทศพลก็ทรงแสดงปาฏิหาริย์ต่อไป  ให้บุคคลทั้งหลายเห็นว่าบรรดาพระทั้งหลายที่องค์สมเด็จพระจอมไตรจะถามปัญหาบุคคลทั้ง 7 ระดับชั้นนั้นปรากฏว่าอยู่ใกล้กับคนทุกคนเหมือนกัน  ทั้งนี้ก็เป็นอานุภาพขององค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดา

▪️พระปุถุชนและพระทรงฌาน▪️

เป็นอันว่าต่อจากนั้นไปองค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้ทรงถามปัญหาของปุถุชนที่ยังมีกิเลสแก่ท่านพระภิกษุสงฆ์ที่ยังไม่ได้ฌานสมาบัติ  ท่านพระภิกษุสงฆ์ที่ยังไม่ได้ฌานสมาบัติก็ตอบคำถามขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ได้ดี  

ความจริงเรื่องปัญหาของคนธรรมดานี่เป็นก็เป็นของไม่แปลก  สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถามว่า  เธอมีอารมณ์เป็นเช่นใดการทรงศีลก็ดี  การทรงสมาธิก็ดี  วิปัสสนาญาณก็ดี   ของเธอดีอยู่หรือ  บรรดาพระที่เป็นปุถุชนก็กราบทูลองค์สมเด็จพระบรมครูว่า  สมาธิก็ดี  ศีลก็ดี  วิปัสสนาญาณก็ดี  ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมยังไม่ทรงอารมณ์เป็นปกติ  สำหรับเรื่องศีลบางครั้งถึงแม้ว่าการปฏิบัติจะไม่ละเมิด  แต่ก็เกิดมีความรู้สึกทางจิตบางทีก็คิดว่าจิตเป็นอกุศล 

ต่อไปองค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้ถามอารมณ์ของผู้ทรงฌานสมาบัติแก่พระที่เป็นปุถุชน  ปรากฏว่าพระที่เป็นปุถุชนยังไม่ได้ฌานสมาบัติไม่สามารถจะตอบได้  การที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสอย่างนี้ก็เพื่อจะให้บรรดาประชาชนทั้งหลายมีความเข้าใจว่าสิ่งใดก็ดีที่ตนยังปฏิบัติไม่ได้ จะมีความเข้าใจและรู้สิ่งนั้นจริงจังตามความเป็นจริงไม่ได้

เมื่อพระปุถุชนตอบไม่ได้  องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงได้ตรัสถามพระที่ทรงฌานสมาบัติ  องค์สมเด็จพระชินสีห์ถามถึงอารมณ์ของฌานสมาบัติว่า  "คำว่าฌานหมายความว่าอย่างไร ? "

บรรดาพระทั้งหลายเหล่านั้นก็ตอบได้ว่า  คำว่า "ฌาน" หมายถึงการเพ่ง  คือจิตทรงอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นกุศล  ตามที่องค์สมเด็จพระทศพลตรัสเป็นพระธรรมเทศนาไว้ถึง 40 แบบ  

แล้วต่อมาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงถามว่า  อารมณ์จิตที่ทรงฌานอยู่ก็ดี หรืออารมณ์จิตที่ปล่อยฌานแล้วก็ดี  อย่างนี้มีความรู้สึกต่างกันอย่างไร ?  พระทั้งหลายก็ตอบว่า  จิตที่ทรงฌานอยู่นั้นเป็นอารมณ์ที่สงบสงัด  มีความเยือกเย็นอยู่มาก  มีการทรงตัวดี  เพราะจิตในขณะนี้ตัดนิวรณ์  5 ประการ

หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ตรัสถามว่า  ขณะที่จิตปล่อยจากฌานมีอารมณ์รู้สึกเป็นอย่างไร ? มีกำลังใจเหมือนกับจิตที่ยังเป็นปุถุชนคนที่ยังไม่ได้ฌานไหม ?  บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็กราบทูลองค์สมเด็จพระจอมไตรว่า  จิตไม่เหมือนกับคนที่ไม่ได้ฌาน พระพุทธเจ้าข้า  เพราะว่าขณะใดที่จิตปล่อยออกจากฌาน  จิตในขณะนั้นก็ทรงอยู่ในอุปจารสมาธิ  จิตมีสภาพเป็นทิพย์

กล่าวคือมีความสุข  มีปีติ  มีความอิ่มใจ  มีความชื่นบาน  ไม่มีความสงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระจอมไตร  แล้วก็จิตสามารถจะระงับได้ซึ่งทุกขเวทนา  แต่ทว่าอารมณ์ที่ปล่อยจากฌานในบางวาระ  อารมณ์ที่เป็นอกุศลก็สามารถจะเข้าถึงจิตตนได้  

ครั้นเมื่อพระทั้งหลายเหล่านั้นตอบแล้วองค์สมเด็จพระจอมไตรทรงรับรองว่าจิตของผู้ทรงฌานมีสภาพเป็นอย่างนี้  แล้วองค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ทรงแนะนำว่า  การทรงฌานเป็นของดี  การทรงจิตเป็นสมาธินี้  กล่าวคือจิตของบุคคลผู้ใดถ้ายังเข้าไม่ถึงฌานแต่ถ้าไปใกล้ฌานที่เรียกว่าอุปจารฌาน  จิตของบุคคลนั้นถ้าทรงได้อย่างนี้แสดงว่าจบกามาวจรสวรรค์  ถ้าทุกคนตายแล้วก็จะเป็นเทวดา  อย่างเทวดาที่ทุกท่านเห็นในเวลานี้

หมายความว่าเวลานั้นคนทุกคนก็เห็นเทวดา  สัตว์ทั้งหลาย   สัตว์นรก  เปรต  อสุรกาย  ก็เห็นเทวดา  สมเด็จพระบรมศาสดาทรงยืนยันว่าทุกท่านที่จิตของท่านยังไม่ถึงฌานแต่ถ้าว่าเข้าถึงอุปจารสมาธินี้นั้น  เป็นวิสัยของเทวดาชั้นกามาวจรสวรรค์. เรียกว่าจบกามาวจรภูมิ  จะไปเกิดเป็นเทวดาชั้นไหนก็ได้  

แล้วองค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็ตรัสต่อไปว่า  บุคคลใดผู้ทรงฌานสมาบัติถ้าหากว่าก่อนที่จะตายท่านผู้นั้นทรงฌานอยู่  ท่านผู้นั้นตายจากความเป็นคนจะไปเกิดเป็นพรหม  เวลานั้นชาวบ้านเขาก็เห็นกันหมดว่าเทวดาน่ะสวยสดงดงามกว่ามนุษย์มากมายที่จะเทียบได้  แต่ว่าบรรดาพรหมทั้งหลายก็ยิ่งสวยกว่าเทวดามากมายหาประมาณมิได้เช่นเดียวกัน  บรรดาประชาชนทั้งหลายเมื่อฟังอย่างนี้ก็เพิ่มธรรมปีติ  คนทุกคนตั้งอารมณ์จิตเป็นฌานสมาบัติ  

ความจริงฌานสมาบัตินี่มันทรงไม่ยาก  เพราะว่าไม่มีความลำบาก  ถ้าจิตเป็นกุศลเสียอย่างเดียวตั้งอารมณ์โดยเฉพาะ  คือว่าไม่เกี่ยวกับส่วนที่เป็นอกุศล คือนิวรณ์ 5 ประการ  ท่านก็เรียกว่าฌานแล้ว  

(โปรดรออ่านต่อ ตอนที่2)

พระราชพรหมยาน,ธัมมวิโมกข์ (2531),92,85-91

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...