"เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบ ความว่าเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบ"
ว่าด้วยผู้ขวนขวายในฌาน
[๙๗๑] คำว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ในคำว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็น
ผู้ตื่นอยู่มาก ความว่า เป็นผู้ขวนขวายในฌานด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ เป็นผู้ประกอบ ประกอบ
ทั่ว ประกอบโดยเอื้อเฟื้อ มาประกอบด้วยดี เพื่อความเกิดขึ้นแห่งปฐมฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อ
ความเกิดขึ้นแห่งทุติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อความเกิดขึ้นแห่งตติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเพื่อ
ความเกิดขึ้นแห่งจตุตถฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เป็นผู้ขวนขวาย
ในฌาน. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุซ่องเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งปฐมฌานที่เกิดขึ้นแล้ว ทุติยฌานที่
เกิดขึ้นแล้ว ตติยฌานที่เกิดขึ้นแล้ว หรือจตุตถฌานที่เกิดขึ้นแล้ว แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึง
ชื่อว่า เป็นผู้ขวนขวายในฌาน. คำว่า เป็นผู้ตื่นอยู่มาก ความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชำระ
จิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเป็นเครื่องกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์
จากธรรมเป็นเครื่องกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่ง ตลอดปฐมยามแห่งราตรี ย่อมสำเร็จสีห-
*ไสยา (นอนอย่างราชสีห์) โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ใส่ใจถึง
สัญญาในการลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรม
เป็นเครื่องกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็นผู้ตื่นอยู่มาก.
ว่าด้วยอุเบกขา
[๙๗๒] ความเพิกเฉย กิริยาที่เพิกเฉย กิริยาที่เพิกเฉยยิ่ง ความที่จิตสงบ ความที่
จิตระงับ ความที่จิตเป็นกลาง ในจตุตถฌาน ชื่อว่า อุเบกขา ในคำว่า พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขา
มีจิตตั้งมั่น. ความหยุด ความนิ่ง ความแน่วแน่ ความไม่กวัดแกว่ง ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต
ความที่ใจไม่กวัดแกว่ง ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ชื่อว่า ความเป็นผู้
มีจิตตั้งมั่น. คำว่า พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขามีจิตตั้งมั่น ความว่า ปรารภอุเบกขาในจตุตถฌาน
เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจอันอะไรๆ ไม่ให้กวัดแกว่งได้ เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขามีจิตตั้งมั่น.
ว่าด้วยจิตที่เป็นกาลของสมถะและวิปัสสนา
[๙๘๖] คำว่า ตามกาล ในคำว่า ภิกษุนั้น เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตาม
กาล ความว่า เมื่อจิตไม่ฟุ้งซ่านเป็นกาลของสมถะ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นกาลของวิปัสสนา.
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
โยคีผู้ใด ย่อมประคองจิตในกาล ย่อมข่มจิตในกาลอื่น ย่อมให้จิต
รื่นเริงโดยกาล ย่อมตั้งจิตไว้ในกาล ย่อมวางเฉยในกาล โยคีผู้นั้น
ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในกาล ความประคองจิตควรมีในกาลไหน? ความข่ม
จิตควรมีในกาลไหน? กาลเป็นที่ให้จิตรื่นเริงควรมีในกาลไหน? และ
กาลของสมถะเป็นกาลเช่นไร? บัณฑิตย่อมแสดงกาลเป็นที่วางเฉย
แห่งจิตของโยคีบุคคลอย่างไร? เมื่อจิตของโยคีบุคคลย่อหย่อน เป็นกาล
ที่ควรประคองไว้ เมื่อจิตของโยคีบุคคลฟุ้งซ่านเป็นกาลที่ควรข่มไว้ โยคี
บุคคลพึงยังจิตที่ถึงความไม่แช่มชื่นให้รื่นเริงในกาลนั้น จิตเป็น
ธรรมชาติรื่นเริงไม่ย่อหย่อน ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมมีในกาลใด กาลนั้นเป็น
กาลของสมถะ ใจพึงยินดีในภายใน โดยอุบายนั้นนั่นแหละ จิตเป็น
ธรรมชาติตั้งมั่น ย่อมมีในกาลใด ในกาลนั้น โยคีบุคคลพึงวางเฉย
ไว้ซึ่งจิตที่ตั้งมั่นแล้วด้วยปัญญา ธีรชนผู้รู้แจ้งกาล ทราบกาล ฉลาด
ในกาลพึงกำหนดอารมณ์อันเป็นนิมิตของจิต ตลอดกาล ตามกาล อย่างนี้.
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้น ... ตามกาล. คำว่า เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบ ความว่า
เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวง
เป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็น
ธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบ.
[๙๘๗] คำว่า มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ในคำว่า เป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น พึง
กำจัดความมืด พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้ ความว่า เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน
มีใจไม่กวัดแกว่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น. คำว่า ภิกษุนั้นพึงกำจัด
ความมืด ความว่า พึงขจัด กำจัด ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความมืดคือ
ราคะ ความมืดคือโทสะ ความมืดคือโมหะ ความมืดคือมานะ ความมืดคือทิฏฐิ ความมืดคือกิเลส
ความมืดคือทุจริต อันทำให้บอด ทำให้ไม่มีจักษุ ทำให้ไม่มีญาณ ดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายความลำบาก
ไม่ให้เป็นไปเพื่อนิพพาน. คำว่า ภควา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความเคารพ. อีกอย่างหนึ่ง. ชื่อว่า
ภควา เพราะอรรถว่า ผู้ทำลายราคะ ทำลายโทสะ ทำลายโมหะ ทำลายมานะ ทำลายทิฏฐิ ทำลาย
เสี้ยนหนาม ทำลายกิเลส. เพราะอรรถว่า ทรงจำแนก ทรงแจกแจง ทรงจำแนกเฉพาะซึ่ง
ธรรมรัตนะ. เพราะอรรถว่า ทรงทำที่สุดแห่งภพทั้งหลาย. เพราะอรรถว่า มีพระกายอันทรง
อบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันอบรมแล้ว. อนึ่ง พระผู้มี
พระภาคทรงซ่องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าละเมาะและป่าทึบอันสงัด มีเสียงน้อย ปราศจากเสียง
กึกก้อง ปราศจากชนผู้สัญจรไปมา เป็นที่ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออก
เร้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มี
พระภาคทรงมีส่วนแห่งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อันมีอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔ อรูป
สมาบัติ ๔ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘
อภิภายตนะ ๘ อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาค
ทรงมีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณสมาบัติ ๑๐ อานาปาณสติสมาธิ อสุภสมาบัติ เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ ๑๐ เวสารัชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔
อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. พระนามว่า ภควา นี้ พระมารดา
พระบิดา พระภาดา พระภคินี มิตร อำมาตย์ พระญาติสาโลหิต สมณพราหมณ์ เทวดา มิได้
เฉลิมให้ พระนามว่า ภควา นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามมีในอรหัตผลในลำดับแห่ง
อรหัตมรรค) เป็นสัจฉิกาบัญญัติ พร้อมด้วยการทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงโพธิพฤกษ์
ของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
พึงกำจัดความมืด พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตพ้นวิเศษแล้ว พึงกำจัดฉันทะในธรรมเหล่านั้น
ภิกษุนั้น เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล เป็นผู้มีจิตเป็น
ธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้
ฉะนี้แล.
สารีปุตตนิทเทสที่ ๑๖.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น