ถ้าทรงอารมณ์จิตได้ไม่ดี ซ่านจริง ๆ ก็มีวิธีปฏิบัติอยู่ 2 อย่าง ถ้าซ่านจริง ๆ บังคับไม่ไหวจริง ๆ ให้เลิกเสียอย่างหนึ่ง อย่าฝืนทำต่อไป จิตมันจะดิ้นรน ถ้าจิตมันซ่านเราบังคับไม่ได้มันจะกลุ้ม กลุ้มเกิดความกระวนกระวายปรากฏ ความทุกข์กายไม่สบายใจปรากฏ
ดีไม่ดี...ถ้าคิดมากไปก็เลยกลายเป็นโรคเส้นประสาท ไอ้ที่ทำกรรมฐานแล้วคลั่งขาดสติสัมปชัญญะเพราะไม่รู้จักการประมาณตัวเป็นสำคัญ ยังมีวิธีหนึ่งถ้ามันซ่านจริง ๆ พระพุทธเจ้าให้เลิกเสีย แล้วมีอีกวิธีหนึ่งพระพุทธเจ้าแนะนำให้ใช้การยืดหยุ่น การยืดหยุ่นเป็นของสำคัญ อันนี้เคยปฏิบัติมาแล้วทั้ง 2 อย่าง มันมีผลจริง ๆ
แต่ว่าวิธีที่ 2 นี้เป็นวิธีที่อาตมาชอบที่สุด แต่ว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นวิธีของพระพุทธเจ้าที่จะต้องการอย่างไหนก็ได้ วิธีที่ 2 พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ว่า ถ้าบังคับไม่หยุดจริง ๆ มันอยากจะคิดอยากจะซ่าน เราอย่าคิดว่าเราจะชนะมันได้เวลามันซ่านจริง ๆ บังคับไม่อยู่แน่ ๆ
เว้นไว้แต่เพียงว่า ถ้าเราเป็นพระอริยเจ้าแล้วขึ้นไป ถึงอรหัตผลหรือว่าเป็นผู้ทรงฌานได้จริง ๆ ก็บังคับได้ชั่วระยะเวลา ยามว่างเข้าเวลาปกติก็ดิ้นรนตึงตัง ๆ ถ้าเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป มันยังไม่หมดได้แต่ตั้งอยู่ในอารมณ์ของกุศล อกุศลไม่มี
ถ้าถึงพระอรหันต์แล้วสบายมาก วันทั้งวันสบาย น้อมอยู่ในกุศลตลอดเวลา มีแต่ความเยือกเย็นของจิต
หวนกลับมาวิธีที่ 2 ถ้ามันซ่านจริง ๆ พระพุทธเจ้าบอกให้ปล่อยให้มันคิดไปส่งเดชเลย เพราะบังคับไม่อยู่ มันอยากจะคิดอะไรก็เชิญคิดตามอัธยาศัย อย่าขัดคอมัน แต่ตั้งใจไว้ว่ามันเลิกคิดเมื่อไหร่จะเริ่มต้นกันใหม่
วิธีนี้เป็นวิธีที่มีความสำคัญมาก เหมือนคนที่ "บังคับม้าพยศ" ถ้าม้ามันพยศมันยังมีกำลังอยู่ ไม่สามารถจะบังคับให้เข้าทางได้ ท่านบอกให้กอดคอถือแส้เข้าไว้ มันจะไปไหนก็ให้มันวิ่ง ปล่อยให้มันวิ่งให้มันหมดฤทธิ์ ในเมื่อมันหมดฤทธิ์ที่มันจะวิ่งไปได้แล้ว กำลังมันก็น้อยเราจะบังคับให้มันวิ่งไปสบาย ไปขวา ไปหน้า ไปหลังก็ได้เพราะหมดแรงพยศ
ข้อนี้อุปมาฉันใดจิตของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันจะฟุ้งบังคับไม่อยู่ก็เชิญมันคิดตามอัธยาศัย ลองดูนะ...ลองดูแล้ว ลองดูหลายครั้งเพราะว่าตอนระยะแรก ๆ คุมมันไม่อยู่เหมือนกัน ก็เลยปล่อยให้มันคิดไปตามที่ท่านแนะนำ มันก็ไม่เกิน 15 นาทีถึง 20 นาทีมันเลิกคิด ปล่อยไปตามอัธยาศัย จะเข้าบ้านเข้าช่องใครก็ช่างหัวมัน
พอมันเลิกคิด ก็กลับมาจับอารมณ์ใหม่ คราวนี้มาจับอารมณ์เพียงวินาทีหรือ 2 วินาที อารมณ์มันจะหยุดซ่านทันที เพราะมันเหนื่อยอารมณ์จะดิ่งเป็นฌานนานแสนนาน บางทีชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมง มันยังไม่ถอน อารมณ์จะเงียบจริง ๆ จะทรงเป็นสมาธิจริง ๆ
พระราชพรหมยาน,นิตยสารธัมมวิโมกข์ (2559),428,91-92
Facebook : นิตยสารธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง
(ภาพนี้ หลวงพ่อได้รับสมณศักดิ์พัดยศ ที่ พระสุธรรมยานเถระ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2527 หลวงพ่อให้อาจารย์ประเสริฐ เกษตรเอี่ยม ถ่ายภาพที่ตึกกลางน้ำ ชั้น 4 เพื่อนำภาพไปลงปกหนังสือแจกในงานทำบุญฉลองสมณศักดิ์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น