"ขวนขวายแล้วในอธิจิต. ในข้อนั้นภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตในเวลาปุเรภัต กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต แล้วถือเอาผ้านิสีทนะออกไปด้วยคิดว่า
เราจักทำสมณธรรมที่โคนต้นไม้โน้น หรือที่ไพรสณฑ์ หรือว่าที่เชิงเขา หรือว่าที่เงื้อมเขา ดังนี้ แล้วก็นำหญ้าใบไม้ออกจากที่สำหรับประกอบอธิจิต ก็ครั้นเธอล้างมือและเท้าแล้วก็มานั่งคู้บัลลังก์ ถือเอามูลกรรมฐาน ประกอบเนืองๆ อยู่ซึ่งอธิจิตนั่นแหละ"
" พระบาลีจำแนกกรรมฐานไว้ ๓๘ ในกรรมฐานเหล่านั้น ภิกษุผู้นั่งปฏิบัติกรรมฐาน จำเดิมแต่อุปกิเลสอะไรๆ ยังมิได้เกิดขึ้น กิจที่จะต้องมนสิการด้วยนิมิตอื่นๆ ยังมิได้มีก่อน แต่เมื่อใดกิเลสเกิดขึ้น เธอก็พึงถือเอานิมิตทั้งหลาย นำกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตออกไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเหตุนั้น จึงตรัสอย่างนี้"
*ปุเรภัต ก่อนภัต, ก่อนอาหาร หมายถึง เวลาก่อนฉันของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ได้ แต่เมื่อพูดอย่างกว้าง หมายถึง ก่อนหมดเวลาฉัน คือ เวลาเช้าจนถึงเที่ยง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ภิกษุฉันอาหารได้
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
............................................................................
พึงทราบวินิจฉัยในบทเหล่านั้น บทว่า อธิจิตฺตมนุยุตฺเตน ความว่า จิตที่เกิดขึ้นด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่าง เป็นจิตเท่านั้น จิตในสมาบัติ ๘ มีวิปัสสนาเป็นบาท เป็นจิตยิ่งกว่าจิตนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกจิตนั้นว่า อธิจิต.
บทว่า อนุยุตฺเตน ได้แก่ หมั่นประกอบอธิจิตนั้น. อธิบายว่า ประกอบแล้ว ขวนขวายแล้วในอธิจิต. ในข้อนั้นภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตในเวลาปุเรภัต กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต แล้วถือเอาผ้านิสีทนะออกไปด้วยคิดว่า เราจักทำสมณธรรมที่โคนต้นไม้โน้น หรือที่ไพรสณฑ์ หรือว่าที่เชิงเขา หรือว่าที่เงื้อมเขา ดังนี้ แล้วก็นำหญ้าใบไม้ออกจากที่สำหรับประกอบอธิจิต ก็ครั้นเธอล้างมือและเท้าแล้วก็มานั่งคู้บัลลังก์ ถือเอามูลกรรมฐาน ประกอบเนืองๆ อยู่ซึ่งอธิจิตนั่นแหละ.
คำว่า นิมิต ได้แก่ การณะ (คือ เหตุ).
คำว่า ตามกาลเวลาอันสมควร ได้แก่ ตามสมัยอันสมควร.
ถามว่า ก็ธรรมดาว่า กรรมฐานนั้นพระโยคีมิได้ทอดทิ้งแม้สักครู่หนึ่ง คือมนสิการติดต่อกันไป มิใช่หรือ เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ตามกาลเวลาอันสมควร ดังนี้.
ตอบว่า ก็เพราะพระบาลีจำแนกกรรมฐานไว้ ๓๘ ในกรรมฐานเหล่านั้น ภิกษุผู้นั่งปฏิบัติกรรมฐาน จำเดิมแต่อุปกิเลสอะไรๆ ยังมิได้เกิดขึ้น กิจที่จะต้องมนสิการด้วยนิมิตอื่นๆ ยังมิได้มีก่อน แต่เมื่อใดกิเลสเกิดขึ้น เธอก็พึงถือเอานิมิตทั้งหลาย นำกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตออกไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเหตุนั้น จึงตรัสอย่างนี้.
ว่าด้วยเขตแดนและอารมณ์ของอกุศลวิตก
พึงทราบเขตแดนและอารมณ์ของวิตกเหล่านี้ คือ :-
วิตกที่ประกอบด้วยฉันทะ
วิตกที่สหรคตด้วยฉันทะ
วิตกที่สัมปยุตด้วยราคะ
ในสามอย่างนั้น จิตอันสหรคตด้วยโลภะ ๘ ดวง เป็นเขตแดนของวิตกที่ประกอบด้วยฉันทะ จิตที่สหรคตด้วยโทสะ ๒ ดวง เป็นเขตแดนของวิตกที่ประกอบด้วยโทสะ อกุศลจิต ๑๒ ดวงเป็นเขตแดนของวิตกที่ประกอบด้วยโมหะ แต่ว่าจิตที่สัมปยุตด้วยวิจิกิจฉาและอุทธัจจะเป็นเขตแดนเฉพาะบุคคลผู้มีวิตกอันสัมปยุตด้วยวิจิกิจฉาและอุทธัจจะเท่านั้น. สัตว์ทั้งหลายและสังขารทั้งหลายแม้ทั้งหมด ก็เป็นอารมณ์ของวิตกได้ทั้งนั้น เพราะว่า เมื่อภิกษุไม่เพ่งดูอารมณ์ที่ชอบและที่ไม่ชอบแล้ว วิตกในสัตว์และสังขารเหล่านั้นก็ไม่เกิดขึ้น.
ว่าด้วยมนสิการนิมิตอื่นๆ
คำว่า ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่นอันประกอบด้วยกุศล ได้แก่ ควรมนสิการนิมิตอันอาศัยกุศลอื่น โดยเว้นจากอกุศลนิมิตนั้น.
ในข้อนั้น ชื่อว่านิมิตอื่น คือเมื่อวิตกประกอบด้วยฉันทะเกิดขึ้นในสัตว์ทั้งหลาย การเจริญอสุภะ (อสุภสัญญา) ชื่อว่านิมิตอื่น เมื่อวิตกเกิดขึ้นพอใจในสังขารทั้งหลาย (มีจีวรเป็นต้น) มนสิการถึงความเป็นของไม่เที่ยง (อนิจจสัญญา) ชื่อว่านิมิตอื่น. ก็เมื่อวิตกประกอบด้วยโทสะในสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้น การเจริญเมตตา ชื่อว่านิมิตอื่น. เมื่อวิตกในสังขารทั้งหลายเกิดขึ้น การมนสิการถึงธาตุ ชื่อว่านิมิตอื่น. เมื่อวิตกประกอบด้วยโมหะเกิดขึ้นในธรรมใด ภิกษุอาศัยธรรม ๕ อย่าง ชื่อว่านิมิตอื่น.
อธิบายว่า เมื่อโลภะเกิดขึ้นในสัตว์ทั้งหลายโดยนัย มีคำว่า มือหรือเท้าของผู้นี้งาม ดังนี้เป็นต้น เธอก็นำมาพิจารณาด้วยอสุภะ คือสิ่งที่ไม่งามว่า ท่านยินดีกำหนัดในอะไรในผมทั้งหลายหรือ หรือว่าในขนทั้งหลาย ฯลฯ หรือว่าในน้ำมูตร ธรรมดาว่าอัตตภาพนี้ประกอบขึ้นด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน ยกขึ้นผูกไว้ด้วยเอ็น ๙๐๐ เส้น ฉาบทาด้วยชิ้นเนื้อ ๙๐๐ ชิ้น หุ่มห่อด้วยหนังสด อันความยินดีพอใจในผิวปกปิดไว้แล้ว.
อนึ่งเล่า ของไม่สะอาดทั้งหลายย่อมไหลออกจากปากแผลทั้ง ๙ (ทวาร ๙) และจากขุมขนประมาณ ๙๙,๐๐๐ ขุม มีกลิ่นเหม็นเต็มไปด้วยซากศพ เป็นสิ่งน่ารังเกียจ เป็นของปฏิกูลอันสะสมไว้ซึ่งสิ่งปฏิกูล ๓๒ ประการ จะหาสิ่งที่เป็นแก่นสาร หรือสิ่งที่ประเสริฐในกายนี้มิได้มี.
เมื่อพระโยคีนำความงามออกด้วยอสุภะอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว ย่อมละความโลภที่เกิดในสัตว์ทั้งหลายได้ เพราะเหตุนั้น การนำความงามออกได้ด้วยอสุภะนี้ จึงชื่อว่านิมิตอื่น.
เมื่อความโลภเกิดขึ้นในบริขารทั้งหลายมีบาตรและจีวรเป็นต้น ก็มนสิการด้วยสามารถแห่งการพิจารณาถึงความเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของและเป็นของชั่วคราว โดยนัยที่กล่าวไว้ในสติปัฏฐานวรรณนาว่า ภิกษุย่อมวางเฉยในสังขารทั้งหลายมีบาตรและจีวรเป็นต้น ด้วยอาการ ๒ อย่าง คือโดยความเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของโดยแท้จริง และเป็นของชั่วคราว เธอก็ย่อมละความโลภนั้นได้.
เพราะเหตุนั้น การมนสิการโดยอาการ ๒ อย่างในสังขารนั้น จึงชื่อว่านิมิตอื่น.
เมื่อโทสะเกิดขึ้นในสัตว์ทั้งหลาย พระโยคีพึงเจริญเมตตาด้วยสามารถแห่งสูตรทั้งหลายที่นำความอาฆาตออกมีกกโจปมสูตรเป็นต้น เมื่อเจริญเมตตาอยู่ก็ย่อมละโทสะนั้นได้ ด้วยเหตุนั้น การเจริญเมตตานั้น จึงชื่อว่านิมิตอื่น.
เมื่อโทสะเกิดขึ้นในเพราะวัตถุทั้งหลายมีการกระทบกับตอ หนาม ใบไม้ที่แหลมคมเป็นต้น เธอก็พึงมนสิการถึงธาตุโดยนัยเป็นต้นว่า ท่านย่อมโกรธใคร ย่อมโกรธปฐวีธาตุหรือ หรือว่าอาโปธาตุเป็นต้น เมื่อมนสิการธาตุอยู่อย่างนี้ เธอย่อมละโทสะได้ เพราะเหตุนั้น การมนสิการถึงธาตุอยู่ จึงชื่อว่านิมิตอื่น.
เมื่อโมหะเกิดขึ้นในธรรมใด เธออาศัยธรรม ๕ เหล่านี้ คือ
๑. การอยู่ร่วมกับครู
๒. การเรียนธรรม (อุทเทส)
๓. การสอบถามธรรม
๔. การฟังธรรมตามกาลอันควร
๕. การวินิจฉัยธรรมที่เป็นฐานะและอฐานะ
ก็ย่อมละโมหะได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุควรอาศัยธรรม ๕ เหล่านี้. เพราะว่า เมื่อเธออาศัยอาจารย์ผู้ควรแก่การเคารพ อาจารย์ย่อมลงทัณฑกรรมแก่เธอมีการให้ตักน้ำสักร้อยหม้อ เพราะไม่ถามถึงการเข้าสู่บ้าน หรือไม่ทำวัตรในกาลอันควรเป็นต้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้อันอาจารย์พยายามตกแต่งแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอก็ย่อมละโมหะในธรรมนั้นได้.
แม้เมื่อเรียนธรรม (อุทเทส) อาจารย์ย่อมลงทัณฑกรรมแก่เธอผู้ไม่เรียนในเวลาอันสมควร หรือสาธยายไม่ดี หรือไม่สาธยายเป็นต้น เธอย่อมเป็นผู้อันอาจารย์พยายามตกแต่งแล้ว แม้เช่นนี้ เธอก็ย่อมละโมหะธรรมนั้นได้.
ภิกษุเข้าไปหาภิกษุผู้ควรเคารพแล้ว สอบถามว่า ท่านขอรับ ข้อนี้เป็นอย่างไร อรรถของธรรมนี้เป็นอย่างไรเป็นต้น เธอย่อมกำจัดความสงสัยได้ แม้ด้วยอาการอย่างนี้ เธอก็ย่อมละโมหะในธรรมนั้นได้.
แม้เมื่อภิกษุไปสู่ที่เป็นที่ฟังธรรมตามกาลเวลาอันควร ฟังอยู่โดยเคารพ อรรถธรรมในที่นั้นๆ ย่อมจะแจ่มแจ้งแก่เธอ แม้ด้วยอาการอย่างนี้ เธอก็ย่อมละโมหะในธรรมนั้นได้.
บุคคลผู้ฉลาดในการวินิจฉัยในสิ่งที่เป็นฐานะคือสิ่งที่เป็นไปได้ และอฐานะคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ว่า นี้เป็นเหตุของสิ่งนี้ นี้ไม่ใช่เหตุของสิ่งนี้ ดังนี้เป็นต้น แม้ด้วยอาการอย่างนี้ เธอก็ย่อมละโมหะในธรรมนั้นได้.
เพราะเหตุนั้น การอาศัยธรรม ๕ ของเธอนั้น จึงชื่อว่าเป็นนิมิตอื่น.
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุเจริญกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓๘ เธอย่อมละอกุศลวิตกเหล่านี้ได้ เพราะนิมิต ๕ ที่มีลักษณะอย่างนี้เป็นข้าศึกและปฏิปักษ์โดยตรงต่อกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น กิเลสที่มีราคะเป็นต้นที่ละได้ด้วยนิมิต ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นการละอย่างดี.
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค
วิตักกสัณฐานสูตร ว่าด้วยอาการแห่งวิตก
อรรถกถาวิตักกสัณฐานสูตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น