24 ธันวาคม 2563

คำสอนหลวงพ่อเรื่อง "สังโยชน์ ๑๐"

.. ต่อไปนี้เป็นเรื่องของผู้มาเก่า คือมรรคผลตามลำดับ ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ บรรดาท่านพุทธบริษัทก็ทราบชัดว่า ระดับจิตเข้าสู่ระดับใดเราเรียกว่า พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ ทีนี้มาพูดถึงกิเลสที่จะพึงละเพื่อความเป็นอรหันต์ ความจริงก็มีไม่มาก ถ้าบรรดาท่านทั้งหลายเข้าใจ กิเลสที่เราจะตัดได้จริงๆ มี ๑๐ ตัว เราเรียกกันว่า "สังโยชน์"
สังโยชน์ แปลว่า "กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด" กิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ เป็นเครื่องร้อยรัดบรรดาท่านพุทธบริษัทอยู่ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายไม่สามารถจะก้าวเข้าไปสู่ "โลกุตรญาณ" หรือเรียกว่าความเป็นพระอริยเจ้าได้ และยังจะต้อง "เป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมอยู่" จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะเต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขไม่ได้ ถ้าหากว่าเราสามารถทำลายกิเลสทั้ง ๑๐ ประการ หรือเรียกกันว่าสังโยชน์ ๑๐ มี
๑."สักกายทิฏฐิ" เห็นว่าสภาพร่างกาย คือเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา
๒."วิจิกิจฉา" สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สงสัยในคุณธรรมที่เราจะพึงปฏิบัติ ว่าจะมีผลดีตามที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ทรงตรัสหรือไม่
๓."สีลัพพตปรามาส" รักษาศีลไม่จริง สีลัพพตปรามาสเรียกว่าลูบคลำศีล ถ้าแปลเป็นไทยชัดๆ ก็คือ รักษาศีลไม่จริง ได้แต่เรียกการรักษาศีล รักษาศีลไม่จริง ปล่อยให้ศีลบกพร่อง
๔."กามฉันทะ" พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในด้านกามารมณ์
๕."มีความโกรธ มีความพยาบาท" จองล้าง จองผลาญ คิดประทุษร้ายคนและสัตว์อื่น
๖."รูปราคะ" ติดอยู่ในรูปฌาน เมื่อมีรูปฌาน และคิดว่ารูปฌานที่ติดอยู่เป็นของวิเศษ ไม่กล้าปล่อยไป
๗."อรูปราคะ" ติดอยู่ในอรูปฌาน
๘."มานะ" คิดว่าเราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา
๙."อุทธัจจะ" มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน สำหรับอุทธัจจะตอนนี้จะฟุ้งซ่านในด้านกุศล เมื่อน้อมจิตของตนให้ตัดเข้าไปโดยเฉพาะเอกัคคตารมณ์
๑๐."อวิชชา" ความโง่
คือกิเลสที่เราจะก้าวเข้าไปสู่ "พระนิพพาน" เราติดเฉพาะ ๑๐ ตัวนี้เท่านั้น ไม่ใช่ตัดเลอะเทอะชนิดที่พุทธบริษัทบางท่านต้องการ ที่เขากล่าวกันว่า "กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด" แท้จริงมีอยู่ ๑๐ อย่าง ..

(หลวงพ่อพระราชพรหมยาน)
ที่มาจาก..รวมคำสอนธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑ หน้า ๒๓๒-๒๓๓

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...