เพราะว่า พระโยคาวจรบางรูปเมื่อระลึกถึงอารมณ์ที่เข้าสู่คลอง ผัสสะมีจิตและเจตสิกตกไปครั้งแรกในอารมณ์นั้น ถูกต้องอารมณ์นั้นอยู่ก็จะปรากฏชัด. สำหรับพระโยคาวจรบางรูป เวทนาที่เสวยอารมณ์นั้นเกิดขึ้นจะปรากฏชัด (แต่) สำหรับบางรูป วิญญาณที่รู้อารมณ์นั้นเกิดขึ้นจะปรากฏชัด เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอรูปกรรมฐานตามที่ปรากฏโดยอัธยาศัยของบุคคลนั้นๆ ไว้ ๓ อย่างโดยมีผัสสะเป็นต้นเป็นประธาน.
ในบุคคล ๓ ประเภทนั้น ผัสสะปรากฏชัดแก่ผู้ใด แม้ผู้นั้นจะกำหนดอารมณ์มีผัสสะเป็นที่ ๕ นั่นแหละว่า
ไม่ใช่ผัสสะอย่างเดียวเท่านั้นเกิดขึ้น ถึงเวทนาที่เสวยอารมณ์นั้นนั่นแหละ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับผัสสะนั้น ถึงสัญญาที่จำอารมณ์นั้นอยู่ ถึงเจตนาที่คิดถึงอารมณ์นั้นอยู่ ถึงวิญญาณที่รู้ชัดซึ่งอารมณ์นั้นอยู่ ก็จะเกิดพร้อมกับผัสสะนั้น. เวทนาปรากฏแก่ผู้ใด แม้ผู้นั้นจะกำหนดอารมณ์มีผัสสะเป็นที่ ๕ เหมือนกันว่า ไม่ใช่เวทนาอย่างเดียวเท่านั้นเกิดขึ้น ถึงสัมผัสที่ถูกต้องอยู่ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับเวทนานั้น ถึงสัญญาที่จำได้อยู่ ถึงเจตนาที่นึกคิดอยู่ ถึงสัญญาที่รู้แจ้งอยู่ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับเวทนานั้น. วิญญาณปรากฏชัดแก่ผู้ใด แม้ผู้นั้นก็จะกำหนดอารมณ์ มีผัสสะเป็นที่ ๕ เหมือนกับว่า ไม่ใช่แต่วิญญาณอย่างเดียวเท่านั้นเกิดขึ้น แม้ผัสสะที่ถูกต้องอยู่ซึ่งอารมณ์นั้นนั่นแหละ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับด้วยวิญญาณนั้น แม้เวทนาที่เสวยอารมณ์อยู่ แม้สัญญาที่จำได้อยู่ แม้เจตนาที่คิดนึกอยู่ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับวิญญาณนั้น.
พระโยคาวจรนั้นใคร่ครวญอยู่ว่า ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ ๕ เหล่านี้อาศัยอะไรอยู่ดังนี้ จะรู้ชัดว่าอาศัยวัตถุอยู่. กรชกาย ชื่อว่าวัตถุ.
คำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๑๑- ก็แลวิญญาณของเรานี้อิงอาศัยอยู่ในกรชกายนี้ เนื่องแล้วในกรชกายนี้ ทรงหมายเอากรชกายใด กรชกายนั้นโดยเนื้อความ ได้แก่ภูต และอุปทายรูปทั้งหลาย เธอเห็นเป็นเพียงนามกับรูปเท่านั้นว่า บรรดา ๒ อย่างนี้ วัตถุเป็นรูป ธรรมมีผัสสะเป็นที่ ๕ เป็นนาม ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ในสองอย่างนี้ รูปได้แก่รูปขันธ์ นามได้แก่ขันธ์ ๔ ที่ไม่ใช่รูป ดังนั้นจึงรวมเป็นเพียงขันธ์ ๕.
แท้จริง เบญจขันธ์ที่จะพ้นจากนามรูป หรือนามรูปที่จะพ้นจากเบญจขันธ์ไปเป็นไม่มี. เธอเมื่อใคร่ครวญอยู่ว่าเบญจขันธ์เหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ ก็เห็นว่ามีอวิชชาเป็นเหตุ แต่นั้นจะยกเบญจขันธ์ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ด้วยสามารถแห่งนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยว่า นามรูปนี้เป็นทั้งปัจจัย เป็นทั้งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ไม่มีสัตว์หรือบุคคลอย่างอื่น มีเพียงกองสังขารล้วนๆ เท่านั้น แล้วท่องเที่ยวพิจารณาตามลำดับวิปัสสนาว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้.
เธอจำนงหวังปฏิเวธ (การตรัสรู้) อยู่ว่า (เราจะตรัสรู้) ในวันนี้ๆ ในสมัยเช่นนั้น ได้ฤดูเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย โภชนะเป็นที่สบายหรือการฟังธรรมเป็นที่สบายแล้ว นั่งโดยบัลลังก์เดียวเท่านั้น ยังวิปัสสนาให้ถึงที่สุด ย่อมดำรงอยู่ในพระอรหัตผล.
____________________________
๑๑- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๓๑ ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๓๔๗
พึงทราบกรรมฐานจนถึงพระอรหัตของชน ๓ เหล่า ดังที่พรรณนามานี้.
แต่ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสอรูปกรรมฐานตามอัธยาศัยของผู้ที่จะตรัสรู้ด้วยสามารถแห่งเวทนา จึงตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งเวทนา.
อรรถกถาปฐมเวทนาสูตร
คลิกเพื่ออ่านทั้งหมด
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=230
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจออก
ลมหายใจเข้าเป็นอย่างดีนี้ ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง
ในพวกเวทนา เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัวมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น