22 ธันวาคม 2563

เรื่อง "กัมมัฏฐาน ๕ คือรากเหง้ามูลกัมมัฏฐาน" หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

เรื่อง "กัมมัฏฐาน ๕ คือรากเหง้ามูลกัมมัฏฐาน"

(ปกิณกธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
(จากหนังสือ "รำลึกวันวาน")
(เขียนโดย หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ)

• เทศน์มูลกัมมัฏฐาน

ท่านพระอาจารย์(หลวงปู่มั่น)ได้เทศน์เรื่องนี้ว่า

ก่อนพระอุปัชฌาย์จะบวชให้กุลบุตรทั้งหลายนั้น จะต้องสอนเรื่อง มูลกัมมัฏฐาน ก่อน

เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ นี้เป็นอนุโลม

ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา นี้เป็นปฏิโลม

ต่อจากนั้นพระอุปัชฌาย์จะอธิบาย พอให้ได้ใจความว่า รากเหง้าของพระกัมมัฏฐานทั้งหมด อันผู้ปฏิบัติจะพิจารณานั้น ออกไปจากกัมมัฏฐาน ๕ นี้เอง จึงเรียกว่า มูล คือ เค้าเป็นมูลเหตุ อันมูลกัมมัฏฐานนี้ ท่านพระอาจารย์อธิบายได้ละเอียด เป็นอเนกปริยายอย่างมีระบบ ซึ่งผู้เล่าจะนำมาเล่าพอได้ใจความดังนี้

ท่านแปล เกสา อันว่าผมทั้งหลาย โลมา อันว่าขนทั้งหลาย นขา อันว่าเล็บทั้งหลาย ทนฺตา อันว่าฟันทั้งหลาย ตโจ อันว่าหนัง ท่านไม่ว่าทั้งหลาย ก็มันหนังผืนเดียวนี้ หุ้มห่อร่างกายอยู่ นอกนั้นมันมีมาก ก็ว่าทั้งหลาย

ผมอยู่บนศีรษะอยู่เบื้องสูง ตามองดูจะเห็นส่วนบนก่อน ต่อจากนั้นจึงเห็นโดยลำดับ รวมลงที่สุด คือ หนัง

หนังเป็นใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด ความนิยมชมชอบ ความสมมติว่า เป็นพระ เณร เถรท้าว รวมไปทั้ง บุตร ภรรยา สามี ก็เพราะหนังผืนนี้หุ้มห่อ หากไม่มีหนังหุ้มห่อ มีแต่เลือด เนื้อ เอ็น ตับ ไต ไส้ พุง สุดท้ายเหลือแต่กระดูกในหม้อในโหล หรือว่าเหลือแต่โครงกระดูก ใครเล่าจะนิยมชมชอบ ว่าบุคคลนี้ เป็นพระเณรเถรท้าว นี้เป็นบุตรภรรยาสามีของเรา มีไหมล่ะ

ด้วยเหตุนี้เอง พระอุปัชฌาย์จึงได้สอนกุลบุตรผู้จะบรรพชาอุปสมบท ให้เรียนมูลกัมมัฏฐานก่อน เพราะว่า ราคะ ความกำหนัดยินดี อยากจะได้ชมเชย เชยชิด ก็เพราะไอ้เจ้าตามองไปเห็นหนังก่อน ไม่ว่าชายเห็นหญิง หญิงเห็นชาย แล้วอยากได้มาเป็นภรรยา สามี ก็เพราะหนังผืนนี้เอง นอกนั้นเป็นแค่ส่วนประกอบ หนังเป็นต้นเหตุ หนังก่อทุกข์ หนังก่อภพก่อชาติ ไม่ว่าคนและสัตว์ หมู หมา กา ไก่ ช้าง ม้า โค กระบือ แม้กระทั่งลา ก็หนังผืนนี้แล

ทำไมพระอุปัชฌาย์จึงสอน
ให้พิจารณามูลกัมมัฏฐาน

เพราะว่าเจ้าราคะ เจ้าโทสะ เจ้าโมหะ เจ้ากามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เกิดจากตาไปกระทบกับเค้ามูลนี้ จึงต้องให้รู้สภาวะที่แท้จริง ที่เกิดลักษณะอาการ กลิ่น สี ให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่งาม น่าเกลียด โสโครก เพื่อบรรเทากำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ตามความตั้งใจของกุลบุตร ที่มีศรัทธาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา

ท่านยกอุทาหรณ์ในเรื่องมูลกัมมัฏฐานไว้ว่า

แม้สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าก็ตรัสสอนพระราหุลพุทธชิโนรส เป็นกรณีพิเศษ พระโอวาทนี้เรียกว่า จูฬราหุโลวาทสูตร เป็นการทดสอบความสามารถของพุทธชิโนรสครั้งแรก เพราะพระราหุลทรงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า เลิศกว่าสาวกทั้งหลาย เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา

ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงแก่พระราหุลก็มูลกัมมัฏฐาน แต่เป็นอเนกปริยายตามอัธยาศัยของพระราหุล ชื่อว่า มหาราหุโลวาทสูตร จบลงจึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมกับจตุปฏิสัมภิทาญาณอย่างสมบูรณ์ ได้รับสมญาว่า พระมหาราหุล ตั้งแต่บัดนั้น

หลังจากนั้น พระอุปัชฌาย์ก็คลี่ผ้ากาสาวพัสตร์ เอาอังสะจากผ้าไตรจีวร ห่มเฉวียงบ่าข้างซ้าย อธิบายวิธีครองผ้าเสร็จ มอบผ้ากาสายะให้นำไปครอง

ครองผ้าเสร็จ เข้ามาในท่ามกลางสงฆ์ กราบสามหน ถวายดอกไม้ กล่าวคำขอสรณะและศีล พระอุปัชฌาย์ก็ให้สรณะและศีล โดยบทบาลีว่า พุทฺธํ ฯ ปฯ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วาระที่ ๑ สามหน ทุติยัมปิ พุทฺธํ ฯ ปฯ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วาระที่ ๒ สามหน เป็น ๖ ตติยมฺปิ พุทฺธํ ฯ ปฯ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วาระที่ ๓ สามหน เป็น ๙ แล้วอาจารย์จะบอกว่า การบรรพชาเป็นสามเณรสำเร็จลงด้วยไตรสรณคมน์เพียงเท่านี้

ท่านพระอาจารย์(หลวงปู่มั่น)ได้อธิบายต่อไปว่า

สรณะในศาสนามีแค่ ๓ แม้ว่าจะถึงวาระที่ ๓ เก้าหน ก็ไตรสรณะอันเก่า ไม่มีคำว่า ภูเขาต้นไม้ รุกฺขเจติยา สรณํ คจฺฉามิ ภูติผีปีศาจ เสือสางคางแดง สรณํ คจฺฉามิ ถ้าเพิ่มเข้ามาอย่างนี้ผิด สรณะไม่เป็นสรณะ ไม่เป็นบรรพชิต จะเพิ่มเข้ามาภายหลัง สรณะก็เศร้าหมอง ท่านว่า

ต่อจากนั้น จะบอกให้สามเณรสมาทานสิกขาบท อันจะพึงศึกษา ๑๐ ประการ ส่วนการอุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้น ไม่ต้องสมาทานศีล ๒๒๗ เป็นเรื่องของสงฆ์จะยกฐานะให้เป็นพระภิกษุ เมื่อคณะสงฆ์ยินยอมแล้ว ก็เป็นพระสงฆ์โดยสมบูรณ์

จากนั้นเป็นหน้าที่พระอุปัชฌาย์จะสอนอนุศาสน์ ข้อห้าม และข้ออนุญาต

การแสดงธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น มิได้สอนพระที่ทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ใหม่เท่านั้น แต่ท่านสอนศิษย์ทั้งเก่าและใหม่ เพื่อให้ศิษย์สำนึกเสมอว่า การปฏิบัติตามโอวาทพระอุปัชฌาย์นั้น สามารถบรรลุธรรมวิเศษชั้นใดชั้นหนึ่ง มีพระโสดาบัน เป็นต้น ภายใน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ๑๒ ปี และ ๑๖ ปี เป็นอย่างช้า

ท่านสอนสลับกันไป ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย อย่างมีระบบ ละเอียด อุปมาอุปไมย เป็นอเนกปริยาย ชนิดผู้ฟังใจจดใจจ่อ อยากฟังตลอดเวลา ท่านเปรียบ พระอุปัชฌาย์เหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดลูก จะสอนลูกทุกอย่าง ให้ทุกอย่างที่เป็นมนุษย์สมบัติ พอกินพอใช้จนวันตาย ไม่มีผู้ใดเทียบได้ จึงได้ชื่อว่า เป็นมิตรในเรือน เป็นพรหมของบุตร เป็นพระอรหันต์ในกระท่อมจนถึงมหาปราสาท ฉันใดก็ฉันนั้น ท่านว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...