28 ธันวาคม 2563

"เมื่อนาคอยากเป็นมนุษย์จึงรักษาอุโบสถศีล"

เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าเสวยนาคราชสมบัติอยู่ในนาคพิภพนั้น ในเวลาต่อมาก็เกิดวิปฏิสาร คิดว่าประโยชน์อะไรด้วยกำเนิดดิรัจฉานนี้แก่เรา เราจักอยู่รักษาอุโบสถกรรม พ้นจากอัตภาพนี้ไปสู่ดินแดนมนุษย์ จักได้แทงตลอดสัจธรรม กระทำที่สุดแห่งทุกข์ดังนี้ นับจำเดิมแต่นั้น ก็ทรงรักษาอุโบสถกรรมอยู่ในปราสาทนั้นทีเดียว พวกนางมาณวิกาตกแต่งกายงดงามพากันไปยังสำนักของพระมหาสัตว์นั้น ศีลของพระมหาสัตว์ก็วิบัติทำลายอยู่เนือง ๆ 

จำเดิมแต่นั้นพระมหาสัตว์เจ้าจึงออกจากปราสาท ไปสู่พระอุทยาน นางนาคมาณวิกาเหล่านั้นก็ติดตามไปแม้ในพระอุทยาน อุโบสถศีลของพระมหาสัตว์ก็แตกทำลายอยู่ร่ำไป ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าทรงจินตนาการว่าควรที่เราจะออกจากนาคพิภพนี้ไปยังมนุษยโลกอยู่รักษาอุโบสถ นับแต่นั้นมาเมื่อถึงวันอุโบสถ พระองค์ก็ออกจากนาคพิภพไปยังมนุษยโลก ทรงประกาศสละร่างกาย ในทานว่า “ใครจะมีความต้องการอวัยวะของเรามีหนังเป็นต้นจงถือเอาเถิด ใครต้องการจะทำให้เราเล่นกีฬางูก็จงกระทำเถิด” แล้วคู้ขดขนดกายนอนรักษาอุโบสถอยู่ที่ยอดจอมปลวกใกล้มรรคาแถบปัจจันตชนบทแห่งหนึ่ง ชนทั้งหลายเดินผ่านไปมา ในหนทางใหญ่เห็นพระโพธิสัตว์เจ้าแล้วพากันบูชาด้วยเครื่องสักการะมีของหอมเป็นต้นแล้วหลีกไป ชาวปัจจันตชนบทไปพบแล้วคิดว่าคงจักเป็นนาคราชผู้มีมหิทธานุภาพ จึงจัดทำมณฑปขึ้นเบื้องบน ช่วยกันเกลี่ยทรายรอบบริเวณ แล้วบูชาด้วยสักการะมีของหอมเป็นต้นจำเดิมแต่นั้นมา มนุษย์ทั้งหลายก็เลื่อมใสในพระมหาสัตว์เจ้า ทำการบูชาปรารถนาบุตรบ้าง ปรารถนาธิดาบ้าง แม้พระมหาสัตว์เจ้าทรงรักษาอุโบสถกรรมถึงวันจาตุททสีและปัณณรสี ดิถี 14 ค่ำ 15 ค่ำ ก็มานอนอยู่เหนือจอมปลวก ต่อในวันปาฏิบทแรมค่ำหนึ่ง จึงกลับไปสู่นาคพิภพ เมื่อพระมหาสัตว์เจ้ารักษาอุโบสถอยู่อย่างนี้เวลาล่วงไปเนิ่นนาน อยู่มาวันหนึ่งนางสุมนาอัครมเหสีทูลถามพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระองค์เสด็จไปยังมนุษยโลกเข้าอยู่รักษาอุโบสถศีลนั้น ความจริง มนุษยโลกน่ารังเกียจ มีภัยรอบด้าน หากว่าภัยจะพึงบังเกิดแก่พระองค์ เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกหม่อมฉันจะพึงรู้ได้ด้วยนิมิตอย่างไร ขอพระองค์จงตรัสบอกนิมิตอย่างนั้นแก่พวกหม่อมฉันด้วยเถิด พระมหาสัตว์จึงนำนางสุมนาเทวีไปยังขอบสระมงคลโบกขรณีแล้วตรัสว่า ดูก่อนพระนางผู้เจริญ ถ้าหากใคร ๆ จักประหารทำให้เราลำบากไซร้ น้ำในสระโบกขรณีนี้จักขุ่นมัว ถ้าพญาครุฑจับเอาไปน้ำจักเดือดพลุ่งขึ้นมา ถ้าหมองูจับเอาไปน้ำจักมีสีแดงเหมือนโลหิต พระโพธิสัตว์ตรัสบอกนิมิต 3 ประการ แก่นางสุมนาเทวีอย่างนี้แล้ว ทรงอธิษฐานจาตุททสีอุโบสถเสด็จออกจากนาคพิภพไปมนุษยโลก นอนเหนือจอมปลวก ยังจอมปลวกให้งดงามด้วยรัศมีแห่งสรีรกาย แม้สรีรกายของพระมหาสัตว์นั้นก็ปรากฏขาวสะอาดผุดผาดดังพวงเงิน ท่อนพระเศียรเบื้องบนคล้ายคลุมไว้ด้วยผ้ากัมพลแดง 

อนึ่งในชาดกนี้สรีรกายของพระโพธิสัตว์มีขนาดเท่าศีรษะคันไถ ในภูริทัตตชาดก มีขนาดเท่าลำขา ในสังขปาลชาดก มีขนาดเท่าเรือโกลนลำหนึ่ง 

ในกาลครั้งนั้น มีมาณพชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งไปเมืองตักกศิลาเรียนอาลัมภายนมนต์ ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เดินทางกลับบ้านของตนโดยผ่านมรรคานั้นเห็นพระมหาสัตว์เจ้าแล้วคิดว่า เราจักจับงูนี้บังคับให้เล่นกีฬาในคามนิคมราชธานีทั้งหลายยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น จึงหยิบทิพโอสถ ร่ายทิพมนต์ ไปยังสำนักของพระมหาสัตว์เจ้า จำเดิมแต่พระมหาสัตว์เจ้าสดับทิพมนต์แล้วเกิดอาการเหมือนซี่เหล็กร้อนยอนเข้าไปในพระกรรณทั้งสอง เบื้องพระเศียรปวดร้าวราวกะถูกเหล็กสว่านไช พระมหาสัตว์เจ้าทรงรำพึงว่านี่อย่างไรกันหนอจึงยกพระเศียรขึ้นจากวงภายในขนดแลไป ได้เห็นหมองูแล้วดำริว่าพิษของเรามากมาย ถ้าเราโกรธแล้วพ่นลมจมูกออกไป สรีระของหมองูนี้จักย่อยแหลกไปเหมือนกองเถ้า แต่เมื่อทำเช่นนั้นศีลของเราก็จักด่างพร้อย เราจักไม่แลดูหมองูนั้น ท้าวเธอจึงหลับพระเนตรทั้งสอง ทอดพระเศียรไว้ภายในขนด พราหมณ์หมองูเคี้ยวโอสถแล้วร่ายมนต์พ่นน้ำลาย ลงที่สรีรกายของพระมหาสัตว์ด้วยอานุภาพแห่งโอสถและมนต์ เรือนร่างของพระมหาสัตว์ในที่ซึ่งถูกน้ำลายรดแล้ว ๆ ปรากฏเป็นเสมือนพองบวมขึ้น ครั้งนั้นพราหมณ์หมองู จึงฉุดหางพระมหาสัตว์ลากลงมาให้นอนเหยียดยาว บีบตัวด้วยไม้กีบแพะทำให้ทุพพลภาพ จับศีรษะให้มั่นแล้วบีบเค้น พระมหาสัตว์จึงอ้าปากออก ทีนั้นพราหมณ์หมองูจึงพ่นน้ำลายเข้าไปในปากของพระมหาสัตว์ แล้วจัดการพ่นโอสถและมนต์ ทำลายพระทนต์จนหลุดถอน ปากของมหาสัตว์เต็มไปด้วยโลหิต พระมหาสัตว์สู้อดกลั้นทุกขเวทนาเห็นปานนี้ เพราะกลัวศีลของตัวจะแตกทำลาย ทรงหลับพระเนตรนิ่งมิได้ทำการเหลียวมองดู

พราหมณ์หมองูคิดว่าเราจักทํานาคราชให้ทุพพลภาพ จึงขึ้นเหยียบย่ำร่างกายของพระมหาสัตว์ตั้งแต่หางขึ้นไปคล้ายกับจะทำให้กระดูกแหลกละเอียดไป แล้วม้วนพับอย่างผืนผ้า ขยี้กระดูกให้ขยายเช่นอย่างกลายเส้นด้ายให้กระจาย จับหางทบทุบเช่นอย่างทุบผ้า สกลสรีรกายของพระมหาสัตว์แปดเปื้อนไปด้วยโลหิต พระมหาสัตว์นั้นสู้อดกลั้นมหาทุกขเวทนาไว้ ครั้นพราหมณ์หมองูรู้ว่าพระมหาสัตว์อ่อนกำลังลงแล้วจึงเอาเถาวัลย์มาถักทำเป็นกระโปรง ใส่พระมหาสัตว์ลงไปในกระโปรงนั้นแล้วนำไปสู่ปัจจันตคามให้เล่นท่ามกลางมหาชน พราหมณ์หมองูปรารถนาจะให้แสดงท่วงทีอย่างใด ๆ ในประเภทสีมีสีเขียวเป็นต้น และสัณฐานทรวดทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมเป็นต้น หรือขนาดเล็กใหญ่เป็นต้น พระมหาสัตว์เจ้าก็กระทำท่วงทีนั้น ๆ ทุกอย่าง ฟ้อนรำทำพังพานได้ตั้งร้อยอย่าง พันอย่าง มหาชนดูแล้วชอบใจ ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์เป็นอันมาก เพียงวันเดียวเท่านั้นได้ทรัพย์ตั้งพัน และเครื่องบริขารราคานับเป็นพัน แต่ชั้นแรกพราหมณ์หมองูคิดไว้ว่า เราได้ทรัพย์สักพันหนึ่งแล้วก็จักปล่อยไป แต่ครั้นได้ทรัพย์จำนวนเท่านั้นแล้วคิดเสียว่า ในปัจจันตคามแห่งเดียวเรายังได้ทรัพย์ถึงขนาดนี้ ในสำนักพระราชาและมหาอำมาตย์ คงจักได้ทรัพย์มากมาย จึงซื้อเกวียนเล่มหนึ่งกับยานสำหรับนั่งสบายเล่มหนึ่ง บรรทุกของลงในเกวียนแล้วนั่งบนยานน้อยพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก บังคับพระมหาสัตว์ให้เล่นในบ้านและนิคมเป็นต้นโดยลำดับไป แล้วคิดว่าเราจักให้นาคราชเล่นถวายในสำนักของพระเจ้าอุคคเสนแล้วก็จักปล่อยดังนี้ แล้วก็เดินทางต่อไป พราหมณ์หมองูฆ่ากบนำมาให้นาคราชกินเป็นอาหาร 

นาคราชรำพึงว่าพราหมณ์หมองูนี้ฆ่ากบอยู่บ่อย ๆ เพราะอาศัยเราเป็นเหตุ เราจักไม่บริโภคกบนั้น แล้วไม่ยอมบริโภค เมื่อพราหมณ์หมอดูรู้ดังนั้น ได้ให้ข้าวตอกเคล้าน้ำผึ้งแก่พระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์คิดว่าถ้าหากเราจักถือเอาอาหารนี้ไซร้ เราคงจักตายภายในกระโปรงเป็นมั่นคง จึงมิได้บริโภคอาหารแม้เหล่านั้น พราหมณ์หมองูไปถึงพระนครพาราณสีแล้ว ให้พระมหาสัตว์เล่นให้คนดู ที่ใกล้ประตูเมืองได้ทรัพย์สินอีกเป็นจำนวนมาก แม้พระราชาก็ตรัสสั่งให้พราหมณ์หมองูเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่าเจ้าจงให้งูเล่นให้เราดูบ้าง เขาทูลสนองพระราชโองการว่าได้พะย่ะค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าจักให้เล่นถวายพระองค์ ในวันปัณณรสี พรุ่งนี้ 

พระราชาตรัสสั่งให้พนักงานเภรีตีกลองประกาศว่า พรุ่งนี้นาคราชจักฟ้อนรำที่หน้าชานชาลาหลวง มหาชนจงมาประชุมกันดูเถิด แล้วในวันรุ่งขึ้น ตรัสสั่งให้ประดับตกแต่งชานชาลาหลวง และตรัสสั่งให้พราหมณ์หมองูมาเฝ้า พราหมณ์หมองู นำพระมหาสัตว์มาด้วยกระโปรงแก้ว ตั้งกระโปรงไว้ที่พื้นลาดอันวิจิตรนั่งคอยอยู่ ฝ่ายพระราชาเสด็จลงจากปราสาทแวดล้อมด้วยหมู่มหาชนประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์ พราหมณ์หมองูนำพระมหาสัตว์ออกมาแล้วให้ฟ้อนรำถวาย มหาชนพากันดีใจไม่อาจดำรงตนอยู่ได้ตามปกติ พากันปรบมือ โบกธงโบกผ้า แสดงความรื่นเริงนับด้วยหมื่นแสน ฝนรัตนะเจ็ดประการก็ตกลงมาตรงเบื้องบนพระโพธิสัตว์ เมื่อพระมหาสัตว์ถูกจับมานั้นครบหนึ่งเดือนเต็มบริบูรณ์ ตลอดเวลาเหล่านี้พระมหาสัตว์สู้ทนมิได้บริโภคอาหารเลย

คลิกเพื่ออ่าน

https://www.baanjomyut.com/library_3/extension-5/dragon_and_buddha/03.html

"พญานาคที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา"

พญานาคมีปรากฎหลายแห่งทั้งในพระไตรปิฎกอันเป็นคัมภีร์สำคัญของพระพุทธศาสนาเถรวาทและอรรถกถาดังต่อไปนี้ ในวินัยปิฎก มหาวรรค (4/5/7) กล่าวถึงมุจจลินทนาคราช ความว่าครั้นล่วง 7 วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากควงไม้อชปาลนิโครธ เข้าไปยังต้นไม้มุจจลินท์ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้มุจจลินท์ตลอด 7 วัน ครั้งนั้น เมฆใหญ่ในสมัยมิใช่ฤดูกาลตั้งขึ้นแล้ว ฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาว ตลอด 7 วัน มุจจลินทนาคราชออกจากที่อยู่ของตน ได้แวดวงพระกายพระผู้มีพระภาคด้วยขนด 7 รอบ ได้แผ่พังพานใหญ่เหนือพระเศียรสถิตอยู่ด้วยหวังใจว่า ความหนาว ความร้อนอย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาค สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน อย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ครั้นล่วง 7 วัน มุจจลินทนาคราชรู้ว่า อากาศปลอดโปร่งปราศจากฝนแล้ว จึงคลายขนดจากพระกายของพระผู้มีพระภาค จำแลงรูปของตนเป็นเพศมาณพ ได้ยืนประคองอัญชลีถวายมนัสการพระผู้มีพระภาค ทางเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค 

ในอรรถกถาพระวินัย สมันตปาสาทิกา มหาวิภังควรรณนา หน้า 202 ในการอรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า “ปุริสทมฺมสารถิ” พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นที่ทรงพระนามว่า ปุริสทมฺมสารถิ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่ายังบุรุษผู้พอจะฝึกได้ให้แล่นไป มีอธิบายไว้ว่าย่อมฝึก คือแนะนำ สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ก็ดี มนุษย์ผู้ชายก็ดี อมนุษย์ผู้ชายก็ดี ผู้ที่ยังมิได้ฝึก ควรเพื่อจะฝึกได้ ชื่อว่าปุริสทัมมา ในคำว่าปุริสทมฺมสารถินั้น แม้สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มีอาทิอย่างนี้ คือ อปลาลนาคราช จุโฬทรนาคราช มโหทรนาคราช อัคคิสิขนาคราช ธูมสิขนาคราช อาลวาฬนาคราช ช้างชื่อธนบาลก์ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้วคือทรงทำให้สิ้นพยศแล้วให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีลทั้งหลาย 

อรรถกถาปาสราสิสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 2 หน้าที่ 456 ได้กล่าวถึงพญานาคไว้ว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราแล้ววางถาดทองไว้ริมฝั่งลงสรงน้ำเสด็จขึ้นแล้ว ทรงปั้นข้าวมธุปายาสจำนวน 49 ก้อน เสวยข้าวมธุปายาสแล้วทรงเสี่ยงทายว่า ถ้าเราจะเป็นพระพุทธเจ้าวันนี้ ขอถาดจงลอยทวนกระแสน้ำดังนี้แล้วทรงเหวี่ยงถาดไป ถาดก็ลอยทวนกระแสน้ำแล้วหยุดหน่อยหนึ่ง เข้าไปสู่ภพของท้าวกาฬนาคราช วางทับถาดของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ 

อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค 1 หน้าที่ 115 

กล่าวไว้ทำนองเดียวกันว่า พระโพธิสัตว์ครั้นเสวยข้าวข้าวปายาสนั้นแล้ว จับถาดทองทรงอธิษฐานว่า ถ้าเราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันนี้ไซร้ ถาดของเราใบนี้จงลอยทวนกระแสน้ำไป ถ้าจักไม่ได้เป็นจงลอยไปตามกระแสน้ำ ครั้นทรงอธิษฐานแล้วได้ลอยถาดไป ถาดนั้นลอยตัดกระแสน้ำไปถึงกลางแม่น้ำ ณ ที่ตรงกลางแม่น้ำนั่นแลได้ลอยทวนกระแสน้ำไปสิ้นสถานที่ประมาณ 80 ศอก เปรียบเหมือนม้าซึ่งเพียบพร้อมด้วยฝีเท้าอันเร็วไวฉะนั้น แล้วจมลงที่น้ำวนแห่งหนึ่งจมลงไปถึงภพของกาลนาคราช กระทบถาดเครื่องบริโภคของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ มีเสียงดังกริ๊ก ๆ แล้วได้วางรองอยู่ใต้ถาดเหล่านั้น กาลนาคราชครั้นได้สดับเสียงนั้นแล้ว กล่าวว่า เมื่อวานนี้พระพุทธเจ้าทรงบังเกิดแล้วองค์หนึ่ง วันนี้บังเกิดอีกองค์หนึ่ง จึงได้ยืนกล่าวสดุดีด้วยบทหลายร้อยบท ได้ยินว่า เวลาที่มหาปฐพีงอกขึ้นเต็มท้องฟ้าประมาณหนึ่งโยชน์สามคาวุต ได้เป็นเสมือนวันนี้ หรือวันพรุ่งนี้แก่กาลนาคราชนั้น อายุของกาลนาคราชยืนยาวมากเพราะหากถือตามนี้หนึ่งพุทธันดรเท่ากับ 1 วันของพญานาค 

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 1 หน้าที่ 119 บรรยายไว้ว่า เวลาเย็นทรงรับหญ้าที่นายโสตถิยะถวาย มีพระคุณอันพระยากาฬนาคราชชมเชยแล้ว เสด็จสู่ควงไม้โพธิ ปฏิญญาว่า"เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้ ตลอดเวลาที่จิตของเราจักยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายด้วยการไม่เข้าไปถือมั่น" 

อรรถกถารัฏฐปาลสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม 2 ภาค 2 หน้าที่ 48 ได้กล่าวถึงพญานาคเคยถวายทานแด่พระพุทธเจ้าว่า ครั้งนั้นกุฏุมพีทั้งสองนั้นทำการบำรุงดาบสเหล่านั้นจนตลอดชีวิต เมื่อเหล่าดาบสบริโภค แล้วอนุโมทนา รูปหนึ่งกล่าว พรรณนาคุณของภพท้าวสักกะ รูปหนึ่งพรรณนาคุณภพของนาคราช เจ้าแผ่นดิน

บรรดากุฏุมพีทั้งสอง คนหนึ่งปรารถนาภพท้าวสักกะ ก็บังเกิดเป็นท้าวสักกะ คนหนึ่งปรารถนาภพนาคก็เป็นนาคราชชื่อปาลิตะ ท้าวสักกะเห็นนาคนั้นมายังที่บำรุงของตน จึงถามว่า ท่านยังยินดียิ่งในกำเนิดนาคอยู่หรือ ปาลิตะนาคราชนั้นตอบว่า เราไม่ยินดีดอกท้าวสักกะบอกว่าถ้าอย่างนั้นท่านจงถวายทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระสิ แล้วทำความปรารถนาจะอยู่ในที่นี้ เราทั้งสองจะอยู่เป็นสุข นาคราชนิมนต์พระศาสดามาถวายมหาทาน 7 วันแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งมี ภิกษุ 100,000 รูป เป็นบริวาร เห็นสามเณรโอรสของพระปทุมุตตรทศพลชื่ออุปเรวตะ วันที่ 7 ถวายผ้าทิพย์แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขจึงปรารถนาตำแหน่งของสามเณร 

อรรถกถาปุณโณวาทสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม 3 ภาค 2 หน้าที่449 พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปแม่น้ำชื่อ นิมมทา ได้เสด็จไปถึงฝั่งของแม่น้ำนั้น นิมมทานาคราชถวายการต้อนรับ พระศาสดาทูลเสด็จเข้าสู่ภพนาคได้กระทำสักการะพระรัตนตรัยแล้ว พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่นาคราชนั้นแล้ว ก็เสด็จออกจากภพนาค นาคราชนั้นกราบทูลขอว่าได้โปรดประทานสิ่งที่พึงบำเรอแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงแสดงบทเจดีย์ รอยพระบาท ไว้ที่ฝั่งแม่น้ำนิมมทา รอยพระบาทนั้นเมื่อคลื่นซัดมาก็ถูกปิด เมื่อคลื่นเลยไปแล้วก็ถูกเปิด กลายเป็นรอยพระบาทที่ถึงสักการะอย่างใหญ่ เมื่อพระศาสดาทรงออกจากนั้นแล้วก็เสด็จถึงภูเขาสัจจพันธ์ ตรัสกับพระสัจจพันธ์ว่ามหาชนถูกเธอทำให้จมลงในทางอบาย เธอต้องอยู่ในที่นี้แหละ แก้ลัทธิของพวกคนเหล่านี้เสีย แล้วให้พวกเขาดำรงอยู่ในทางพระนิพพาน แม้ท่านพระสัจจพันธ์นั้น ก็ทูลชื่อสิ่งที่จะต้องบำรุง พระศาสดาก็ทรงแสดงรอยพระบาทไว้บนหลังแผ่นหินทึบเหมือนประทับตราไว้บนก้อนดินเหนียวสด ๆ ฉะนั้นต่อจากนั้นก็เสด็จไปถึงพระเชตวัน (เราอาจจะเคยได้ยินชื่อแม่น้ำว่าแม่น้ำนัมมทานที แต่ในอรรถกถาปปัญจสูทนี ฉบับภาษาบาลี หน้า 882 เขียนเป็น "นิมมทานที" อาจจะฟังแปลกหูไปบ้าง ผู้เรียบเรียงจึงใช้ตามที่ปรากฎในอรรถกถาฉบับบาลีและฉบับแปล ขอผู้รู้ใคร่ครวญพิจารณาว่า "นิมมทานที กับ "นัมมทานที" มีที่มาอย่างไร) 

ในรัตนสูตร ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้าที่ 225 กล่าวถึงการต้อนรับของพญานาคว่าครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทำเรือขนาน 2 ลำแล้วสร้างมณฑปประดับด้วยพวงดอกไม้ ปูลาดพุทธอาสน์ทำด้วยรัตนะล้วน ณ มณฑปนั้น ที่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์นั้น แม้ภิกษุ 500 รูปก็ลงเรือนั่งกันตามสมควร พระราชาส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าลงน้ำประมาณแต่พระศอกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่กันริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้นี่แหละจนกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับมา แล้วก็เสด็จกลับ เทวดาเบื้องบนจนถึงอกนิษฐภพได้พากันทำการบูชานาคราชทั้งหลายมีกัมพลนาคและอัสสตรนาคเป็นต้น ซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำคงคา ก็พากันทำการบูชาด้วยการบูชาใหญ่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางแม่น้ำคงคาสิ้นระยะทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง ก็เข้าเขตแดนของพวกเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลี 

ในอรรถกถาชาดก เอกนิบาต ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค 1 หน้าที่ 58 กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเคยเป็นพญานาคว่า ในกาลนั้นพระมหาสัตว์ได้เป็นนาคราชนามว่า อตุละมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พระยานาคนั้นได้ยินว่า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว มีหมู่ญาติห้อมล้อมแล้ว ออกจากนาคพิภพ ให้กระทำการบรรเลงถวายด้วยทิพยดนตรี แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวารแสนโกฎิถวายผ้าคู่เฉพาะองค์แล้วตั้งอยู่ในสรณะ พระศาสดาแม้นั้นก็ทรงพยากรณ์เขาว่าจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ชื่อเมขลา พระราชาทรงพระนามว่า สุทัตตะ เป็นพระราชบิดาพระราชมารดาทรงพระนามว่าสิริมา พระอัครสาวกสององค์คือสรณะและภาวิตัตตะ พระอุปราชนามว่าอุเทนะ พระอัครสาวิกาสององค์นามว่า โสณาและอุปโสณา และต้นนาคพฤกษ์เป็นไม้ตรัสรู้ พระสรีระสูงได้ 90 ศอก ประมาณพระชนมายุได้ 90,000 ปี ด้วยประการฉะนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...