30 พฤศจิกายน 2561

พุทธคุณ ๘ ประการ

ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงยกพระคุณตามที่มีจริง ๘ ประการของพระผู้มีพระภาคขึ้นแสดงแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า "ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เทวดาชั้นดาวดึงส์จะสำคัญความข้อนี้นั้นเป็นไฉน "

พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเพียงไร เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ผู้ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็นนอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯ

อนึ่ง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ผู้ทรงแสดงธรรมอันควรน้อมเข้ามาในตน อย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่านี้กุศล นี้มีโทษ นี้ไม่มีโทษ นี้ควรเสพ นี้ไม่ควรเสพ นี้เลว นี้ประณีต นี้มีส่วนเทียบด้วยธรรมดำและธรรมขาว เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ผู้ทรงบัญญัติธรรมอันเป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ ควรเสพ ไม่ควรเสพ เลว ประณีต มีส่วนเทียบด้วยธรรมดำและธรรมขาว อย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯ

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบัญญัตินิพพานคามินีปฏิปทาเพื่อพระสาวกทั้งหลายไว้ดีแล้ว พระนิพพานและปฏิปทาย่อมเทียบเคียงกันได้ดุจน้ำในแม่น้ำคงคากับน้ำในแม่น้ำยมุนา ย่อมไหลคลุกคละกันได้ฉะนั้น เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ทรงบัญญัตินิพพานคามินีปฏิปทาอย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯ

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงได้พระเสขะผู้ดำรงอยู่ในปฏิปทาและพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์เป็นสหาย เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเบาพระทัยประกอบความเป็นผู้ยินดีอยู่พระองค์เดียว เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ทรงประกอบความเป็นผู้ยินดีอยู่พระองค์เดียวอย่างนี้ในอดีตกาลเลยถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯ

อนึ่ง ลาภ ความสรรเสริญ เกิดแก่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเห็นจะตลอดถึงกษัตริย์ทั้งหลายที่ยินดีอยู่ แต่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นปราศจากความเมา เสวยพระกระยาหาร เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ผู้ปราศจากความเมา เสวยพระกระยาหารอย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯ

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น มีปรกติตรัสอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น เหตุนั้น พระองค์จึงชื่อว่า ตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้นทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ทรงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯ

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงข้ามความสงสัยได้แล้วปราศจากความคลางแคลง มีความดำริถึงที่สุด ด้วยพระอัธยาศัยเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ผู้ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความคลางแคลง มีความดำริถึงที่สุด ด้วยพระอัธยาศัยเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์อย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็นนอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

มหาโควินทสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

29 พฤศจิกายน 2561

ทึ่มาของบทสวด "นะโม"

...นะโม ตัสสะ.....

บทสวดที่ชาวพุทธตั้งแต่เด็กเล็กยังผู้สูงอายุต่างสวดเป็น
“ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ”
แปลว่า “ขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น
ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง”
คุ้นกันไหม เชื่อว่าคุ้น แต่มีใครบ้างที่จะทราบว่า
กว่าจะเป็นบทสวดสรรเสริญพระพุทธเจ้าบทนี้ได้
ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย

ในคัมภีร์ฎีกานะโม เรียกง่าย ๆว่า คัมภีร์อธิบายความหมายของนะโม เล่าถึงความเป็นมาของบทสวดนี้ไว้ว่า

ครั้งสมัยพุทธกาล มีเทพเจ้า 5 พระองค์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตามลำดับ เทพเจ้าพระองค์แรกคือ “สาตาคิรียักษ์” เป็นเทวดาประเภทภุมมเทวดา (พระภูมิ) สถิตอยู่ที่เขาสาตาคีรี ในหิมวันตประเทศ มีหน้าที่เฝ้าประตูของป่าหิมพานต์ทางทิศเหนือ เป็นหนึ่งในคณะบริวารของพระเวสสุวัณ

สาตาคิรียักษ์เมื่อได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วบังเกิดจิตเลื่อมใสจึงเปล่งวาจาขึ้นว่า “นะโม” (ขอนอบน้อม)

ต่อมาพระอสุรินทราหูทราบว่าพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของโลก ทรงโปรดให้มนุษย์และเทวดาบรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก จึงปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม แต่ด้วยพระองค์มีรูปร่างใหญ่โต หากเข้าใกล้พระพุทธเจ้าจะไม่สมควร พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเนรมิตร่างของพระองค์ให้ใหญ่โตกว่าพระอสุรินทราหูในท่าไสยาสน์ เมื่อพระอสุรินทราหูเห็นดังนั้นจึงมีจิตเลื่อมใส ยอมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม พอฟังจบแล้วจึงเปล่งวาจาด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าว่า “ตัสสะ” (พระองค์นั้น)

จากนั้นพระอสุรินทราหูกราบลาพระพุทธเจ้ากลับแดนอสูร พระจตุโลกบาล เจ้าสวรรค์ชั้นจาตุงมหาราชิกา (สวรรค์ชั้นหนึ่งในคติพระพุทธศาสนา) พากันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม หลังจากฟังธรรมแล้วจึงเปล่งวาจาพร้อมกันว่า “ภะคะวะโต” (แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า)

ต่อมาเมื่อพระจตุโลกบาล หรือมหาราชทั้ง 4 กลับไปยังวิมานของตนแล้ว พระสักกะเทวราช หรือ พระอินทร์ เจ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่สองในคติพระพุทธศาสนา) เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม พอฟังจบก็เปล่งวาจาขึ้นว่า “อะระหะโต” (เป็นผู้ไกลจากกิเลส)

เมื่อพระสักกะเทวราชเสด็จกลับวิมานแล้ว พระสหัสบดีพรหมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อสนทนาธรรม เมื่อจบการสนทนาแล้วจึงเปล่งวาจาว่า “สัมมาสัมพุทธัสสะ” (ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง)

ดังนั้นการที่เราสวดมนต์บทสรรเสริญพระพุทธเจ้านั้น เราได้นำคำเปล่งวาจาจากเทพเจ้าทั้ง 5 มา ซึ่งเป็นมนต์ที่มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าทุกพระองค์มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า อย่างพระอสุรินทราหู หรือพระราหู ในภายภาคหน้าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ส่วนพระมหาราชทั้ง 4 พระสักกะเทวราช และพระสหัสบดีพรหม ล้วนติดตามอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าตั้งแต่วันที่พระองค์ประสูติ โดยเฉพาะพระมหาราชทั้ง 4 รับหน้าที่ป้องปกพระพุทธเจ้าตั้งแต่สถิตในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พระสักกะเทวราชและพระสหัสบดีพรหมก็ถวายเครื่องอัฐบริขารแด่เจ้าชายสิทธัตถะตอนเสด็จออกผนวช ทั้งยังนำพระเมาฬี (ผม) ของพระองค์ไปประดิษฐานในพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

บทสวดนะโม ตัสสะฯ เป็นบทสวดสั้น ๆ นิยมสวดสามจบต่อครั้ง ก่อนที่จะเริ่มสวดมนต์บทอื่น คงเนื่องมาจากเป็นมนต์ 5 คำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มาจากการเปล่งวาจาของเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ 5 พระองค์ ฉะนั้นต่อไปนี้ เชื่อว่าคงมีความศรัทธาและมีจิตเป็นกุศลมากขึ้นในขณะสวดและภาวนาด้วยบทสวด นะโม ตัสสะฯ  นี้

ที่มา : นะโม นั้นสำคัญมาก

พระพากุลเถระ เอตทัคคะในทางผู้ไม่มีโรคาพยาธิ

พระพากุละ เกิดในวรรณะแพศย์ ตระกูลคหบดี ในเมืองโกสัมพี ที่ได้ชื่อว่า “พากุละ”
เพราะชีวิตของท่านเจริญเติบโตในตระกูลเศรษฐี ๒ ตระกูล (พา = สอง, กุละ = ตระกูล) ประวัติ
ของท่านมีดังต่อไปนี้:-
คลอดจากท้องคนเข้าไปอยู่ในท้องปลา
เมื่อท่านคลอดออกจากครรภ์ของมารดาได้ ๕ วัน บิดามารดา รวมทั้งวงศาคณาญาติได้
จัดพิธีมงคลโกนผมไฟและตั้งชื่อให้ท่าน และมีความเชื่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษว่า ถ้านำเด็กที่
เกิดใหม่ไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา แล้วจะทำให้เป็นคนไม่มีโรคเบียดเบียนและมีอายุยืนยาว พี่
เลี้ยงนางนมทั้งหลายจึงได้นำท่านไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ซึ่งนับถือกันว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์
เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อนั้น
ขณะที่พี่เลี้ยงกำลังอาบน้ำให้ท่านอยู่นั้น มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งแหวกว่ายมาตามกระแสน้ำ
เมื่อมันเห็นท่านแล้วคิดว่าเป็นก้อนเนื้อ จึงฮุบท่านไปเป็นอาหารแล้วกลืนลงท้อง อาจเป็นเพราะ
ท่ามีบุญญานุภาพมาก แม้จะถูกอยู่ในท้องของปลาก็มิได้รับความทุกข์ร้อนแต่ประการใด เป็น
เสมือนว่านอนอยู่ในสถานที่อันสุขสบาย ส่วนปลานั้นก็ไม่สามารถจะย่อยอาหารชิ้นนั้นได้ จึงมี
อาการเร่าร้อนทุรนทุราย กระเสือกกระสนแหวกว่ายไปตามกระแสน้ำ จนถูกชาวประมงจับได้
และขาดใจตายในเวลาต่อมา เนื่องจากเป็นปลาตัวใหญ่ ชาวประมงจึงพร้อมใจกันนำออกเร่ขาย
เพื่อนำเงินมาแบ่งกัน ชาวประมงเหล่านั้น ช่วยกันนำปลาออกเร่ขายทั้งในหมู่บ้านและในตลาด
ก็ไม่มีใครสามารถจะจ่ายเงินเป็นค่าซื้อปลาได้
ขณะนั้น ภริยาเศรษฐีในเมืองพาราณสีผ่านมาพบ จึงได้ซื้อปลานั้นไว้ด้วยหวังจะนำไป
แจกจ่ายให้แก่บริวาร และเมื่อให้จัดการชำแหละท้องปลาแล้วสิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของทุกคนก็
คือ เด็กทารกที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกคนเมื่อหายตกตะลึงแล้วก็อุ้มเด็กออกจากท้องปลา ชำระร่างกาย
ให้สะอาดแล้ว เด็กทารกนั้นเป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใสน่ารัก ภริยาเศรษฐีดีใจสุดประมาณ เพราะตน
เองก็ยังไม่มีบุตร จึงพูดขึ้นด้วยเสียงอันดังในท่ามกลางฝูงชนว่า “เราได้บุตรแล้ว ๆ” และได้รับ
เลี้ยงทารกนั้นเป็นอย่างดีประดุจบุตรแท้ ๆ ในอุทรของตนเอง

ลูกใครกันแน่
ข่าวการที่เศรษฐีในเมืองพาราณสีได้เด็กจากท้องปลา แพร่สะพัดไปทั่วอย่างรวดเร็ว
ฝ่ายมารดาบิดาที่แท้จริงของเด็กนั้นอยู่ที่เมืองโกสัมพี ได้ทราบข่าวนั้นแล้ว จึงรีบเดินทางมาพบ
เศรษฐีเมืองพาราณสีทันที ได้สอบถามเรื่องราวโดยตลอดแล้ว จึงกล่าวว่า “นั่นคือบุตรของเรา”
พร้อมกับชี้แจงแสดงหลักฐานเล่าเรื่องราวความเป็นมาโดยละเอียด แล้วเจรจาขอเด็กนั้นคืน ฝ่าย
เศรษฐีเมืองพาราณสี แม้จะทราบความจริงนั้นแล้วก็ไม่ยอมให้คืน เพราะถือว่าตนก็ได้มาด้วย
ความชอบธรรม อีกทั้งมีความรักความผูกพันในตัวเด็ก ซึ่งเปรียบเสมือนลูกที่แท้จริงของตน ทั้ง
สองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้จึงพากันไปกราบทูลพระเจ้าพาราณสีเพื่อให้ทรงช่วยตัดสินคดี
ความให้
พระเจ้าพาราณสี ได้ทรงสอบสวนทวนความ ทราบเรื่องโดยตลอดแล้ว ทรงพิจารณา
วินิจฉัยให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ด้วยการตัดสินให้ทั้งสองตระกูลมีสิทธิ์ในตัวเด็กทารก
นั้นเท่าเทียมกัน ให้ทั้งสองฝ่ายผลัดกันเลี้ยงดู สุดแต่จะตกลงกำหนดระยะเวลาตามความพอใจ
ของทั้งสองฝ่าย ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้นามว่า “พากุละ” แปลว่า คน ๒ ตระกูล เพราะท่าน
เจริญเติบโตในตระกูลเศรษฐีทั้งสองตระกูลละครึ่งปี ท่านมีชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขตาม
วิถีชีวิตฆราวาส ด้วยความอุปถัมภ์บำรุงของตระกูลทั้งสองนั้นดังนั้น เมื่อเจริญวัย เติบโตแล้ว จึงได้รับมรดก มากมายถึง ๘๐ โกฏิ (๘๐๐ ล้าน) จวบจนอายุถึง ๘๐ ปี

เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา
สมัยหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิ
ญาณ เที่ยวประกาศหลักธรรมคำสั่งสอน ให้ประชาชนได้บรรลุมรรคผล ตามอำนาจวาสนา
บารมีของตน ๆ เสด็จมาถึงยังเมือสาวัตถุ
พากุละพร้อมด้วยบริวาร ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและรับฟังพระธรรมเทศนาเกิดศรัทธา
เลื่อมใส ตั้งใจอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา จึงกราบทูลของบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์
ประทานให้ตามประสงค์ และประทานพระโอวาทอันเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติวิปัสสนา
กรรมฐาน จากนั้นท่านได้ปลีกตัวไปสู่สถานที่อันสงบสงัด เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร ท่าน
อุตสาห์ทำความเพียรอยู่ ๗ วัน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ไม่มีโรคาพาธ
เมื่อท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้ช่วยแบ่งเบาภาระทางพระพุทธศาสนาใน
การอบรมสั่งสอนพุทธบริษัท และท่านเป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัดในธุดงค์ ข้อ “เนสัชชิกธุดงค์” คือ
การสมาทานธุดงค์ด้วยการอยู่ในอิริยาบท ๓ คือ ยืน เดิน และนั่งเท่านั้น ไม่นอน และข้อ
“อรัญญิกธุดงค์” คือ การสมาทานธุดงค์ด้วยการอยู่ป่าเป็นวัตร ดังจะเป็นได้ว่า ตั้งแต่ท่านบวช
มานั้น ท่านไม่เคยจำพรรษาในบ้านเลย นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ที่ไม่มีโรคเบียดเบียน ไม่เคยให้
หมอรักษาพยาบาล ไม่เคยฉันแม้แต่ผลสมออันเป็นยาสมุนไพรแม้แต่เพียงผลเดียว เพราะว่าท่าน
ไม่มีโรคใด ๆ เลยนั่นเอง ทั้งนี้เป็นเพราะด้วยอานิสงส์แห่งการสร้างเว็จกุฎี (ส้วม) แลการถวาย
ยาเป็นทานแก่พระสงฆ์ เหตุการณ์ที่แสดงว่าท่านเป็นผู้อายุยืนยาวนั้น ได้มีเรื่องกล่าวไว้ใน
กุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตรแห่งคัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ว่า.....
ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพากุลเถระ พักอาศัยยู่ที่เวฬุวันมหาวิหารเมืองราชคฤห์ ขณะนั้น มี
อเจลกะท่านหนึ่ง ชื่อว่า กัสสปะ (อเจลกะ คือ นักบวชประเภทหนึ่งที่ไม่สวมเสื้อผ้า ซึ่งเรียกว่า
ชีเปลือย) ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของท่าน เมื่อสมัยที่ยังเป็นคฤหัสถ์ ได้มาเยี่ยมเยือนและได้สนทนาไต่
ถามพระเถระว่า
“ท่านพากุละ ท่านบวชมาได้กี่ปีแล้ว”
“กัสสปะ อาตมาบวชมาได้ ๘๐ ปีแล้ว”
“ท่านพากุละ ตลอดระยะเวลา ๘๐ ปี ที่ท่านบวชมานั้น ท่านมีความเกี่ยวข้องกับ
โลกิยธรรมกี่ครั้ง”
“ท่านกัสสปะ อันที่จริงท่านควรถามอาตมาว่า ตลอดระยะเวลา ๘๐ ปีนั้น กามสัญญา
คือ ความใฝ่ใจในทางกามารมณ์เกิดขึ้นแก่ท่านกี่หนแล้ว กัสสปะ ตั้งแต่อาตมาบวชมาได้ ๘๐ ปี
แล้วนี้ อาตมามีความรู้สึกว่า กามสัญญาที่ว่านั้นไม่เกิดขึ้นแก่อาตมาเลย”
อเจลกกัสสปะ ได้ฟังคำของพระเถระแล้วกล่าวว่า “เรื่องนี้ น่าอัศจรรย์ จริง ๆ” และได้
สนทนาไต่ถามในข้อธรรมต่าง ๆ จากพระเถระ จนหมดสิ้นข้อสงสัยแล้ว ในที่สุดก็เกิดศรัทธา
ขอบวชในพระพุทธศาสนา และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์อีกรูปหนึ่ง
ด้วยความที่ท่าน เป็นผู้ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนเป็นเหตุให้ท่านมีอายุยืนยาวดังกล่าวมานี้
พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง
ผู้ไม่มีโรคาพาธ
ท่านพระพากุลเถระ ดำรงอายุสังขารสมควรแก่กาลแล้ว ในวันที่ท่านจะนิพพานนั้น
ท่านนั่งอยู่ในท่ามกลางประชุมสงฆ์ ได้อธิษฐานว่า “ขออย่าให้สรีระของข้าพเจ้าเป็นภาระแก่หมู่
ภิกษุสงฆ์เลย” ดังนี้แล้วท่านก็เข้าเตโชกสิณ ปรินิพพานในท่ามกลางหมู่สงฆ์นั้น พลันเปลว
เพลิงก็เกิดขึ้นเผาสรีระของท่านจนเหลือแต่อัฐิธาตุ ซึ่งมีสีและสัณฐานดังดอกมะลิตูม

27 พฤศจิกายน 2561

จันทกินรีชาดก นิทานแห่งความรักอันมั่นคงของนางจันทกินนรี


นิทานแห่งความรักอันมั่นคงของนางจันทกินนรี

พระศาสดาเมื่อทรงอาศัยกรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ทรงพระปรารภพระมารดาของพระราหุล ตรัสเรื่องนี้ในพระราชนิเวศน์ ดังนี้

ก็แลพระศาสดาประทับนั่งในพระนิเวศน์ของพุทธบิดา ในเวลากำลังเสวย ตรัส มหาธัมมปาลชาดก เสวยเสร็จทรงดำริว่า เราจักนั่งในนิเวศน์ของมารดาราหุล กล่าวถึงคุณของเธอ แสดงจันทกินนรชาดก ให้พระราชาทรงถือบาตรเสด็จไปที่ประทับแห่งพระมารดาของพระราหุล กับพระอัครสาวกทั้งสอง

ครั้งนั้นนางระบำ ๔๐,๐๐๐ ของพระนาง พากันอยู่พร้อมหน้า บรรดานางทั้งนั้นที่เป็นขัตติยกัญญาถึง ๑,๐๙๐ นาง พระนางเมื่อทรงทราบว่าพระตถาคตเสด็จมา ก็ตรัสบอกแก่นางเหล่านั้นว่า จงพากันนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดทั่วกันทีเดียว นางเหล่านั้นพากันกระทำอย่างนั้น

พระศาสดาเสด็จมาประทับนั่งเหนือพระแท่นที่เตรียมไว้ ครั้งนั้นพวกนางเหล่านั้นทั้งหมด ก็พากันร้องไห้ประดังขึ้นเป็นเสียงเดียวกันอื้ออึงไป ฝ่ายพระมารดาของพระราหุลเล่าก็ทรงกันแสง ครั้นทรงบรรเทาความโศกได้ก็ถวายบังคมพระศาสดา ประทับนั่งด้วยความนับถือมากในพระศาสดา และด้วยความเคารพอันมีในพระราชา

ครั้งนั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงพระปรารภคุณกถาของพระนาง ได้ตรัสเล่าพรรณนาคุณของพระนางด้วยประการต่าง ๆ เช่น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สะใภ้ของโยม ฟังว่าพระองค์ทรงนุ่งกาสาวพัสตร์ ก็นุ่งกาสาวพัสตร์เหมือนกัน ฟังว่าพระองค์เลิกทรงมาลาเป็นต้น ก็เลิกทรงมาลาเป็นต้น ฟังว่าทรงเลิกบรรทมเหนือพระยี่ภู่อันสูงอันใหญ่ ก็บรรทมเหนือพื้นเหมือนกัน ในระยะกาลที่พระองค์ทรงผนวชแล้ว นางยอมเป็นหญิงหม้าย มิได้รับบรรณาการที่พระราชาอื่น ๆ ส่งมาให้เลย นางมีจิตมิได้เปลี่ยนแปลงในพระองค์ถึงเพียงนี้

พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่นางมีความรักไม่เปลี่ยนแปลงในอาตมภาพอย่างไม่ไยดีในผู้อื่นเลย ในอัตภาพสุดท้ายของอาตมภาพครั้งนี้ แม้บังเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน ก็ยังได้มีจิตไม่เปลี่ยนแปลงในอาตมภาพอย่างไม่ไยดีในผู้อื่นเลย แล้วทรงรับอาราธนานำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกินนร ในหิมวันตประเทศ ภรรยาของเธอนามว่าจันทา ทั้งคู่เล่าก็อยู่ที่ภูเขาเงินชื่อว่า จันทบรรพต ครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสีมอบราชสมบัติแก่หมู่อำมาตย์ ทรงผ้าย้อมฝาดสองผืน ทรงสอดพระเบญจาวุธ เข้าสู่ป่าหิมพานต์ลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น ท้าวเธอเสวยเนื้อที่ทรงล่าได้เป็นกระยาหาร เสด็จท่องเที่ยวไปถึงลำน้ำน้อย ๆ สายหนึ่ง โดยลำดับ ก็เสด็จขึ้นไปถึงต้นสาย

ฝูงกินนรที่อยู่ ณ จันทบรรพต นั้นปกติในเวลาฤดูฝน ก็ไม่ลงมา พากันอยู่ที่ภูเขานั่นแหละ ถึงฤดูแล้งจึงพากันลงมา ครั้งนั้น จันทกินนรลงมากับภรรยาของตน เที่ยวเก็บเล็มของหอมในที่นั้น ๆ กินเกสรดอกไม้ นุ่งห่มด้วยสาหร่ายดอกไม้ เหนี่ยวเถาชิงช้าเป็นต้น เล่นพลางขับร้องไปพลาง ด้วยเสียงจะแจ้วเจื้อยจนถึงลำน้ำน้อยสายนั้น หยุดลงตรงที่เป็นคุ้งแห่งหนึ่ง โปรยปรายดอกไม้ลงในน้ำ ลงเล่นน้ำแล้วนุ่งห่มสาหร่ายดอกไม้ จัดแจงแต่งที่นอนด้วยดอกไม้ เหนือหาดทรายซึ่งมีสีเพียงแผ่นเงิน ถือขลุ่ยเลาหนึ่ง นั่งเหนือที่นอน ต่อจากนั้น จันทกินนรก็เป่าขลุ่ยขับร้องด้วยเสียงอันหวานฉ่ำ จันทกินรีก็ฟ้อนหัตถ์อันอ่อนยืนอยู่ในที่ใกล้สามีฟ้อนไปบ้าง ขับร้องไปบ้าง

พระราชานั้นทรงสดับเสียงของกินนรกินรีนั้น ก็ทรงย่องเข้าไปค่อย ๆ ยืน แอบในที่กำบัง ทรงทอดพระเนตรกินนรเหล่านั้น ก็ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ในกินรี ทรงดำริว่า จักยิงกินนรนั้นเสียให้ถึงสิ้นชีวิต ถึงสำเร็จการอยู่ร่วมกินรีนี้ แล้วทรงยิงจันทกินนร เธอเจ็บปวดรำพันกล่าวคาถา ๔ คาถาว่า

ดูกรนางจันทา ชีวิตของพี่ใกล้จะขาดอยู่แล้ว พี่กำลังเมาเลือด จันทาเอ๋ย

พี่เห็นจะละชีวิตไปแม้ในวันนี้ ลมปราณของพี่กำลังจะดับ ชีวิตของพี่

กำลังจะจม ความทุกข์กำลังเผาผลาญหัวใจพี่ พี่ลำบากยิ่งนัก ความโศก

ของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่ง

เจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้ พี่จะเหี่ยวแห้ง เหมือนต้นหญ้า

ที่ถูกทิ้งไว้บนแผ่นหินร้อน เหมือนต้นไม้มีรากอันขาด พี่จะเหือดหาย

เหมือนแม่น้ำที่ขาดห้วง ความโศกของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่

กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้

น้ำตาของพี่ไหลออกเรื่อยเหมือนน้ำฝนที่ตกลงที่เชิงบรรพต ไหลไปไม่

ขาดสาย ฉะนั้น ความโศกของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความ

โศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้

พระมหาสัตว์คร่ำครวญด้วยคาถาสี่เหล่านี้ นอนเหนือที่นอนดอกไม้นั่นเอง ชักดิ้นสิ้นสติ ฝ่ายพระราชายังคงยืนอยู่ จันทากินรีเมื่อพระมหาสัตว์รำพัน กำลังเพลิดเพลินเสียด้วยความรื่นเริงของตน มิได้รู้ว่าเธอถูกยิง แต่ ครั้นเห็นเธอไร้สัญญานอนดิ้นไป ก็ใคร่ครวญว่า ทุกข์ของสามีเราเป็นอย่างไรหนอ พอเห็นเลือดไหลออกจากปากแผล ก็ไม่อาจสะกดกลั้นความโศกอัน มีกำลังที่เกิดขึ้นในสามีที่รักไว้ได้ ร่ำไห้ด้วยเสียงดัง พระราชาทรงดำริว่า กินนรคงตายแล้ว ปรากฏพระองค์ออกมา จันทาเห็นท้าวเธอก็หวั่นใจว่า โจรผู้นี้คงยิงสามีที่รักของเรา จึงบินหนีไปอยู่บนยอดเขา พลางบริภาษพระราชา ได้กล่าวคาถา ๕ คาถา ดังนี้

พระราชบุตรใด ยิงสามีผู้เป็นที่ปรารถนาของเรา เพื่อให้เป็นหม้ายที่

ชายป่า พระราชบุตรนั้นเป็นคนเลวทรามแท้ สามีของเรานั้นถูกยิงแล้ว

นอนอยู่บนพื้นดิน พระราชบุตรเอ๋ย มารดาของท่านจงได้รับสนอง

ความโศกในดวงหทัยของข้าผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้ ชายาของท่านจง

ได้รับสนองความโศกในดวงหทัยของข้าผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้ พระ

ราชบุตรเอ๋ย ท่านได้ฆ่ากินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา

ขอมารดาของท่านอย่าได้พบเห็นบุตร และสามีเลย ท่านได้ฆ่ากินนรผู้

ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา ขอชายาของท่านจงอย่าได้พบ

เห็นบุตร และสามีเลย

พระราชาเมื่อจะตรัสปลอบนางผู้ยืนร่ำไห้เหนือยอดภูเขาด้วย ๕ คาถา จึงตรัสคาถาว่า

ดูกรนางจันทา ผู้มีนัยน์ตาบานดังดอกไม้ในป่า เธออย่าร้องไห้ อย่า

เศร้าโศกเลย เธอจักได้เป็นอัครมเหสีของฉัน มีเหล่านารีในราชสกุล

บูชา

นางจันทากินรี ฟังคำของท้าวเธอแล้วกล่าวว่า ท่านพูดอะไร เมื่อจะบันลือสีหนาทจึงกล่าวคาถาต่อไปว่า

พระราชบุตร ถึงแม้ว่าเราจักต้องตาย แต่เราจักไม่ขอยอมเป็นของท่าน

ผู้ฆ่ากินนรสามีของเราผู้มิได้ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา

ท้าวเธอฟังคำของนางแล้วหมดความรักใคร่ ตรัสคาถาต่อไปว่า

แนะนางกินนรีผู้ขี้ขลาด มีความรักใคร่ต่อชีวิต เจ้าจงไปสู่ป่าหิมพานต์

เถิด มฤคอื่นๆ ผู้บริโภคกฤษณาและกะลำพัก จักยังรักใคร่ยินดีต่อเจ้า

ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้วก็เสด็จหลีกไปอย่างหมดเยื่อใย นางทราบว่า ท้าวเธอไปแล้วก็ลงมากอดพระมหาสัตว์ อุ้มขึ้นสู่ยอดภูเขา ให้นอนเหนือยอดภูเขา ยกศีรษะวางไว้เหนือขาของตน พลางพร่ำไห้เป็นกำลัง จึงกล่าวคาถา ๑๒ คาถาว่า

ข้าแต่กินนร ภูเขาเหล่านั้น ซอกเขาเหล่านั้น และถ้ำเหล่านั้นตั้งอยู่ ณ

ที่นั้น ฉันไม่เห็นท่านในที่นั้นๆ จะกระทำอย่างไร?

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เทือกเขา ซึ่งเราเคยร่วมอภิรมย์กัน

จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอันลาดด้วยใบไม้

เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวกมฤคร้ายไม่กล้ำกลาย จะทำอย่างไร?

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอันลาดด้วยดอกไม้

เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวกมฤคร้ายไม่กล้ำกลาย จะทำอย่างไร?

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ลำธารอันมีน้ำใสไหลอยู่เรื่อยๆ

มีกระแสเกลื่อนกล่นไปด้วยดอกโกสุม จะกระทำอย่างไร?

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีเขียว

น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนรฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์มีสีเหลืองอร่าม

น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร?

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีแดง

น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร?

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันสูงตระหง่าน

น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีขาว

น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร?

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันงามวิจิตร

น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร?

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เขาคันธมาทน์ อันดารดาษไปด้วยยาต่างๆ เป็นถิ่นที่อยู่ของ

หมู่เทพเจ้า จะกระทำอย่างไร?

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ภูเขาคันธมาทน์ อันดารดาษไปด้วยโอสถทั้งหลาย

จะกระทำอย่างไร?

นางร่ำไห้ด้วยคาถาสิบสองบทด้วยประการฉะนี้แล้ว วางมือลงตรงอุระพระมหาสัตว์ รู้ว่ายังอุ่นอยู่ ก็คิดว่า พี่จันท์ยังมีชีวิตเป็นแน่ เราต้องกระทำการเพ่งโทษเทวดา ให้ชีวิตของเธอคืนมาเถิด แล้วได้กระทำการเพ่งโทษเทวดาว่า เทพเจ้าที่ได้นามว่าท้าวโลกบาลน่ะ ไม่มีเสียหรือไรเล่า หรือหลบไปเสียหมดแล้ว หรือตายหมดแล้ว ช่างไม่ดูแลผัวรักของข้าเสียเลย ด้วยแรงโศกของนาง พิภพท้าวสักกะเกิดร้อน ท้าวสักกะทรงดำริทราบเหตุนั้น แปลงเป็นพราหมณ์ถือกุณฑีน้ำมาหลั่งรดพระมหาสัตว์ ทันใดนั้นเองพิษก็หายสิ้น แผลก็เต็ม แม้แต่รอยที่ว่าถูกยิงตรงนี้ก็มิได้ปรากฏ พระมหาสัตว์สบายลุกขึ้นได้ จันทาเห็นสามีที่รักหายโรค แสนจะดีใจ ไหว้แทบเท้าของท้าวสักกะ กล่าวคาถาเป็น ลำดับว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ผู้เป็นเจ้า ฉันขอไหว้เท้าทั้งสองของท่าน ผู้มีความ

เอ็นดู มารดาสามีผู้ที่ดิฉันซึ่งเป็นกำพร้าปรารถนายิ่งนักด้วยน้ำอมฤต ดิฉัน

ได้ชื่อว่า เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยสามีผู้เป็นที่รักยิ่งแล้ว

ท้าวสักกะได้ประทานโอวาทแก่กินนรทั้งคู่นั้นว่า ตั้งแต่บัดนี้เธอทั้งสอง อย่าลงจากจันทบรรพตไปสู่ถิ่นมนุษย์เลย จงพากันอยู่ที่นี้เท่านั้นนะ ครั้นแล้ว ก็เสด็จไปสู่สถานที่ของท้าวเธอ

ฝ่ายจันทากินรีก็กล่าวว่า พี่เจ้าเอ๋ย เราจะต้องการอะไร ด้วยสถานที่อันมีภัยรอบด้านนี้เล่า มาเถิดค่ะ เราพากันไปสู่จันทบรรพตเลยเถิดคะ แล้ว กล่าวคาถาสุดท้ายว่า

บัดนี้ เราทั้งสองจักไปเที่ยวสู่ลำธาร อันมีกระแสสินธุ์อันเกลื่อนกล่น

ด้วยดอกโกสุม ดารดาษไปด้วยบุปผชาติต่างๆ เราทั้งสองจะกล่าววาจา

เป็นที่รักแก่กันและกัน

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อนนางก็ไม่ได้เอาใจออกห่างเรา มิใช่หญิงที่ผู้อื่นจะนำไปได้เหมือนกัน ทรงประชุมชาดกว่า พระราชาใน ครั้งนั้นได้มาเป็นเทวทัต ท้าวสักกะได้มาเป็นอนุรุทธะ จันทากินรี ได้มาเป็นมารดาเจ้าราหุล ส่วนจันทกินนรได้มาเป็นเราตถาคตแล

จบจันทกินนรชาดก

...ขออนุญาตเจ้าของภาพ

....................................

.

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...