พระสุภูติเถระ เดิมเกิดในวรรณะเเพศย์ เป็นบุตรของสุมนเศรษฐีผู้เป็นน้องชายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี อาณาจักรโกศัล (โกศลรัฐ) ท่านเป็นผู้มีลักษณะดีร่างกายสมส่วน ผิวพรรณผ่องใสสะอาด สวยงาม จึงได้นามว่า “สุภูติ” ซึ่งถือว่าเป็นมงคลนาม มีความหลายว่า “ผู้เกิดดีแล้ว” ได้รับการทำนุบำรุงเลี้ยงและให้การศึกษาเป็นอย่างดี ด้วยท่านเกิดในตระกูลมหาเศรษฐี บิดาของท่านมีทรัพย์มาก
ออกบวชคราวฉลองพระเชตวัน
เหตุการณ์ที่ชักนำท่านได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เนื่องมาจากอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้เป็นลุง ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขณะประทับอยู่ ณ ป่าสีตวัน เมืองราชุฤห์ และได้ฟังพระธรรมเทศนา ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาค เพื่อเสด็จกรุงสาวัตถีเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาแล้ว
ก็รีบเดินทางกลับกรุงสาวัตถี ได้จัดซื้อที่ดินอันเป็นราชอุทยานของเจ้าชายเชตราชกุมาร ด้วยวิธีนำเงินมาวางเรียงให้เต็มพื้นที่ตามที่ต้องการ ปรากฏว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐีต้องให้เงินถึง ๒๗ โกฏิ จึงได้พื้นที่พอแก่คววามต้องการ จำนวน ๑๘ กรีส ( ๑ กรีส = ๑๘๕ ศอก) และใช้เงินอีก ๒๗ โกฏิ สร้างพระคันธกุฏิที่ประทับสำหรับพระผู้มีพระภาค และเสนาสนะสำหรับพระสงฆ์สาวก แต่ยังขาดพื้นที่สร้างซุ้มประตูพระอาราม เจ้าชายเชตราชกุมารจึงขอมอบพื้นที่และจัดสร้างให้ โดยขอให้จารึกพระนามของพระองค์ไว้ที่ซุ้มประตูพระอารามนั้นว่า “ เชตวัน” ดังนั้น พระอารามนี้จึงได้ชื่อว่า “ พระเชตวันมหาวิหาร”
ในวันที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จัดฉลองพระวิหารเชตวันนั้น ได้กราบอาราธนาพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ มาเสวยและฉันภัตตาหาร สุภูติกุฎมพี ผู้เป็นหลาน ได้ติดตามไปร่วมพิธีช่วยงานนี้ด้วย ครั้นได้เห็นพระฉัพพรรณรังสี ที่เปล่งออกจากพระวรกายของพระบรมศาสดา สวยงามเรืองรองไปทั่วบริเวณ ทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใส เมื่อมีการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยมีพระพุทธองค์เป็นประมุขเสร็จเรียบร้อยแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมกถาอนุโมทนาทาน สุภูติกุฎมพี ได้ฟังแล้วจึงเกิดศรัทธามากขึ้น จึงกราบทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ครั้นได้อุปสมบทสมความปรารถนาแล้ว ได้ศึกษาพระวินัยปิฏกและพระอภิธรรมปิฏกจนเชี่ยวชาญ จากนั้นได้เรียนพระกรรมฐานจากพระบรมศาสดาแล้วหลีกออกไปบำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ในป่า ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล สิ้นกิเลสสาวะ เป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา
พักกลางแจ้งฝนจึงแห้งแล้ง
พระสุภูติเถระ โดยปกติแล้วมักจะเข้าถึงฌานสมาบัติ เพื่อแสวงหาความสุขอันเกิดจากการสิ้นกิเลส ท่านประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ ประการ คือ
๑. อรณวิหารธรรม คือ เจริญฌานประกอบด้วยเมตตา หรือเป็นอยู่อย่างไม่มีข้าศึก
๒. ทักขิเณยยบุคคล คือ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน
เพราะท่านมีปฏิทานนำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น อันเป็นการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางหนึ่ง แม้แต่พระเจ้าพิมพิสาร เมื่อได้ทรงทราบว่าท่านเป็นผู้มีปกติเข้าฌานที่ประกอบด้วยเมตตาเป็นประจำ ไม่เว้นแม้แต่ในขณะบิณฑบาตก็ยังแผ่เมตตาให้แก่ผู้ถวายบิณฑบาตอย่างทั่วถึง ครั้นเมื่อพระเถระจาริกมาถึงแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสาร จึงอาราธนาให้ท่านจำพรรษาที่แคว้นมคธและท่านก็รับอาราธนาตามนั้น
แต่เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสาร ทรงมีพระราชกิจมาก จึงลืมรับสั่งให้จัดเสนาสนะสถานที่พักถวายท่าน ดังนั้น เมื่อท่านมาถึงแล้วจึงไม่มีที่พัก ท่านจึงต้องพักกลางแจ้ง ด้วยอำนาจแห้งคุณของท่าน จึงทำให้ดินฟ้าอากาศปวนแปร ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ชาวไร่นาปลูกพืชผลไม่ได้ผลผลิต ต้องเดือดร้อนกันไปทั่ว
ความทราบถึงพระเจ้าพิมพิสาร ทรงพิจาณาดูข้อวัตรปฏิบัติของพระองค์ก่อนว่า มีการผิดพลาดในศีลธรรมข้อใดบ้าง แต่ไม่ทรงพบ แล้วพระองค์ทรงระลึกถึงพระสุภูติเถระขึ้นได้ว่า เหตุที่ฝนไม่ตกคงจะเป็นด้วยพระเถระอยู่ในที่แจ้ง ไม่มีที่กำบังแดดและฝน
จึงเป็นเหตุให้ฝนแล้งไปทั่ว ดังนั้น จึงทรงรีบแก้ไขด้วยการรับสั่งให้สร้างกุฏีมุงด้วยใบไม้ถวายพระเถระโดยด่วน เมื่อกุฏีสำเร็จแล้ว จึงได้อาราธนาท่านให้เข้าพักอาศัยอยู่จำพรรษาในกุฏีนั้น
เมื่อพระเถระเข้าสู่กุฏีใบไม้แล้ว ฝนก็เริ่มตกลงมาปรอย ๆ แต่ไม่ตกลงมามาก ซึ่งทำให้ไม่พอแก่ความต้องการของประชาชน
พระเถระมีความประสงค์จะสงเคราะห์แก่โลก ก่อนจะประกาศความไม่มีอันตรายทั้งภายในและภายนอกของท่าน จึงกล่าวคาถาขึ้นว่า
ฉนฺนา เม กฏิกา สุขา นิวาตา วสฺส เทว ยถาสุข จิตฺต เม สุสมาหิต วิมุตฺติ อาตาปิ วิหรามิ วสฺส เทว
คาถานี้มีคำแปลว่า กุฏีของเรามุงดีแล้ว มีเครื่องป้องกันสบายดีแล้ว ฝนจงตกลงมา ตกลงมาตามสบายเถิด จิตของเราตั้งมั่นดี และหลุดพ้นดีแล้ว เราเป็นผู้มีความเพียรอยู่ ฝนจงตกลงมาเถิด
จากนั้นฝนก็ตกลงมาชาวประชากรก็พากันดีใจ ปลูกพืช ผัก ผลไม้ ก็ได้ผลผลิตดีตามต้องการ ความทุกข์ความเดือดร้อนก็หายไป
ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง อรณวิหาร ( เจริญฌานประกอบด้วยเมตตา) และ ทักขิเณยยบุคคล ( เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน )
ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระพุทธศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพานแต่ไม่ปรากฏหลักบานว่านิพพาน ณ ที่ใด คงสัณนิฐานกันว่าคงจะปรินิพพานในพระนครสาวัตถีอันเป็นบ้านเกิดของท่านั่นเอง ....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น