เรื่องมีว่าอุบาสกผู้หนึ่ง ไปฟังธรรมที่วัดเชตวัน ในกรุงสาวัตถี ได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
"บุคคลบางคนให้ทานด้วยตนเองแต่ไม่ชักชวนผู้อื่น เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ย่อมได้รับแต่โภคสมบัติ แต่ไม่ได้รับบริวารสมบัติ ในที่ที่เขาไปเกิด
ส่วนคนบางคนตนเองไม่ให้ทาน แต่เที่ยวชักชวนคนอื่นให้ทาน เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ย่อมได้รับแต่บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้รับโภคสมบัติ ในที่ที่เขาไปเกิด
ส่วนบางคนตนเองให้ทาน ทั้งยังชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไปเขาก็ได้รับทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ ในที่ที่เขาไปเกิด"
อุบาสกผู้นี้เป็นบัณฑิต ได้ฟังดังนั้นก็คิดจะทำบุญให้ได้รับผลครบทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ เขาจึงเข้าไปกราบทูลขอถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น
พระพุทธเจ้าก็รับคำอาราธนา อุบาสกนั้นจึงได้เที่ยวป่าวร้องไปตามชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ชักชวนให้บริจาคข้าวสารและของต่างๆ เพื่อนำมาประกอบอาหารถวาย ก็ได้รับสิ่งของต่างๆมากบ้างน้อยบ้างตามฐานะของผู้บริจาค อุบาสกคนนั้เที่ยวป่าวร้องไปอย่างนี้ จนมาถึงร้านค้าของท่านเศรษฐีผู้หนึ่ง ท่านเศรษฐีเกิดไม่ชอบใจที่เห็นอุบาสกนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนั้น ท่านคิดว่า "อุบาสกคนนี้ เมื่อไม่สามารถถวายอาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งวัดเชตวันได้ ก็ควรจะถวายตามกำลังของตน ไม่ควรจะเที่ยวชักชวนคนอื่นเขาไปทั่วอย่างนี้"
พระเหตุที่คิดอย่างนี้ แม้ท่านทำก็ทำด้วยความไม่เต็มใจ ได้หยิบของให้เพียงอย่างละนิดละหน่อย คือใช้นิ้ว ๓ นิ้วหยิบ ของนั้นจะหยิบได้สักเท่าไร เวลาให้น้ำผึ้งน้ำอ้อยก็ให้เพียงไม่กี่หยด เพราะเหตุที่ท่านมือเบามาก หยิบของให้ทานเพียงนิดหน่อย คนทั้งหลายก็เลยตั้งชื่อว่า "เศรษฐีเท้าแมว" เป็นการเปรียบเทียบความเบาของมือท่านกับความเบาของเท้าแมว
อุบาสกนั้นเป็นคนฉลาด เมื่อรับของจากท่านเศรษฐีจึงได้ยกไว้ต่างหาก ไม่ได้รวมกับของที่ตนรับมาจากผู้อื่น เศรษฐีก็คิดว่า "อุบาสกนี้คงจะเอาเราไปเที่ยวประจานเป็นแน่" เมื่อคิดอย่างนี้ จึงใช้ให้คนรับใช้ติดตามไปดู คนรับใช้ได้เห็นว่าอุบาสกนั้นนำเอาของของท่านเศรษฐีไปแบ่งใส่ลงในหม้อที่หุงต้มอาหารนั้นหม้อละนิด อย่างข้าวสารก็ใส่หม้อละเมล็ดสองเมล็ดเพื่อให้ทั่วถึง พร้อมกับกล่าวให้พรท่านเศรษฐีด้วยว่า "ขอให้ทานของท่านเศรษฐีจงมีผลมาก" คนรับใช้ก็นำความมาบอกนาย ท่านเศรษฐีก็คิดอีกว่า " วันนี้เขายังไม่ประจานเรา พรุ่งนี้เวลานำอาหารไปถวายพระที่วัดเชตวัน เขาคงประจานเรา ถ้าเขาประจานเรา เราจะฆ่าเสีย" ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นท่านจึงเหน็บกริชซ่อนไว้ แล้วไปที่วัดเชตวัน ในเวลาที่อุบาสกและชาวเมืองช่วยกันอังคาสเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อช่วยกันถวายภัตตาหารแล้ว อุบาสกผู้นั้นได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เที่ยวชักชวนมหาชนให้ถวายทานนี้ ขอให้คนทั้งหลายผู้ที่ข้าพระองค์ชักชวนแล้ว บริจาคแล้ว ทั้งผู้บริจาคของมากทั้งผู้บริจาคของน้อย จงได้รับผลมากทุกคนเถิด" ท่านเศรษฐีได้ยินแล้วก็ไม่สบายใจกลัวอุบาสกจะประกาศว่า ท่านเศรษฐีให้ของเพียงหยิบมือเดียว คิดอีกว่า "ถ้าอุบาสกเอ่ยชื่อเรา เราจะแทงให้ตาย" แต่อุบาสกนั้นกลับกราบทูลว่า "แม้ผู้ที่บริจาคของเพียงหยิบมือเดียว ทานของผู้นั้นก็จงมีผลมากเถิด" ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ได้สติ คิดเสียใจว่า "เราได้คิดร้ายล่วงเกินอุบาสกนั้นอยู่ตลอดเวลา แต่อุบาสกนี้เป้นคนดีเหลือเกิน ถ้าเราไม่ขอโทษเขา เราก็เห็นจะได้รับกรรมหนัก" คิดดังนี้แล้วจึงเข้าไปหมอบแทบเท้าของอุบาสกนั้น เล่าเรื่องให้ฟังพร้อมทั้งขอโทษ อุบาสกยกโทษให้ พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นกิริยาอาการของท่านเศรษฐีอย่างนั้นก็ตรัสถามขึ้น เมื่อทราบแล้วจึงตรัสว่า "ขึ้นชื่อว่าบุญแล้ว ใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย ทานที่บุคคลถวายแล้วแก่ภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานเช่นนี้ ไม่ควรดูหมิ่นว่า บุญนี้เล็กน้อย คนที่ฉลาดทำบุญอยู่ ย่อมเต็มด้วยบุญ เหมือนหม้อน้ำที่เปิดปากไว้ ย่อมเต็มด้วยน้ำฉันนั้น"
ในตอนท้ายพระพุทธองค์ตรัสพระคาถาว่า "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญเล็กน้อยว่าจะไม่มาถึง แม้หม้อน้ำก็ยังเต้มด้วยหยดน้ำที่ตกลงมาฉันใด ผู้ฉลาดเมื่อสะสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ก็ย่อมเต็มด้วยบุญฉันนั้น"
ท่านเศรษฐีได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระธรรมเทศนาของพรผู้มีพระภาคเจ้านั้นประกอบด้วยประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ถ้าเราหมั่นฟังอยู่เสมอและฟังด้วยความตั้งใจ ก็ย่อมได้ปัญญาดังเศรษฐีนี้เป็นตัวอย่าง
จากเรื่องของท่านเศรษฐีผู้นี้ ทำให้ทราบว่าการให้ทานนั้น เป็นเหตุให้ได้รับโภคสมบัติ การชักชวนผู้อื่นให้ทานนั้น เป็นเหตุให้ได้รับบริวารสมบัติในที่ที่ตนไปเกิด
เพราะฉะนั้น เมื่อใครเขาทำบุญหรือใครเขาชักชวนใครๆ ทำบุญ ก็อย่าได้ขัดขวางห้ามปรามเขา เพราะการทำเช่นนี้เป็นบาป เป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลถึง ๓ ฝ่าย คือตนเองเกิดอกุศลจิตก่อน ๑ ทำลายลาภของผู้รับ ๑ ทำลายบุญของผู้ให้ ๑
และจากเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นชัดว่า สังฆทานนั้นมีผลมาก และมีอานิสงส์มาก การที่กิเลสคือความตระหนี่ได้ถูกขัดเกลาออกไป ทำให้จิตใจที่หนาอยู่ด้วยกิเลสเบาบางลงไปได้ชั่วขณะ นี่แหละ คืออานิสงส์ที่แท้จริงของบุญ ยิ่งกิเลสถูกขัดเกลาไปได้มากเท่าไร ทานของผู้นั้นก้มีอานสงส์มากเท่านั้น
อรรถกถา ขุททกนิกาย
คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น