เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับในป่าไม้สีเสียด เมืองเสตัพยะ ทรงปรารภถึงพระภิกษุที่ชื่อว่าจุลกาลและมหากาล จึงตรัสพระคาถาที่มีบาทหนึ่งว่า สุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ
เรื่องมีอยู่ว่า ในเมืองเสตัพยะ มีกุฎุมพีสามพี่น้อง กุฎุมพีที่เป็นพี่ชายใหญ่ชื่อว่า มหากาล คนกลางชื่อว่า มัชฉิมกาล ส่วนคนน้องชื่อว่า จุลกาล ทั้งสามช่วยกันทำการค้าโดยที่พี่มหากาลและจุลกาลจะคุมเกวียนห้าร้อยเล่มไปสรรหาสินค้ามาให้มัชฉิมกาลขาย
วันหนึ่ง สองพี่น้องคุมสินค้าเดินทางมาตามปกติ พอถึงกรุงสาวัตถีก็แวะพักอยู่ในที่ไม่ไกลจากเชตวันวิหาร ตกเย็น มหากาลเห็นอริยสาวกชาวสาวัตถีถือดอกไม้และของหอมเดินไปยังวิหารเพื่อฟังธรรมจึงได้ตามพวกเขาไปและนั่งต่อท้ายกลุ่มชนในวิหาร เมื่อฟังธรรมจบ จิตของมหากาลที่ถูกฟอกโดยลำดับด้วยธรรมตามที่พระศาสดานำมาแสดงก็ใคร่บวช ดังนั้นหลังจากที่การแสดงพระธรรมเทศนาจบจึงเข้าไปทูลขอการบวชจากพระพุทธเจ้า ซึ่งก็ตรัสบอกให้ไปลาญาติเสียก่อน
มหากาลจึงกลับไปบอกลาจุลกาล และแม้ว่าจะถูกทัดทานอย่างไร ท่านก็ยังยืนกรานว่าจะบวช ฝ่ายจุลกาลนั้นเมื่อเห็นว่าทัดทานไม่สำเร็จ จึงพลอยบวชตามด้วยความคิดที่ว่าจะหาโอกาสพาพี่ชายลาสิกขา
ภายหลังพระมหากาลไปขอกรรมฐานจากระพุทธเจ้า แล้วก็เข้าไปฝึกตนในป่าช้า พิจารณาอสุภกรรมฐานหรือการตามเห็นความไม่งามในกาย ในไม่ช้าก็บรรลุอรหันต์
ต่อมา พระศาสดาพาเหล่าภิกษุซึ่งรวมทั้งพระมหากาลและจุลกาลด้วยนั้นจาริกไปตามลำดับจนกระทั่งถึงเมืองเสตัพยะอันเป็นเมืองที่พระทั้งสองเคยอยู่ พระจุลกาลนั้นในตอนที่เป็นฆราวาสมีภรรยาสองคน ส่วนพระมหากาลมีแปดคน ฝ่ายอดีตภรรยาของพระจุลกาลเมื่อทราบข่าวการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าและพระอดีตสามีตนก็คิดจะจับพระสึก จึงนิมนต์พระพุทธเจ้าและเหล่าภิกษุให้ไปรับภัตรในเรือนตน
โดยปกติแล้ว หากมีผู้ไม่คุ้นเคยนิมนต์พระพุทธเจ้าไปรับภัตร จะมีการส่งพระไปก่อนรูปหนึ่งเพื่อบอกการปูอาสนะ คือ ปูอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าตรงกลาง ปูอาสนะสำหรับพระสารีบุตรที่ข้างขวา สำหรับพระโมคคัลลานะที่ข้างซ้าย ส่วนภิกษุที่เหลือ ปูต่อๆออกไปจากทั้งสองข่างนั้น
พระมหากาลได้ส่งพระจุลกาลไปบอกวิธีปูอาสนะแก่คนในครอบครัวเก่าของท่าน อดีตภรรยาของพระจุลกาลจึงได้โอกาสช่วยกันทึ้งผ้ากาสาวะออกจากกายพระแล้วสวมเสื้อผ้าอย่างคฤหัสถ์ให้แทนจากนั้นจึงส่งจุลกาลไปทูลเชิญพระพุทธเจ้า
ฝ่ายอดีตภรรยาทั้งแปดของพระมหากาลเห็นว่าจุลกาลสึกเพราะอุบายนั้นก็เอาอย่าง วันรุ่งขึ้นจึงนิมนต์พระพุทธเจ้ารับภัตรที่เรือนตนบ้าง แต่นางทั้งแปดไม่ได้โอกาสที่จะจับพระสึก ดังนั้น หลังจากที่พระพุทธเจ้าฉันเสร็จ จึงออกอุบายทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปก่อน ขอให้พระมหากาลเป็นผู้กระทำอนุโมทนาต่องานบุญของพวกตนแทนพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงรับ และพาเหล่าภิกษุออกจากเรือนไป
พอพระพุทธเจ้าองค์ทรงดำเนินพ้นประตูเรือน เหล่าภิกษุก็พากันกล่าวโทษพระองค์
“ทรงทำอะไรนี่ ไม่ทรงทราบหรือว่านี่เป็นอันตรายต่อการบวชของพระมหากาล ก็เมื่อวาน พระจุลกาลเพิ่งถูกพวกอดีตเมียจับสึกไม่ใช่หรือ”
พระพุทธเจ้าเมื่อทรงทราบคำว่ากล่าวดังนั้น จึงตรัสว่าพระมหากาลไม่เหมือนกับจุลกาล พระมหากาลเป็นผู้ตามเห็นความไม่งามในกาย แต่พระจุลกาลนั้นไม่ใช่ แล้วจึงตรัสพระคาถาเหล่านี้
"มารย่อมรังควาญบุคคลผู้ตามเห็นอารมณ์ว่างามโดยปกติ
ผู้ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย ผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ
ผู้เกียจคร้าน ผู้มีความเพียรต่ำ
ราวกับลมรังควาญต้นไม้ที่อ่อนแออยู่
มารย่อมไม่รังควาญบุคคลผู้ตามเห็นอารมณ์ว่าไม่งามโดยปกติ
ผู้สำรวมดีแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ผู้รู้จักประมาณในโภชนะ
ผู้มีศรัทธา ผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว
ราวกับลมรังควาญภูเขาที่เป็นหินไม่ได้"
สำหรับคำอธิบายบทต่างๆ อรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้ดังนี้
ผู้ตามเห็นอารมณ์ว่างาม หมายถึงผู้ที่เห็นรูปขันธ์แล้วคอยคิดชมส่วนต่างๆของรูปเช่น ตา มือ หนัง สีผิว เป็นต้น ว่างาม
ในอินทรีย์ทั้งหลาย หมายถึงในอินทรีย์หกคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การไม่สำรวมระวังอินทรีย์ทั้งหกนั้น
ชื่อว่าผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ เพราะความไม่รู้จักประมาณในด้านต่างๆคือ ไม่รู้จักประมาณในการแสวงหา ไม่รู้จักประมาณในการรับ ไม่รู้จักประมารในการบริโภค
ยังมีอีกนัยหนึ่งค่ะ ท่านว่ายังหมายถึงผู้ไม่รู้จักประมาณในการพิจารณา ไม่รู้จักประมาณในการสละ ท่านอธิบายต่อว่าหมายถึงไม่รู้จักว่าของนี้เป็นของที่ถูกต้องตามธรรมหรือไม่ (ตรงนี้น่าจะหมายถึงว่าไม่มีการพิจารณาให้เห็นความถูกต้องตามธรรมของโภชนะนั้นจนควรรับโภชนะหรือไม่ หรือ แม้พิจารณาเห็นว่าโภชนะนั้นไม่ถูกต้องตามธรรมก็ยังไม่สละ แต่กลับรับโภชนะนั้นนะคะ)
ชื่อว่าผู้เกียจคร้าน คือความที่ปล่อยให้อกุศลวิตกคือกามวิตก พยาบาทวิตก และ วิหิงสาวิตก ครอบงำจิต
ซึ่งสัทธา หมายถึงศรัทธาที่เป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ
ผู้มีความเพียรและประคองความเพียรนั้นไว้
ความหมายของความเกียจคร้านและความเพียรในทางพุทธศาสนาต่างจากความหมายที่ เราใช้กันโดยทั่วไป ดังที่ตรัสไว้ในจรสูตร ( ขุ.อิติ.(แปล) ๒๕/๑๑๐/๔๙๐-๔๙๑) ว่า
“ ถ้ากามวิตก (ความตรึกในกาม) พยาบาทวิตก (วิตกในทางพยาบาท) หรือ วิหิงสาวิตก (วิตกในทางเบียดเบียน) เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังเดิน และภิกษุนั้นรับวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความไม่มี ภิกษุนั้นแม้กำลังเดิน ผู้เป็นอย่างนี้ ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้เกียจคร้าน’ มีความเพียรย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป”
ส่วนในอิริยาบถอื่น คือ ยืน, นั่ง, นอน ตื่นอยู่ ก็ตรัสในทำนองเดียวกันค่ะ ส่วนผู้ที่กระทำในทางตรงข้ามในอิริยาบถทั้งสี่ ตรัสเรียกว่าผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายใจต่อเนื่องตลอดไป
ฝ่ายภรรยาทั้งแปดของพระมหากาล เมื่อได้โอกาสก็ลุกขึ้นรายล้อมพระเอาไว้ พากันถามว่า ท่านลาใครแล้วจึงไปบวช ท่านจะเป็นคฤหัสถ์หรือไม่เป็น แล้วก็พยายามจะเข้ามาทึ้งผ้ากาสาวะออกจากกาย
พระมหากาลกำหนดอาการของหญิงเหล่านั้นแล้ว ก็เหาะขึ้น ออกจากเรือนไปโดยทางอากาศเพื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อมาถึง ก็ชื่นชมวัณณะของพระองค์ที่ดูประดุจทอง
แล้วลงมาหมอบแทบพระบาท ในขณะที่พระองค์ตรัสพระคาถาเหล่านี้จบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น