23 พฤศจิกายน 2561

#พระอานนท์ พุทธอุปัฎฐาก

พระอานนท์ เป็นสหชาติและพุทธอุปัฏฐากของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระสาวกอื่นถึง 5 ประการ และเป็นพหูสูต เนื่องจากเป็นผู้ทรงจำพระสูตรที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ และเป็นผู้ที่สาธยายพระสูตร จนทำให้ปฐมสังคายนาสำเร็จเรียบร้อย
กำเนิดพระอานนท์

พระอานนท์ ก่อนจะผนวชนั้น ทรงเป็นเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ โดยท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระพุทธบิดา พระมารดาของท่านทรงพระนามว่า มฤคี พระอานนท์จึงถือว่าเป็นลูกผู้น้องของเจ้าชายสิทธัตถะ และเป็นสหชาติของเจ้าชายสิทธัตถะ (สหชาติ คือ เกิดใน วัน เดือน ปีเดียวกัน กับเจ้าชายสิทธัตถะ)มีอยู่ด้วยกัน 7 ประการ ได้แก่
พระนางพิมพาราหุลมาตา (พระนางพิมพา ต่อมาได้เป็นอัครมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะและให้กำเนิดพระราหุลกุมาร)
ฉันนะอำมาตย์(บุตรมหาดเล็ก ซึ่งเป็นผู้ตามเสด็จในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออก บรรพชาและต่อมาตามเสด็จออกบวชจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์)
กาฬุทายิอำมาตย์(บุตรของอำมาตย์ ต่อมาได้ตามเสด็จออกบรรพชาและสำเร็จอรหันต์)
พระอานนท์(ตามศักดิ์ถือเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระพุทธเจ้า ต่อมาตามเสด็จออกบรรพชาจนสำเร็จอรหันต์และเป็นพระมหาพุทธอุปัฏฐาก)
กันฐกอัศวาร (เป็นม้าทรงที่เจ้าชายสิทธัตถะใช้เสด็จออกจากพระนครเพื่อบรรพชา)
ต้นอัสสัตถะ(ต่อมาเป็นมหาโพธิบัลลังก์ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับในวันตรัสรู้)
ขุมทรัพย์ 4 ทิศ(อันมีนาม สังขนิธี เอลนิธี อุบลนิธี บุณฑริกนิธี ซึ่งหากพระองคดำรงเพศฆราวาสจะมีพระราชทรัพย์ในพระคลังมากมายมหาศาล)

เจ้าชายอานนท์ออกผนวช

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ในพรรษาที่ 2 ได้เสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดา และพระญาติวงศ์ศากยะ ณ นครกบิลพัศดุ์ ในครั้งนั้นบรรดาศากยราชได้ทรงเลื่อมใสศรัทธา ต่างได้ถวายพระโอรสของตนให้ออกบวชตามเสด็จ ยังเหลือแต่ศากยกุมารเหล่านี้คือ เจ้าชายมหานามะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ เจ้าชายอานนท์ และเจ้าชายเทวทัตต์ ครั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่กรุงกบิลพัศดุ์พอสมควรแก่กาลแล้วก็เสด็จจาริกต่อไปยังที่อื่น
ศากยกุมารเหล่านี้ได้ถูกพระประยูรญาติวิจารณ์ว่า เหตุที่ไม่อกผนวชตามเสด็จนั้น คงจะไม่ถือว่าตนเองเป็นพระประยูรญาติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระมัง เจ้าชายมหานามะได้ฟังดังนั้นเกิดละอายพระทัย จึงได้ไปปรึกษากับเจ้าชายอื่นๆ ในที่สุดตกลงกันว่าจะออกผนวชตามเสด็จ โดยเจ้าชายมหานามะไม่อาจบวชได้ เนื่องจากจะต้องเป็นกษัตริย์ต่อไป จึงให้พระอนุชาคือเจ้าชายอนุรุทธะออกผนวชแทน ศากยกุมารทั้ง 6 องค์ มีพระอานนท์ เป็นต้นรวมทั้งอุบาลี ซึ่งเป็นกัลบกด้วยเป็น 7 ได้ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปเพื่อขอบรรพชาอุปสมบท และได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่อนุปิยอัมพวัน เขตอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ แล้ว กราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า พวกหม่อมฉันเป็นเจ้าศากยะยังมีมานะ ความถือตัวอยู่ อุบาลีผู้นี้เป็น นายภูษามาลา เป็นผู้รับใช้ของหม่อมฉันมานาน ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้บวชก่อนเถิด พวกหม่อมฉันจักทำการอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ ความถือตัวว่าเป็นศากยะ ของพวกหม่อมฉันผู้เป็นศากยะจักเสื่อมคลายลง”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน ให้ ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง ฯ พระอุปัชฌายะของท่าน พระอานนท์ ชื่อพระเวลัฏฐสีสเถระ
พระอานนท์บรรลุโสดาบัน

เมื่อศากยราชกุมารทั้ง 6 และอุบาลีได้ผนวชแล้ว ท่านพระภัททิยะได้เป็นพระอรหัตถ์เตวิชโช โดยระหว่างพรรษานั้นนั่นเอง ท่านพระอนุรุทธเป็นผู้มีจักษุเป็นทิพย์ ภายหลังบรรลุพระอรหัตผล พระภคุเถระและพระกิมพิลเถระ ภายหลังเจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัต พระเทวทัตได้บรรลุฤทธิ์อันเป็นของปุถุชน
สำหรับท่านพระอานนท์ครั้นอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาธรรมจากสำนักของท่านพระปุณณมันตานีบุตร ไม่นานก็ได้สำเร็จชั้นโสดาบัน ในกาลต่อมาท่านได้เล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตร มีอุปการคุณต่อท่านและพวกภิกษุผู้นวกะมาก ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้กล่าวสอนท่านว่า
"ดูกรอานนท์ เพราะถือมั่นจึงมีตัณหา มานะ ทิฐิว่าเป็นเรา เพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีตัณหามานะ ทิฐิ ว่าเป็นเรา เพราะถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฐิ ว่าเป็นเรา เพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฐิว่า เป็นเรา เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มสาวมีนิสัยชอบแต่งตัวส่องดูเงาของตนที่กระจกหรือที่ภาชนะน้ำอันใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะยึดถือจึงเห็น เพราะไม่ยึดจึงไม่เห็น ฉันใด เพราะถือมั่นรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฐิ ว่า เป็นเราเพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหามานะ ทิฐิว่า เป็นเรา ฉันนั้นเหมือนกัน”
จากนั้น ท่านพระอานนท์เล่าต่อไปว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้ถามท่านว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยงท่านตอบว่าไม่เที่ยง และในตอนสุดท้ายของการสอนธรรมครั้งนี้ ท่านบอกแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า ท่านได้ตรัสรู้ธรรม ซึ่งหมายถึงได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
พระอานนท์ได้รับแต่งตั้งเป็นพุทธอุปัฎฐาก

กุฎิพระอานนท์ ใกล้กับพระมูลคันธกุฎี บนยอดเขาคิชฌกูฏิ เมืองราชคฤห์
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ทรงตรัสรู้แล้วถึง 20 พรรษา แต่ยังไม่มีผู้ใดเป็นพุทธอุปัฎฐากประจำ ซึ่งได้สร้างความลำบากแก่พระองค์เป็นอย่างมาก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า บัดนี้พระองค์ทรงพระชราแล้ว ภิกษุผู้อุปัฏฐากพระองค์บางรูปทอดทิ้งพระองค์ไปตามทางที่ตนปรารถนา บางรูปวางบาตรจีวรของพระองค์ไว้บนพื้นดินแล้วเดินจากไปเสีย จึงขอให้พระสงฆ์เลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ คณะสงฆ์เห็นว่าควรจะมีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งคอยสนองงานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในครั้งนั้นพระสงฆ์ทั้งหลายนำโดยพระสารีบุตรมหาเถระ ได้กราบทูลขอเป็นพุทธอุปัฎฐาก แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามเสีย แม้พระเถระรูปอื่นๆ จะกราบทูลเสนอตัวเป็นพุทธอุปัฏฐาก แต่พระพุทธองค์ก็ทรงห้ามเสียทุกรูป คงเว้นแต่พระอานนท์ที่มิได้กราบทูลด้วยถ้อยคำใด พระภิกษุรูปอื่นได้เตือนให้พระอานนท์ขอโอกาส แต่ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะมีความหมายอะไรเล่า พระบรมศาสดาไม่ทรงเห็นข้าพเจ้าเลยกระนั้นหรือ? ก็หากพระองค์ทรงพอพระทัยในตัวข้าพเจ้าแล้วไซร้ พระองค์ก็คงตรัสเองว่า อานนท์เธอจงอุปัฏฐากเราเถิด"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า ไม่มีผู้ใดจะสามารถให้ท่านพระอานนท์เกิดความอุตสาหะขึ้นมาได้เลย แต่เมื่อท่านพระอานนท์รู้แล้ว ท่านจักอุปัฏฐากพระองค์เอง เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้ยินพระดำรัสนั้น ก็ทราบทันทีว่า พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก จึงได้พูดตักเตือนให้ท่านทูลขอตำแหน่งพุทธุปัฏฐากจากพระองค์
พระอานนท์ขอประทานพร 8 ประการ

ดังนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้กราบทูลขอพร 8 ประการ หากพระองค์ทรงประทานพร 8 ประการนี้ ท่านจึงจะรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐากท่านกราบทูลขอพร ว่า
ถ้าจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
ถ้าจักไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
ถ้าจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
ถ้าจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้
ถ้าพระองค์จักไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้
ถ้าข้าพระองค์จะพาบริษัทซึ่งมาแต่ที่ไกลเพื่อเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาแล้ว
ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น
ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์จักเสด็จมาตรัสบอกพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีก
เมื่อข้าพระองค์ได้รับพร 8 ประการนี้ แหละจึงจักเป็นพุทธุปัฏฐากของพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามถึงโทษและอานิสงส์ที่ทูลขอพร 8 ประการนี้ ท่านได้กราบทูลว่า ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ 1-4 ก็จักมีคนพูดได้ว่า ท่านรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก เพื่อหวังลาภสักการะอย่างนั้น ๆ เพื่อป้องกันปรวาทะอย่างนั้น ท่านจึงได้ทูลขอพร 4 ข้อนี้ ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ 5-7 ก็จักมีคนพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระศาสดาไปทำไม เพราะกิจเท่านี้พระองค์ก็ยังไม่ทรงสงเคราะห์เสียแล้ว และหากท่านไม่ทูลขอพรข้อ 8 เมื่อมีคนมาถามท่านลับหลัง พระพุทธองค์ว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสที่ไหน? ถ้าท่านตอบเขาไม่ได้ เขาก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์เฝ้าติดตามพระผู้มีพระภาคเหมือนเงาของพระองค์อยู่เป็นเวลานาน ทำไมเรื่องเท่านี้ยังไม่รู้?
ครั้นท่านได้ทูลชี้แจงแสดงโทษในข้อที่ไม่ควรได้ และอานิสงส์ในข้อที่ควรได้อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรงประทานพรตามที่พระอานนท์กราบทูลขอทุกประการ ท่านพระอานนท์จึงได้รับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐาก และได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เป็นเวลา 25 พรรษา
กิจในหน้าที่ของพุทธอุปัฏฐาก

ท่านพระอานนท์ได้รับตำแหน่ง ท่านก็ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดี กิจที่ท่านทำเป็นประจำแก่พระพุทธเจ้าคือ
ถวายน้ำ 2 อย่าง คือน้ำเย็นและน้ำร้อน
ถวายไม้สีฟัน 3 ขนาด
นวดพระหัตถ์และพระบาท
นวดพระปฤษฏางค์
ปัดกวาดพระคันธกุฏี และบริเวณพระคันธกุฏี
ในตอนกลางคืนท่านกำหนดเวลาได้ว่า เวลานี้พระพุทธองค์ทรงต้องการอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเข้าเฝ้า เมื่อเฝ้าเสร็จก็ออกมาอยู่ยาม ณ ภายนอกพระคันธกุฏีในคืนหนึ่ง ๆ ท่านถือประทีปด้ามใหญ่เวียนรอบบริเวณพระคันธกุฏีถึง 8 ครั้ง ท่านคิดว่าหากท่านง่วงนอน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านจะไม่สามารถขานรับได้ ฉะนั้น จึงไม่ยอมวางประทีปตลอดทั้งคืน
ในบรรดาพระภิกษุผู้เคยอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาแล้ว ไม่มีใครทำได้เหมือนท่าน เพราะพระภิกษุเหล่านั้นไม่รู้พระทัยของพระพุทธองค์ดี แต่พระอานนท์ท่านรู้พระทัยชองพระบรมศาสดาดี จึงอุปัฏฐากได้นาน ด้วยเหตุนี้ในคราวที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานพระองค์ได้ตรัสกับท่านว่า
"อานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายธรรม วจีกรรมมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หากประมาณมิได้มาช้านานแล้ว เธอได้ทำบุญไว้มากแล้วอานนท์ เธอจงประกอบความเพียรเถิด จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน"
แล้วตรัสประกาศเกียรติคุณของพระอานนท์ให้ปรากฏแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด ที่มีมาแล้วในอดีตกาลภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นอย่างยิ่งก็เหมือนกับอานนท์ของเราเท่านั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่จักมีอนาคตกาล ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นอย่างยิ่งก็เพียงอานนท์ของเราเท่านั้น อานนท์เป็นบัณฑิตย่อมรู้ว่า นี่เป็นกาลเพื่อจะเข้าเฝ้าพระตถาคตนี่เป็นกาลของพวกภิกษุ นี่เป็นกาลของพวกภิกษุณี นี่เป็นกาลของพวกอุบาสก นี่เป็นกาลของพวกอุบาสิกา นี่เป็นกาลของพระราชา นี่เป็นกาลของพวกอำมาตย์ราชเสวก นี่เป็นกาลของพวกเดียรถีย์ นี่เป็นกาลของพวกสาวกของพวกเดียรถีย์”
พระอานนท์ผู้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุรูปอื่น

พระอานนท์ได้รับการสรรเสริญจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะ (เลิศ) 5 ประการคือ
มีสติ รอบคอบ
มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ
มีความเพียรดี
เป็นพหูสูต
เป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
ภิกษุอื่น ๆ ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะก็ได้รับเพียงอย่างเดียว แต่พระอานนท์ท่านได้รับถึง 5 ประการ นับว่าหาได้ยากมาก ความเป็นพหูสูตของพระอานนท์นั้นนับว่าเป็นคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา กล่าวคือภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว มีภิกษุบางพวกกล่าวติเตียนพระศาสนา ทำให้พระมหากัสสปเถระเกิดความสังเวชในใจว่า ในอนาคตพวกอลัชชีจะพากันกำเริบ ย่ำเหยียบพระศาสนา จำต้องกระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกให้เป็นหมวดหมู่ จึงได้นัดแนะพระภิกษุสงฆ์ให้ไปประชุมกันที่กรุงราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยตลอดเข้าพรรษา
การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งนั้นได้มีพระมหาเถระ 3 รูปที่มีส่วนสำคัญในการสังคายนา กล่าวคือ พระอานนท์เถระ ผู้เป็นพุทธอุปฐาก ซึ่งได้รับประทานพรข้อที่ 8 ทำให้ท่านเป็นผู้ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก ท่านจึงได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม ดังบทสวดคาถาต่าง ๆ มักขึ้นต้นด้วย “เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา.....” อันหมายถึง “ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า”
พระอุบาลี ซึ่งเคยเป็นพนักงานภูษามาลาในราชสำนักกรุงกบิลพัสดุ์ และออกบวชพร้อมศากยราชกุมาร ท่านได้จดจำพระวินัยเป็นพิเศษ มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฏกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวินัยแก่พระภิกษุทั้งหลาย และสรรเสริญพระวินัยและสรรเสริญพระอุบาลีเป็นอันมาก ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเรียนวินัยจากพระอุบาลี ในการสังคายนาครั้งนี้ท่านจึงได้รับหน้าที่วิสัชชนาเกี่ยวกับพระวินัย
พระมหากัสสปเถระ ซึ่งเป็นเลิศทางธุดงวัตรและเป็นผู้ชักชวนให้สังคายนาพระธรรมวินัย เป็นผู้ถามทั้งพระธรรมและพระวินัย
พระอานนท์มีปัญญา มีความจำดี ท่านได้ฟังครั้นเดียว ไม่ต้องถามอีกก็สามารถจำได้เป็นจำนวนตั้ง 60,000 บาท 15,000 คาถา โดยไม่เลอะเลือน ไม่คลาดเคลื่อน เหมือนบุคคลเอาเถาวัลย์มัดดอกไม้ถือไป เหมือนจารึกอักษรลงบนแผ่นศิลา เหมือนน้ำมันใสของราชสีห์ที่บุคคลใส่ไว้ในหม้อทองคำ ฉะนั้น
ด้วยเหตุที่ท่านขยันเรียน และมีความจำดีนี่เอง ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูต เป็นธรรมภัณฑาคาริก ทรงจำพระพุทธพจน์ได้ถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ คือท่านเรียกจากพระพุทธองค์ 82,000 พระธรรมขันธ์และเรียนจากเพื่อนสหธรรมมิกอีก 2,000 พระธรรมขันธ์ แม้ท่านจะเป็นเพียงพระโสดาบันก็ตาม แต่ท่านก็มีปัญญาแตกฉานในปฏิสัมภิทา มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องปฏิจจสมุปบาท จึงสามารถสั่งสอนศิษย์ได้มากมาย ศิษย์ของท่านส่วนมากก็เป็นพหูสูตเช่นเดียวกับท่าน ว่ากันว่า ท่านพูดได้เร็วกว่าคนธรรมดา 8 เท่า คือคนเราพูด 1 คำ ท่านพูดได้ 8 คำ
ท่านมีรูปงาม น่าเลื่อมใส น่าทัศนายิ่งนัก ยิ่งเป็นพหูสูตด้วย ก็ยิ่งทำให้สังฆมณฑลนี้งดงามยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีบริษัททั้ง 4 นิยมไปหาท่านกันมาก ข้อนี้สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสยกย่องท่านว่า ท่านมีอัพภูตธรรม คือคุณอันน่าอัศจรรย์ 4 ประการ คือ ถ้าภิกษุบริษัทภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัทเข้าไปหาท่าน พอได้เห็นรูปเท่านั้นก็มีความยินดี พอได้ฟังธรรมเทศนาของท่านก็ยิ่งมีความยินดี แม้เมื่อท่านแสดงธรรมจบลงแล้ว ก็ยังฟังไม่อิ่ม แล้วทรงเปรียบเทียบท่านซึ่งมีคุณอันน่าอัศจรรย์นี้กับพระเจ้าจักรพรรดิ คือว่า พระเจ้าจักรพรรดินั้นเมื่อขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท และสมณบริษัทเข้าเฝ้า พอได้เห็นก็มีความยินดี ครั้นได้ฟังพระราชดำรัส ก็ยิ่งมีความยินดี แม้ตรัสจบแล้วก็ยังไม่อิ่ม
นอกจากหน้าที่อุปัฏฐากประจำองค์อย่างใกล้ชิดแล้ว ท่านพระอานนท์ ยังปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า งานรับสั่ง เช่น ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์รับสั่งให้ท่านไปประกาศคว่ำบาตรแก่วัฑฒลิจฉวี เพราะเหตุที่วัฑฒลิจฉวีได้สมรู้ร่วมคิดกับพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ กล่าวใส่ร้ายท่านพระทัพพมัลลบุตร ว่า เสพเมถุนธรรมกับชายาเดิมของท่าน ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านนำนางยักษิณีเข้าเฝ้า เพื่อระงับการจองเวรจองผลาญกันและกัน ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านเรียกพระภิกษุสงฆ์ที่นครเวสาลีเข้าประชุมเพื่อฟังอานาปานสติ ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านแจ้งข่าวแก่พวกมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินาราว่า พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานที่ป่าไม้สาละ ณ ราตรีนั้น เป็นต้น
งานมอบหมาย เช่น ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเลื่อมใสศรัทธา ทรงพระประสงค์จะถวายนิตยภัตรแก่พระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำทุกวัน พระพุทธองค์ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับนิตยภัตรประจำในที่แห่งเดียว เพราะมีคนจำนวนมากต้องการจะทำบุญกับพระพุทธเจ้า จึงหวังจะให้เสด็จไปหาตนกันทั้งนั้น เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบดังนั้น จึงทูลขอพระภิกษุ 1 รูปให้ไปรับนิตยภัตรของพระองค์ พระผู้มีพระภาค จึงทรงมอบภาระนี้ให้แก่ท่านพระอานนท์ เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว ท่านก็ไปรับเป็นประจำ แม้ว่าในตอนหลัง ๆ พระเจ้าปเสนทิโกศล จะทรงลืมสั่งให้คนจัดนิตยภัตรถวายไปบ้าง แต่ท่านก็ยังไปอยู่เป็นประจำ
อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระประสงค์จะให้พระนางมัลลิกาเทวี และพระนางวาสภขัตติยา พระมเหสีของพระองค์ได้ศึกษาธรรม จึงทูลนิมนต์ให้พระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์ 500 รูป ไปสอนธรรมแก่พระมเหสีทั้งสองพระพุทธองค์ตรัสบอกข้อขัดข้องดังกล่าวแล้วข้างต้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้ภิกษุรูปอื่นไปแทน พระพุทธองค์ก็มอบหมายให้ท่านพระอานนท์รับภาระหนี้ และท่านก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน และในตอนที่จะเสด็จปรินิพพาน ได้ทรงมอบหมายให้ท่านลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้วในฐานหัวดื้อไม่ยอมเชื่อฟังคำตักเตือนของพระอัครสาวก และเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วท่านก็ได้ไปลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ สำเร็จตามที่ทรงมอบหมายไว้
ความภักดีของพระอานนท์ที่มีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระอานนท์นั้นเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ท่านยอมสละชีพของท่านเพื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ อย่างเช่น เมื่อพระเทวทัตได้วางอุบายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมอมเหล้าช้างนาฬาคิรี ซึ่งกำลังตกมัน แล้วปล่อยออกไปในขณะที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต โดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เมื่อช้างนาฬาคิรีวิ่งเข้ามาทางพระพุทธองค์ พระอานนท์จึงได้เดินล้ำมาเบื้องหน้าพระศาสดา ด้วยคิดหมายจะเอาองค์ป้องกันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพระพุทธดำรัสให้พระอานนท์หลีกไป อย่าป้องกันพระองค์เลย แต่พระอานนท์ได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นดวงประทีปของโลก เป็นที่พึ่งของโลก ของพระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อย ขอให้ข้าพระองค์ได้สละสิ่งซึ่งมีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งที่มีค่ามาก เหมือนสละกระเบื้อง เพื่อรักษาซึ่งแก้วมณีเถิดพระเจ้าข้าฯ”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า
“อย่าเลยอานนท์ บารมีเราได้สร้างมาดีแล้ว ไม่มีใครสามารถปลงชีวิตของตถาคตได้ ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉานหรือมนุษย์หรือเทวดามารพรหมใด ๆ”
ในขณะนั้นช้างนาฬาคิรีวิ่งมาจนจะถึงพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์จึงได้แผ่พระเมตตาจากพระหฤทัย ซึ่งไปกระทบกับใจอันคลุกอยู่ด้วยความมึนเมาของช้างนาฬาคิรีได้ ช้างใหญ่หยุดชะงัก ใจสงบลงและหมอบลงแทบพระบาท พระพุทธองค์ทรงใช้พระหัตถ์ลูบที่ศีรษะพญาช้าง พร้อมกับตรัสว่า
“นาฬาคิรีเอ๋ย เธอกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ เพราะกรรมอันไม่ดีของเธอในชาติก่อนแต่งให้ เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน”
ช้างนาฬาคิรีน้ำตาไหลพราก น้อมรับฟังพระพุทธดำรัสด้วยอาการดุษฎี (ในคัมภีร์อนาคตวงศ์กล่าวว่า ในอนาคตกาลนับจากพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้าไป จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้อีกหลายพระองค์ และช้างนาฬาคิรี จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระติสสพุทธเจ้า)

#แชร์เป็นธรรมทาน

...........................

.

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...