20 พฤศจิกายน 2561

#มงคลสูตร มงคลแห่งชีวิต

ในสมัยพุทธกาล ณ พระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งหนึ่งในยามเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนพระธรรมเทศนาแก่เหล่าเทวดา ก็มีเทวดาองค์หนึ่งมีรัศมีงดงามมาก ได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ หลังจากได้ทำการอภิวาทถวายความเคารพแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็ ยืนอยู่ข้างหนึ่งแล้วได้ถามคำถามกับสมเด็จพระภวควัน แปลเป็นไทยว่าใจความว่า

"เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ผู้หวังหวังความสวัสดี ได้พากันคิดถึงซึ่งมงคล คือเหตุแห่งความเจริญทั้งหลาย ขอพระองค์ทรงตรัสบอกมงคลอันสูงสุดนั้นด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบ จำแนกเป็นข้อได้ ๓๘ ประการดังนี้
การไม่คบคนพาล
คนพาลคือคนที่มีจิตใจหยาบช้า มีมิจฉาทิฐิ คือมีความเห็นผิด โดยรวมนั้นน่าจะหมายถึงคือคนชั่ว คนไม่ดี หรือคนจิตใจไม่ดีด้วย การคบคนประเภทนี้นานๆเข้าย่อมหล่อหลอมให้เรามีความคิดผิดไปด้วย คือเป็นอย่างเขาไป ดีไม่ดีเขาอาจจะพาไปทำสิ่งไม่ดีไปด้วย อันเป็นการที่ควรเลี่ยงให้ห่างจากคนพาลนี้

การคบบัณฑิต
บัณทิตคือผู้ที่มีความรู้มาก บัณทิตในที่นี้นอกจากจะเป็นผู้ที่มีความรู้แล้ว ต้องเป็นผู้ที่มีสัมมาทิฐิคือมีความเห็นถูกด้วย โบราณว่า "คบคนพาล พาลไปหาผิด คบบัณฑิต บันฑิตพาไปหาผล" การคบบัณฑิตย่อมหล่อหลอมให้เรามีสติปัญญาเพิ่มพูน มีความเฉลียวฉลาดมากขึ้น

การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
คนที่ควรบูชา คือใคร? คนที่ควรบูชาอันดับแรก ก็คือ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ เป็นคนที่ควรบูชาในอันดับแรกอันดับต้น แต่บุคคลที่ควรบูชาอันสูง ก็คือ พระพุทธเจ้า เพราะการที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าได้นั้นต้องบำเพ็ญบารมีมากมาก หลายกัล์ป อบรมสั่งสมบารมีความดีมายาวนาน จนได้เป็นพระพุทธเจ้านำพระธรรมคำสั่งสอนที่ท่านทรงค้นพบนั้นจำแนกแจกจ่ายแก่เหล่าสรรพสัตว์ ให้พ้นออกจากกองทุกข์แห่งวัฏะสงสาร และท่านยังมีบารมีสูงสุดทั้ง 3 โลกธาตุนี้ไม่มี บารมีของผู้ใดจะเกินบารมีของพระพุทธเจ้า ท่านจึงเป็นบูชนียบุคคล เป็นบุคคลที่ควรเคารพบูชาสูงสุด รองลงมาก็ จะเป็นการบูชา พระอริยสงฆ์ คือสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เจริญวิปัสนากรรมฐานจนสามารถทำจิตให้รู้แจ้งเห็นจริงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ พระอริยเจ้านั้นมี 4 ลำดับคือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ จากนั้นคนที่ควรบูชาก็คือพระมหากษัตริย์ หรือผู้ทรงคุณความดี พระมหากษัตริย์ นั้นคือผู้ที่ปรารถนาโพธิญานคือ ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ท่านลงมาเกิดเป็นพระมหากษัตริย์ ก็เพราะท่านต้องการมาสั่งสมความดีบารมี การบูชาท่านจึงเป็นมงคลเป็นอย่างมาก

วิธีการปฏิบัติในข้อนี้ก็คือ การเลี้ยงดูตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ และผู้ที่บุญคุณ สวดมนต์ไหว้พระระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ คุณของพระมหากษัตริย์ และผู้ทรงคุณธรรมความดีทั้งหลาย

การอยู่ในประเทศอันสมควร
การอยู่ในประเทศอันสมควรหมายถึง การเลือกอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม สภาวะแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อมย่อมเป็นมีอิทธิพลต่อ จิตใจคน หากเลือกอยู่สถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่นในเมืองประเทศ หรือสังคมที่ทีคนทำผิดศีลเยอะ หรือทำบาป ที่นั้นย่อมไม่เหมาะแก่การเจริญคุณงามความดี แต่หากไปอยู่ในที่ใดที่มีการทำแต่คุณงามความดี ที่นั้นย่อมเหมาะแก่การเจริญสิ่งที่ดีทั้งหลาย ดังนั้นหากหวังความเจริญแล้วควรเลือกถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่อยู่ให้เหมาะสม

เคยทำบุญมาแต่กาลก่อน
การที่เคยทำบุญมาแต่กาลก่อนนั้น หมายถึงว่าหากบุคคลเป็นผู้ที่เจริญ และมีความสุขอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นผลเนื่องมาจากบุญกุศลความดีที่เขาทำมาในอดีตชาติ ดังนั้นหากผู้ใดปรารถนาให้ตัวเองได้รับความสุขความเจริญในอนาคต ก็ควรทำบุญกุศล และทำความดีในวันนี้ บางคนอาจจะคิดว่า เราก็ทำบุญมาบ่อยชาตินี้ ทำไมถึงไม่มีความสุขมีความเจริญอย่างเขา ก็อย่าลืมว่า คนเรานั้นมีบุญมีบาปติดตัวมาไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคราใดที่บุญให้ผลเราก็มีความสุข แต่คราใดที่บาปให้ผลก็มีความทุกข์เกิดขึ้นดังนั้น หากต้องการให้ตัวเองมีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์ก็ให้ละอกุศล ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีทั้งปวง และทำบุญกุศลทำความดี ในอนาคตข้างหน้าก็จะมีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์

การตั้งตนไว้โดยชอบธรรม
การตั้งตนไว้โดยชอบธรรม หมายถึงการมีสติสัมปชัญญะ การระลึกรู้ตัวอยู่ตลอดว่าทำอะไร อย่างไร ไม่เผลอตัวเผลอใจไปกับโลกหรือสิ่งที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะโดยทั่วไปคนเรามันจะปล่อยใจไปกับสิ่งที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ทางความคิดเสมอ ทำให้จิตใจจมไปความคิดนึก เป็นเหตุให้ไม่มีสติ ดังนั้นควรมีสติระลึกรู้ให้มากเสมอ

การเป็นผู้เรียนรู้มาก
ในข้อนี้หมายถึงการเป็นคนใฝ่เรียนรู้ การศึกษาหาความรู้ใส่ตัวเสมอ ย่อมทำให้มีความเฉลียวฉลาดคิดอ่านประการใดก็จะดี มีประโยช์ต่อตัวเอง สังคมคนรอบข้าง และประเทศชาติบ้านเมือง

การมีศิลปวิทยา หมายถึงการนำความรู้มาใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและเฉลียวฉลาด เหมาะสมแก่รูปแบบและสถานการณ์

การมีวินัยที่ดี
ระเบียบวินัย เป็นแบบแผนข้อปฏิบัติ การมีระเบียบวินัยดีทำให้เกิดเพียร และความสำเร็จ

การพูดแต่วาจาที่ดี
การพูดวาจาที่ดี ย่อมเป็นที่น่าฟังต่อคนรอบข้างที่เสวนาด้วย ย่อมทำให้เกิดมิตร มีแต่คนรัก คนชม ไม่สร้างศัตรู

การบำรุงบิดามารดา
พ่อแม่เป็นผู้ที่มีบุญคุณสูงสุดต่อลูก การจะทำสิ่งใด หากขาดความกตัญญูแล้วย่อมไม่มีความเจริญสำเร็จลงได้

การสงเคราะห์บุตร
ข้อนี้คงไม่ต้องอธิบายเพราะคนมีลูกย่อมรู้ดี

การสงเคราะห์ภรรยา
การที่จะครองคู่ให้เป็นผลสำเร็จไปได้ด้วยดี จะต้องมีการครองตนให้ดีก่อน นั่นคือการมีศีลธรรมประจำใจ เพราะศีลคือความปกติของกาย วาจา ใจ ผู้ที่มีศีลจะไม่ทำร้ายกัน มีความจริงใจต่อกัน ไม่โป้ปดหลอกลวงกัน ไม่นอกใจกัน มีจิตใจเมตตาต่อกัน มองกันในมุมที่ดี จึงจะให้อภัยต่อกันได้
พระพุทธองค์ได้ให้หลักธรรมในการครองเรือนไว้ ๔ ข้อ ซึ่งจะต้องนำไปใช้ทุกๆ ข้อ จึงจะบังเกิดผลได้สมบูรณ์ เพราะทุกๆ ข้อมีความหมายเฉพาะ และโยงไปสู่ข้ออื่นๆ ส่งเสริมต่อกันให้ปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งหลักธรรมในการครองเรือนประกอบด้วย
- สัจจะ (ความจริง จริงใจต่อกัน) รักที่จริงใจ...ไขปัญหาทุกสิ่ง
- ทมะ (รู้จักข่มใจ ฝึกฝน ปรับตัว) ปรับเข้าหากันเติมเต็มส่วนที่ขาด
- ขันติ (อดทน เข้มแข็ง ทนทาน) เพราะรักเขา...เราจึงทนได้
- จาคะ (ความเสียสละ) เมื่อเขาสุข เราก็สุขด้วย

ทำงานไม่ให้คั่งค้าง
การทำงานให้เสร็จไปย่อมทำให้เกิดความสบายใจ ฝึกนิสัยให้เป็นคนมีความรับผิดชอบ และขยันหมั่นเพียร

การให้ทาน
การให้ทานหมายถึง การแบ่งปัน การเสียสละด้วยใจที่เอื้อเฟื้อ การให้ทานเป็นการกำจัดความตะหนี่ขี้เหนียว ความยึดติดในทรัพย์ ทานเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขความเจริญ หากให้ทานด้วยใจบริสุทธิ์ ปรารถนาจะให้ด้วยความเต็มใจและไม่หวังผลตอบแทนย่อมมีอานิสงฆ์มาก

การประพฤติธรรม
คือการตั้งตัวเป็นคนดีตามกรอบของศีล ไม่ละเมิดศีล มีความสำรวมในกาย วาจา และจิตใจ ให้มีความปรกติ

การสงเคราะห์ญาติ
ญาติคือผู้ที่เป็นมิตรต่อเรา การสงเคราะห์ช่วยเหลือญาติ ตามสมควร ก็เป็นการสร้างสมมิตรที่ดี ในอนาคตทำอะไรก็จะมีแต่คนช่วยเหลือสงเคราะห์ไม่โดดเดี่ยว

ทำงานที่ปราศจากโทษ
การทำงานที่ปราศโทษคือ งานที่ถูกต้อง ไม่ผิดกฎหมายไม่ผิดศีลธรรม เพราะงานที่เป็นโทษเช่นงานที่ผิดกฏหมายย่อมนำความเดือดร้อนมาสู่ตนได้ในภายหลัง หรือหากเป็นงานที่ผิดศีลธรรมก็ต้องเลี่ยงไม่พ้นในการที่ทำให้ตัวเองต้องได้รับความเดือดร้อน เพราะต้องรับผลกรรมไม่ว่าในชาตินี้ หรือหลังจากตายไปแล้วกรรมนั้นก็ติดตามไปให้ผลต่อ

ละเว้นจากความชั่ว
การละเว้นจากความชั่วก็คือการรักษาศีล ให้บริสุทธิ์นั่นเอง หากเป็นฆราวาสก็เป็นศีล ๕ หากรักษาศีลได้บริสุทธิ์ กายใจย่อมเป็นปรกติ นำพาซึ่งความสุขความเจริญ

การไม่ดื่มน้ำเมา
การดื่มน้ำเมา หรือการดื่มสุรา เครื่องมึนเมา ย่อมทำลายสติสัมปชัญญะ อาจเป็นเหตุให้ทำผิดในข้ออื่นๆอีกมากมาย นำพาซึ่งความเดือดร้อนมาให้กับตัวเอง นอกจากนั้นการดื่มน้ำเมา สุรา เมรัย ยังเป็นปัจจัย เป็นกรรมให้เป็นคนบ้า ขาดสติในอนาคต

ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
ก็หมายถึงการมีสติรู้ตัวไม่ให้จิตใจ ตกไปในอิทธิพลของความคิดที่ไม่ดี ทั้งหลายเพราะความคิดที่ไม่ดีย่อมชักนำให้ เกิดการไปทำสิ่งที่ไม่ดีตามไปด้วย การมีสติรู้ตัวอยู่เสมอย่อม รักษาจิตใจ และการกระทำได้

การมีสัมมาคารวะ
การมีสัมมาคารวะ คือการเคารพผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสกว่า
ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่ถือตัว ถือตน ไม่ยกตนข่มท่าน

มีความสันโดษ คือ ความพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ไม่โลภมาก เป็นความโลภความปรารถในสิ่งที่เกินตน ย่อมนำพายึ่งความเดือดร้อนมาสู่ตนในภายหลังได้

มีความกตัญญู คือการปฏิบัติตามข้อ 11. นอกจากนั้นยังต้องกตัญญูต่อผู้ที่มีบุญคุญทุกคน ใครมีคุณก็ตอบแทนเขา

การฟังธรรมตามกาล คือ การสดับฟังพระธรรมเทศนา อันเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่อาจจะเป็นการแสดงโดยพระอริยสงฆ์ เพื่อเจริญปัญญาทางจิตใจให้เจริญงอกงาม ปลุกคุณงามความดีในตัวให้ตื่น

มีความอดทน การมีความอดทนนั้นมีความสำคัญมาก เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดความสำเร็จ และผ่านปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง อย่างชาญฉลาด เกิดความสงบสุข ไม่เดือดร้อน อย่างแท้จริง ความอดทนเป็นสิ่งที่ควรฝึกฝนสร้างสมไว้ให้มาก

เป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง
การได้เห็นสมณะ คือผู้ที่ประพฤติธรรม อันหมายถึงพระอริยเจ้าหรือ พระอริยสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรมวิเศษ และผู้ที่คุณวิเศษ การอยู่ใกล้บุคคลประเภทนี้ย่อมทำให้จิตใจของผู้นั้น เกิดความตั้งมั่นต่อความดีได้ง่าย เพราะผู้ที่เป็นสมณะย่อมมีความประพฤติและจิตใจที่ดีงามย่อม มีอิทธิพลต่อผู้ที่เข้าใกล้ได้โดยง่าย

การสนทนาธรรมตามกาล ข้อนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เนื่องด้วยผู้นั้นต้องเจริญหรือปฏิบัติธรรมก่อน เมื่อปฏิบัติไปแล้ว หากพบกัลยาณมิตรธรรม ก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน อาจจะการสนทนากับผู้ที่รู้เห็นมากกว่าก็ได้ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติม อันเป็นประโยชน์มากต่อนักปฏิบัติธรรม

มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส คือการปฏิบัติธรรม เพื่อทำกิเลส เครื่องที่ทำให้จิตเศร้าหมอง หมดไป คือการบำเพ็ญปฏิบัติธรรมนั่นเอง

การประพฤติพรหมจรรย์ คือการบวช การบวชคือการงดเว้นออกจากกาม กามนี้หมายถึง กามคุณ ๕ อันได้แก่ ความพอใจและติดใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และการความคิดทางใจ อันเป็นสิ่งที่ปุถุชนคนธรรมดา ปล่อยจิตใจให้หลงใหลไปในกามคุณนี้เสมอ เช่นเมื่อเห็นรูปสวยก็หลงไปในรูปนั้น ได้ยินเสียงเพราะก็ชอบใจหลงใหลไปในเสียงนั้น ได้กลิ่นหอมก็เพลิดเพลิน ได้สัมผัสรสอร่อยของอาหารก็มีจิตน้อมไป การประพฤติพรหมจรรย์ คือการดำริออกจากกามคุณ 5 นี้ ซึ่งเป็นการบวช เช่น ถ้าบวชพราห์มก็สวมชุดขาว รักษาศีล 8 หากบวชพระ ก็รักษาศีล 227 ข้อ แต่การประพฤติพรหมจรรย์นี้ไม่จำเป็นต้องบวชตามวิธีการก็ได้ หากเป็นคนมีกำลังใจเข้มแข็งก็สามารถบวชใจ คือใช้ใจรักษาพรหมจรรย์ก็ได้ ก็คือรักษาใจไม่ให้หลงใหลไปในกามคุณทั้ง 5 นี้

การเห็นอริยสัจ การจะเห็นอริยสัจได้ก็ต้องลงมือปฏิบัติธรรม อย่างจริงจัง อริยสัจธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะรู้เห็นได้ด้วยการคิดนึก หรือการทึกทักเอาจากความคิดของคนธรรมดา ต้องเป็นการลงมือปฏิบัติตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง ตามวิถีแห่งมรรค 8 จึงจะรู้เห็นได้ตามความเป็นจริง ผู้ที่เริ่มเห็นอริยสัจได้อย่างแท้จริงและเข้าสู่วิธีแห่งการพ้นทุกข์ได้นั้น เริ่มต้นที่พระอริยเจ้าในขั้นพระโสดาบันเป็นต้นไปเท่านั้น

การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน การจะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ก็ต้องมากจากการปฏิบัติในข้อที่ 33.
จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม โลกธรรม 8 หมายถึง ธรรมดาของโลก เรื่องของโลก ธรรมชาติของโลกที่ครอบงำสัตว์โลกและสัตว์โลกต้องเป็นไปตามธรรมดานี้ 8 ประการอันประกอบด้วย
โลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์ คือ พอใจของนุษย์ เป็นที่รักเป็นที่ปรารถนา

1.ลาภ หมายความว่า ได้ผลประโยชน์ ได้มาซึ่งทรัพย์
2.ยศ หมายความว่า ได้รับฐานันดรสูงขึ้น ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต
3.สรรเสริญ คือ ได้ยิน ได้ฟัง คำสรรเสริญคำชมเชย คำยกยอ เป็นที่น่าพอใจ
4.สุข คือ ได้ความสบายกาย สบายใจ ความเบิกบาน บันเทิงใจเริงใจ
โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ คือ ความไม่พอใจของมนุษย์ ไม่เป็นที่ปรารถนา
1.เสื่อมลาภ หมายความว่า เสียลาภไป ไม่อาจดำรงอยู่ได้
2.เสื่อมยศ หมายถึง ถูกลดอำนาจความเป็นใหญ่
3.นินทาว่าร้าย หมายถึง ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่ดี ถูกติฉินนินทา หรือถูกกล่าวร้ายให้เสียหาย
4.ทุกข์ คือ ได้รับความทุกขเวทนา ทรมานกาย ทรมานใจ
รวมกันแล้วได้ 8 ข้อเรียกว่าโลกธรรม 8
ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และมนุษย์ก็มีความพอใจไม่พอใจ และเกิดความสุขทุกข์ขึ้น เมื่อโลกธรรม 8 นี้เกิดขึ้นเสมอ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้วางเฉยต่อโลกธรรม 8 นี้เสียเพราะเป็นของธรรมที่เกิดขึ้นกับโลก

จิตไม่เศร้าโศก คือ การรักษาจิตไม่มีความเศร้าหมอง
จิตหมดธุลี คือปราศจากกิเลส คือ รักษาจิตให้มีความผ่องใสอยู่เสมอ การทำจิตให้ผ่องใสนี้มีหลายระดับ หากเป็นปุถุชนคนธรรมดา การทำจิตให้ปราศจากกิเลสก็คือการ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ และเจริญสมาธิภาวนาให้จิตใจสะอาดผ่องใสชั่วคราว พอออกจากสมาธิกิเลสก็จะจรเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจได้อีก
ส่วนการทำจิตให้ปราศจากกิเลสของชั้นพระอริยเจ้าจะไม่เหมือนของปุถุชน หากกิเลสเกิดขึ้น จิตพระอริยเจ้าท่านก็จะประหารกิเลสนั้นทันที ฆ่าไปทีละนิด ละหน่อย หรือทีละมากๆตามกำลังบุญวาสนาของท่าน จนสุดท้ายกิเลสหมดไปสิ่้นจากจิตใจ นั่นคือพระอรหันต์

จิตถึงซึ่งความเกษม การจะมีจิตเกษมได้ก็คือจิตหลุดพ้นจากกิเลส และเครื่องพันธาการทั้งปวงได้หมดสิ้นนั่นคือพระอรหันต์ตามที่ได้กล่ามาในข้อ 37 นั่นเอง เมื่อพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้ จิตย่อมเข้าถึงวิมุติสุข คือสุขที่เกิดจากการหลุดพ้นเป็นสุขถาวรและเกิดขึ้นชั่วนิรันดร ไม่มีเสื่อมไปเหมือนสุขของปุถุชนธรรมดา

เมื่อเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายได้พากันปฏิบัติมงคลธรรมให้ถึงความเจริญเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่แพ้แก่ข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสุขสวัสดี ในทุกสถานทุกกาลทุกเมื่อ ข้อนั้นเป็นมงคลอันสูงสุด ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้แล

#แชร์เป็นธรรมทาน

...........................

.

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...