(โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก)ท่านกุมารกัสสปะอยู่ที่ป่าอันธวันเมืองสาวัตถี เทวดาตนหนึ่งปรากฏตัวต่อหน้าท่านกล่าวปริศนาธรรม 15 ข้อแล้วก็หายวับไป ท่านกุมารกัสสปะนึกอย่างไรก็ไม่ทราบคำตอบ จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลถามปริศนาธรรม 15 ข้อนั้น และกราบทูลขอคำอธิบายจากพระพุทธองค์ ปริศนาธรรม 15 ข้อนั้น คือ
มีจอมปลวกหนึ่ง กลางคืนพ่นควัน กลางวันลุกเป็นไฟ พราหมณ์คนหนึ่งสั่งศิษย์ชื่อสุเมธ ให้เอาจอบมาขุดจอมปลวกนั้นสุเมธจึงขุดลงไป พบลิ่มสลักพราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบทางสองแพร่ง พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบหม้อน้ำด่างพราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบเต่าพราหมณ์ก็สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบเขียงหั่นเนื้อพราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบพญานาคพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกว่า อย่าไปทำอันตรายมัน จงเคารพนอบน้อมมันอย่างดีที่สุด
พระพุทธเจ้าตรัสไขปริศนาให้ท่านกุมารกัสสปะฟัง ดังนี้
1. จอมปลวกนั้น หมายถึง ร่างกายของคนเรา อันประกอบขึ้นด้วย ธาตุ 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) และขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) นี้เอง
2. กลางคืนพ่นควัน หมายถึง คนเราเมื่อเวลากลางคืน มันจะคิดวางแผนว่าจะทำนั่นทำนี่ จนสมองเต็มไปด้วยโครงการต่างๆ เต็มไปหมด (มีโครงการซี่โครงไก่เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น) นี่แหละเรียกว่ากลางคืนพ่นควันละ
3. กลางวันลุกเป็นไฟ หมายถึง พอเช้าขึ้นมาก็จะไปทำตามแผนการที่วางไว้ให้เป็นรูปร่าง เหนื่อยแทบสายใจจะขาด ดังคำพังเพยว่า “อาบเหงื่อต่างน้ำ” จนแทบว่าร่างกายจะลุกเป็นไฟ (แค่โครงการซี่โครงไก่ยังต้องระเบิดอารมณ์ใส่ผู้สื่อข่าว จนแทบลุกเป็นไฟเลยครับ)
4. พราหมณ์ หมายถึง ผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ ในกรณีนี้เพ่งเอาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
5. สุเมธ ผู้เป็นศิษย์พราหมณ์ หมายถึง ผู้ยังต้องศึกษาปฏิบัติเพื่อมรรคผล คำว่า “สุเมธ” (แปลว่าผู้มีปัญญา) บอกเป็นนัยว่าผู้ศึกษาปฏิบัติต้องใช้ปัญญา
6. จอบ เครื่องมือสำหรับขุดดิน หมายถึง ปัญญา
7. การขุด หมายถึง วิริยารัมภะ (ความเพียรที่ต่อเนื่อง) ทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ละทิ้งกลางคัน
8. ลิ่มสลัก หมายถึง อวิชชา (ความโง่เขลา ความไม่รู้ตามเป็นจริง) ขุดไปพบอวิชชาแล้วต้องรีบเอาทิ้ง คือเอาความโง่เขลาทิ้งไป หาไม่จะไม่ได้ผลจากการปฏิบัติ
9. อึ่งอ่าง หมายถึง ความคับแค้นเพราะความโกรธ ในการปฏิบัติฝึกฝนตนต้องพยายามอย่าให้กิเลสฝ่ายโทสะเข้ามาครอบงำ
10. ทางสองแพร่ง หมายถึง วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ความสงสัยไม่ตัดสินใจอะไรเด็ดขาด เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติเพื่อมรรคผลอย่างยิ่ง เป็นหนึ่งในนิวรณ์ (เครื่องปิดกั้นมิให้บรรลุธรรม) 5 ประการ ข้อเปรียบเทียบนี้ชัดเจนแทบไม่ต้องขยายความ
11. หม้อน้ำด่าง หมายถึง นิวรณ์ทั้ง 5 ประการ อันมี ความพอใจในกาม เป็นต้น นิวรณ์ 5 เป็นเครื่องย้อมใจให้เป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของมัน ไม่ต่างกับหม้อน้ำด่างที่ย้อมผ้าให้เป็นสีต่างๆ พูดให้ชัดก็คือนักปฏิบัติธรรมไม่พึงให้กิเลสทั้งหลายมันย้อมใจจนสูญเสียปกติภาพ
12. เต่า หมายถึง ความยึดมั่นในขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ยึดมั่นว่าเป็นตัวกู ของกู (ตัวมึง ของมึงด้วยแหละ) ไม่ว่าทำอะไร ถ้าเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นเกินเหตุก็ยากจะได้ผล ยิ่งการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุผลขั้นสูง ยิ่งต้องปล่อยวางความยึดติดในตัวเราของเราให้ได้
ทำไมเปรียบการยึดมั่นในขันธ์ 5 ดุจเต่าก็ไม่ทราบสิครับ อาจเป็นด้วยว่าเต่ามันเป็นสัตว์เชื่องช้า ความยึดติดในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้บรรลุผลช้าก็เป็นได้ หรือเต่านั้นกระดองหนามาก ความยึดมั่นถือมั่น “หนา” ไม่แพ้กระดองเต่า ยากที่จะทำลายได้ หรือเต่านั้นมีนิสัยชอบหดหัวเข้ากระดอง เดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่ การปฏิบัติธรรมถ้ามัวแต่ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ก็คงไม่ได้ผลเท่าที่ควร
13. เขียงหั่นเนื้อ หมายถึง กามคุณ (ชนิดของกาม 5) คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ข้อนี้อธิบายง่าย ปุถุชนเราร้อยทั้งร้อยก็ตกอยู่ในอำนาจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี้แหละท่านเปรียบเหมือนสัตว์ถูกจูงจมูก แล้วแต่มันจะจูงไปไหนเอาง่ายๆ บางคนเป็นทาสลิ้นติดใจในรสอร่อยเสือกสนไปหามาปรนเปรอลิ้น ไกลแค่ไหนก็ไป บางทีขับรถไปเป็นระยะทางเป็นร้อยๆ กิโลเมตรเพียงเพื่อไปกินก๋วยเตี๋ยวชามสองชามที่เขาว่ามันอร่อยนัก (เขาไหน ก็พวกนี้ไง ว่าแล้วก็ชี้มือไปที่ผู้ชวนชิมทั้งหลาย ชื่อถนัดศอ เป็นต้น ฮิฮิ)
เวลาคนเราถูกครอบงำด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันไม่ต่างกับกำลังถูกเขา “ยกขึ้นเขียงเชือด” ยังไงยังงั้น ถูกเชือดบ่อยๆ แล้วมันจะเหลืออะไร
14. ชิ้นเนื้อ หมายถึง นันทิราคะ (ความกำหนัดยินดี) ตัวความกำหนัดนี่แหละเป็นประดุจชิ้นเนื้อที่เอร็ดอร่อยนักสำหรับปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ใครมัวแต่เพลินกินชิ้นเนื้อก็ถูกเนื้อเป็นพิษเล่นงานเอา เสียผู้เสียคนไปนักต่อนักแล้ว
แทรกตรงนี้หน่อย (เดี๋ยวจะไม่มีโอกาสแทรก) เมื่อวานนี้เองผู้สื่อข่าวทีวีประเทศญี่ปุ่นมาสัมภาษณ์กรณียันดะที่อื้อฉาวเมื่อไม่นานนี้ว่า ทำไมพระภิกษุที่ได้รับความเคารพนับถือมากขนาดนี้ จึงเสื่อมเสียได้ เป็นความบกพร่องของใคร ผมตอบว่า อย่าไปโทษคนอื่นเลย ต้องโทษที่ตัวพระ พระไม่ระมัดระวังเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ว่าใครในที่สุดก็เสียพระดังที่เห็นๆ กัน เล่นชอบฉันแต่เนื้อบนเขียง ไม่ฉิบหายไหวหรือครับ
15. พญานาค หมายถึง พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง เมื่อขุดมาพบพญานาคนับว่าได้มาพบ “สิ่งประเสริฐที่สุด” แล้ว ไม่ควรเอาทิ้ง ตรงข้าม ควรให้ความเคารพบูชา ข้อนี้อธิบายได้ว่า
ผู้ปฏิบัติฝึกฝนตนต้องพยายามละสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอุปสรรคแห่งการปฏิบัติให้หมดตามลำดับ ตั้งแต่ความเขลาไม่รู้จริง ความลังเลสงสัย ความโกรธ ความคับแค้น ความยึดมั่นถือมั่น ความติดในรูป รส กลิ่น เสียง เอาออกให้หมด
เมื่อละสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะบรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องละอะไรอีก เพราะได้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุดแห่งการปฏิบัติแล้ว พระกุมารกัสสปะได้ฟังพระพุทธองค์ทรงไขปริศนาธรรม 15 ข้อ ก็หมดความสงสัย คงเพราะนิสัยชอบขบคิดด้วยปัญญาเช่นนี้แหละ ท่านกุมารกัสสปะจึงกลายเป็นผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลมในเวลาต่อมา
20 พฤศจิกายน 2561
ปริศนาธรรม 15 ข้อ กุมารกัสสปะบรรลุธรรม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
อริยสัจ 4 และมรรคแปด
ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...
-
หล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ปางเทศนา หลังพระปางอุ้มบาตร เนื้อเมฆพัด ลงรักปิดทอง สร้าง พ.ศ.๒๔๑๑ เจ้าพระคุณสมเด็จโต สร้างและปลุกเสก...
-
การจับพลังพระเครื่องนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีรูปแบบการใช้อยู่อย่างหลากหลายเพื่อให้ทราบว่า พระเครื่ององค์นี้ หรือวัตถุมงคล ชิ้นนี้ ...
-
https://youtu.be/V5b6fr4VMjU หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ระยอง - พลังจตุธาตุหนักแน่นเช่นเดิม มาเต็มๆ 100 ทุกพลังธาตุ ตามมาตรฐานหลวงปู่ทิม...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น