สตินั่นแลเพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงชื่อว่า อนุสติ
"จริงอยู่ อุปจารฌานถึงความชำนาญ ย่อมน้อมเข้าไปเพื่อประโยชน์แก่ปฐมฌาน หรือเพื่อประโยชน์แก่วิปัสสนา. ปฐมฌานเป็นต้นก็อย่างนั้น ย่อมน้อมเข้าไปเพื่อประโยชน์แก่ทุติยฌานเป็นต้น หรือเพื่อประโยชน์แก่วิปัสสนา, จตุตถฌานย่อมน้อมไปเพื่อประโยชน์แก่อรูปสมาบัติ หรือเพื่อประโยชน์แก่อภิญญา หรือเพื่อประโยชน์แก่วิปัสสนา, อากาสานัญจายตนะย่อมน้อมเข้าไปเพื่อประโยชน์แก่วิญญาณัญจายตนะเป็นต้น หรือเพื่อประโยชน์แก่วิปัสสนา."
.......................................................................
ในหมวด ๖ สตินั่นแลเพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงชื่อว่า อนุสติ,
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอนุสติ เพราะสมควรแก่กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา เพราะเป็นไปในฐานะที่ควรเป็นไปบ้าง,
อนุสติเกิดขึ้นปรารภถึงพระพุทธเจ้า ชื่อว่าพุทธานุสติ.
บทนี้เป็นชื่อของสติมีคุณของพระพุทธเจ้ามีพระอรหันต์เป็นต้นเป็นอารมณ์.
ชื่อว่า อวิกฺเขโป เพราะความที่จิตมีอารมณ์เดียว ด้วยสามารถแห่งพุทธานุสตินั้นนั่นเอง ไม่ฟุ้งซ่านโดยความเป็นปฏิปักษ์ของความฟุ้งซ่านอันได้แก่อุทธัจจะ.
อนุสติเกิดขึ้นเพราะปรารภพระธรรม ชื่อว่าธรรมานุสติ.
บทนี้เป็นชื่อของสติมีคุณของพระธรรม มีความที่พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเป็นต้นเป็นอารมณ์.
อนุสติเกิดขึ้นปรารภพระสงฆ์ ชื่อว่าสังฆานุสติ,
บทนี้เป็นชื่อของสติมีคุณของพระสงฆ์มีความที่พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นต้นเป็นอารมณ์.
อนุสติเกิดขึ้นปรารภศีล ชื่อว่าสีลานุสติ, บทนี้เป็นชื่อของสติมีคุณของศีลมีความที่ศีลของตนไม่ขาดเป็นต้น.
อนุสติเกิดขึ้นปรารภจาคะ ชื่อว่าจาคานุสติ, บทนี้เป็นชื่อของสติมีคุณของจาคะมีความที่ตนสละออกไปแล้ว.
อนุสติเกิดขึ้นปรารภเทวดาทั้งหลาย ชื่อว่าเทวตานุสติ. บทนี้เป็นชื่อของสติมีคุณของศรัทธาเป็นต้น ของตนเป็นอารมณ์ ตั้งเทวดาไว้ในฐานะเป็นพยาน.
ในหมวด ๗ บทว่า สมาธิกุสลตา - ความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิหลายประเภท โดยประเภทมีสมาธิอย่างเดียวเป็นต้นว่า นี้เป็นสมาธิอย่างนี้, นี้เป็นสมาธิอย่างนี้.
บทนี้เป็นชื่อของปัญญากำหนดสมาธิ. ความเป็นผู้ฉลาดโดยวิธีทำให้สมาธิเกิด เพราะความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ.
บทว่า สมาธิสส สมาปตติกุสสลตา - ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ ได้แก่ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิที่ทำให้เกิดแล้ว.
ด้วยบทที่เป็นอันท่านกล่าวถึงความเป็นผู้ชำนาญในการเข้าสมาธิ.
บทว่า สมาธิสส ฐิติกุสลตา - ความเป็นผู้ฉลาดในการตั้งสมาธิ ได้แก่ ความเป็นผู้ฉลาดในการตั้งสมาธิที่เข้าแล้วตามความชอบใจด้วยความสามารถสืบต่อกันไป.
ด้วยบทนี้เป็นอันท่านกล่าวถึงความเป็นผู้ชำนาญในการตั้งใจ.
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพระโยคาวจรนั้นยังอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมด้วยการถือเอานิมิต ย่อมสำเร็จเพียงอัปปนาเท่านั้น, ไม่ยั่งยืน. ส่วนฐานะที่ยั่งยืนย่อมมีได้ เพราะชำระธรรมอันเป็นอันตรายแก่สมาธิไว้ด้วยดี.
จริงอยู่ ภิกษุใดข่มกามฉันทะ ด้วยการพิจารณาโทษของกามเป็นต้นไว้ด้วยดีไม่ได้, การกระทำความหยาบช้าทางกายด้วยกายปัสสัทธิให้สงบด้วยดีไม่ได้. บรรเทาถีนมิทธะด้วยความใส่ใจถึง อารัมภธาตุคือความเพียรให้ดีไม่ได้, ถอนอุทธัจจะกุกกุจะด้วยใส่ใจถึงสมถนิมิต ให้ดีไม่ได้, ชำระธรรมอันเป็นอันตรายของสมาธิให้ดีไม่ได้ แล้วเข้าฌาน, ภิกษุนั้นออกจากฌานโดยเร็วทันที ดุจภมรเข้าไปยังที่อยู่อันไม่สะอาด และพระราชาเสด็จเข้าไปสู่อุทยานที่แสนจะสกปรก ย่อมออกไปโดยเร็วพลัน.
ส่วนภิกษุใดชำระธรรมอันเป็นอันตรายแก่สมาธิได้ดี แล้วเข้าฌาน, ภิกษุนั้นย่อมเข้าฌานภายในสมาบัติได้ตลอดวันทั้งสิ้น ดุจภมรเข้าไปยังที่อาศัยอันสะอาด, และพระราชาเสด็จเข้าไปยังอุทยานอันเรียบร้อย ย่อมอยู่ได้ตลอดวัน.
ดังที่พระโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า
กาเมสุ ฉนฺทํ ปฏิฆํ วิโนทเย
อุทฺธจฺจถีนํ วิจิกิจฺฉปญฺจมํ,
วิเวกปามุชฺชกเรน เจตสา
ราชาว สุทฺธนฺตคโต ตหึ รเม.
พระโยคาวจรผู้มีจิตทำความปราโมทย์ในวิเวก
พึงบรรเทาความพอใจในกามทั้งหลาย ความเคียดแค้น
ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่และความสงสัยเป็นที่ ๕, ดุจ
พระราชาเสด็จไปสู่สถานที่โดยเป็นระเบียบเรียบร้อย
ทรงพึงพอพระทัย ณ ที่นั้น.
เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า อันพระโยคาวจรผู้ประสงค์จะตั้งอยู่ตลอดกาลนาน พึงชำระธรรมอันเป็นข้าศึก แล้วจึงเข้าฌาน เป็นอันท่านกล่าวถึงความเป็นผู้ฉลาดในการยังวิธีนั้นให้ถึงพร้อม แล้วจึงทำสมาธิให้ตั้งอยู่ได้นาน.
บทว่า สมาธิสฺส วุฏฺฐานกุสลตา - ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ ได้แก่ ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ ด้วยการออกตามเวลาที่กำหนดไว้แห่งสมาธิที่เป็นไปแล้วตามความพอใจด้วยการสืบต่อกันไป.
พึงทราบว่าท่านทำเป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถแห่งปัญจมีวิภัตติ ดุจในประโยคมีอาทิว่า ยสฺสาปิ ธมฺมํ ปุริโส วิชญฺญา - บุรุษพึงรู้แจ้งธรรมแม้จากผู้ใด.๑-
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๔๗๐
ด้วยบทนี้เป็นอันท่านกล่าวถึงความเป็นผู้ชำนาญในการออกจากสมาธิ.
บทว่า สมาธิสฺส กลฺลตากุสลตา - ความเป็นผู้ฉลาดในความงามแห่งสมาธิ.
ความว่า ความเป็นผู้ไม่เจ็บไข้ ความเป็นผู้ไม่มีโรค ชื่อว่า กลฺลตา. ความเจ็บไข้ ท่านกล่าวว่า อกลฺลโก
แม้ในวินัย ท่านก็กล่าวไว้ว่า นาหํ ภนฺเต อกลฺลโก๒- - ท่านขอรับ ผมไม่เจ็บไข้.
ความเป็นผู้ฉลาดในการทำความไม่เจ็บไข้แห่งสมาธิ ด้วยความไม่มีความปรารถนาอันลามก ซึ่งเป็นข้าศึกของการได้ฌานดังที่ท่านกล่าวไว้ในอนังคณสูตร๓- และวัตถุสูตร และด้วยความปราศจากอุปกิเลสของจิตมีอภิชฌาเป็นต้น, ท่านกล่าวว่า ความเป็นผู้ฉลาดในความงามของสมาธิ คือความเป็นผู้ฉลาดในความเป็นผู้ไม่มีความเจ็บไข้ คือกิเลส.
____________________________
๒- วิ. มหาวิภังค เล่ม ๑/ข้อ ๑๕๒ ๓- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๔
อีกอย่างหนึ่ง บทว่า กลฺลตา ได้แก่ ความเป็นผู้ควรแก่การงาน เพราะความที่คำว่า กลฺล เป็นไวพจน์ของกัมมัญญตา - ความเป็นผู้ควรแก่การงาน.
ดังที่ท่านกล่าวว่า ยา จิตฺตสฺส อกลฺยตา อกมฺมญฺญตา๔- - ความที่จิตไม่สมประกอบ ความที่จิตไม่ควรแก่การงาน,
และว่า กลฺลจิตฺตํ มุทุจิตฺตํ วินีวรณจิตฺตํ๕- - จิตควรแก่การงาน จิตอ่อนโยน จิตปราศจากนิวรณ์.
____________________________
๔- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๗๕๑ ๕- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๒๖
กลฺล ศัพท์ในบทนี้มีความว่าควรแก่การงาน. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ความเป็นผู้ฉลาดในการทำความคล่องแคล่วแห่งสมาธิด้วยการฝึกจิต โดยอาการ ๑๔ อย่างเหล่านี้ คือ โดยอนุโลมแห่งกสิณ ๑ โดยปฏิโลมแห่งกสิณ ๑ โดยอนุโลมปฏิโลมแห่งกสิณ ๑ โดยอนุโลมแห่งฌาน ๑ โดยปฏิโลมแห่งฌาน ๑ โดยอนุโลมปฏิโลมแห่งฌาน ๑ โดยการก้าวเข้าไปสู่ฌาน ๑ โดยการก้าวเข้าไปสู่กสิณ ๑ โดยการก้าวเข้าไปสู่ฌานและกสิณ ๑ โดยการก้าวไปสู่องค์ ๑ โดยการก้าวไปสู่อารมณ์ ๑ โดยการก้าวไปสู่องค์และอารมณ์ ๑ โดยการกำหนดองค์ ๑ โดยการกำหนดอารมณ์ ๑ หรือโดยอาการ ๑๕ เพิ่มบทว่า โดยกำหนดองค์และอารมณ์ ๑.
บทว่า สมาธิสฺส โคจรกุสลตา - ความเป็นผู้ฉลาดในโคจรแห่งสมาธิ.
ความว่า เป็นผู้ฉลาดในอารมณ์มีกสิณเป็นต้น อันเป็นโคจรแห่งสมาธิในอารมณ์เหล่านั้น ด้วยการทำความนึกถึงตามความพอใจ เพราะประสงค์จะเข้าฌานนั้นๆ.
ด้วยบทนี้เป็นอันท่านกล่าวถึงความเป็นผู้ชำนาญในการนึกถึง ด้วยการนึกถึงกสิณ.
อีกอย่างหนึ่ง ความเป็นผู้ฉลาดในโคจรแห่งสมาธิด้วยสามารถการแผ่กสิณไปในทิศาภาคนั้นๆ และด้วยสามารถการตั้งไว้นานแห่งกสิณที่ถูกต้องแล้วอย่างนี้.
บทว่า สมาธิสฺส อภินีหารกุสลตา - ความเป็นผู้ฉลาดในการน้อมไปแห่งสมาธิ.
ความว่า ความเป็นผู้ฉลาดในการน้อมไปในการทำสมาธิต่างๆ โดยนัยความเป็นอันเดียวกัน ด้วยการน้อมเข้าไปสู่ความเป็นสมาธิสูงๆ.
จริงอยู่ อุปจารฌานถึงความชำนาญ ย่อมน้อมเข้าไปเพื่อประโยชน์แก่ปฐมฌาน หรือเพื่อประโยชน์แก่วิปัสสนา. ปฐมฌานเป็นต้นก็อย่างนั้น ย่อมน้อมเข้าไปเพื่อประโยชน์แก่ทุติยฌานเป็นต้น หรือเพื่อประโยชน์แก่วิปัสสนา, จตุตถฌานย่อมน้อมไปเพื่อประโยชน์แก่อรูปสมาบัติ หรือเพื่อประโยชน์แก่อภิญญา หรือเพื่อประโยชน์แก่วิปัสสนา, อากาสานัญจายตนะย่อมน้อมเข้าไปเพื่อประโยชน์แก่วิญญาณัญจายตนะเป็นต้น หรือเพื่อประโยชน์แก่วิปัสสนา.
ความเป็นผู้ฉลาดในการน้อมไปแห่งสมาธิในญาณนั้นๆ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา สมาธิภาวนามยญาณนิทเทส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น