07 พฤษภาคม 2563

ตามไปดูภาษาที่บ้านเกิดพระพุทธเจ้า


หลักฐานด้านภาษาที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดียได้แก่จารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช และหนึ่งในนั้นก็ยังเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ยืนยันการมีตัวตนอยู่จริงของพระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ จารึก ณ สถานที่ประสูติที่หมู่บ้านลุมพินี (ปัจจุบันคือรุมมินเด ประเทศเนปาล)   พระเจ้าอโศกทรงพระชนม์อยู่ในช่วงประมาณ 2 ศตวรรษหลังพุทธกาล ภาษาในท้องถิ่นนั้นน่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก และความทรงจำที่มีต่อสถานที่และเหตุการณ์สำคัญก็ยังไม่ละเลือนไป นอกจากหลักฐานยืนยันศรัทธาของชาวพุทธว่าพระพุทธเจ้าได้ถือกำเนิดขึ้นจริง บัดนี้เราจะไปตรวจดูภาษาที่ปรากฏในแดนประสูติของพระพุทธเจ้า โดยเทียบกับภาษาบาลีที่ใช้ถ่ายทอดพระพุทธวจนะมาหลายศตวรรษดังที่ปรากฏทุกวันนี้ ว่าเหมือนหรือต่างกันและมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
----------------------------------------

[คำแปลจารึกอโศก ณ สถานที่ประสูติ:]

" พระราชาปิยทัสสีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพหลังทรงอภิเษกครองราชย์ได้ ๒๐ ปี ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เองและทรงทำการเฉลิมฉลอง ด้วยว่า "พระพุทธเจ้าศากยมุนีได้ประสูติ ณ ที่นี้" จึงทรงให้กระทำหลักตราศิลา[รูปม้า] และทรงให้ยกเสาหินขึ้น ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคประสูติ ณ ที่นี้ หมู่บ้านลุมพินีจึงได้รับการลดหย่อนภาษีหนึ่งในแปดส่วน "
 — โองการพระเจ้าอโศก ในจารึกหลักศิลาน้อยแห่งลุมพินี
----------------------------------------

[ต้นฉบับจารึกในภาษาปรากฤตอักษรพราหมีและภาษาปรากฤตทับศัพท์ละติน]

𑀤𑁂𑀯𑀸𑀦𑀁𑀧𑀺𑀬𑁂𑀦 𑀧𑀺𑀬𑀤𑀲𑀺𑀦 𑀮𑀸𑀚𑀺𑀦𑀯𑀻𑀲𑀢𑀺𑀯𑀲𑀸𑀪𑀺𑀲𑀺𑀢𑁂𑀦
𑀅𑀢𑀦𑀆𑀕𑀸𑀘 𑀫𑀳𑀻𑀬𑀺𑀢𑁂 𑀳𑀺𑀤𑀩𑀼𑀥𑁂𑀚𑀸𑀢 𑀲𑀓𑁆𑀬𑀫𑀼𑀦𑀺𑀢𑀺
𑀲𑀺𑀮𑀸𑀯𑀺𑀕𑀥𑀪𑀺𑀘𑀸𑀓𑀸𑀳𑀸𑀧𑀺𑀢 𑀲𑀺𑀮𑀸𑀣𑀪𑁂𑀘 𑀉𑀲𑀧𑀸𑀧𑀺𑀢𑁂
𑀲𑀺𑀮𑀸𑀯𑀺𑀕𑀥𑀪𑀺𑀘𑀸𑀓𑀸𑀳𑀸𑀧𑀺𑀢 𑀲𑀺𑀮𑀸𑀣𑀪𑁂𑀘 𑀉𑀲𑀧𑀸𑀧𑀺𑀢𑁂
𑀳𑀺𑀤𑀪𑀕𑀯𑀁𑀚𑀸𑀢𑀢𑀺 𑀮𑀼𑀁𑀫𑀺𑀦𑀺𑀕𑀸𑀫𑁂 𑀉𑀩𑀮𑀺𑀓𑁂𑀓𑀝𑁂
𑀅𑀞𑀪𑀸𑀕𑀺𑀬𑁂𑀘

Devānaṃpiyena Piyadasina lājina vīsati-vasābhisitena
atana āgāca mahīyite hida Budhe jāte Sakyamuni ti
silā vigaḍabhī cā kālāpita silā-thabhe ca usapāpite
hida Bhagavaṃ jāte ti Luṃmini-gāme ubalike kaṭe
aṭha-bhāgiye ca

[ปริวรรตเป็นอักษรไทย]
เทวานํปิเยน ปิยทสิน ลาชิน วีสติวสาภิสิเตน
อตน อาคา จ มหียิเต หิท พุเธ ชาเต สกฺยมุนิ ติ
สิลาวิคฑภี จา กาลาปิตา สิลาภเภ จ อุสปาปิเต
หิท ภควํ ชาเต ติ ลุํมินิคาเม อุพลิเก กเฏ
อฐภาคิเย จ
----------------------------------------
[เทียบเคียงด้วยการปริวรรตเป็นภาษาบาลี]
เทวานมฺปิเยน ปิยทสฺสินา ราชินา วีสติวสฺสาภิสิเตน
อตฺตนา อาคนฺตฺวา จ มหียเต. อิธ พุทฺโธ ชาโต สกฺยมุนีติ
สิลาวิคฑภี(สิลาวิกติกา*) จ การาปิตา, สิลาถมฺโภ จ อุสฺสาปาปิโต
อิธ ภควา ชาโตติ ลุมฺพินิคาโม อุพลิโก กโต 
อฏฺฐภาคิโย จ.

—ꪼꪏꪚ꫁ꪱꪙꪹꪣꪉ Bản Mường Sãi ปริวรรตจากปรากฤตสู่บาลีภาษา
___________________________________
จารึกของพระเจ้าอโศก อายุประมาณสามศตวรรษก่อนคริสตกาล ใช้อักขระรุ่นแรกของอินเดียที่เรียกว่า "พราหมี"(Brāhmī) อันเป็นต้นแบบของอักษรทั้งหลายในเอเชียใต้รวมทั้งไทย ลังกา เขมร ฯลฯ  ภาษาที่ใช้นั้นเรียกว่า "ปรากฤต"(Prakrits) อันเป็นภาษาท้องถิ่นของอินเดียโบราณที่มีอยู่หลากหลาย  จารึกที่ลุมพินีอยู่ใกล้กับกรุงกบิลพัสดุ์ จึงน่าจะมีความใกล้เคียงกับสำเนียงดั้งเดิมของชาติภูมิแห่งพระพุทธองค์ด้วย

จากการลองเทียบปริวรรตจารึกปรากฤตสู่ภาษาบาลี เราจะพบความคล้ายคลึงกันอย่างมากที่ผู้ใช้ภาษาทั้งสองจะพอจะเข้าใจระหว่างกันได้ ส่วนที่แตกต่างโดยมากจะเป็นเพียงสำเนียงการออกเสียงคำเท่านั้น   

สรุปความต่างระหว่างบาลีและปรากฤตที่ลุมพินี ดังนี้
• เสียงตัวสะกด[สังโยค]ในจารึกภาษาปรากฤตนี้ได้หายไป อาจเป็นไปได้ว่าที่จริงภาษาปรากฤตนี้ก็มีเสียงสังโยคเหมือนบาลี แต่อักขรวิธีโบราณรวบเข้าเป็นเสียงเดียวกับพยัญชนะต้นของอักษรถัดไป ซึ่งก็ปรากฏในหลายกรณีของบาลีเช่นกัน อนึ่ง อาจเพราะวิทยาการด้านการเขียนยุคนั้นยังนับเป็นสิ่งใหม่อยู่มากและไม่พัฒนาซับซ้อนในด้านการผลิตอักษรสังโยคซ้อนกัน
• เสียงสั้น[รัสสะ]และเสียงยาว[ทีฆะ]ในบางกรณีอาจสลับกัน: อตฺตนา-อตน,  จ-จา
• เสียง ร ในบาลีกลายเป็นเสียง ล ในปรากฤตฉบับนี้ อันเป็นลักษณะภาษาปรากฤตตะวันออก: ราชินา-ลชิน (คล้ายคลึงกับที่คนไทยไม่น้อยก็สับสนสองเสียง ร-ล) 
• พบเจอบางเสียงที่ท้องถิ่นออกต่างกัน เช่น: บาลีว่า "อิธ" ปรากฤตนี้ว่า "หิท", บาลีว่า "ลุมฺพินิ"  ปรากฤตนี้ว่า "ลุํมินิ"
• ปฐมาวิภัตติ(nominative บ่งชี้ความเป็นประธาน) บาลีลงท้ายด้วย โ- แต่ปรากฤตตะวันออกนี้ลงท้ายด้วย เ- แทน เช่น: "พุทฺโธ ชาโต"—"พุเธ ชาเต"  ดูเหมือนว่าบาลีจะยังรักษาเสียงดั้งเดิมนี้ไว้ในบางกรณี เช่นอาลปนะหรือคำขานเรียกว่า ภิกฺขเว, ภนฺเต [แทนรูป ภิกฺขโว, ภนฺโต]
• "อาคา" [มาแล้ว...] ในจารึกนี้เป็นกรณีที่น่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นรูปที่ไม่มีการใช้ในบาลี(รูปบาลีทั่วไปคือ อาคนฺตฺวา) แต่มีอยู่ในหลักไวยากรณ์บาลี กล่าวคือ -ตฺวา ปัจจัย สามารถแปลงรูปที่ต่อท้ายกริยาให้กลายเป็น -า ได้ เช่น ปฏิสงฺขตฺวา[พิจารณาแล้ว] กลายเป็น "ปฏิสงฺขา"  (ใน"ปฏิสงฺขา โยนิโส ปิณฺฑปาตํ...") กล่าวคือบาลีมีใช้ในกรณีอื่น แต่ไม่นิยมหรือไม่ปรากฏใช้ในกรณีของ "อาคนฺตฺวา" แต่ในปรากฤตนี้มีใช้ว่า "อาคา"
• "ภควํ" ในจารึกนี้น่าจะเป็นอีกรูปเดิมของรากศัพท์ "ภควนฺตุ" (บางกรณีในบาลีใช้ -ํ แทน -อนฺตุ) ส่วนบาลีโดยปกติใช้รูป ภควา

สรุป: บาลีมีความสอดคล้องใกล้ชิดมากกับภาษาปรากฤตในสมัยพระเจ้าอโศก(และน่าจะสมัยพุทธกาลด้วย) แต่ปรากฤตที่ปรากฏบนจารึกนี้มีความเป็นพื้นบ้านท้องถิ่นกล่าวคืออาจเปลี่ยนแปลงสำเนียง บางคำทั้งที่เป็นคำเดียวกันในจารึกเดียวกันยังเขียนคนละรูป(เช่น จ-จา) แสดงถึงยุคเริ่มแรกที่ยังไม่มีมาตรฐานแน่นอนสำหรับภาษาเขียน เพียงแต่ถ่ายทอดเสียงออกเป็นใช้ได้   แต่บาลีซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับปรากฤตนี้ได้รับการยกมาตรฐาน(standardized)ทำให้เป็นภาษาที่มีหลักการมีหลักการแน่นอนและชัดเจนแล้ว นั่นอาจเป็นเหตุว่าทำไมบาลีจึงถูกเรียกชื่อย้ำว่า "ตันติภาษา" (ภาษาที่มีระเบียบ) สำหรับคำถามที่ว่า"พระพุทธเจ้าตรัสเป็นภาษาบาลีหรือไม่?" ก็คงจะพอเห็นคำตอบชัดขึ้นผ่านมุมมองประวัติศาสตร์และจารึกข้างต้น  แม้พระพุทธเจ้าอาจจะไม่ได้ตรัสภาษาบาลีในรูปแบบเป็นภาษาท้องถิ่น ภาษาที่ทรงใช้ตรัสสอนก็น่าจะใกล้เคียงกับภาษาในจารึกนี้มากน้อย และบาลีก็มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะรักษารูปแบบพุทธวจนะเดิมในโลกทัศน์แบบอินเดียยุคโบราณนั้นไว้ได้ โดยจะมีความต่างทางสำเนียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่นเดียวกันกับภาษาสันสกฤต ภาษาปรากฤต ภาษาคานธารีในพุทธสายอื่นๆ แต่เนื่องจากสายอื่นๆเหล่านี้เราไม่มีคัมภีร์ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นเอกภาพและสืบเนื่องต่อมาเท่าบาลี  บาลีจึงยังคงเป็นหลักฐานปฐมภูมิสำหรับการอ้างอิงพุทธพจน์ (แต่ก็เป็นการดีที่ควรจะเทียบเคียงสายอื่นๆเท่าที่มีด้วยเพื่อความแม่นยำยิ่งขึ้น)   
แล้วภาษาบาลีมีที่มาจากใด? 
อาจเป็นไปได้ว่าภาษากลางที่ฟังง่ายและเข้าใจได้สำหรับคนหลายๆแคว้นทั้งตะวันออกและตะวันตกได้ถูกพัฒนาขึ้นในกลุ่มชาวพุทธนานาแคว้นอาจจะตั้งแต่พุทธกาล หรืออย่างน้อยก็ในครั้งสังคายนาครั้งแรกเพื่อสามารถท่องสวดพร้อมกันเป็นสำเนียงเดียว ต่อมาภาษาที่ใช้เช่นนี้ได้รับการจัดไวยากรณ์ชัดเจนแน่นอนขึ้นและกลายเป็นบาลีในพุทธศาสนาสายใต้ (แม้จะต่างจากภาษาถิ่น แต่ก็ไม่ซับซ้อนและเข้าใจได้ไม่ยากจึงไม่ขัดพระพุทธประสงค์)
___________________________________
*ระยะเวลา 20 ปีหลังการอภิเษกหรือราชาภิเษก พระเจ้าอโศกได้มาเยือนสถานที่ประสูตินี้น่าจะอยู่ที่ประมาณปี 268 ก่อนค.ศ. (พระเจ้าพินทุสาร-พระบิดาสวรรคตประมาณปี 273 ก่อนค.ศ. แต่พระเจ้าอโศกยึดอำนาจโดยไม่ได้ราชาภิเษกจน 4 ปี) สอดคล้องกับอโศกาวทานที่เล่าเรื่องพระอุปคุปต์นำเสด็จจาริกเยี่ยมเยือนสังเวชนียสถาน

* "หิท พุเธ ชาเต" [พระพุทธเจ้าได้ประสูติ] ณ ที่นี้ ในจารึกนี้สามารถนำไปเทียบเคียงได้กับท่อนความในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าชาวพุทธควรไปเยี่ยมชนสังเวชนียสถาน ด้วยรำลึกว่า "อิธ ตถาคโต ชาโต" [พระตถาคตได้ประสูติ ณ ที่นี้]   (หรือพระเจ้าอโศกจะนำข้อความสำคัญนี้มาจากพระสูตรที่พระสงฆ์ยุคนั้นท่องจำกันทีเดียว)

* สิลาวิคฑภี เป็นคำที่น่าฉงนว่าหมายถึงอะไร  สิลา - หิน นั้นแน่นอนอยู่แล้ว; แต่ วิคฑภี สันนิษฐานกันว่าตรงกับคำสันสกฤตว่า "วิกฏ" หรือ "วิกฺฤต" อันหมายถึงวัตถุที่ใช้ทำประดับตบแต่ง  เทียบได้กับ "วิกติกา"ในบาลี ซึ่งอรรถกถาของพระพุทธโฆสาจารย์และมหาวงศ์ได้ระบุว่าเป็นรูปปั้นสัตว์เช่น ช้าง ม้า ที่ทำประดับบนยอดเสา  อันจะสอดคล้องกับบันทึกของพระภิกษุจีนนักจาริกอย่างพระฟาเหียนและพระเสวียนจั้ง(ถังซำจั๋ง)ที่ได้มาเยือนลุมพินีระบุว่าได้พบเสาศิลาของพระเจ้าอโศกที่มียอดเป็นรูปม้า (แต่ปัจจุบันรูปม้าได้หายไปแล้ว) พระถังซำจั๋งอาจเชื่อมโยงกับคำว่า "อคฑ" ใน อคฑศฺว หรือม้าแกร่งก็ได้

*ในจารึกนี้ไม่เพียงระบุถึงพระนามพระพุทธเจ้าศากยมุนี แต่ยังระบุด้วยว่าสถานที่ประสูติคือ "ลุํมินิ" ซึ่งก็เข้าใจได้ไม่ยากว่าเป็นสำเนียงท้องถิ่นของ ลุมพินี  สอดคล้องกับในตำราทางพุทธศาสนาทั้งบาลีและอื่นๆ

* "ภควา" หรือ "พระผู้มีพระภาคเจ้า" เป็นพระสมัญญาใช้เรียกพระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลที่ได้รับการเทิดทูนสูงสุด ก็ได้ถูกใช้เอ่ยในจารึกนี้อันนับว่าเป็นประเพณีพุทธดั้งเดิมที่โบราณมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...