ถ้าสิ่งไหนก็ตามที่เราบังคับบัญชามันไม่ได้ แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นของชั่วคราวหรือเรียกว่าของสมมุติ เมื่อมันเป็นของสมมุติเสียแล้วเราไปยึดว่ามันเป็นของจริงเมื่อไหร่..ทุกข์ก็บังเกิดขึ้นในขณะนั้น ภพชาติก็บังเกิดขึ้น อย่างนี้แล้วไซร้ย่อมเป็นทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้นไป เมื่อมีการเกิดย่อมมีความตายวนเวียนอยู่อย่างนี้เป็นวัฏฏะ จึงสิ้นสุดแห่งกรรมกันไม่ได้
นั้นการที่เรานั้นจะถอดถอนออกจากคำสาปนี้ก็คือการฝึกจิตให้มันเหนือกาย ที่เราไปหลงกายนี้ ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในธรรมารมณ์คือความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจเหล่านี้แล คำว่าชอบใจไม่ชอบใจเหล่านี้แลที่ทำให้เราเกิดภพ เกิดชาติที่จะมาเสวยภพ ภพก็คืออารมณ์ในขณะนี้ของจิตที่ตั้งอยู่..
แม้ขณะฟังธรรมในขณะนี้ก็ชื่อว่าภพ เมื่อเราในขณะนี้เสวยภพที่ดี..ชาติที่เราจะไปจุติไปเสวยก็ย่อมเป็นชาติเป็นภพที่จะไปเสวยไปจุติที่ดีเช่นเดียวกัน ดังนั้นการทำให้ถึงภพถึงชาติ เราต้องรู้จักตัดภพตัดชาติเสียก่อน ชาติที่ไม่ดี ภพที่ขณะที่เราทำไม่ดีหรืออกุศลมูล การฝึกจิตให้เหนือกายคือเหนืออารมณ์ที่เราไปยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ แล้วจะเป็นประโยชน์มากต่อไปในภายภาคหน้า
เมื่อเวทนาในความเหน็บหนาวความเย็นหนาวของสภาวะอากาศของธรรมชาติ ทำให้เราเกิดสัมผัสมีความเหน็บหนาว แม้จะมีผ้าห่มคลุมกายสักเพียงใดก็ตาม ก็หาไม่สามารถไปต่อต้านในเวทนานั้นได้ มีอยู่อย่างหนึ่งที่มันสามารถพ้นภัยในเวทนานั้น..ก็คือการเจริญอานาปานสติ เป็นที่หลุมหลบภัยได้อย่างดี นั่นก็คือการเจริญฌานเพ่งอยู่ในกายอยู่ในอารมณ์ให้เป็นเอกัคคตา คือการทำวางเฉยของจิตอยู่ในกายให้เป็นหนึ่ง
คำว่าเป็นหนึ่งอยู่ในกายคือว่าเป็นอารมณ์เดียว เพ่งรู้อยู่ในกายนั้น อยู่กับองค์ภาวนาก็ดี อยู่กับพุทโธก็ดี ธัมโมก็ดี สังโฆก็ดี พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ หรือบทบริกรรมบทใดบทหนึ่งที่เรานั้นเมื่อภาวนาแล้วมันทำให้จิตเราตั้งมั่นและนอบน้อมเข้าถึงความสงบ
การเข้าถึงความสงบนั่นแลเรียกว่าพระรัตนตรัย อันว่ามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ครบองค์ ๓ ก็เรียกว่าการเจริญในทาน ศีล ภาวนาอย่างนี้ คือการน้อมจิต..
การจะน้อมจิตต้องไปน้อมอยู่ที่ใด มันต้องน้อมเข้าสู่กายเรา เพราะเรามีกายเป็นที่รับรองบุญกุศลและอกุศลทั้งหลาย มีใจเป็นประธานที่ตั้งแห่งกุศล เมื่อเรามีใจปรารถนามีความเชื่อความศรัทธาในบุญกุศล ที่เราจะประพฤติปฏิบัติให้เกิดความงอกงามไพบูลย์เกิดขึ้นแล้ว..
การสาธยายมนต์ก็ดีก็เป็นการฝึกจิตอย่างหนึ่ง การภาวนาก็คือการอบรมบ่มจิตอย่างหนึ่ง การทรงฌานก็เป็นการฝึกจิตอย่างหนึ่ง การเดินจงกรมภาวนาก็เป็นการฝึกจิตอย่างหนึ่ง การเพ่งตรึกตรองอยู่ในธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ในธรรมที่เราพิจารณาแล้วทำให้เรารู้สึกว่าปลงสละ คลายจากความกำหนัดยึดมั่นถือมั่น หรือโทสะโมหะที่เกิดความลุ่มหลงอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นการเพ่งตรึกตรองอยู่ในธรรม ก็เป็นการฝึกจิตอยู่อย่างหนึ่ง..
การฟังธรรมก็เป็นการเจริญสติปัญญาอย่างหนึ่ง ทำให้จิตเรานั้นมีความฉลาด เรียกว่าการเข้าถึงกุศลคุณงามความดี เมื่อเป็นอย่างนี้จะทำให้จิตเรานั้นมีปัญญาแก่กล้าแววไว คำว่าแก่กล้า..แก่กล้าในกุศล เมื่อเรามีกุศลรองรับเราเสียแล้ว..อกุศลทั้งหลายแม้มันจะมีเกิดขึ้น มันก็จะทำให้เรานั้นมีภูมิต้านทานในกรรมชั่ว เมื่อเราจะกระทำลงไปมันจะเกิดตัวความละอาย เกิดหิริโอตัปปะ มีการยับยั้งชั่งใจ
ตัวยับยั้งชั่งใจนั้นแลเรียกว่าตัวสติ ที่เราได้จากการเจริญภาวนาจิต การสวดมนต์ก็ดี การฟังธรรมก็ดี การอบรมบ่มจิตก็ดี อย่างนี้ทำให้เรามีสติ มีความละอาย เมื่อจิตเรานั้นเข้าถึงความเชื่อความศรัทธาในพระรัตนตรัย ว่าบาปบุญมันมีจริง เมื่อเราได้กระทำลงไปแล้ว..ไม่ช้าไม่นานหากว่าโลกนี้เป็นวัฏฏะ เรียกว่าความเป็นวงกลมแห่งภพภูมิ มันก็จะหมุนเวียนมาถึงในกรรมที่เราได้ทำไว้..
อย่างนั้นเมื่อกรรมนั้นได้ให้ผลเสียแล้ว ย่อมทำให้เกิดทุกข์ร้อน..นั่นแลเค้าเรียกว่ากรรมชั่ว เพราะกรรมอันใดที่ทำไปแล้วมันทำให้เราเดือดร้อนในภายหลัง..ก็นั่นแลเรียกว่าเป็นกรรมชั่ว กรรมอันใดที่เราทำไปแล้วไม่ทำให้เรานั้นเดือดร้อนในภายหลัง..ชื่อว่าเป็นกรรมดี แล้วกรรมอันใดที่เราทำไปแล้วนำไปสู่ในทางนิโรธไปสู่มรรคนั่นแล คือความหลุดพ้น..เรียกว่ากรรมเหนือกรรม
นั้นการที่เราจะมาทำกรรมที่เหนือกรรมจะทำได้อย่างไร สมมุติฐานของกรรมทั้งหลายเกิดจากรากเหง้าอกุศลแห่งไฟ ๓ กอง คือความไม่รู้คืออวิชชาเป็นเหตุใหญ่ ที่ทำให้มนุษย์โลกทั้งหลาย สัตว์นรกทั้งหลาย สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ย่อมปราณีตแตกต่างกันออกไป
นั่นก็คือความเป็นสัตว์เดรัจฉานย่อมไม่รู้ว่าการทำบุญทำบาปเป็นอย่างไร ความแตกต่างของผู้เป็นมนุษย์อันประเสริฐแล้วที่ระงับแล้ว นั่นก็หมายถึงว่ารู้ได้ว่าอันนี้เป็นกุศล อันนี้เป็นอกุศล อันนี้เป็นโทษ อันนี้เป็นคุณ ความแตกต่างแห่งความเป็นอริยชนและสัตว์เดรัจฉานแตกต่างกันตรงนี้..
ดังนั้นเมื่อเรามีโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐเสียแล้วนี้ ประเสริฐกว่าเทวดาเทพพรหมทั้งหลายทั้งปวงในจักรวาลโลกนี้ เว้นแต่ผู้บริสุทธิ์แห่งอรหันต์ภูมิ พระปัจเจก ผู้อริยะที่ก้าวพ้นในกิเลสกองทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นทุกข์ ดังนั้นแล้วความประเสริฐอันนี้แลเราจงรักษาไว้ นั่นก็คืออำนาจแห่งศีลที่พระพุทธองค์ได้บัญญัติขึ้นมา อย่างน้อยให้เราตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ เข้าใจมั้ยจ๊ะ
มูลนิธิเมืองธรรมพรหมรังสี สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
โทร ๐๙๕ ๕๖๙๕๑๙๙ , ๐๘๑ ๙๒๙๓๒๒๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น