{คัดบางตอนจากพระธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดร}
เป็นอันว่าตอนนั้น พระเวสสันดรสั่งพระนางมัทรีว่าอย่างนี้ว่า.. น้องรักทรัพย์สินที่มีอยู่นี่ควรจะแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน
คำว่า ๔ ส่วนนี้ไม่ใช่เอา ๔ หาร พระมักจะเทศน์กันว่า ๔ หาร นี่ความจริงพระท่านไม่เคยทำมาหากินนะ ท่านไม่รู้ ท่านเดาเอาส่งเดชประเภทนี้ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ มันเกิดโทษ แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ..
๑. ใช้หนี้เก่า จำให้ดีนะ
๒. เริ่มทำตนเป็นเจ้าหนี้ใหม่
๓. ฝังไว้
๔. ทิ้งเหว
เป็นอันว่าอ่านของท่านแล้วก็เข้าใจยาก ท่านอธิบายไว้อย่างนี้ คือ..
🌻.."ใช้หนี้เก่า" หมายความว่า..
ทรัพย์สินที่ให้ก็ดี หรือที่บิดามารดา น้องมอบให้ก็ดี ท่านเป็นลูกกษัตริย์คงรับมามาก เมื่อมีทรัพย์อยู่แล้วใช้หนี้เก่า หมายความว่า..
จงทำนุบำรุงบิดามารดา หรือว่าท่านผู้มีพระคุณให้ความสุขตามกำลังทรัพย์ของเราที่มีอยู่ แต่ว่าจะถามว่ากี่เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์ที่มีอยู่นะ กำหนดไม่ได้ สุดแล้วแต่ความจำเป็น
🌻..อีกส่วนนั่นก็คือ "เป็นเจ้าหนี้ใหม่" หมายความว่า.. เอาทรัพย์ที่มาทำนุบำรุงลูกที่เป็นที่รัก ซึ่งถือกำเนิดมาจากเราให้เธอมีความสุขในการเป็นอยู่
แล้วก็มีไว้สำหรับเรื่องยารักษาโรค อาหาร เรื่องการศึกษา การจับจ่ายใช้สอยในเหตุตามสมควรแห่งชีวิตตามฐานะ
และก็
🌻.."ฝังไว้" คำว่า ฝังไว้ส่วนหนึ่งนี้ให้บำเพ็ญกุศล หมายความว่า..
ที่บำเพ็ญนี่จะทำให้ตนมีความสุขในชาตินี้และชาติหน้า อย่างการให้ทานนี่ คนให้ทานย่อมได้เป็นที่รักของบุคคลผู้รับ
ทั้งนี้เว้นแต่ผู้รับทานที่มีจิตประกอบไปด้วยอกุศล เหมือนกับคนในสมัยปัจจุบันนี้
การให้ทานพระเวสสันดร หรือว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า.. ต้องเลือกให้ ไม่ใช่ว่าใจดีให้ดะ ดูว่า การให้ของเราจะมีคุณหรือมีโทษ ถ้าให้แล้วมันมีโทษก็จงอย่าให้ ให้แล้วเกิดประโยชน์แก่บุคคลผู้รับแล้วก็ไม่เดือดร้อนมาถึงเรา ก็ให้ คืออย่าต่อตีนโจร
และอีกประการหนึ่ง ก็เว้นไว้แต่ว่าถ้าหากเป็นการบังเอิญจะเป็นโจร หรือไม่ใช่โจร หรือเป็นใครก็ช่าง แต่ทว่าถ้าจะหิวหรือจะตาย เราก็ให้เพื่อเป็นการสงเคราะห์ให้เขาทรงชีวิต
แต่ว่า การที่จะให้เพื่อให้บุคคลนั้นตั้งตัวได้สร้างฐานะ อันนี้ต้องดูคนว่า คนประเภทนั้นถ้าให้ไปแล้วไปสูบเฮโรอีน ไปกินยาฝิ่น ไปกินเหล้า เอาไปเจ้าชู้ เล่นการพนันอย่างนี้ไม่ควรให้เลย แม้เขาจะอดจนกระทั่งตายก็ควรจะโมทนากับเขา นี่เป็นความเห็นของอาตมาเพราะว่า เขาหามาได้เขาไม่รักตัวเขาเอง เขาอุตส่าห์เอาไปใช้ในสิ่งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต ในเมื่อตัวเขาเองเขาไม่คิดจะสงเคราะห์ตัวเองแล้วทำไมเราจึงจะไปสงเคราะห์เขา ดีไม่ดีมันจะเป็นการขัดคอเขาไป
เป็นอันว่าการให้ทานนี่ (หนึ่ง) เราจะได้เป็นที่รักของบุคคลผู้รับทาน
แล้วประการที่ (สอง) ผู้รับทานมีความสุขจากทรัพย์สินที่เราให้ไป จะมากก็ตามจะน้อยก็ตาม เขาอดจะตายเรามีข้าวเย็นผักต้มนิดหนึ่ง น้ำต้มนิดหนึ่ง เขาก็ดีใจ เขาก็จะสามารถจะทรงชีวิตเขาได้ เขาก็จะมีความสุขขึ้น เราเมื่อมีคนรักมากอันตรายมันก็น้อยลง อุปสรรคต่างๆจะมีขึ้น ถ้าเรามีคนรักมากเขาก็ช่วยเปลื้องอุปสรรคทั้งหลายเหล่านั้นตามกำลัง ไม่ใช่หมายความว่าจะเปลื้องได้หมด
เป็นอันว่าผู้ให้ก็มีความสุขในฐานะที่ได้รับการสงเคราะห์ คนทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างก็จะมีความรักกัน นี่เราพูดกันถึงชาติปัจจุบัน ในสัมปรายภพท่านกล่าวว่า..
"ทานัง สัคโส ปานัง"
"ทานย่อมเป็นบันไดให้ไปสู่สวรรค์"
เป็นอันว่าชาติหน้าเราไม่ต้องพูดกันได้ เราพูดกันชาตินี้ และวันหน้าเราก็ไม่ต้องพูดกัน เราพูดกันวันนี้ๆ เราให้ บุคคลผู้รับก็ยิ้มแย้มแจ่มใส เราได้รับการยิ้มแย้มแจ่มใสเราก็สดชื่น เขารักเรา เรารักเขา ต่างคนต่างก็มีความสุข
🌻..ข้อที่ ๔ ท่านบอกว่า "ทิ้งเหว" หมายความว่า..ไอ้เหวลึกมันมีอยู่เหวหนึ่ง ที่เราข้ามกันไม่ได้เลยทุกคน นั่นก็คือท้องเหว อื่นๆนะถ้าเราขนของใส่ มันมีการเติมไม่เต็มมากมันก็เต็มน้อย ค่อยๆเต็มขึ้นมา
แต่ว่าเจ้าเหว คือท้องนี่ บรรดาท่านพุทธบริษัทลองคิดดูสิว่า มันลึกขนาดไหน ข้าวใส่ไปที่เกวียนมันก็ไม่พอ ไม่ปรากฏว่ามันเต็มตรงไหนเลย
เป็นอันว่าพระเวสสันดรทรงแนะนำพระนางมัทรีว่า ถ้าหากว่าจะให้มีความสุขจริงๆในฐานะที่ตนจะต้องปกครองตนเอง และมีทรัพย์สินอยู่จะต้องปฏิบัติตามนี้ ขอย้อนอีกนิด..
๑. สนองคุณท่านผู้มีคุณ ให้อุปการะเลี้ยงดูท่านตามสมควรแห่งฐานะ
ประการที่ ๒. ทำคุณใหญ่แก่บุตรธิดาที่มีอยู่
ประการที่ ๓. ให้ทานเพื่อเป็นการสงเคราะห์ สร้างความสุขในฐานะที่เรามีมิตร
และประการที่ ๔. ก็คือทำกิจเลี้ยงตัว ได้แก่การทิ้งเหว คือ กิน
แต่ว่าเงินมีอยู่จะแบ่งเป็น ๔ ส่วนไม่ได้ ดูตามความจำเป็นว่าส่วนไหนมันจะใช้ประมาณเท่าไร ใช้ตามควรแก่ฐานะ นี่ที่พระชอบเทศน์ว่าเอา ๔ หาร บาทหนึ่งแบ่งเป็น ๔ สลึงอย่างนี้ก็พัง เป็นอันว่าตอนนี้พระเวสสันดรท่านสั่งพระนางมัทรีว่าอย่างนี้
ต่อไปนี้ก็มาเก็บตกว่า บุคคลผู้ครองเรือนที่จะมีความสุขเราก็ควรว่ากันทั้งผู้หญิงผู้ชาย ไม่ใช่ว่านะ คุยให้ฟังว่าควรปฏิบัติได้เหมือนกัน เมื่อครู่นี้องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ตรัสว่า..ทรัพย์ที่มีอยู่ควรแบ่งเป็น ๔ ประเภท
๑) บำรุงบิดามารดาและผู้มีพระคุณ เรียกว่า "ชำระหนี้เก่า"
๒) เป็นเจ้าหนี้ใหม่ คือ บำรุงบุตรธิดาให้มีความสุข
๓) ฝังไว้ ก็คือให้ทาน
๔) ทิ้งเหว ก็คือกิน
🌻#หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
วัดจันทาราม(ท่าซุง) จ.อุทัยธานี
#เพจคำสอนหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
Moddam Thammawongพิมพ์ธรรมทานจากหนังสือคำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง ๔๙ หน้า ๗๘-๘๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น