07 พฤษภาคม 2566

จักระ คืออะไร

จักร หรือ จักระ เป็นคำเรียกของสิ่งใดๆ ที่มีลักษณะหมุนรอบตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอาวุธอย่างกงจักรที่เป็นของเก่าแก่ หรือกระทั่งใบจักรสำหรับแท่นตัดไม้ สิ่งใดๆ ในธรรมชาติที่มีพลังงาน ธำรงอยู่ได้ด้วยตน มักมีลักษณะเป็นวงจรอยู่เอง เริ่มตั้งแต่อะตอมเล็กๆ วัฏจักรของน้ำ ไปจนถึงระบบสุริยะ หรือกระทั่งดาราจักรทางช้างเผือก

.

น่าแปลกยิ่งขึ้นไปอีก และดังกล่าวแล้วในบทความครั้งก่อนเรื่องปราณ ออร่า และกายทิพย์ ว่ามนุษย์ก็มีจักระ หรือแหล่งพลังงานที่หมุนวนอยู่ในแนวกระดูกสันหลังกันทุกคน มันเป็นส่วนหนึ่งของระบบกายทิพย์ ซึ่งจะมีเฉพาะผู้ฝึกตนจนถึงขั้นจึงจะสามารถสัมผัสรับรู้ได้ พวกมันเปรียบเสมือนหม้อแปลงที่คอยแลกเปลี่ยนระหว่างพลังงานภายในกับภายนอกร่างกายของเรา โดยแต่ละจักระจะมีหน้าที่รักษาสมดุลแก่ระบบของอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน

.

ตำรากุณฑาลินีโยคะกล่าวว่า ในกระดูกสันหลังของมนุษย์มีท่อพลังอยู่สามเส้น เส้นแรกที่อยู่ตรงกลางชื่อสุษุมนะ เป็นทางเดินหลักของพลังกุณฑาลินี ซึ่งเป็นพลังงานชีวิตประเภทหนึ่ง ระหว่างทางจะมีจักรอื่นๆ ตั้งอยู่เป็นระยะจนไปสุดที่จักรสหัสรารตรงกลางกระหม่อม ส่วนท่ออีกสองเส้นคือ อิทะจะทำหน้าที่ควบคุมจิตใจ และปิงคละควบคุมการทำงานของอวัยวะภายใน ทั้งสองเส้นนี้จะวิ่งโค้งวนขึ้นไปตามแนวท่อสุษุมนะ โดยในแต่ละจุดตัดของท่อทั้งสาม ก็คือตำแหน่งของจักรต่างๆ นั่นเอง

.

จักระทั้ง ๗

.

๑. จักรมูลฐาน ตั้งอยู่ที่รอยฝีเย็บ หรือตะเข็บระหว่างทวารหนักกับลูกอัณฑะ ส่วนเพศหญิงจะอยู่ที่ปากมดลูก สัญลักษณ์คือดอกบัวสี่กลีบ สีประจำจักระคือสีแดง เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมากและลูกอัณฑะของเพศชาย แต่ของเพศหญิงคือรังไข่ มีหน้าที่ควบคุมกิจกรรมเกี่ยวกับเพศและการเจริญเติบโต (พึงระลึกว่าจักรต่างๆ เกี่ยวพันกับต่อมไร้ท่อสำคัญในร่างกาย เรียกว่าเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างกายทิพย์กับกายเนื้อก็ว่าได้) ธาตุของจักรคือธาตุดิน และมีกุณฑาลินีหรือไฟศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ในลักษณะเหมือนงูที่ขดตัวนอนเป็นวง

.

๒. จักรสวาธิษฐาน ตั้งอยู่ที่กระดูกก้นกบ เกี่ยวข้องกับไตและต่อมหมวกไต สัญลักษณ์ของจักรคือดอกบัวหกกลีบ เจ้าเรือนของจักรนึ้คือธาตุน้ำ เป็นแหล่งสะสมความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงตั้งแต่อดีตชาติ ซึ่งกดเก็บเอาไว้ในระดับใต้สำนึก คล้ายการสั่งสมของเสียก่อนขจัดออกจากร่าง สีของจักรคือสีส้ม

.

๓. จักรมณีปุระ ตั้งอยู่ในกระดูกสันหลังบริเวณสะดือ บางตำราอาจกล่าวว่าอยู่เหนือขึ้นไปสองนิ้วมือ บ้างก็ว่าอยู่ต่ำลงมาเล็กน้อย มีบทบาทสัมพันธ์กับกลุ่มเซลล์ประสาทโซลาร์เพล็กซัสในช่องท่อง เกี่ยวพันกับการย่อยอาหารและเป็นแหล่งสะสมปราณ ธาตุของจักรจึงเป็นธาตุไฟ มีสัญลักษณ์เป็นดอกบัวสิบกลีบ สีประจำจักรคือสีเหลือง เกี่ยวพันกับตับอ่อนที่ผลิตอินซูลิน และต่อมหมวกไตในแง่ของฮอร์โมนอะดรินาลีน ที่กระตุ้นให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะพร้อม เพื่อเผชิญกับอันตราย

.

๔. จักรอนาหตะ มีที่ตั้งอยู่ตรงกระดูกสันหลังช่วงลิ้นปี่ มีธาตุลมเป็นเจ้าเรือน เกี่ยวข้องกับหัวใจและระบบหมุนเวียนโลหิต รวมถึงต่อมไทมัสซึ่งมีหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกัน (น้ำเหลืองและเม็ดเลือดขาวชนิด T - Cell) จักรนี้มีความเกี่ยวพันปีติ หรือความอิ่มซ่านไปในกาย และมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับความเมตตา การจะปลุกจักรนี้ได้จึงต้องมีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นอยู่เสมอ สัญลักษณ์ของจักรคือดอกบัวสิบสองกลีบ สีของจักรคือสีเขียว และเกี่ยวข้องกับการหยั่งรู้ใจคน หรือเจโตปริยญาณในพุทธศาสนา

.

๕. จักรวิสุทธิ เป็นจักรแห่งอากาศธาตุ ตั้งอยู่บริเวณลำคอ ตรงกระดูกสันหลังข้อที่ขนานกับหัวไหล่ ทำหน้าที่ควบคุมระบบหายใจและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผิวหนังในศาสตร์แพทย์จีน เพราะจัดเป็นอวัยวะที่สัมผัสกับอากาศอยู่ตลอดเวลา จักรนี้มีความสัมพันธ์กับต่อมไทรอยด์ สัญลักษณ์เป็นดอกบัวสิบหกกลีบ สีของจักรเป็นสีน้ำเงิน และมีคุณสมบัติในเรื่องหูทิพย์ หรือทิพยโสตของพระพุทธศาสนา แต่สำหรับศัพท์สมัยใหม่จะได้แก่โทรจิตหรือเทเลพาธี

.

๖. จักรอาชนะ รู้จักกันทั่วไปในชื่อตาที่สาม อยู่ตรงกลางหน้าผากระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง สีของอาชนะคือสีคราม มีสัญลักษณ์เป็นดอกบัวสองกลีบใหญ่และแยกเป็นหนึ่งร้อยกลีบย่อย มีคุณสมบัติด้านตาทิพย์และปัญญาญาณ ธาตุแสง ทั้งยังกล่าวกันว่าช่วยให้แคล้วคลาดจากภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งหากพิจารณาให้เข้าใจง่าย ก็ได้แก่เป็นฐานที่ตั้งของ สติและความรอบรู้นั่นเอง

.

๗. จักรสหัสราร ตั้งอยู่บริเวณกระหม่อม สีของจักรคือสีม่วง มีสัญลักษณ์เป็นดอกบัวหนึ่งพันกลีบ เมื่อพัฒนาไปได้ในขั้นสูงจะทำให้รัศมีของจักร มีลักษณะคล้ายดอกบัวครอบคลุมอยู่รอบศีรษะ ดังที่มักปรากฏในภาพวาดบุคคลสำคัญทางศาสนา (คนโบราณผู้มีธุลีนัยน์ตาน้อย มีตาดี คือตาทิพย์ เขาเล็งเห็นได้ จึงกลายเป็นธรรมเนียมตกทอดมาทางภาพวาด โปรดอย่าได้ดูแคลน) จึงมีอีกชื่อว่าจักรมงกุฎ ทำหน้าที่ควบคุมจิตสำนึก สติ สัมปชัญญะ จิตใต้สำนึก ต่อมไร้ท่อในร่างกาย และระบบของกายทิพย์ทั้งหมด (เป็นศูนย์ควบคุมใหญ่ของจักระทั้งหกที่กล่าวมาแล้วอีกที) ทั้งยังเป็นกรวยรับพลังงานและความรู้จากห้วงสมุทรแห่งจักรวาลอันไพศาล

.

แต่สำหรับอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับจักรที่หกและเจ็ดนี้ ได้แก่ ต่อมไพเนียล ต่อมพิทูอิทารี และไฮโปทาลามัส ซึ่งล้วนตั้งอยู่ในสมอง โดยบางตำรากล่าวว่าจักรที่ ๖ ตั้งอยู่ที่ต่อมไพเนียล แต่ส่วนใหญ่จะบอกว่าเป็นจักรที่ ๗ มากกว่า

.

ทว่า เมื่อผู้เขียนตรวจสอบกับข้อมูลของต่อมไร้ท่อ ต่อมไพเนียลนี้ดูจะเหมาะแก่จักรที่ ๖ เนื่องจากทำงานสัมพันธ์กับประสาทตา โดยจะรับรู้แสงสว่างเพื่อควบคุมวงจรการตื่นและหลับ ส่วนจักรที่เจ็ดน่าจะอยู่ที่ต่อมพิทูอิทารีและไฮโปทาลามัส ซึ่งทำงานสัมพันธ์กันและครอบคลุมต่อมไร้ท่ออื่นๆ ทั้งหมด

.

อย่างไรก็ดี หากจะกล่าวในเชิงของธาตุแล้ว จักรทั้ง ๗ จะมีการเรียงธาตุจากล่างขึ้นบน คือ...

.

ดิน น้ำ ไฟ ลม เสียง แสง และศูนย์ โดยในจักรที่เจ็ดจะหมายได้ทั้ง ศูนย์กลาง ศูนย์รวม สุญญากาศ สุญญตา (ความว่าง / ห้วงจักรวาล) และสูรย์ที่แปลว่าสุริยะ

.

ทั้งนี้ เพราะหากนำมาไล่เรียงกันด้วยสี ตามลำดับจากบนลงล่าง จะได้แก่...

.

ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง

.

คุ้นๆ ไหมครับ

.

ใช่แล้ว มันคือสเปกตรัมนั่นเอง!

.

และเพราะเหตุนี้แหละที่ผมบอกไว้ในบทความครั้งที่แล้วว่า ตัวตนของจักระทั้ง ๗ ในกระดูกสันหลังของพวกคุณทุกคน มันคือสะพานแห่งการก้าวข้ามจากมนุษย์สามัญไปสู่การเป็นทวยเทพ

.

ใช่แล้วครับ!

.

มันคือเรื่องเดียวกับสะพานไบฟรอส!

(ข้อมูลเพิ่มเติมในลิงก์ข้างล่างครับ แต่บอกเบื้องต้นว่า สะพานรุ้ง เป็นสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ในหลายอารยธรรม)

.

หมายเหตุ :

.

อาจมีความสับสนว่า อากาศธาตุกับวาโยธาตุต่างกันอย่างไร เรื่องนี้อธิบายได้ด้วยหลักแพทย์แผนไทยและธาตุปรมัตถ์ของพุทธศาสนา กล่าวคือ วาโยธาตุ หรือธาตุลมนั้น ได้แก่แรงดันและการเคลื่อน ไม่ใช่ตัวก๊าซ ดังจะเห็นได้จากหลักพิจารณาธาตุลมในมหาสติปัฏฐานว่าคือสภาพที่ ตึง และ ไหว

.

หรือในหลักแพทย์ไทย อันรับทอดมาจากอายุรเวทของอินเดีย จะแบ่งลมออกเป็น ลมหายใจเข้า - ลมหายใจออก / ลมพัดขึ้นเบื้องบน - ลมพัดลงเบื้องล่าง (ระบบหมุนเวียนโลหิตและการแล่นไปของกระแสประสาท) / ลมพัดทั่วร่างกาย (การเคลื่อนไหว) / ลมพัดในช่องท้องนอกลำไส้ (การตึงของกล้ามเนื้อพยุงตัว) / ลมพัดในลำไส้และกระเพาะอาหาร (การเคลื่อนตัวของระบบย่อยอาหารเพื่อคลุกเคล้าและผลักไล่อาหารที่ย่อยแล้วเป็นทอดๆ)

.

ซึ่งต่างจากอากาศธาตุ ที่ในทางบาลีและการแพทย์อินเดีย (อายุรเวท) คำว่าอากาศจะหมายถึงพื้นที่ หรือช่องว่าง ให้ก๊าซและสสารต่างๆ มีที่อยู่ (Space) และเคลื่อนที่ไปได้ จึงจัดเป็นคนละธาตุ (โดยความหมายปฐมภูมิแล้ว คำว่าธาตุแปลว่าสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้ด้วยตนเอง มีสภาพเฉพาะของมันเช่นนั้นเอง) แต่ก็เกี่ยวเนื่องกัน โดยอาจแยกให้เข้าใจง่ายได้ว่า จักรที่ ๔ อนาหตะ เป็นธาตุลมในแง่ของแรงดันของระบบหมุนเวียนโลหิต แต่จักรที่ ๕ วิสุทธิ จะเกี่ยวพันกับก๊าซและระบบการหายใจเป็นหลัก

.

แต่เพราะอากาศคือช่องว่างที่มีก๊าซ มันจึงเป็นตัวกลางของเสียงไปด้วยอีกทีหนึ่งครับ

.

บทความครั้งที่แล้วครับ

๑. สะพานไบฟรอส

[https://www.facebook.com/groups/nakkhien/permalink/3619341394757174/](https://www.facebook.com/groups/nakkhien/posts/3619341394757174/?__cft__[0]=AZVfQYwt3SPti46dOWw0aAiPBzuWq9Ymw3iVIwmEeyd9oAlmcLs6YVfudz3J4VxR-tWowsDTZuAZC4XKlJr1eMxqg4wiTPxK2UT2SqxLIm39lTALmiDON2uOsuzY-ig8oeEkSFH8HzFEm1mepByQVJxG&__tn__=-UK-R)

.

๒. ปราณ ออร่า และกายทิพย์

[https://www.facebook.com/groups/nakkhien/permalink/3650645044960142](https://www.facebook.com/groups/nakkhien/posts/3650645044960142/?__cft__[0]=AZVfQYwt3SPti46dOWw0aAiPBzuWq9Ymw3iVIwmEeyd9oAlmcLs6YVfudz3J4VxR-tWowsDTZuAZC4XKlJr1eMxqg4wiTPxK2UT2SqxLIm39lTALmiDON2uOsuzY-ig8oeEkSFH8HzFEm1mepByQVJxG&__tn__=-UK-R)

.

๓. ว่าด้วยตำนานน้ำท่วมโลกและแอตแลนติส

[https://www.facebook.com/groups/nakkhien/permalink/3597210993636881/](https://www.facebook.com/groups/nakkhien/posts/3597210993636881/?__cft__[0]=AZVfQYwt3SPti46dOWw0aAiPBzuWq9Ymw3iVIwmEeyd9oAlmcLs6YVfudz3J4VxR-tWowsDTZuAZC4XKlJr1eMxqg4wiTPxK2UT2SqxLIm39lTALmiDON2uOsuzY-ig8oeEkSFH8HzFEm1mepByQVJxG&__tn__=-UK-R)

.

๔. ดูรูปที่สองแล้วคุ้นๆ ไหมครับ มันคล้ายสัญลักษณ์ของกระทรวงสาธารณสุขไทยหรือเปล่า

🙂🙂🙂

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...