29 พฤษภาคม 2566

คำว่า “โลก” ในภาษาธรรม

คำว่า “โลก” ในภาษาธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสว่า.. “โลก” คือ “ความทุกข์”
.
…. “ ทีนี้ พูดถึงคำว่า “โลก” กันบ้าง คำว่า โลก ภาษาคนหมายถึงแผ่นดิน ตัวโลกนี้จะแบนหรือกลมก็ตาม หมายถึงตัวโลกแผ่นดิน นี่คือ คำว่า โลก ในภาษาคน
…. แต่ภาษาธรรมนั้น คำว่า “โลก” เขาหมายถึงนามธรรม หรือ คุณธรรม หรือ คุณสมบัติที่มีประจำอยู่ในโลก เช่น ความทุกข์ เป็นต้น ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ความทุกข์ เหล่านี้เป็นคุณสมบัติประจำอยู่ในตัวโลก นั่นแหละคือตัวโลกในภาษาธรรมะ จึงกล่าวว่า โลกก็คือความทุกข์ ความทุกข์ก็คือโลก อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสอริยสัจจ์สี่ บางทีก็ใช้คำว่า“โลก” บางทีก็ใช้คำว่า“ทุกข์” เป็นอันเดียวกัน เช่น พูดว่าโลก, เหตุให้เกิดโลก, ความดับสนิทของโลก, หนทางให้ถึงความดับสนิทของโลก อย่างนี้ พระพุทธองค์ทรงหมายถึงตัวทุกข์ ตัวเหตุของความทุกข์ ตัวความดับสนิทของความทุกข์ และ วิธีหรือหนทางทำให้ถึงความดับสนิทของความทุกข์
…. เพราะฉะนั้น ในภาษาของพระพุทธเจ้าหรือภาษาธรรมะนั้น คำว่า “โลก” หมายถึงความทุกข์ ทุกข์กับโลกเป็นตัวเดียวกัน หรืออีกทางหนึ่ง คำว่า “โลก” หมายถึงเรื่องที่ต่ำๆ เตี้ยๆ ไม่ใช่ลึกซึ้ง ไม่ใช่สูงสุด เราพูดกันว่าเป็นเรื่องโลก ไม่ใช่เรื่องธรรมะ อย่างนี้เป็นต้น นี้ก็ยังเป็นคำว่า “โลก” ในภาษาธรรมเหมือนกัน ไม่ใช่คำว่าโลกจะหมายถึงแต่ตัวแผ่นดินเสมอไป นั่นเป็นภาษาคน”
.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายจากหนังสือ “ภาษาคน - ภาษาธรรม”
-----------------------------
.
พระพุทธเจ้าตรัสว่า...
โลก คือ “ความทุกข์”
.
…. “ พระพุทธเจ้าท่านเรียก ความทุกข์ ว่า “โลก” : โลก คือ ความทุกข์ ความทุกข์ คือ โลก เป็นพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า “โลกก็ดี, เหตุให้เกิดโลกก็ดี, ความดับสนิทแห่งโลกก็ดี, ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดี, อยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้ ซึ่งยังมีสัญญาและใจ” คือที่ในตัวคนที่ยังมีชีวิตเป็นๆ อยู่นั้น ซึ่งยาวเพียงประมาณวาหนึ่งนี้ ในนั้นมีทั้งโลก ทั้งเหตุให้เกิดโลก ทั้งความดับสนิทของโลก และทางให้ถึงความดับสนิทของโลก, พระพุทธเจ้าท่านพูดอย่างนี้. คนที่นั่งอยู่ที่นี่ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย นั่นแหละเป็นเครื่องวัดความเป็นพุทธบริษัทของตัว ว่ามีหรือไม่มี หรือมีมากน้อยเพียงไร เมื่อเราเห็นโลกทั้งหมดรวมอยู่ที่ในร่างกาย ที่ยาววาหนึ่งนี้ ก็เห็นโลกในแง่ลึกที่ละเอียด ที่มีประโยชน์ ที่จะทําให้ชนะโลกได้
.
…. เมื่อพูดถึงว่า โลก คือ ความทุกข์ ความทุกข์ คือ โลก มันมีความหมายสําคัญอยู่ที่ว่ามันเป็นทุกข์. คําว่า “ทุกข์” นี้แปลว่าต้องทน หรือว่าดูแล้วน่าเอือมระอา ถ้าความทุกข์มันอยู่กับเราก็ต้องทน, ถ้าความทุกข์มีอยู่กับเราเวลานี้ มองดูแล้วก็น่าระอา. ความทุกข์ของผู้อื่นหรือที่แสดงอยู่ที่ไหนก็ตาม ไปมองดูเถอะจะเอือมระอา ขยะแขยง หวาดเสียว ; แต่ถ้ามันเกิดอยู่ในเราจริงๆ เราต้องทน. โลก คือ ความทุกข์ ความทุกข์คือโลก เป็นสิ่งที่ต้องทน. 
…. เมื่อมันมาให้รัก ก็ต้องทนรักกับมัน เมื่อมันมาให้เกลียดให้โกรธ ก็ต้องทนเกลียดกับมัน, อย่าเข้าใจว่ามันจะมาทําให้ต้องเจ็บปวดแล้วจะต้องทน. ที่มันมาทําให้รักให้หลงนั้นแหละมันยิ่งทรมานมากกว่า ถ้าใครไม่รู้นี้คือคนโง่ นี้คือไม่ใช่พุทธบริษัท สิ่งที่มันมาขี่คอทรมานต่างๆ อยู่บนคอนี้กลับไม่รู้สึก เห็นเป็นของน่ารักน่าพอใจไปเสีย ไม่ใช่เป็นของต้องทน ; นี้ก็แปลว่า ไม่รู้จักโลก
.
…. ฉะนั้น เราพูดได้ว่าสิ่งสวยงามต่างๆ นั้นมันมาทรมาน : ทรมานตา ทรมานหู ทรมานจมูก ทรมานลิ้น ทรมานกาย มาทรมานไปหมด แต่เราไม่รู้สึกว่ามาทรมาน กลับรัก กลับชอบ กลับหลงใหล ยอมตาย ไม่ได้สิ่งนี้ก็จะยอมตาย, สิ่งนี้พลัดพรากไปก็จะยอมตาย ; นี้มันเป็นความโง่สักเท่าไร. 
.
…. โลกคือความทุกข์ ความทุกข์คือสิ่งที่ต้องทน. มาในรูปไหนล้วนแต่ต้องทนทั้งนั้น ถ้าเป็นเรื่องของโลก ; ได้เงินได้ของ ได้เกียรติยศชื่อเสียงก็ต้องทน ทนแบก ทนหาม ทนต่อสู้ ทนหนักอกหนักใจ ที่เรียกว่าโลกแล้วต้องหนัก หนักแล้วก็ต้องแบกต้องหาม แล้วก็ต้องทน ; ถ้าสลัดออกไปเสียก็เบาสบายและไม่ต้องทน
.
…. ฉะนั้น เรื่องเกี่ยวกับที่ต้องสลัดโลกออกไปเสียนี้เป็นเรื่องจําเป็น เป็นเรื่องสําคัญ ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะต้องทนอยู่ตลอดเวลา ทั้งหลับและทั้งตื่น : ตื่นขึ้นคิดนึกได้ก็ทนทรมาน, หลับแล้วก็ยังฝันร้าย เพราะมันเหลือค้างอยู่ในความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ต้องทน. นี่โลกคือความทุกข์ มีความหมายอย่างนี้ นัยนี้ก็เรียกว่าเป็นโลกฝ่ายนามธรรมมากยิ่งขึ้นทุกที ไม่ใช่ก้อนโลกแล้ว : เป็นโลกที่ มาอยู่ในจิตใจของมนุษย์แล้ว
.
…. มองดูกันให้ละเอียดลงไปอีก ให้เป็นรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก : เช่นว่า โลกนี้มีเพียง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ๖ อย่าง ไม่ใช่ว่า ไม่รู้ว่ากี่อสงไขยอย่าง ไม่รู้กี่แสนกี่หมื่นล้านกี่อสงไขยอย่าง อย่างที่คนก็รู้สึกกัน : ที่แท้มีเพียง ๖ อย่าง, ๖ อย่างนี้มันก็เหลือเพียงอย่างเดียว คือเป็น “อารมณ์ข้างนอก” เป็นปรากฏการณ์ข้างนอก, เราทําให้โลกเหลือเพียงอย่างเดียว เรื่องมันน้อย ปัญหาน้อย มันสบายที่จะเตะให้กระเด็นออกไป เพราะมันมีเรื่องเดียว แต่ถ้ามันมีร้อยเรื่อง พันเรื่อง หมื่นเรื่อง แสนเรื่อง เราจะเตะมันให้กระเด็นออกไปได้อย่างไร ถ้าเราไปโง่ทําให้มันมากเรื่อง แล้วก็จะควบคุมมันไม่ได้ เรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ๖ เรื่องนี้ เป็นเพียงปรากฏการณ์เข้ามาสู่ภายในจิตใจที่โง่เขลา ก็รับไว้ด้วยความยึดมั่น ถือมั่น แล้วก็ได้เป็นทุกข์อยู่ นี่ โลก คือ ของสิ่งเดียว คือ “ปรากฏการณ์ที่จะเข้ามากระทําแก่จิตใจที่โง่.”
.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายชุด สันทัสเสตัพพธรรม หัวข้อเรื่อง “โลกในทรรศนะของพุทธบริษัทคืออะไร?” เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “สันทัสเสตัพพธรรม” หน้า ๑๕๔-๑๕๖
-----------------------
.
พระพุทธองค์ตรัสถึงเรื่องนี้ 
ในพระไตรปิฎก ว่า...
“อนึ่ง เราบัญญัติโลก ความเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจ นี้เอง.”
.
ทุติยโรหิตัสสสูตร
พระไตรปิฎกภาษาไทย
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๔๖/๗๕
# ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม. #

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...