ลัทธินิครนถ์ (ปัจจุบันเรียกว่าศาสนาเชน) มีหลักความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมคล้ายกับพระพุทธศาสนา คือทั้งศาสนาเชนและศาสนาพุทธ ต่างก็เป็นกรรมวาที คือมีความเชื่อว่า ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว เป็นผลแห่งกรรมที่ตัวเองกระทำ แต่ในรายละเอียดจะมีความแตกต่างกัน
พวกนิครนถ์สอนเรื่องความเพียร ว่า บุคคลเสวยสุข ทุกข์ และอทุกขมสุข ทั้งหมดนั้นมีสาเหตุมาจากกรรมเก่า กรรมเก่าจะสิ้นสุดลงได้ก็เพราะ (๑) การบำเพ็ญตบะ (๒) การไม่ทำกรรมใหม่เพิ่มเติม เมื่อกรรมเก่าสิ้นไป ทุกข์จึงสิ้นไป เพราะทุกข์สิ้นไป เวทนาจึงสิ้นไป เพราะเวทนาสิ้นไป ทุกข์ทั้งปวงจึงจะสลายไป
พระผู้มีพระภาคทรงสรุปว่า ความเพียรตามลัทธินิครนถ์ไม่มีผล และจะได้รับแต่การตำหนิ
จากนั้น ทรงแสดงความเพียรตามตามหลักคำสอนของพระองค์พร้อมทั้งผลของความเพียร สรุปได้ว่า
๑. ไม่ทำตนให้เป็นทุกข์ ไม่สละความสุขที่เกิดขึ้นโดยธรรม ไม่หมกมุ่นในความสุขนั้น รู้จักเหตุแห่งทุกข์ เมื่อบำเพ็ญเพียรและเจริญอุเบกขาจนคลายกำหนัด ความทุกข์ก็จะสลายไป เหมือนชายหนุ่มหลงรักหญิงสาวก็เป็นทุกข์เพราะเห็นหญิงสาวนั้นคุยกับชายอื่น เมื่อเลิกรักก็ไม่ต้องทุกข์
๒. ถ้าทำตนให้ลำบากแล้ว อกุศลธรรมเสื่อมไปกุศลธรรมเจริญขึ้น ก็สมควรทำตนให้ลำบากได้ เพื่อต่อไปจะได้ไม่ต้องลำบากอีก เหมือนช่างศรลนลูกศรจนตรง ต่อไปก็ไม่ต้องลนอีก
๓. ผู้ฟังธรรมของพระองค์แล้วมีศรัทธา ออกบวชบำเพ็ญเพียรตามหลักคำสอน คือถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ มีความสำรวม มีศีล ก็จะได้รับผลแห่งความเพียร ได้แก่ ฌาน ๔ และวิชชา ๓
.................
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน เทวทหสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔
http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=1
และอรรถกถาเทวทหสูตร http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=1
หมายเหตุ : ลัทธินิครนถ์เชื่อกฎแห่งกรรมแบบสัสสตทิฏฐิว่า กรรมเก่าทุกอย่างต้องให้ผลแน่นอน ไม่มีข้อยกเว้น ส่วนพระพุทธศาสนาเชื่อกฎแห่งกรรมแบบมัชฌิมาปฏิปทา (สัมมาทิฏฐิ) ว่า กรรมเก่าบางอย่างอาจถูกหักล้างด้วยผลแห่งกรรมปัจจุบันที่มีอำนาจเหนือกว่า เช่น อำนาจแห่งอริยมรรคของท่านพระองคุลิมาล สามารถหักล้างกรรมเก่า คือ การฆ่าคนจำนวนมากก่อนบวช และส่งผลให้ท่านบรรลุอรหัตตผลได้ กรรมเหล่านั้นจึงจัดเป็นอโหสิกรรม คือกรรมที่เลิกให้ผล
#ความเพียร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น