21 พฤษภาคม 2566

ไม่มี “อัตตา” หรือ “ตัวตน” อยู่จริง

.
ไม่มี “อัตตา” หรือ “ตัวตน” อยู่จริง
ในพระพุทธศาสนา พูดถึงในระดับสมมติเท่านั้น
.
“….พระพุทธศาสนาพูดถึงเรื่อง “ตัวตน” หรือ “อัตตา” เพียงในระดับ “สมมติ” เท่านั้น คือเป็นสมมติสัจจะ ไม่ถือว่าเป็นของมีจริงแท้ ดังจะเห็นได้ชัดเจนตามหลักที่มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาที่ไม่ยกเรื่องอัตตาขึ้นตั้งเป็นหลัก คือไม่ถือว่ามีอัตตาจริงเลย ดังนี้
.
…...“ดูกร เสนิยะ ศาสดานี้ใด ทั้งในปัจจุบัน ก็ไม่บัญญัติอัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ และในเบื้องหน้าก็ไม่บัญญัติอัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ นี้เรียกว่าศาสดาผู้สัมมาสัมพุทธะ” 
…...( ที่มา : อภิ. ก. ๓๗/๑๘๘/๘๒ ; อภิ. ปุ. ๓๖/๑๐๓/๑๗๙ )
.
โดยนัยนี้ พระพุทธศาสนาจึงไม่ได้ปรารภที่จะพิจารณา และไม่ได้ยกเป็นข้อที่จะพิจารณาว่า อัตตามีหรือไม่ หรืออะไรๆ เป็นอัตตาหรือไม่ เรียกว่าไม่ต้องพูดถึงเรื่องอัตตา (ในแง่หรือในระดับปรมัตถสัจจะ) กันเลย
.
พร้อมนั้นก็มีพุทธพจน์สําทับอีกว่า...
…...“บุคคลผู้มีความเห็นถูกต้องสมบูรณ์ (ทิฏฐิสัมบัน คือพระโสดาบัน) เป็นผู้ไม่อาจเป็นไปได้ ที่จะยึดถือธรรมใดๆว่าเป็นอัตตา"
…..( ที่มา : องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๓๖๔/๔๘๙ )
.
เมื่อบรรลุธรรมสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่มีเรื่องที่จะมานึกถึงอัตตาอีกเลย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระอรหันต์ว่าเป็น “อตฺตญฺชโห/อัตตัญชหะ” แปลว่า “ผู้ละอัตตา” หรือ ทิ้งอัตตาแล้ว คือ ละการถืออัตตา หรือ เลิกเห็นว่าเป็นหรือมีตัวตนแล้ว บางแห่งก็ตรัสแบบอธิบายว่า พระอรหันต์นั้น “อตฺตํ ปหาย อนุปาทิยาโน” แปลว่า ละอัตตาแล้ว ไม่ยึดติดถือมั่นอะไรๆ
.
เพื่อให้เป็นข้อสรุปที่อ้างอิงกันได้สะดวก ในพระไตรปิฎกก็ได้แสดงเป็นคำวินิจฉัยไว้ว่า…
….. “สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง สังขตธรรมทั้งปวง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติ เป็นอนัตตา วินิจฉัยมีอยู่ดังนี้ ” ( ที่มา : วินย. ๘/๘๒๖/๒๒๔ )
.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตตาจะไม่มีจริง แต่การยึดติดถืออัตตาก็มีอยู่ และมันก็เป็นสิ่งที่คนทั่วไปยึดติดถือมั่นกันอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนาจึงมุ่งมาปฏิเสธอัตตาที่เขายึดกันอยู่ คือมุ่งให้คนละเลิกการยึดติดถือมั่นที่เขาจมวนกันอยู่นั้น พูดง่ายๆว่า ในพระพุทธศาสนา“อัตตา”ไม่ได้เป็นสาระหรือเป็นเรื่องที่ใส่ใจหรือนึกถึงหรือคํานึงว่ามีอยู่จริงเลย แต่พระพุทธศาสนามองไปที่การยึดติดถือมั่นในอัตตา หรืออัตตาที่มีอยู่ในความยึดติดถือมั่นของคนทั้งหลายนั้น อันจะต้องสลัดถอนทิ้งไปเสีย
.
พระพุทธศาสนาจึงมีแต่สอนให้คนละเลิกการยึดติดถือมั่นในอัตตานั้น และเมื่อถอนละความยึดติดนั้นได้แล้ว ก็จบเรื่อง หมดภาระ ไม่มีอะไรที่จะต้องพูดถึงอัตตาอีก”
.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตตฺโต )
ที่มา : จากหนังสือ “พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย” ตอน ๓ ชีวิตเป็นอย่างไร ไตรลักษณ์ บทที่ ๓ หัวข้อ วิเคราะห์ความหมายไตรลักษณ์ ข้อ ๓. อนัตตา และ อนัตตลักษณะ

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...