02 พฤศจิกายน 2563

พระบรมอัฐิ "ขุนหลวงหาวัด" หรือ"สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร" พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓๓ แห่งกรุงศรีอยุธยา

พระบรมอัฐิ "ขุนหลวงหาวัด" หรือ
"สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร" พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓๓ แห่งกรุงศรีอยุธยา และรัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง
หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้ถูกกวาดต้อนไปที่พม่าด้วยพร้อมเจ้านายและเชลยชาวไทยอื่น ๆ โดยทางพม่าได้ให้สร้างหมู่บ้านอยู่รอบเมืองมัณฑะเลย์ และพระองค์ได้เป็นผู้ให้ปากคำเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาแก่พม่า ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า "คำให้การขุนหลวงหาวัด"
ในปัจจุบัน หมู่บ้านดังกล่าวนี้ก็ยังคงมีอยู่ มีชื่อว่า "เมงตาสึ" แปลว่า "เยี่ยงเจ้าชาย" 
และก็ยังคงมีหลักฐานปรากฏถึงวัฒนธรรมไทยอยู่ เช่น ประเพณีการขนทรายเข้าวัดในวันสงกรานต์ 
หรือการตั้งศาลบูชาพ่อปู่ หรือ หัวโขน เป็นต้น 
แม้ผู้คนในหมู่บ้านนี้จะไม่สามารถพูดไทยหรือมีวัฒนธรรมไทยเหลืออยู่แล้วก็ตาม 
แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นเชลยมาจากไทย ปัจจุบันคนไทยกลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่า "โยเดีย" (Yodia)
ปี พ.ศ. 2540 มีข่าวว่าพบพระบรมสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร 
บริเวณสุสานร้าง เมืองอมรปุระ ไม่ไกลจากสะพานไม้สักอูเบ็ง 
ข้อสันนิษฐานเกิดจากการพิจารณารูปพรรณสัณฐานไม่ได้ว่าเป็นแบบมอญ หรือพม่า 
คนเฒ่าคนแก่ในย่านนั้นก็เรียกสถูปนี้ว่า "โยเดียเซดี" (Yodia Zedi) แปลว่า สถูปอยุธยา
แต่ทว่า ข้อห้ามของทางการพม่าที่ไม่ให้ขุดค้นหลักฐานโบราณคดีในสถูป ทำให้กลายเป็นข้อสันนิษฐานที่รอการพิสูจน์
จากกรณีที่ประเทศพม่าประกาศจะพัฒนาพื้นที่รกร้างในเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นสุสานเก่า จึงส่งหนังสือแจ้งหลายประเทศเพื่อให้มาขุดศพของบรรพบุรุษที่ฝังไว้กลับไปรวมทั้งประเทศไทยด้วย เพราะทางพม่าเชื่อว่าในอดีตเคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีถวายพระเพลิงของพระมหากษัตริย์ไทย เนื่องจากมีหลักฐานจารึกไว้ ทางทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ สถาปนิกของไทยและพม่าจึงได้เดินทางไปตรวจสอบ จนล่าสุดได้ขุดพบพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พร้อมเตรียมดำเนินโครงการปฏิสังขรณ์ไว้เป็นอนุสรณ์สถานที่ประเทศพม่า

ทั้งนี้ คณะทำงานฝ่ายไทย ประกอบด้วย วิจิตร ชินาลัย สถาปนิกอำนวยการและนักอนุรักษ์ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สถาปนิกอาวุโส นักอนุรักษ์ นักเขียน และนักประวัติศาสตร์ ปองขวัญ ลาซูส สถาปนิกและนักอนุรักษ์ .ประดาป พิบูลสงคราม เอกอัครราชฑูตไทย ที่ปรึกษา ชาตรี รัตนสังข์ วิศวกรอาวุโส และพัทธมน นิยมค้า สถาปนิกประสานงาน ซึ่งทางคณะเปิดเผยว่า “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้าดอกเดื่อ” (อุทุมพร หมายถึง มะเดื่อ) เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะสวรรคตได้มอบพระราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จากการที่พระองค์ฝักใฝ่ในการศึกษาธรรมะ จึงทรงออกผนวชหลังขึ้นครองราชย์ได้ระยะหนึ่ง และยกพระราชสมบัติให้พระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งเป็นพระเชษฐา หลังจากนั้นได้เกิดสงครามขึ้น พระเจ้าเอกทัศน์ทรงงานปกป้องบ้านเมืองมาโดยตลอด แต่พอข้าศึกมากขึ้นทหารจึงนิมนต์พระเจ้าอุทุมพรมาช่วยรบ ท่านจึงทรงลาสิกขาออกมานำรบอีกแรงหนึ่งจนสามารถป้องกันเมืองไว้ได้ แต่หลังจากนั้นก็มีสงครามเรื่อย ๆ จนกระทั่งกรุงแตก ซึ่งในสมัยที่กรุงแตกนั้นท่านกลับไปผนวชแล้ว

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรได้ถูกกวาดต้อนไปที่พม่าพร้อมกับชาวอยุธยาประมาณแสนกว่าคน ประกอบด้วยผู้ที่เป็นช่างฝีมือ และเชื้อพระวงศ์ต่าง ๆ ซึ่งพม่ามีบันทึกไว้ในพงศาวดารทั้งฉบับหอแก้วและคอง
บอง สำหรับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สมัยที่เสด็จไปนั้นท่านไปในฐานะสมณเพศ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าพม่านับถือพระพุทธศาสนา ให้ความศรัทธาและทำนุบำรุงพุทธศาสนาเป็นอย่างดี จึงให้ความเคารพว่าทรงเป็นพระมหาเถระ เพราะสมัยที่ท่านเสด็จไปทรงมีพระพรรษามากแล้ว ส่วนเชื้อพระวงศ์ของไทยที่สมรสกับกษัตริย์พม่าก็อยู่ในวัง และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นชาวอยุธยาคนอื่น ๆ พม่าจัดสรรที่อยู่ให้
รอบ ๆ เมือง เช่น ช่างทำทอง ช่างทำไม้ ช่างทำเงิน ช่างฝีมือ โดยจะกระจัดกระจายกันอยู่ตามโซนต่าง ๆ

ขณะที่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงอยู่ที่พม่าได้ทรงจำวัด 2 วัด คือ วัดมะเดื่อ ซึ่งพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าในสมัยนั้นสร้างถวาย หลังจากจำพรรษาได้ 16 ปี พระเจ้าปดุงได้มาตั้งอาณาจักรอมรปุระใหม่จึงนิมนต์ท่านเสด็จมาอยู่ที่ วัดเปาแลหรือปงแล ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรสวรรคตพระเจ้าปดุง ได้พระราชทานพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติ ที่ สุสานลินซินกง ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า ล้านช้าง ในเมืองอมรปุระติดทะเลสาบตองตะมัน สุสานนี้เป็นสุสานของคนชาติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์พม่า โดยตัวสุสานมีการจารึกไว้ว่ามีพิธีถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติ

หลังจากหมดยุคของพระเจ้าปดุงแล้ว สุสานแห่งนี้ก็กลายเป็นสถานที่รกร้างเป็นที่ทิ้งขยะ และเสื่อมโทรมลงอย่างมาก จนกระทั่งปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นมัณฑะเลย์มีโครงการจะทำการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งพบว่ามีองค์สถูปที่เชื่อได้ว่าเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรตั้งอยู่ ทางคณะจึงได้ประสานติดต่อขอพบผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์เพื่อทราบนโยบายการดำเนินการของโครงการก็พบว่าจะมีการพัฒนาพื้นที่จริง จึงขออนุญาตรื้อเองเพื่อค้นหาหลักฐานภายในสถูป ทางการพม่าตอบตกลง และต่อมาเดือนกันยายนปี2555รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปประชุมระดับรัฐบาลของพม่า และขออนุญาตกับภาครัฐบาลของพม่า 2 ข้อ คือ 1.ขอให้พม่าชะลอการรื้อถอนสถูปออกไประยะหนึ่ง เพื่อให้ฝ่ายไทยได้มีการสำรวจเพิ่มเติม ในการขุดค้นพบหลักฐานโบราณคดี ที่เกี่ยวโยงกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ภายในองค์สถูป ซึ่งทางการพม่าอนุมัติ และขอให้ไทยดำเนินการด้วยความรวดเร็ว

2. ขอให้มีโครงการสำรวจภายในองค์เจดีย์ร่วมกันระหว่างไทยกับพม่า เพื่อหาหลักฐานภายในองค์เจดีย์ที่เชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทางพม่าจึงอนุมัติเป็นชื่อโครงการว่า ’Joint development of Thai government and Myanmar government for fact finding Archaeological of the stupa believed to be that of King Udumbara (Dok Dua)” ซึ่งมีระยะเวลาการทำงาน 1 เดือน โดยมีมาตรฐานในการปฏิบัติทุกขั้นตอน

ถึงแม้พื้นที่สุสานจะกว้างใหญ่มาก แต่เราก็ไม่ได้ขุดแบบไร้ทิศทาง เพราะตัวสถูปไม่ได้ฝังอยู่ในดินด้วยความสูงโผล่พ้นป่าหญ้ารกร้างทำให้เรารู้จุดที่จะสำรวจ รวมทั้งมีฐานเจดีย์ให้เห็น จึงเริ่มสำรวจบริเวณนั้นก่อน ชิ้นแรกที่ขุดพบคือ ชิ้นส่วนของบาตร ซึ่งเป็นบาตรพระราชทานที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิและบรรจุไว้ในเจดีย์ พม่าเรียกว่า “บาตรแก้วมรกต” ประดับประดาด้วยกระจกสีฉาบปรอท มีเส้นทอง นอกเหนือจากนี้บาตรดังกล่าวยังตั้งอยู่บนพานแก้วแว่นฟ้า ซึ่งเป็นกระจกเขียนสีลายเทวดาและลายต่าง ๆ สวยงามมาก

จากข้อสังเกตที่เชื่อว่าเป็นของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร คือ เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของพม่าที่มาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทย กล่าวถึง 3 ประเด็นสำคัญ คือข้อที่ 1 พระเถระธรรมดาไม่สามารถใช้บาตรลักษณะนี้ตั้งอยู่บนพานแก้วแว่นฟ้าได้ ต้องเป็นของที่พระราชทานเท่านั้น ข้อที่ 2 เจ้าประเทศราชที่บรรจุพระศพหรือบรรจุอัฐิอยู่บริเวณสุสานล้านช้างทั้งหมดมีการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีหัวหน้าวงศ์ตระกูลหรือเจ้าประเทศราชที่เป็นลำดับพระมหากษัตริย์ที่เป็นระดับมหาเถระ ดังนั้นบาตรนี้จึงเป็นสมณศักดิ์ของพระเถระเท่านั้น ข้อที่ 3 สายวงศ์สกุลของชาวต่างชาติประเทศราชทั้งหลายไม่มีสายสกุลไหนที่เดินทางไปพม่าทั้งพระบรมวงศานุวงศ์มากเท่ากับสายสกุลอยุธยา

อย่างไรก็ตาม คณะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขุดลงไปแค่เจดีย์ 2 องค์ที่เห็นเท่านั้น ก่อนจะขุดเราต้องทราบโครงสร้างก่อนโดยเริ่มดายหญ้านำแปรงค่อย ๆ ปัด บันทึกวาดภาพ วัดขนาดและวิเคราะห์ร่วมกันกับนักวิชาการพม่า เราพบต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อายุประมาณหลายร้อยปีที่โอบอุ้มเจดีย์ทรงโกศไว้ด้วย จากนั้นค่อย ๆ เปิดหน้าดินก็เจอโครงสร้างค่อนข้างใหญ่ซึ่งคาดว่าจะเป็นวิหาร แต่ด้านบนพังไปหมดแล้ว เพราะในสมัยนั้นน่าจะใช้เครื่องไม้ เสาไม้ ซึ่งเป็นที่นิยมของพม่า ทำให้ไม้ผุพังไปตามกาลเวลา แต่พื้นเป็นอิฐยังคงอยู่ นอกจากนี้ยังเจอกำแพงแก้วและฐานเจดีย์มากมาย

เจดีย์องค์หนึ่งอยู่ตรงทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อขุดลงไปไม่ลึกมากก็เจอบาตร ตัวพานซึ่งเป็นไม้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม้อยู่ในดินโดนความชื้นปลวกก็กิน แต่กระจกอยู่ได้ตลอดและมีดินโอบอุ้มไว้ ส่วนตัวบาตรฝังไว้ในดิน ทำจากดินเผาประดับกระจก จากการศึกษาของที่นิยมทำในสมัยราชวงศ์พระเจ้าปดุงก็เป็นบาตรดินเผาเคลือบแต่ลายซึ่งประดับกระจกไม่เหมือนกับของคนอื่น เพราะเป็นบาตรที่ทำมาเพื่อพระองค์เท่าที่ทางนักวิชาการพม่าไปดูมาบอกว่าไม่เคยเจอลายที่สวยขนาดนี้ แต่รูปแบบการติดกระจก และบาตรดินเผาเคลือบเป็นสมัยนิยมก็จริง แต่ฝีมือขนาดนี้ชาวบ้านทำหรือใช้เองไม่ได้ต้องเป็นการสั่งทำเฉพาะกษัตริย์ และจากการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเปิดบาตรพบพระบรมอัฐิ ประกอบด้วย พระเศียร กราม และชิ้นส่วนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เพราะในสมัยก่อนจะใช้ไฟต่ำตอนถวายพระเพลิง จึงเหลือเศษพระอัฐิหลายชิ้น ที่สำคัญพระอัฐิทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าเหลืองซึ่งเป็นผ้าจีวร จึงเน้นย้ำได้ว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

ต่อมาทางการพม่าประกาศว่าไม่สามารถรื้อถอนสุสานได้แล้ว เพราะเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองอมรปุระ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการประท้วงจากหลายฝ่ายจนเป็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ เราจึงไปขออนุญาตที่จะปฏิสังขรณ์หรืออนุรักษ์ไว้จากซากโบราณสถานที่มีอยู่เดิม และนำสิ่งของที่ค้นพบไปบรรจุและตั้งชื่อโครงการว่า “โครงการอนุสรณ์สถานมหาเถระสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สุสานล้านช้าง อมรปุระ” (Mahatera King Udumbara Memorial Ground) โดยการรวบรวมกลุ่มนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของพม่าซึ่งเป็นคนเชื้อสายอยุธยามาร่วมโครงการด้วย

ทันทีที่ได้รับคำตอบอนุญาตจากพม่า ขั้นตอนต่อไปเราจะทำการอนุรักษ์บริเวณสุสานหลวงแห่งนี้ไว้ โดยเป็นโครงการที่ทำร่วมกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของพม่า เพื่อให้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของพม่าที่แสดงถึงความสำคัญระหว่างพระมหากษัตริย์พม่ากับพระมหากษัตริย์ไทย เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวพม่าเชื้อสายไทยที่อยู่ที่พม่า 

อีกไม่นานเราจะได้เห็นอุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นที่โบราณสถาน ที่เป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์ไทยองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาตั้งเด่นตระหง่านอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่าเพื่อให้ชาวไทย ชาวพม่า และชาวไทยเชื้อสายพม่าได้ร่วมกันรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน เพราะขณะที่อยู่ที่พม่า พระองค์ทรงเป็นมิ่งขวัญของชาวไทยกว่าหนึ่งแสนคน หากคนไทยมีโอกาสเดินทางไปสามารถเดินทางไปสักการะได้ .

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...