ได้ยินว่า พระเถระนั้นเที่ยวแส่หาแต่โทษของภิกษุทั้งหลายเท่านั้นว่า "ภิกษุนี้ย่อมนุ่งอย่างนี้ ภิกษุนี้ย่อมห่มอย่างนี้." พวกภิกษุกราบทูลแด่พระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเถระชื่อโน้น ย่อมกระทำอย่างนี้."
พระศาสดาตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในข้อวัตรกล่าวสอนอยู่อย่างนี้ ใครๆ ไม่ควรติเตียน, ส่วนภิกษุใดแสวงหาโทษของชนเหล่าอื่น เพราะความมุ่งหมายในอันยกโทษ กล่าวอย่างนี้แล้วเที่ยวไปอยู่, บรรดาคุณวิเศษมีฌานเป็นต้น คุณวิเศษแม้อย่างหนึ่ง ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น, อาสวะทั้งหลายเท่านั้น ย่อมเจริญอย่างเดียว"
ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๑๑. ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส นิจฺจํ อุชฺฌานสญฺญิโน
อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อารา โส อาสวกฺขยา.
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ผู้คอยดูโทษ
ของบุคคลอื่น ผู้มีความมุ่งหมายในอันยกโทษเป็นนิตย์,
บุคคลนั้น เป็นผู้ไกลจากความสิ้นไปแห่งอาสวะ.
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุชฺฌานสญฺญิโน ความว่า บรรดาธรรมทั้งหลายมีฌานเป็นต้น ธรรมแม้อย่างหนึ่งย่อมไม่เจริญแก่บุคคลผู้ชื่อว่ามากไปด้วยการยกโทษ เพราะความเป็นผู้แส่หาโทษของชนเหล่าอื่นว่า "ควรนุ่งอย่างนี้ ควรห่มอย่างนี้" เป็นต้น
โดยที่แท้อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้อยู่ไกล คือแสนไกลจากความสิ้นไปแห่งอาสวะ กล่าวคือพระอรหัต.
ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องพระอุชฌานสัญญีเถระ จบ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น