วันอาสาฬหบูชา วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
และท่านโกณทัญญะได้บรรลุพระโสดาบันเป็นปฐมสาวก
ธรรมโอวาทหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง
หลังจากที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ... พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงดำริว่า เราจะไปเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ฤๅษีทั้ง ๕ มีโกณฑัญญะเป็นต้น... ต่อมาองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงเสด็จไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี วันนั้นเป็นวันกลางเดือน ๘ พอดี
ในครั้งนั้นปรากฏว่า ปัญจวัคคีย์ฤๅษีทั้ง ๕ ที่ได้หลีกหนีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าในตอนก่อนที่อยู่กับพระพุทธเจ้าก็หวังจะบรรลุมรรคผล ต่อมาเห็นองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาเสวยพระกระยาหาร เลิกจากทรมานกาย ก็คิดว่าการบรรลุใด ๆ คงไม่มีจึงได้หลีกไปจากองค์องค์สมเด็จพระชินสีห์หนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาจึงคิดว่าพระพุทธองค์มานี่ คงจะอยู่คนเดียวไม่ไหว จะหาพวกเรานี้ไว้เป็นที่พึ่ง จึงได้นัดหมายกันว่า
“เวลานี้สิทธัตถะราชกุมารเสด็จมาบางทีจะทนอยู่คนเดียวไม่ไหว ฉะนั้นพวกเราจงอย่าแสดงความเคารพ ในเมื่อเธอมาถึงอย่ารับบาตร อย่ารับสังฆาฏิ อย่ารับไม้เท้า อย่าล้างเท้าให้ อย่าปูอาสนะให้”
แต่ว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ เมื่อองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปถึง พวกท่านทั้ง ๕ ก็ลืมความนัดหมาย กลับรับบาตร รับสังฆาฏิ รับไม้เท้า ถอดรองเท้า ล้างเท้า ปูอาสนะ ให้แก่องค์สมเด็จพระบรมสุคต แต่ทว่าใช้วาจาไม่เคารพ ออกพระนามของพระองค์ว่า “พระสมณโคดม” เรียกเฉย ๆ เป็นการแสดงความไม่เคารพซึ่งกันและกัน องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงบอกตามความเป็นจริงว่า “เธอทั้งหลาย เวลานี้เราได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว”
ท่านทั้ง ๕ ได้ฟังองค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ไม่เชื่อ ต่างคนต่างส่ายหน้าแล้วว่า “เวลาท่านทรมานร่างกายมาตั้ง ๖ ปี ไม่ได้บรรลุความดี แต่มาตอนหลังนี้เป็นคนมักมากในอาหาร จะบรรลุได้อย่างไร.. ?”
องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงตรัสย้ำว่า “ท่านทั้งหลาย ในสมัยเมื่อท่านอยู่กับเราสิ้นเวลา ๖ ปี เคยได้ยินคำนี้บ้างไหม คำว่า บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ เราเคยพูดบ้างหรือเปล่า”
ท่านทั้ง ๕ ได้ฟังองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสย้ำ ก็นึกขั้นมาได้ว่าเป็นความจริง อยู่ด้วยกันมา ๖ ปี องค์สมเด็จพระมหามุนีไม่เคยตรัสเรื่องนี้ จึงคิดว่าคงจะสำเร็จแล้ว จึงได้แสดงความเคารพในองค์สมเด็จพระประทีปแก้วเป็นอย่างดี เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาเห็นว่าท่านทั้ง ๕ พร้อมที่จะรับพระธรรมเทศนาแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้ประทับในอาสนะที่เขาปูให้
หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ตรัสว่า
“บรรดาท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติของพวกเราที่ทำมาก่อน ตามแบบฉบับของพราหมณ์เป็นการทรงทุกรกิริยามากอย่างนี้ ไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผล เพราะว่าทางนี้เราทำมาแล้วสิ้นเวลา ๖ ปีน่ะไม่ได้อะไรเลย การบรรลุมรรคผลคราวนี้เราได้จากทางใจ ต้องบำรุงร่างกายให้สมบูรณ์มีกำลังดี จึงจะสามารถจะทรงขั้นฌานโลกีย์ไว้ได้ ต่อจากนั้นจึงใช้ปัญญาซึ่งเกิดจากกำลังของฌานตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน อย่างนี้จึงจะชื่อว่า บรรลุมรรคผล” แล้วองค์สมเด็จพระทศพลก็ตรัสใจความมีความสำคัญในด้านการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลว่า
โภ ปุริส ดูก่อน บุรุษผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลายถ้าปรารถนาความดี **การที่จะบรรลุมรรคผลในพระพุทธศาสนานี้จะต้องปฏิบัติตามแบบนี้จึงจะมีผล คือว่าต้องละส่วนสุด ๒ อย่าง** คือ
**๑. อัตตกิลมถานุโยค**เวลาที่ปฏิบัติอย่าให้ร่างกายมันเครียดเกินไป ถ้าเครียดถึงขั้นทรมานกาย อย่างนี้ไม่บรรลุมรรคผล
**๒. กามสุขัลลิกานุโยค** คำว่า กามแปลว่า ความใคร่ หมายความว่า ขณะที่เจริญสมาธิก็ดี เจริญวิปัสสนาญาณก็ดี ในตอนนี้วางอารมณ์การอยากได้อย่างโน้น อยากได้อย่างนี้เสีย ใช้อารมณ์ตัดเป็นสำคัญ ใช้ใจสบาย ๆ
แล้วองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ตรัสว่า **ผลที่การบรรลุจริง ๆ ก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา การทรงอารมณ์ต้องทรงแบบสบาย ๆ ไม่เครียดเกินไป ไม่ย่อหย่อนเกินไป**
ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสอย่างนี้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้ตรัสในใจความของ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร สำหรับใจความจริง ๆ ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร ความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระจอมไตรก็หมายเอาอริยสัจ คือว่าอริยสัจนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสก็หมายถึง เป็นเรื่องของความจริง ...
คำว่าอริยะ นี่เขาแปลว่า บริสุทธิ์ผุดผ่อง อริยสัจ หมายถึงเราทรงความจริงที่เราเข้าถึงความบริสุทธิ์ทางใจ เรื่องของกายแต่ละคนหาความบริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะกายมันสกปรก ความบริสุทธิ์จริง ๆ มันต้องเป็นความบริสุทธิ์ทางใจ ความบริสุทธิ์ทางใจที่องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสในวันนั้นว่า โดยย่อท่านบอกว่า “**จงละตัณหา ๓ ประการ**” **... ตัณหา แปลว่า ความอยาก ...**
**สิ่งที่ยังไม่มี อยากให้มีขึ้น**เรียกว่า **กามตัณหา** กาม เขาแปลว่า ความใคร่ ตัณหา แปลว่า อยากใคร่ อยากจะได้
**สิ่งที่มีอยู่แล้ว อยากให้ทรงตัวอย่างนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง** อย่างนั้นเรียกว่า** ภวตัณหา**
**สิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงไป มันจะต้องแตก มันจะต้องตาย มันจะต้องพัง เราไปนั่งภาวนาบนบานสานกล่าวขออย่าให้แตก ให้ตาย ให้พังเลย ทรงอยู่อย่างนี้**อย่างนี้ท่านเรียกว่า **วิภวตัณหา** ...
ได้ทรงแนะนำบรรดาปัญจวัคคีย์ฤๅษีทั้ง ๕ ว่า
“เธอทั้งหลาย จงพยายามละตัณหาทั้ง ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ด้วยอำนาจของอริยสัจ คือรู้ตามความเป็นจริง จงพิจารณาว่าร่างกายของคนก็ดีของสัตว์ก็ดี ที่มีอยู่นั้นไม่ใช่ร่างกายของเราจริง มันเป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นมีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง และมีการสลายตัวไปในที่สุด ในเมื่อเธอทั้งหลายวางภาระนี้เสียได้ เธอก็จะพ้นจากความทุกข์ คือเป็นพระอริยเจ้าเข้าพระนิพพาน”
เมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงเทศน์จบ ปรากฏว่าท่านโกณฑัญญะเป็นโสดาบัน เป็นเหตุให้องค์สมเด็จพระพิชิตมารดีพระทัยมาก จึงได้เปล่งอุทานวาจาว่า “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ”
คำว่า “อัญญาสิ” นี่แปลว่า รู้แล้ว ซึ่งแปลเป็นใจความว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ พระองค์ดีใจมาก เพราะเทศน์กัณฑ์แรกมีคนบรรลุมรรคผล แม้แต่เบื้องต้น เป็นอันว่าคำว่าอัญญาต่อหน้าคำว่าโกณฑัญญะเฉย ๆ มีมาตั้งแต่วันนั้น
ท่านโกณฑัญญะท่านฟังอะไร... ฟังยังไงจึงได้พระโสดาบัน อันนี้ฟังยังไงไม่ต้องว่าไปถึง ว่าไปสามเดือนมันก็ยังไม่จบ มาว่ากันถึงอารมณ์ อารมณ์จิตเวลานั้นของท่านตั้งยังไง ที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงตัณหา ๓ ประการ ให้วางตัณหายอมรับนับถือกฎของธรรมดา ซึ่งเรียกกันว่าอริยสัจ
อันดับต้น ท่านอัญญาโกณฑัญญะมีความเคารพในพระพุทธเจ้าจริง มีความเคารพในพระธรรมจริง เวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ มีแต่พระพุทธเจ้ากับพระธรรมเข้าถึงไตรสรณคมน์ ๒ ประการ แล้วหลังจากนั้นท่านอัญญาโกณฑัญญะไม่มีความสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องของศีล ท่านออกบวชมานานทรงศีลบริสุทธิ์ จิตยึดมั่นที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าถึงนิพพานเมื่อไร นิพพานเป็นแดนเอกันตบรมสุข เป็นสุขอย่างยิ่งไม่มีการเคลื่อน ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ไปไหน ท่านผูกใจในพระนิพพานจึงเป็นพระโสดาบัน
สรุปความง่าย ๆ ก็เรียกว่า การที่เป็นพระโสดาบันของท่านอัญญาโกณฑัญญะ หรือของบรรดาท่านพุทธบริษัทก็เช่นเดียวกัน เขาเป็นกันอย่างนี้ อารมณ์จริง ๆ เป็นง่าย คือ
๑. มีความเคารพในพระพุทธเจ้าจริง เคารพในพระธรรมจริง เคารพในพระอริยสงฆ์จริง แล้วก็
๒. ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์
๓. จิตคิดไว้เสมอว่า ถ้าตายชาตินี้เราไม่ไปไหนนอกจากนิพพาน เราไม่ต้องการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือพรหม เราต้องการนิพพานอย่างเดียว
พระโสดาบันกับสกิทาคามี สำคัญที่ศีล ๕ พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีเป็นผู้ทรงอธิศีล ถ้ามีศีล ๕ บริสุทธิ์ เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง จิตยังไม่รักพระนิพพาน ท่านเรียกว่า เป็นผู้เข้าถึงไตรสรณคมน์
ถ้าจิตมุ่งมั่นต้องการพระนิพพานจริง ๆ พวกนี้เป็นพระโสดาบัน และคนที่จะเป็นพระโสดาบันได้ต้องมีบารมีเต็มพอที่จะบรรลุมรรคผลได้ ต้องบำเพ็ญบารมีมา ถ้าเป็นสาวกภูมิก็ต้องบำเพ็ญบารมีมาไม่น้อยกว่า ๑ อสงไขยกับแสนกัป ถ้าเป็นอัครสาวกก็ต้องบำเพ็ญบารมีมาไม่น้อยกว่า ๒ อสงไขยกับแสนกัป
ฉะนั้น ถ้าใครมีจิตใจรักศีลเป็นสำคัญ มีความเคารพในพระพุทธเจ้าจริงในพระธรรมจริง ในพระอริยสงฆ์จริงจิตใจมุ่งมั่นปรารถนาอย่างเดียวคือ พระนิพพาน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีบารมีเต็ม
เป็นอันว่าการคุยกันวันนี้ ก็หวังถือใจความเป็นสำคัญ ถ้าว่ากันตามเรื่องจริง ๆ แล้วนั้น ธัมมจักฯนี่เทศน์ ๓ เดือนไม่จบ ก็ไม่มีประโยชน์มาก การคุยกันวันนี้ต้องการอย่างเดียว คือต้องการให้บรรดาท่านพุทธบริษัทรู้จักอารมณ์ของพระโสดาบัน
ในที่สุดนี้อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ทั้ง ๓ ประการ ขอจงอภิบาลบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ให้มีแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล และจงเจริญไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการมีอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ หากทุกท่านมีความประสงค์สิ่งใด ขอให้ได้สิ่งนั้นสมความปรารถนาจงทุกประการ สวัสดี
#รวมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์3 #หลวงพ่อฤาษี2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น